ไอเดียจาก “กรงนก” แปลงร่างสู่การสร้างสรรค์ในมุมมองใหม่ ๆ โดย “กูอิรฟาน ตูแวตีเงาะ” เจ้าของเพจ Kufan.gallery

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 17 สิงหาคม 66 / อ่าน : 1,294


สื่อศิลป์ SE สะดุดตากับผลงานโคมไฟรูปทรงแปลกตา จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับนักออแบบผลิตภัณฑ์ “กูอิรฟาน ตูแวตีเงาะ” เจ้าของเพจ Kufan.gallery ถึงจุดเริ่มต้นการเลือกคอนเซ็ปต์กรงนกมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่อย่าง “โคมไฟ”

จุดแรกเริ่มมาจากธีสิสจบของตนเอง จากการพยายามหาแรงบันดาลใจต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ทั้งการ แต่งกาย การละเล่นต่าง ๆ ที่ผูกพันกับชีวิตของคนภาคใต้ ภาพรวมประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ การเลี้ยงนกเป็นวิถีชีวิตทุกบ้านต้องมีสักกรงสองกรง แขวนไว้ตามชายบ้าน คล้ายเป็นการเลี้ยงแบบผ่อนคลาย เช่น เวลาไปกรีดยางกลับมาเหนื่อย ๆ ได้ยินเสียงนกเขาร้อง ก็จะทำให้ผ่อนคลาย หรือไปร้านน้ำชาไปนั่งจิบชาไปด้วย ฟังเสียงนกไปด้วยจะทำให้เราผ่อนคลาย พอเราเห็นอย่างนั้นจึงเกิดไอเดีย และตัวเราเองซึมซับจากที่บ้านด้วย เพราะว่าพ่อก็เลี้ยงนกเขา เราเห็นตั้งแต่เราเกิด คือตั้งแต่เด็ก ๆ โตมาก็เห็นแต่นกและกรงนกล้อมรอบบ้าน รู้สึกว่าต้องเอาเรื่องราวสตอรี่นี้มาเล่าเรื่อง สุดท้ายไปตกผลึกว่าเราอยากได้ความเป็นวิถีชีวิตของการละเล่นนกเขา แต่เรามองทะลุไปถึงกรงนกที่สวยมาก แล้วทำยังไงล่ะที่จะสามารถต่อยอดให้ไปต่อได้ ไม่ใช่แค่จบที่กรงนก ตอนนั้นมองเห็นเทคนิคของช่างทำกรงนก มันพิเศษมากดึงดูดสายตาของเราได้ ในฐานะเรียนออกแบบมาได้เล็งเห็นในความงามตรงนี้จึงอยากสานต่อ

“นกและกรงนก ความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนภาคใต้ ตกผลึกเป็นไอเดียสร้างสรรค์ ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน”

ขอขอบคุณรูปภาพจาก facebook :  Blackcat Maew

Kufan เล่าต่อว่าเริ่มแรกการเข้าไปหาช่างถูกปฏิเสธหลายครั้ง เพราะงานโคมไฟมีความซับซ้อนมาก การเข้าไปเปลี่ยนกระบวนการทำงานของช่างเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก

เราคิดว่าเทคนิคกรงนกสามารถต่อยอดไปได้อยู่แล้ว เพียงแค่ว่าเราจะสื่อสารยังไงให้เขาเข้าใจในแบบที่เราอยากได้ เราเริ่มจากสังเกตุแล้วสเก็ตซ์แบบ จากนั้นเข้าไปคุยไปกับช่างทำกรงนก ซึ่งช่วงแรกช่างปฏิเสธหลายครั้ง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือเขาทำไม่ได้ มันยากเกินไป และไม่เคยมีใครมาเปลี่ยนแปลงกระบวนการของเขาครับ เพราะว่ากรงนกปรกติเป็นงานชิ้นเดียว แต่งานโคมไฟของเรามีความซับซ้อน เพราะต้องผลิตโดยแยกชิ้นส่วนแล้วนำมาประกอบกันเป็นหนึ่งชิ้นงาน ตอนนั้นเราทำใจแล้วนะ แต่ขอลองเปิดใจคุยกันใหม่ว่าจริง ๆ ไม่ได้ยาก เพียงแค่มีกระบวนการ ซึ่งเราเป็นคนวางแผนให้ว่าขั้นตอนที่ หนึ่ง สอง สาม ต้องเป็นอย่างไร nใช้วิธีการอธิบายและให้ช่างลงมือทำให้เสร็จที่ละส่วน

