ปริศนาธงกฐินทั้ง 4
ช่วงเทศกาลกฐินในกำหนดเวลา 1 เดือนหลังจากวันออกพรรษานั้น เพื่อน ๆ หลายคนมีโอกาสได้ไปร่วมงานบุญกฐินตามวัดต่าง ๆ ใกล้บ้านกันมาบ้างแล้ว การกำหนดกฐินโดยราษฏรในท้องถิ่นหรือประชาชนผู้มีจิตศรัทธาจัดกฐินไปทอด ณ วัดราษฎรต่าง ๆ เรียว่า กฐินราษฏร์ จำแนกได้เป็น 3 ประเภท ตามลักษณะการจัดกฐิน ได้แก่ มหากฐิน จุลกฐิน และกฐินตกค้าง กฐินราษฏร์มักจะมีกิจกรรมที่เน้นความสนุกสนานรื่นเริงเพิ่มเติมจากพิธีกรรมทาง ศาสนา และผสมผสานกับความเชื่อทางคติธรรมโบราณ คือ มีธงกฐินเป็นรูปสัตว์อันเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าวัดนั้นได้มีการทอดกฐินแล้ว
ธงกฐินเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ที่ปรากฏบนผืนธง ขณะเวลาแห่งการตั้งกองบุญกฐิน แห่ขบวนกฐิน กระทั่งทอดกฐินจนแล้วเสร็จ พวกเรารู้หรือไม่ว่าภาพสัตว์บนธงกฐินในงานบุญที่เราเห็นนั้นสื่อความหมายแฝงปริศนาธรรมอย่างไรบ้าง สื่อศิลป์สร้างสุขพามาไขปริศนานั้นให้กระจ่าง
ธงจระเข้ (ความโลภ) เปรียบถึงความโลภ เนื่องจากจระเข้เป็นสัตว์ที่มีปากกว้างใหญ่กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม ตามตำนานได้มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เมื่อครั้งหนึ่งมีเศรษฐีขี้เหนียวไม่เคยก่อบุญสร้างกุศลได้นำสมบัติที่ตนเองหวงแหนฝังไว้ที่ท่าน้ำหน้าบ้าน พอเศรษฐีตายไปด้วยผลกรรมที่มีจึงได้เกิดเป็นจระเข้เฝ้าสมบัติที่ท่าน้ำหน้าบ้านตนเอง ด้วยความอยากหลุดพ้น จึงเข้าฝันภรรยาตนและบอกให้ขุดสมบัติขึ้นมาทำบุญภรรยาของเศรษฐีจึงได้จัดการทอดกฐินขึ้น ฝ่ายจระเข้เศรษฐีเกิดความดีใจเลยว่ายน้ำตามขบวนแห่กฐินแต่ไม่ทันถึงวัดก็ขาดใจตายไปเสียก่อน ภรรยาของเศรษฐีจึงได้วาดธงจระเข้แทนสามีที่เสียชีวิตไปในปัจจุบันนี้ การคาบดอกบัวก็เปรียบเสมือนการสื่อว่าละความโลภ เพราะมีพระธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ จะเห็นธงจระเข้ติดอยู่ตามร้านค้าต่าง ๆ เพราะเป็นตัวแทนของการกินเท่าไรก็ ไม่อิ่ม ซึ่งถือเป็นการดึงดูดเงินทางให้เข้ามา
ธงตะขาบ (โกรธ) โดยธรรมชาติสัตว์ทั้งสองอย่างนี้มีพิษร้าย ถ้าใครได้โดนตะขาบและแมลงป่องต่อยจะเจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดนั้น มียาแก้ให้หายได้ ได้เปรียบถึงโทสะเพราะโทสะเกิดขึ้นง่ายและรุนแรงแต่ก็หายง่าย เรียกว่าโกรธง่ายหายเร็วโทสะและความโกรธมีความเจ็บปวดและความเสียหายเป็นผล ดังนั้น ธงกฐินรูปนี้จึงเปรียบเหมือนความโกรธและความเจ็บปวดที่เกิดแล้วสามารถรักษาหายได้เร็ว ธงตะขาบยังเป็นเครื่องหมายแสดงว่าวัดนั้นมีผู้จองเป็นเจ้าภาพกองกฐินแล้ว หากผู้จะมาปวารณาเป็นเจ้าภาพให้ไปวัดอื่นได้เลย
ธงมัจฉา (หลง) ธงมัจฉา เป็นตัวแทนของหญิงสาว คนเรามีความหลงในรูป เสียง กลิ่น รส แต่เราสามารถออกจากนี้ได้ด้วยการพิจารณาเห็นความเป็นจริง ตามความเชื่ออานิสงส์จากการถวายผ้าแด่พระภิกษุสงฆ์จะส่งผลให้มีรูปโฉมที่งดงามส่งเสริมด้านเมตตามหานิยม หากเป็นพ่อค้าแม่ขายจะทำมาค้าคล่อง
ธงเต่า (สติปัญญา) ธงเต่า ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่าวัดนี้ได้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว และธงเต่านี้จะถูกปลดลง ในวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งเป็นช่วงหมดฤดูกาลทอดกฐินนั่นเอง ตามความเชื่อเต่ามีความหมายถึง อายุที่ยืน สุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ อีกนัยหนึ่งเพื่อแจ้งว่า วัดนี้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้วจะปลดลง ในวันเพ็ญเดือน 12
แต่ในปัจจุบันจะพบเจอเพียง ธงจระเข้ และนางมัจฉาเท่านั้น ส่วนธงตะขาบและธงเต่าจะพบเห็นกันได้น้อยลง
อ้างอิง
พระสมุห์สุรพล สุทธญาโณ (ดอนเตาเหล็ก). (2562). พลวัตประเพณีการทำบุญกฐินของชาวภูไทในตำบลบุ่งเลิศ อำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด. ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
ศิลาลัย พัดโบก, รองศาสตราจารย์ ดร.ประดิพัทธุ์ เลิศรุจิดำรงค์กุล. (2565). การศึกษารูปลักษณ์ทางสัญญะในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา สู่การสื่อความหมายและการแปรรูปใหม่เพื่อสร้างมิติทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา. วารสาร มจร พุทธศาสตร์ปริทรรศน์. 6(3), 135.
สุรีย์ ชนะโสภิดานนท์. (2560). รูปแบบการทอดกฐินสำหรับชาวพุทธไทย. ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จาก https://cultural.wu.ac.th/todkatin
MGR Online. (2556). นานาสารธรรม : รู้จัก “กฐินทาน” ก่อนไปทอดกฐิน. จาก https://mgronline.com/dhamma/detail/9560000123881
ขอบคุณภาพปกบทความจาก Masii https://masii.co.th/blog/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B9-%E0%B8%98%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%90%E0%B8%B4%E0%B8%99
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]