ศิลปะยาใจ สินไซ ศิลป์สุข ปิดเพื่อเปิด ก้าวสู่ปฐมบทแห่งความสัมพันธ์

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 7 สิงหาคม 66 / อ่าน : 1,040


ศิลปะยาใจ สินไซ ศิลป์สุข ปิดเพื่อเปิด ก้าวสู่ปฐมบทแห่งความสัมพันธ์

ทำไมต้อง... ศิลปะยาใจ 
แล้วสินไซ ศิลป์สุข มาจากไหน ?  
คำตอบอยู่ที่นี่ ...
 

           สินไซ ศิลป์สุข มาจาก ศิลปะภาวนา ที่เป็นกระบวนการใครครวญด้วยใจ จากประสบการณ์การเรียนรู้ในภาพรวมผ่านลายเส้น และตัวอักษร ลงบนฝาผนังแห่งความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ของเรื่องราว (สินไซ) และผู้คน เพื่อสัมผัสสุนทรียภาวะ (ศิลป์สุข)


             โฮงสินไซร่วมกับสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดขอนแก่นและสมาคมผู้ปกครองออทิสติกจังหวัดขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมเพื่อแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้พัฒนาสุขภาวะคนพิการและบุคคลออทิสติกทั้งในด้านกาย ใจ สังคม ปัญญา โดยบูรณาการธรรมชาติ วัฒนธรรม ศิลปะในพื้นที่ของโฮงสินไซ (Sinxay Heritage House) แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมสินไซ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านหนองกุง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อใช้เป็นฐานความรู้เกี่ยวกับสินไซ ในขณะเดียวกันก็ใช้เป็นบริบทในการเรียนรู้ไปพร้อมกับกิจกรรมประกอบด้วย 1.การเปิดพื้นที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ 2.เยี่ยมเยือนกลุ่มเป้าหมาย 3.ชมฮูปแต้มและหมอลำสินไซ 4.สุนทรียสนทนา 5.สินไซในใจตน (กงล้อสี่ทิศ) 6.เปิดพื้นที่ สินไซ ศิลป์สุข (ธรรมชาติ วัฒนธรรม ศิลปะ)  

           ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการสินไซ ศิลป์สุข ภาค 2 บอกว่า เมื่อได้ทำกิจกรรมกับคนพิการและบุคคลออทิสติกผ่านกิจกรรมต่างๆ นั้นด้วยกระบวนการที่เรียกว่าสุนทรียสนทนา (Dialogue) และกระบวนการศิลปะภาวะนา โดยการเชื่อมโยงเรื่องราว 7 ย่านน้ำ 9 ด่านมหาภัย สาระจากวรรณกรรมเรื่องสินไซ เรื่องราวที่สามารถนำมาเรียนรู้ใจตน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ก้าวข้ามพ้นอุปสรรคด้านในของชีวิต ซึ่งด่าน 7 ย่านน้ำ 9 ด่านมหาภัย นั้นคืออุปสรรคสำคัญในการเดินทางของสินไซ สังข์ทอง สีโห เพื่อไปทวงคืนความถูกต้องด้วยการตามเอาอาสุมณฑากลับคืนเมืองเป็งจาน ซึ่งเป็นพันธกิจของผู้กล้าทั้ง 3 กุมาร ต้องใช้สติ ปัญญา ความกล้าหาญ เสียสละและอดทน เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานา เปรียบดังชีวิตของคนเราที่ย่อมพบกับอุปสรรคหลายด่านกว่าจะไปถึงเป้าหมายชีวิต 