“เปิดใจที่จะลองไปด้วยกัน เพราะว่าเราเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในด้านการทำกรงนกเหมือนกัน แต่เราก็คิดว่าเทคนิคของช่างทำกรงนกดูน่าสนใจ มันสามารถที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้”

ขอขอบคุณรูปภาพจาก facebook :  Blackcat Maew

Kufan บอกว่าโคมไฟหนึ่งโคม ต้องผ่านทีมช่างฝีมือถึง 3 ส่วน ทั้งช่างทำโครง กลุ่มแม่บ้านในการจับจีบลวดลาย และช่างกลึงไม้ ช่างทั้งสามส่วนจะทำงานผสานไปพร้อม ๆ กัน

เรามีหลายส่วนงานที่ผลิตกว่าจะมาเป็นผลงานหนึ่งชิ้น ผลงานหนึ่งชิ้นไม่ได้จบแค่ช่างกรงนกทำโครงเพียงคนเดียว หลัก ๆ จะเริ่มจากตัวเราที่สเก็ตซ์แบบพอสเก็ตซ์แบบเสร็จ เข้าไปคุยกับช่างทำโครง พอได้โครงเสร็จแล้ว จะส่งไม้ต่อไปที่กลุ่มแม่บ้านจับจีบใบตาล โดยใช้ยอดใบตาลอ่อนเท่านั้น เราจะได้สีธรรมชาติจากใบตาลอ่อนที่ผ่านกระบวนการต้ม แล้วตากจนแห้ง จากนั้นซอยเป็นชิ้นเหมือนริบบิ้นให้ได้เป็นเส้นยาว และต้องสม่ำเสมอ เหล่าแม่บ้านที่เขาทำกระบวนการนี้ เขาจะชำนาญมากมีเทคนิคฝีมือเป็นที่แพรวพราว ถ้าเราทำเองอาจจะถนัดใช้กรรไกรในการตัดทีละใบ มันก็ค่อนข้างที่ใช้เวลาหน่อย พอเราได้ยอดใบตาลอ่อนที่ผ่านกระบวนมาแล้วนำมาจับจีบ ในช่วงระหว่างจับจีบ ช่างกลึงจะทำการกลึงไม้ในส่วนปลายขั้วบนของโคมไฟไปพร้อมกัน

ช่างฝีมือทั้งสามส่วนงานกระจายไปตามแต่ละหมู่บ้านในพื้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

ในที่นี่ถ้าพร้อมใช้งานจะมีช่างอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเพื่อประกอบไฟ ต่อสายไฟ และช่างทางเชื่อมในดีเทล เล็ก ๆ น้อย ๆ เชื่อมเหล็กทำเป็นห่วงคล้องเพื่อตกแต่งตัวโคมไฟ หากรวม ๆ แล้วจะมีทั้งหมด 5 ช่าง แต่พระเอกของเราจะเป็น ช่างโครง แม่บ้านจับจีบ และช่างกลึงไม้ กระบวนการทุกขั้นตอนถ้าวัสดุผ่านการเตรียมมาพร้อมทุกอย่าง จะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์จะปิดงานได้ต่อชิ้น

“ทุกส่วนของงาน จะมีกลิ่นอายของความเป็นกรงนก เพียงเรามาตีความเล่าเรื่องให้ผ่านโปรดักต์ใหม่ ๆ ครับ”

 

 

 

ขอขอบคุณรูปภาพจาก Kufan.gallery 

สื่อศิลป์ SE หยอดคำถามไปที่ใจของ Kufan ถึงความรู้สึกอย่างไรที่ผลงานเรา ซึ่งถูกต่อยอดจากการคิดที่จะทำเฉพาะธีสิส มาถึงตอนนี้ก็ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง

