เล่าเรื่องผู้คน บางลำพู กับการทำงานชุมชน และสังคมในย่านเมืองเก่า

หมวดหมู่ กลาง , โดย : admin , 13 กุมภาพันธ์ 67 / อ่าน : 1,275


เล่าเรื่องผู้คน "คนบางลำพู" กับการทำงานชุมชน และสังคมในย่านเมืองเก่า

คนบางลำพู 
บางลำพูไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ แต่มีผู้คนที่อาศัยและดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่สร้างให้เกิดเรื่องราวจนกลายเป็นความกลมกล่อมของพื้นที่ตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน
บทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างของบุคคลที่มีบทบาทต่อย่าน ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของพื้นที่

อรศรี ศิลปี ประธานประชาคมบางลำพู
“เราได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ได้บ้างก็จะทำ ถึงแม้บางลำพูจะเปลี่ยนแปลงไปแต่บางลำพูของก็ยังมีประวัติศาสตร์ที่ไม่มีที่ใดเหมือน” ป้านิดเกิดและเติบโตที่บางลำพู แม้ว่าจะมีช่วงที่ต้องไปอยู่ต่างจังหวัดเพราะเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่เมื่อเหตุการณ์กลับมาเป็นปกติและถึงช่วงวัยเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยก็ย้ายกลับเข้ามาอยู่อาศัยในย่าน และยังคงใช้ชีวิตอยู่ในย่านมาจนถึงปัจจุบันป้านิดเป็นหนึ่งในผู้ร่วมยืนหยัดให้มีการเก็บรักษาโรงพิมพ์คุรุสภาซึ่งเป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และปัจจุบันได้รับการพัฒนาเป็นพิพิธบางลำพู จากเหตุการณ์ที่ผู้คนในย่านมารวมตัวกันเพื่ออนุรักษ์สมบัติของชุมชนจึงเกิดเป็นที่มาของประชาคมบางลำพูที่มีบทบาทในการจัดงานชุมชนต่าง ๆ ทำให้ย่านมีความคึกคัก สร้างความใกล้ชิดกันระหว่างคนในชุมชน และนำไปสู่การวางทิศทางการพัฒนาย่าน

พิมพ์ศิริ สุวรรณนาคร กรรมการประชาคมบางลำพู / ประธานชุมชนบ้านพานถม
“เกิดที่บางลำพู อยู่ที่บางลำพู ก็ต้องพัฒนาบางลำพู”.
ป้าหมูอยู่ในบางลำพูมาตั้งแต่เด็ก การเติบโตมาพร้อมกับย่านทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย แม้ว่าเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปแต่บางลำพูก็ยังเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง

นอกจากจะอาศัยอยู่ในชุมชนมาอย่างยาวนานแล้ว ป้าหมูยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำงานชุมชนหลายอย่าง ทั้งจัดตั้งศูนย์เยาวชน ศูนย์ผู้สูงอายุ และกลุ่ม อสส. จนกระทั่งปัจจุบันได้รับเลือกให้เป็นประธานชุมชนและยังคงทำงานเพื่อคนในย่านอย่างต่อเนื่อง

อรุณ วรชุน  กรรมการประชาคมบางลำพู
“การทำงานของประชาคมบางลำพูไม่มีระบบแต่มีระเบียบ เพราะทุกคนต่างรู้หน้าที่ของตัวเองเมื่อถึงเวลาทำงาน”

อาจารย์อรุณ เดิมทีอยู่เขตบางรัก แต่เนื่องจากมีญาติอยู่ที่บางลำพูทำให้ได้มาเที่ยวเล่นที่บางลำพูอยู่บ่อยครั้ง และมีความทรงจำกับย่านมากมาย จนกระทั่งได้ย้ายมาอยู่บางลำพูอย่างถาวรหลังแต่งงานกับอาจารย์อมราซึ่งพื้นเพเป็นคนบางลำพู