         “7 ย่านน้ำ 9 ด่านมหาภัย โดย 7 ย่านน้ำ คือ แม่น้ำ 7 สาย ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเดินทาง ประกอบไปด้วย แม่น้ำสายที่ 1 มีความกว้าง 1 โยชน์, แม่น้ำสายที่ 2 กว้าง 2 โยชน์, แม่น้ำสายที่ 3 กว้าง 3 โยชน์, แม่น้ำสายที่ 4 กว้าง 4 โยชน์, แม่น้ำสายที่ 5 กว้าง 5 โยชน์, แม่น้ำสายที่ 6 กว้าง 6 โยชน์ และแม่น้ำสายที่ 7 กว้าง 7 โยชน์ รวมระยะทางที่สินไซต้องข้ามแม่น้ำทั้ง 7 สาย คือ 28 โยชน์ (48 กิโลเมตร) *1โยชน์ = 16 กิโลเมตร
          9 ด่านมหาภัย คือ อุปสรรคที่สำคัญ 9 อย่างที่สินไซต้องเผชิญ ประกอบไปด้วย ด่านแรก คือ ด่านงูซวง เป็นงูยักษ์ใหญ่ลำตัวยาว ตาแดงเหมือนแสงอาทิตย์เวลาพ่นพิษร้อนดั่งไฟ สินไซต่อสู้กับงูยักษ์จนชนะแล้วเดินทางต่อถึงแม่น้ำกว้าง 1 โยชน์ ด่านที่สอง คือ ด่านวรุณยักษ์หรือยักษ์กันดาร ซึ่งเป็นยักษ์ที่มีความกักขฬะ ชั่วช้าสามาน ไม่มีความเมตตา สินไซสู้กับยักษ์จนเป็นฝ่ายชนะจึงเดินทางต่อไป ข้ามแม่น้ำกว้าง 2 โยชน์ สินไซก็ขี่สังข์ข้ามน้ำไป ด่านที่สาม คือ ด่านพระยาช้างฉัตทันต์ มีฝูงช้างนับแสนตัว ฝูงช้างโขลงนี้มีพระยาฉัททันต์เป็นหัวหน้าโขลง เมื่อเห็นสินไซก็วิ่งกรูเข้ามาเพื่อจะทำร้ายสินไซ แต่สุดท้ายก็ถูกสินไซปราบจนพ่ายแพ้ หัวหน้าโขลงช้างจึงยอมบอกแก่สินไซว่า เมื่อหลายปีก่อนเห็นยักษ์กุมภัณฑ์อุ้มนางสุมณฑาเหาะผ่านไป จากนั้นก็ยอมให้สินไซขี่คอช้างและนำไปส่งจนสุดเขตแดน สินไซเดินทางต่อมาถึงแม่น้ำกว้าง 3 โยชน์ สินไซก็ขี่สังข์ข้ามไป

          ด่านที่สี่ คือ ด่านยักษ์สี่ตน มีชื่อว่า สวงหรือกันดานยักษ์ จิตตยักษ์ ไชยยักษ์ และวิไชยยักษ์ ซึ่งล้วนมีฤทธิเดชทั้งหมด เกิดการต่อสู้กันแต่สุดท้ายสินไซก็สามารถปราบยักษ์ทั้ง 4 ได้อย่างราบคาบ 
สินไซและหอยสังข์จึงเดินทางต่อไปพบแม่น้ำกว้าง 4 โยชน์ สินไซก็ขี่สังข์ข้ามไป ด่านที่ห้า คือ ด่านยักษ์ขิณี เป็นยักษ์ที่มากด้วยกามราคะ พอเห็นหนุ่มน้อยรูปงามอย่างสินไซก็เกิดไฟแห่งความกำหนัดและอยากได้สินไซมาเป็นสามีนางจึงออกอุบายเนรมิตศาลาพร้อมข้าวปลาอาหาร อีกทั้งแปลงกายเป็นสาวสวยมาหลอกล่อ เมื่อสินไซผ่านมานางก็เชิญชวนให้ขึ้นพักที่ศาลา แต่สินไซสังเกตว่าดวงตานางแข็งกระด้างจึงรู้ว่าไม่ใช่คน ก็ไม่หลงกลและหลีกหนีให้ห่างไกล นางยักษ์วิ่งตามและบอกว่าถ้ามีเมียแล้วขอเป็นน้อยก็ได้ สินไซจึงรีบเดินทางต่อไปจนกระทั่งถึงฝั่งแม่น้ำ 5 โยชน์ สินไซรีบขี่สังข์ข้ามไป นางยักษ์ตามมาถึงแต่ข้ามไปไม่ได้ 
          ด่านที่หก คือ ด่านนารีผล เป็นรมณียสถานของมวลหมู่ผู้แสวงวิทยาความรู้เป็นต้นไม้มีดอกสีส้มครั้นกลีบดอกหล่นก็เกิดเป็นผล มีรูปร่างเหมือนหญิงสาวที่สวยงาม รูปเท้าทั้ง 2 ข้างหย่อนลงมา ศีรษะติดกับด้านขั้ว เนื้อนุ่มเนียนหากใครได้เห็นก็สามารถทำให้เกิดความกระสันทรวงได้ สินไซเองก็หลงเข้าไปเชยชมจนกระทั่งเกิดการต่อสู้กับหมู่วิทยาธร สินไซเป็นฝ่ายชนะ เมื่อพักหายเหนื่อยแล้วก็ออกเดินทางต่อไปจนถึงฝั่งแม่น้ำกว้าง 6 โยชน์และขี่สังข์ข้ามไป ด่านที่เจ็ด คือ ด่านยักษ์อัสสมุขี ที่ภูเขาชื่อเวละบาด หรือเวรระบาด มีนางยักษ์ผีเสื้ออาศัยอยู่ ชื่ออัสสมุขียักษิณี มีหน้าเหมือนสุนัข เมื่อยักษ์อัสสมุขีเห็นสินไซก็เกิดพอใจอยากได้เป็นคู่ครองจึงเข้ามาโอบอุ้มและเหาะไป สินไซจึงตั้งสติและพูดจาหว่านล้อมให้นางยักษ์อัสสมุขีปล่อยตัว  แต่พูดจาอยู่เนิ่นนานก็ไม่เป็นผล สินไซจึงตัดคอนางยักษ์จนตาย และบนเขาเวละบาดนี้มีต้นกาลพฤกษ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พระอินทร์เนรมิตไว้ มีดอกเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์พร้อมเครื่องทรงของเทพ ผู้มีบุญญาธิการเท่านั้นจึงจะพานพบได้ สินไซจึงถือโอกาสชำระร่างกายและเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่ จากนั้นก็เดินทางต่อเพื่อไปพบกับหอยสังข์ซึ่งได้เดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