ไม่คิดเหมือนกันว่าตัวเองที่ทำมาเรื่อย ๆ จะมาถึงตรงนี้ เพราะว่าตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า ทำธีสิสส่งอาจารย์แล้วคือจบ แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนั้น ผลงานที่เสร็จแล้วขายได้หมดเลย มีคนสนับสนุน มีคอนแทคมาเรื่อย ๆ ก่อนนั้นเราก็ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ทางปัตตานี เขาให้เราได้เป็นพาร์ทเนอร์กัน ทำงานจดสัญญากัน 5 ปี พอถึงจุดหมดสัญญาเราไม่ได้ต่อสัญญา และด้วยความต้องการความเป็นอิสระอยากทำงานในแบบของเรา จนได้มาเจอกับพี่แมวจาก สงขลา เฮอริเทจ ได้ประมาณ 3 เดือนครับ พี่แมวมาปูทางให้เราในเส้นทางนี้ เราได้สานต่อโปรเจกต์ของเราในแบบที่เราต้องการ

“ตลอดเส้นทางประมาณ 5-6 ปี เราล้มลุกคลุกคลานเยอะเหมือนกันนะกับแต่ละโปรเจกต์”

ขอขอบคุณรูปภาพจาก facebook :  กู ฟาน

พอสินค้าเรามันขายได้ ส่วนมากกลุ่มลูกค้าจะเป็นใคร

เป็นกลุ่มนักธุรกิจ นักสะสมงานศิลปะ หากจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีนมากกว่าที่จะซื้องานพวกนี้ครับ เพราะงานของเราจะมีกลิ่นอายความเป็นจีน เป็นโคมไฟสไตล์จีน ทำให้คนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนจะชอบมาก และส่วนมากผู้บริโภคเขาตัดสินใจซื้อจากการดูผลงานเรา ถ้าเขาสนใจชิ้นไหนเขาจะรีเควสต์เข้ามา ซึ่งบางครั้งอาจจะให้เราปรับว่าจะไม่เอาส่วนนี้ เอาส่วนนั้นออก เราก็ปรับให้งานที่ออกมาพึงพอใจกับทั้งเราและลูกค้า แต่เราก็จะไม่ทิ้งคาแรกเตอร์ผลงานของเรา

เคยมีลูกค้าต่างชาติที่เข้ามาสั่งผลงานของเราทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อย่างกรณีมีลูกค้าต่างชาติเขามาเที่ยวประเทศไทยแล้วจะหิ้วขึ้นเครื่องบินกลับด้วย เรามองว่าเป็นภาระสำหรับเขา เพราะว่าตัวชิ้นงานมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แล้วจะเอาขึ้นเครื่องได้ยังไง ตอนนั้นยอมรับว่ายังไม่มีประสบการณ์ในเรื่องการขนส่งจึงพลาดโอกาสในส่วนนี้ไป

ในอนาคตเราคิดแบบหรือออกแบบอะไรไว้บ้างเเล้ว

ณ ตอนนี้รูปแบบของผลงานเราค่อนข้างที่จะหลากหลายแล้ว แต่ว่ายังพัฒนาไปต่อได้เรื่อย ๆ แต่ว่าสิ่งที่อยากจะพัฒนา อยากทดลองอะไรใหม่ ๆ ก็คือสีสันบนชิ้นงาน ซึ่งจะไม่ใช้สีเคมีอาจจะเป็นสีธรรมชาติ อยากทดลองย้อมสีวัสดุให้มีความคัลเลอร์ฟูลมากขึ้น เพราะว่าหลังโควิดอะไร ๆ มันก็แบบรู้สึกว่ามันต้องมีสีสันเข้ามา และนอกจากผลงานชิ้นใหญ่ เรายังทำเครื่องประดับเล็ก ๆ เช่น ต่างหู ของชำร่วย ซองนำหอมปรับอากาศในตู้เสื้อผ้า พวงกุญแจ อันนี้อาจจะเป็นซีรีส์เล็ก ๆ ที่ขนส่งง่าย อาจจะขยับขยายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่หลากหลายในอนาคต

ขอขอบคุณรูปภาพจาก facebook :  กู ฟาน

ติดตามข่าวสารและกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เพิ่มเติมได้ที่

Official Web : http://artculture4health.com/

Facebook : https://www.facebook.com/artculture4h

Youtube แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ : http://bit.ly/3YVFSl5

Instagram : https://www.instagram.com/artculture4health/

Twitter : https://twitter.com/art_culture4h

Tiktok : https://www.tiktok.com/@artculture4health

#สสส #แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ  #สื่อศิลป์SE #SE #CEA #tcdcsongkhla #pakktaiidesignweek2023 #Kufangallery #สงขลาเฮอริเทจ #SKAHeritage



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]