อาจารย์อรุณเข้ามาทำงานขับเคลื่อนบางลำพูตั้งแต่ยุคที่สวนสันติชัยปราการได้ถูกพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ ผู้กระตุ้นให้ความความคึกคักขึ้นภายในสวนโดยจัดกิจกรรม ไท่เก๊ก และ เต้นแอโรบิก จนวงแอโรบิกของสวนโด่งดัง และได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันที่สวนสาธารณะพระราม 8 ฝั่งธนบุรี 

บุญเรือน สมวัฒน์ กรรมการประชาคมบางลำพู
“แม้จะไม่ใช่ชาวบางลำพูโดยกำเนิดแต่ก็ภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในบางลำพู”

ป้าบุญเรือนเดิมทีเป็นคนต่างจังหวัด ย้ายมาอยู่ในตรอกไก่แจ้หลังจากแต่งงานตั้งแต่อายุ 20 จึงเรียกได้ว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่มาอย่างยาวนานตั้งแต่ป้อมพระสุเมรุยังเป็นป่ารก

ป้าบุญเรือนทั้งทำงาน อสม. และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการประชาคมบางลำพู จึงมีบทบาทในการดูแลความเป็นอยู่ของคนในชุมชน และมีส่วนในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของย่านมาอย่างยาวนาน 

สมบูรณ์ ปัญญาคุณ กรรมการประชาคมบางลำพู

“บางลำพูเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจหรือสิ่งก่อสร้าง ในอนาคตก็น่าจะเปลี่ยนแปลงอีกแน่นอน”

น้าสมบูรณ์พื้นเพเป็นคนเยาวราช เนื่องด้วยความที่บางลำพูเป็นย่านที่มีความคึกคักและเป็นศูนย์รวมของสินค้าหลากหลายประเภท คุณพ่อของน้าสมบูรณ์จึงได้ย้ายมาอยู่บางลำพู เปิดร้านขายผ้าเมื่อราว ๆ 40 ปีที่แล้ว

น้าสมบูรณ์สืบทอดกิจการต่อจากคุณพ่อ และได้เข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการประชาคมบางลำพูตั้งแต่กว่า 20 ปีที่แล้ว เริ่มจากช่วยงานเล็กๆน้อยๆในชุมชน เรื่อยมาจนถึงเป็นคนหลักในการเชื่อมประสานระหว่างกลุ่มคนหรือสถานที่ต่าง ๆ ของย่าน 

แก้วใจ เนตรรางกูล ผู้จัดทำขนมเกสรลำพู ขนมที่เล่าเรื่องต้นลำพู

“มันเป็นความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานชุมชน และพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่าเป็นคนบางลำพูเต็ม 100%”

แม้ว่าป้าแจ้จะไม่ได้เกิดในบางลำพู แต่ก็อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน และเป็นที่คุ้นเคยของเด็กในชุมชน บ้านป้าแจ้เองก็เป็นสถานที่รวมตัวของเด็ก ๆ ที่จะได้มาพบปะทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยกัน

ป้าแจ้เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มเยาวชนผึ้งงานที่ชวนเด็กมาทำกิจกรรมวันว่างและสร้างประโยชน์ให้ชุมชน ทั้งช่วยเก็บขยะ กำจัดลูกน้ำยุงลาย ไปจนถึงการทำน้ำหมักชีวภาพ กิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะสร้างผลดีให้ชุมชนโดยตรงแล้ว ยังเป็นการสร้างคนในชุมชนอีกด้วย 

โอภาส มิตรมานะ กรรมการชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ และคอเต๊บ มัสยิดจักรพงษ์
“ตอนแรกที่เริ่มงานชุมชนก็ไม่ได้อยากทำมากนัก แต่พอทำไปแล้วรู้สึกภูมิใจที่ได้พัฒนาชุมชนของตัวเองด้วย”

บังซันใช้ชีวิตผูกพันธ์อยู่ในย่านมายาวนาน ทั้งทำงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเมื่อเกษียณแล้วก็มาเป็นครูสอนศาสนา เป็นที่ยึดเหนี่ยมจิตใจของชาวมุสลิม และมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อผู้คนภายในชุมชน

