รำวงคองก้า แห่งบ้านคำคา

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 5 กันยายน 66 / อ่าน : 4,060


รำวงคองก้า แห่งบ้านคำคา

รำวงคองก้า แห่งบ้านคำคา ศิลปะท้องถิ่นแสนครื้นเครงหนึ่งเดียวไม่เหมือนใครในพื้นที่ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นำเสนอออกมาจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ของผู้คนกับสิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญ

ความเป็นมาที่เราสามารถสืบเค้าได้นั้น รำวงคองก้าเริ่มละเล่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรี ราวปี พ.ศ. 2475 นำมาเป็นนโยบายของชาติ เพื่อเป็นกุศโลบายในการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่คนภายในประเทศ ในระหว่างช่วงสงคราม ถ้าถามหาว่าใครที่คิดค้นคนแรกคงตอบได้แต่เพียงว่าเป็นการละเล่นที่สืบทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย

สมัยเดียวกัน รำวงคองก้าแห่งบ้านคำคา จะละเล่นหลังจากแล้วเสร็จจากการทำไร่ ทำนา หรือตามงานวัด งานปีใหม่ งานประเพณีต่าง ๆ การแต่งกายถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้หญิงจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่มีสีสันฉูดฉาด กระโปร่งที่สวมใส่เป็นผ้ามัน แสดงความย้วยของเนื้อผ้า ผู้ชายก็จะใส่เสื้อสีสันฉูดฉาดเช่นเดียวกัน กางเกงอาจจะเป็นสแลกสีดำ ท่าทางการร่ายรำจะไม่เคร่งครัด แต่มีส่วนที่สังเกตุได้คือมีการย่ำเท้า ยักไหล่ ทิ้งสะโพก เต้นรำไปรอบ ๆ เป็นวงกลมตามจังหวะเพลง ทั้งจังหวะรำวงธรรมดา จังหวะลำลาว จังหวะเต้ยปักหลัก จังหวะแซมบ้า และจังหวะคองก้า ผ่านเครื่องดนตรีประกอบจังวะ คือ กลองรำมะนา ฉิ่ง ฉาบ แทมโบรีน และลูกแซก (มาราคัส) ซึ่งการแสดงจะไม่ได้เรียงลำดับการแสดงเป็นลำดับขั้นตาม 1 2 3... หากจะขึ้นอยู่กับผู้ชมหน้าเวทีที่ชื่นชอบจังหวะใดก็จะขอขึ้นมาให้ร้อง รำ แต่จะมีช่วงเปิดเริ่มทำการแสดงเท่านั้น ที่จะเปิดด้วยจังหวะรำวงธรรมดา โดยเพลงใน 5 จังหวะ จะมีเนื้อเพลงที่แตกต่างกัน

เสียงพ่อทินกร ชมภูจักร หนึ่งในนักแสดงของคณะรำวงคองก้าบ้านคำคา เล่าผ่านบทสัมภาษณ์ถึงจุดขีดสุดของการเปลี่ยนแปลงการแสดงรำวงคองก้า เมื่อการก่อสร้างเขื่อนลำปาวเข้ามาเป็นสมการการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านเมื่อราว ๆ ปี 2508 – 2510 ทำให้น้ำท่วมทุ่งนา บ้านแตกสาแหรกขาด ชาวบ้านย้ายหนีจากถิ่นฐานเดิม ผลกระทบนี้ทำให้บ้านคำคา ซึ่งเป็นที่ตั้งอำเภอสหัสขันธ์เก่า ถูกย้ายการปกครองหนีน้ำท่วมเช่นกัน สถานะของบ้านคำคาช่วงนั้น คือหมู่บ้านเถื่อน หมู่บ้านที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถูกทอดทิ้งจากทุกระบบ เสมือนถูกปล่อยเกาะอยู่อย่างนั้นมานานหลายปี จนวันหนึ่งชาวบ้านที่ยังอยู่ พยายามผลักดันตัวเอง สร้างผลิตภัณฑ์ รักษาสิ่งที่ดีงามของเขาไว้

จากเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงนี้ ถูกส่งต่อมาสู่บทเพลงในจังหวะรำวงธรรมดา ซึ่งได้แต่งเนื้อร้องขึ้นมาใหม่ มีเนื้อหาเล่าประวัติของหมู่บ้าน ความเป็นมาของหมู่บ้านเป็นอย่างไร ก่อนจะได้แตกแยกย้ายกันออกไป จากนั้นก็ไล่ลำดับไปจนถึง สหัสขันธ์เป็นราชธานี ทั้งมีการเล่าถึง “พระพรหมภูสิงห์ พระนอนภูค่าว พระพุทธไสยาสภูกอ” พรรณนาไปอย่างถ้วนทั่วเกี่ยวกับสหัสขันธ์

พ่อทินกร บอกว่า เนื้อเพลงที่ร้องออกมาประกอบกับจังหวะดนตรีที่สนุกสนาน หากพิจารณาฟังอย่างถี่ถ้วน สามารถเป็นเครื่องมือใช้เล่าประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี จุดประสงค์ที่แต่งเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อบอกกล่าวถึงความผลัดพรากของพี่น้องในชุมชน แหล่งอารยธรรมต่าง ๆ และรำลึกถึงญาติพี่น้องที่พลัดพรากจากกัน

 