          ด่านที่แปด คือ ด่านเทพกินรี ณ ผาจวงถ้ำแอ่นมีหมู่กินรีร่างเป็นคน สามารถใส่ปีกติดหางบินบนอากาศได้ เป็นธิดาของเทวดา สินไซได้รู้จักกับเทพกินรี นามว่า เกียงคำ จนเกิดความรักใคร่จึงเกี้ยวพาราสีที่สุดก็ได้นางเกียงคำ เป็นเมียและครองรักอยู่กับนางเป็นเวลาระยะหนึ่ง ครั้นแล้วสินไซก็ขอลานางเกียงคำออกเดินทางต่อ นางจึงฝากฝังสั่งความไว้ว่า ถ้าได้ครองเมืองเรืองรุ่งเมื่อไหร่แล้วก็อย่าลืมกันสังข์และสินไซปรึกษากันและตกลงกันว่า ให้สังข์เดินทางล่วงหน้าเพื่อหาเบาะแสจากเมืองอโนราชก่อน ส่วนสินไซ จะรออยู่นอกเมือง สังข์จึงออกเดินทางสืบเสาะจนรู้ว่านางสุมนฑาอยู่ในวัง ส่วนยักษ์กุมภัณฑ์ออกหากิน จึงกลับมาแจ้งข่าวให้สินไซทราบแล้วออกเดินทางเข้าสู่เมืองอโนราชพร้อมกัน และด่านที่เก้า คือ ด่านยักษ์กุมภัณฑ์ เป็นด่านสุดท้ายของการผจญภัยไปสู่เมืองอโนราชเพื่อตามนางสุมณฑากลับคืนเมืองเป็งจาล ด่านนี้นับเป็นด่านใหญ่ที่สินไซต้องทำการรบยักษ์กุมภัณฑ์ถึง 2 ครั้ง
            นี่คือ 7 ย่านน้ำ 9 ด่านมหาภัย ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่น่าสังเกต คือ การเล่าเรื่องประกอบภาพเขียนซึ่งมีส่วนทำให้ผู้ฟังสนใจติดตามและเข้าใจเรื่องราวได้เป็นอย่างดี” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ เล่า 
           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ เล่าต่อถึง สุนทรียสนทนา (Dialogue) ว่าเป็นกระบวนการสื่อสารเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจผู้อื่นและสร้างการรู้จักตนเองในระดับลึก ซึ่งรูปแบบของกิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้ หลังจากที่ได้ให้ทุกคนได้ผ่อนพักตระหนักรู้ เพื่อสร้างความผ่อนคลายและน้อมนำสติกลับมารู้ตัว เป็นการเตรียมความพร้อมจากนั้นผู้เข้าร่วมทุกคนมีโอกาสฝึกการรับฟังอย่างเปิดใจ (Deep Listening) ห้อยแขวนการตัดสิน (Suspending) เคารพความแตกต่าง (Respecting) และอยู่กับคนตรงหน้าอย่างแท้จริง (Presencing) โดยการจับคู่และจับกลุ่ม แลกเปลี่ยนประเด็นที่เป็นเรื่องราวทั่วๆ ไป และเรื่องราวการฝ่าฟันมาด้วยตนเองด้วยความสามารถและความอดทน อดกลั้น กิจกรรมได้ให้ผู้เข้าร่วมเล่าเรื่องและรับฟังกันและกัน ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นก็คือ ช่วยให้เขาเกิดความเข้าใจ เห็นใจกัน และสิ่งที่น่าจะมีความหมายมากที่สุด คือการได้เติมพลังชีวิตให้กับตนเองด้วยการอยู่ ด้วยการเห็นกันและกันตามที่เป็นอยู่อย่างแท้จริงนั่นเอง