บังซันมองว่าการเปลี่ยนแปลงของย่านและการเข้ามาของนักท่องเที่ยวทำให้ย่านกลับมามีชีวิตชีวา หากย่านมีการวางทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนมากขึ้น เอื้อการดำรงชีวิตของคนในชุมชนไปพร้อมกับเพิ่มเสริมเรื่องวัฒนธรรมไทยเข้าไปให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ จะทำให้ย่านมีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น 

สายสุนีย์ แซ่ฟุ้ง แกนนำ ศูนย์อบรมวิชาชีพ ตรอกบ้านพานถม

“รู้สึกภูมิใจและก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชน”

พี่หมวยพื้นเพเป็นคนเพชรบูรณ์ หลังย้ายมาอยู่ในย่านบางลำพูก็ได้เข้าร่วมเป็น อสม. และเป็นประธานชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งช่วยให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำ ตลอดจนสามารถสร้างรายได้ได้ ซึ่งช่วยลดความเหงาให้แก่ผู้สูงอายุ ทั้งยังช่วยสร้างสุขภาพกาย และสุขภาพจิตให้แข็งแรง

พี่หมวยมีบทบาทที่เชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุเป็นหลัก แต่ก็รู้สึกดีใจที่เห็นเด็กรุ่นใหม่ในชุมชนมีการรวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อชุมชน และเห็นว่าเด็ก ๆ จะเป็นพลังของย่านในอนาคตต่อไป 

ชัญญาภัค แก่นทอง ผู้สืบทอดงานปักชุดโขน ชุดละคร
“คิดเสมอว่าเราเป็นช่างปักมีหน้าที่ปัก พอได้เห็นชุดที่เราปัก แสดงอยู่หน้าเวทีเกิดความปลาบปลื้มมาก”
แม่อ้อยย้ายเข้ามาอยู่ในย่านตั้งแต่ราว ๆ 7-8 ขวบ มีประวัติผูกพันอยู่กับย่านมาอย่างยาวนาน ทั้งเคยเป็นนางงามห้างบางลำพู ไปจนถึงเป็นตัวแทนในงานต่าง ๆ
ด้วยความสนใจทางด้านความงาม และการตัดเย็บเสื้อผ้า จึงได้เลือกเรียนทางด้านวิชาชีพในการตัดเย็บ ไม่ทันจบการศึกษาดีก็ต้องเสียสละออกมาทำงานเพราะต้องส่งเสียน้องๆเรียนต่อ จนกระทั่งได้พบกับแม่เปี๊ยก (สมคิด หลาวทอง) จึงได้ไปอาศัยอยู่ด้วยเพื่อเรียนรู้วิธีการปักชุดโขนและฝึกฝนจนมีความเชี่ยวชาญ จนปัจจุบันแม่อ้อยได้เป็นผู้สืบทอดงานปักชุดโขนของย่านบางลำพู 

ปิยะบุตร จิวระโมไนย์กุล ประธานสภาวัฒนธรรมเขตพระนคร
“เราช่วยด้วยใจเรื่องเงินไม่ได้มีส่วนสำคัญ เพราะสิ่งที่ทำมันมีคุณค่ามากกว่าเงิน”
เฮียไส้อดีตพนักงานธนาคาร หลังจากเกษียณก็ได้มาเปิดเกสเฮาส์ของตัวเองอยู่ในบางลำพู และได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานบางลำพูตั้งแต่ยังเป็นพนักงานประจำ มีส่วนในการจัดงานสงกรานต์ของถนนข้าวสารตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่ยังเป็นงานเล็ก จนกระทั่งกลายเป็นงานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากในปัจจุบัน
ปัจจุบัน เฮียไส้เป็น ประธานสภาวัฒนธรรมเขตพระนคร ควบคู่ไปกับการเป็นกรรมการประชาคมถนนข้าวสาร และกิจกรรมอื่นๆ บนถนนข้าวสารชื่อดังที่ทั่วโลกต่างรู้จัก จึงมีบทบาทเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนย่าน 

ปานทิพย์ ลิกขะไชย (ต้า) ประธานชมรมเกสรลำพู
ประธานวิสาหกิจชุมชน เสน่ห์ย่านบางลำพุ และผู้ดูแลกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชน โดย ไกด์เด็กบางลำพู