เพลงประวัติหมู่บ้าน

จังหวะรำวงธรรมดา

มองแผ่นน้ำแสนระกรรมในดวงจิต พลัดพรากจากมิตร น้ำเขื่อนปิดท่วมเมืองดอน สายน้ำก็เอ่อท่วมท้น ผู้คนก็เฝ้าจากจร เมืองเก่าเศร้าซึ้ง ฉันลืมไม่ลงจดจำ คิดแล้วชอกช้ำอาวรณ์ เลิกทำนามีปลาให้จับกันไม่หลับนอน เลิกคราดไถทำนา มีปลาให้จับกันไม่หลับนอน ใครจากหนี น้องพี่ก็ยังคงอยู่ กัดฟันทนสู้จับปลาปูกันสลอน เมืองไกลก็หลั่งไหลมา หาปลากันชื่อกระฉ่อน เมืองล่มจมน้ำมีเรือประจำสัญจร บ้านร้างเมืองดอนไม่เกรง

ริมฝั่งน้ำคลื่นกระทบฝั่งชวนให้วังเวง ริมฝั่งน้ำคลื่นกระทบฝั่งชวนให้วังเวง ใจมัวหมองคิดถึงน้องที่อำเภอเก่า  น้ำท่วมตัวเจ้า เมื่อไหร่นงเยาว์ เจ้าจะมา พี่เตรียมบุกเบิกป่าดง    ถางพงศ์ไว้เพื่อกานดา อย่าห่วงจับปลาเพราะ บ้านพี่ยามีมากมาย มาช่วยพี่ชายหาเงิน พี่มีเรือหางยาวจะพาสาวเจ้าขี่เรือให้เพลิน พี่มีเรือหางยาวจะพาสาวเจ้าจับปลาหาเงิน

สหัสขันธ์ดินแดนรื่นรมย์ พระนอนพระพรหม ชื่นชมผู้คนกล่าวขาน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มิ่งมิตรคู่เมืองมานาน เมื่อครั้งบูราณ สมัยทวารวดี แต่อดีตเมืองนี้เคยมีประวัติ ทางหลวงเขาจัดตกแต่งแปลงใหม่อีกที จากเดิมนั้นหนาคำคาที่ตั้งธานี ท่านเจ้าเมืองบุรีสร้างเขื่อนจึงเคลื่อนเรามา อำเภอใหม่สดใสกว่าครั้งเก่าก่อน แสนออนซอน สุดสะออนผ้าไหมแพรวา ขอลาบขอพรหลวงพ่อเจ็ดกษัตรา วัดตาดแม่นายนั้นหนา ปล่องเทวาหรือว่านาคิน

แหลมโนนวิเศษสุดเขตริมเขื่อนลำปาว ถิ่นไดโนเสาภูกุ้มข้าวสวยงามดังจินต์ พระครูวิจิตรท่านนิมิตจากฟ้าสู่ดิน เป็นหนึ่งของกาฬสินธุ์ แดนดินสัตว์ดึกดำบรรพ์ ภูกุ้มข้าวเป็นภูเขาสวยเด่นหากใครได้เห็น นั้นจะสมเป็นดังจินต์ พระครูวิจิตรท่านนิมิตจากฟ้าสู่ดิน เป็นหนึ่งของกาฬสินธุ์แดนดินสัตว์ดึกดำบรรพ์

................................................................................................................................................

ถึงปัจจุบัน ยังมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากปู่ ย่า ตา ยาย มาสู่ลูกหลานก็ยังมีการสืบทอดวัฒนธรรมไว้ มีกลุ่มคนจากหลายหน่วยงานเข้ามาศึกษาข้อมูล ทั้งยังมีการนำรำวงคองก้าเข้ามาสอนนักเรียนในโรงเรียน เพื่อเป็นการปลูกฝังให้ลูกหลานยังคงรักษาวัฒนธรรมเอาไว้ ในรูปแบบคองก้า ผสมผสาน เรียกว่า คองก้าสามใบ

พ่อทินกร บอกว่า ระยะเวลาที่รำวงคองก้าได้ถูกสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น มีทั้งช่วงที่หายไปตามกระแสสมัยนิยมและถูกนำกลับมาฟื้นฟูใหม่ อย่างล่าสุดในปี 2560 ก็ได้มีการฟื้นฟูอีกครั้ง โดยการร่วมมือกันของคนในชุมชน

“สถานะของรำวงคองก้าในปัจจุบัน คือ คงไว้เพื่อการอนุรักษ์ การส่งเสริมกิจกรรมกรรมต่าง ๆ ของชุมชนและพื้นที่ ทั้งการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยียน”

.

อ้างอิงข้อมูลจากการสัมภาษณ์ พ่อทินกร ชมภูจักร หนึ่งในนักแสดงของคณะรำวงคองก้าบ้านคำคา

.

ติดตามข่าวสารและกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เพิ่มเติมได้ที่

Official Web : http://artculture4health.com/

Facebook : https://www.facebook.com/artculture4h

Youtube แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ : http://bit.ly/3YVFSl5

Instagram : https://www.instagram.com/artculture4health/

Twitter : https://twitter.com/art_culture4h

Tiktok : https://www.tiktok.com/@artculture4health

#แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพสสส #สสส #สื่อศิลป์SE #SE  #รำวงคองก้า #กาฬสินธุ์ #สหัสขันธ์ #บ้านคำคา #Joynotenjoy #ส้มส่งสุข 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]