“รู้สึกดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ของพื้นที่ชุมชนในย่านบางลำพู และเกิดกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้ทำสิ่งดีดีให้กับบ้าน ให้กับชุมชนของตนเอง รวมถึงน้องๆ ยังได้มีประสบการณ์ในการทำงาน และเห็นการเจริญเติบโต พัฒนาการของแต่ละคน” 

สุพิน หนองบัว (หมู) แกนนำชมรมเกสรลำพู และ กรรมการบริษัท เสน่ห์บางลำพู จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) SE
“รู้สึกดีค่ะที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์เรื่องราวของชุมชน ได้รักษาประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมในย่านสำคัญของกรุงเทพมหานคร ได้เห็นพัฒนาการของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสาและสำนึกรักบ้านเกิด และน้องๆ ได้มีศักยภาพมากขึ้นทั้งการเรียนและกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ร่วมทำกันมา” 

โสฬส ธีรธรรัตนะ (อั้ม) ไกด์เด็กบางลำพู
“รู้สึกมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วย มีความกล้าแสดงออก ได้ฝึกพูด และเรียนรู้ประวัติเรื่องราวของชุมชนของตัวเองทั้งที่ไม่เคยรู้มาก่อน จากคนที่นอนดึกตื่นสายก็กลายเป็นคนที่ถึงแม้จะนอนดึก แต่ก็ต้องตื่นเช้าเพื่อมาทำกิจกรรมของชุมชนเราเอง” 

พรชิตา บัวประดิษฐ์ (หมิว) ไกด์เด็กบางลำพู
“รู้สึกดีที่ได้ทำงานชุมชน ซึ่งเป็นการช่วยเหลืออนุรักษ์ชุมชน และได้รับรู้ความเป็นมาของชุมชนการที่ได้มาเป็นไกด์มันให้อะไรๆหลายอย่างมากเลยนะไม่ว่าจะทักษะการพูด เพราะส่วนตัวเป็นคนพูดเร็ว จนบางครั้งยังจำไม่ได้เลยว่าพูดไรไป และยังได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้ฝึกทักษะใช้ความสามารถของตนเองทำให้เราได้เจอผู้คนมากมายด้วย”   

ณิชกมล ศาสตร์จันทร์ (ฟิล์ม) ไกด์เด็กบางลำพู
“ดีใจที่ได้มาทำงานไกด์ ทำให้คนเห็นความสามารถในตัวเรา มีความรู้เรื่องชุมชนมากขึ้น กล้าพูด กล้าคุย กล้าซักถามมากขึ้น ได้ร่วมกิจกรรมที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน ได้แนะนำเรื่องราวของดีชุมชนในบ้านของหนูเอง ได้ไปต่างจังหวัด ได้ไปรู้จักกับกลุ่มเพื่อนใหม่มากขึ้น และมีความสุขที่ได้ร่วมกิจกรรมทุกครั้งค่ะ” 

ฐัฒฐพงศ์ ลิขิตวณิชกุล โครงการ magic plant แปลงปลูกปัน มหัศจรรย์ พืชสวน
“ผมตั้งใจทำสวนผัก เพื่อให้คนในชุมชนมีความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม และยังนำไปสู่การท่องเที่ยวของท้องถิ่น ก็อยากจะส่งเสริมเรื่องนี้ให้กับเด็กๆ ในชุมชนด้วย บางครั้งก็มีอุปสรรคแต่ก็พร้อมที่จะสู้ ดึงพลังออกมาเพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้า”  

อนุพงษ์ บุญถม (ทีม) ไกด์เด็กบางลำพู
“รู้สึกดีใจที่ได้เป็นไกด์เด็กบางลำพู และหนูได้เรียนรู้กับประวัติ เรื่องราวของชุมชนที่หนูไม่เคยรู้มาก่อน ภูมิใจในตัวองมากๆ” 

คนที่เล่าถึงเป็นเพียงตัวอย่าง แต่จริงๆแล้วมีคนเบื้องหลังอีกมากมายที่มีส่วนในการขับเคลื่อน 

 

 

 

 

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]