         “เห็นจริงด้วยตาเนื้อ รับฟังด้วยตาใน เปิดสัมผัส รับรู้อดีตสู่ปัจจุบัน เปิดสัมพันธ์ระหว่างผองเรา”
         “รับฟังเพื่อเห็นกันใน-นอก เชื่อมอาวุธในใจสินไซกับใจตน”
         “ธรรมชาติ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างตนและสรรพสิ่ง”

        สินไซ ศิลป์สุข ปิดเพื่อเปิด ก้าวสู่ปฐมบทแห่งความสัมพันธ์

          และเมื่อคนพิการและบุคคลออทิสติกได้ทำกิจกรรมต่างๆ มาแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นคุณค่าวรรณกรรม ที่เป็นพลังจากอดีตมาสู้ปัจจุบันนั้นมีความลึกซึ้งผูกพันในคุณค่าของรากเหง้าตน เป็นพลังแห่งเรื่องราว การต่อสู้ฟันฝ่ามาด้วยปัญญา คุณค่าความงามที่เป็นสุนทรียแห่งศิลปะต่างๆ ที่เกิดขึ้น และคุณค่าธรรมชาติ ที่มีความแท้จริง สงบ สุข เรื่องราวดีๆ ก็เกิดขึ้นมากมาย เกี่ยวกับเรื่องนี้แพทย์หญิงวนาพร วัฒนกูล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลขอนแก่น หรือ หมอต่าย บอกว่า ด้วยพื้นที่ของโฮงสินไซเป็นพื้นที่ที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านงานศิลปะ และมีวรรณกรรมเรื่อง
สินไซที่ชัดเจน กิจกรรมสินไซ ศิลป์สุขนี้เราใช้แนวคิดจากเรื่องของศิลปะ วัฒนธรรม และธรรมชาติ เมื่อได้นำมาใช้กับคนพิการและบุคคลออทิสติก ทำให้เห็นว่าน้องเยาวชนเป็นตัวของตัวเองเพิ่มขึ้นรู้วิธีสื่อสารมากขึ้น เขาสบตาเราบ่อยขึ้นเราผูกพันธ์กันมากขึ้น เขามีทักษะสังคมดีขึ้น เพราะฉะนั้นเวลานำเรื่องวรรณกรรมมาดำเนินในการเชื่อมโยงผู้คน เชื่อมโยงเยาวชน คนพิการ ร่วมกันก็เหมือนเป็นกาวชั้นดี เชื่อมโยงกันกลายเป็นเบสที่ดีมาก พอนำเรื่องมาเล่น มาแสดง ก็สามารถแสดงได้ เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับน้องเยาวชนออทิสติกที่ได้ดูแลกันและกันมา 1 ปี 2 ปี 3 ปี เข้าปีที่ 3 ก็สร้างงานได้ คนที่มาชมก็บอกว่าเขาไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเยาวชน
ออทิสติกเป็นอย่างไร ก็คิดว่าทำอะไรไม่ได้  แต่พอได้เห็นจึงได้รู้ว่าเกิดเป็นความจริง ความดี ความงาม เกิดขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้จริงๆ ...


          ด้านดร.สมพร ขันเงิน คุณพ่อน้องฟีล์ม บอกว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นโฮงสินไซ สามารถทำให้น้องฟีล์มจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานานขึ้น น้องได้แสดงออกถึงศักยภาพของตัวเองเกี่ยวกับการวาดรูประบายสี และก็ได้ทำในสิ่งที่เขาชอบก็รู้สึกดีมองเห็นโอกาสเพิ่มขึ้นมาอีกนิดที่จะพาเขาให้อยู่ในสังคมได้ดีขึ้นกว่าเดิม 
          ส่วนธรากร มณีรัตน์ คุณแม่น้องต๊อบ ก็บอกว่า ที่ผ่านมาน้องต๊อบเป็นเด็กที่ชอบอยู่คนเดียว เล่นแต่คอมพิวเตอร์ อยู่ในโลกของเทคโนโลยี เวลามีใครมาพูดหรือเตือนน้องก็จะคิดว่าเป็นการตำหนิ น้องไม่ค่อยมีทักษะสังคม มีโอกาสน้อยที่จะได้อยู่ในสังคมจริงๆ จึงมองโลกแบบติดลบนิดๆ อยากจะหากิจกรรมให้น้องต๊อบทำร่วมกับเพื่อนๆ แต่ว่าเพื่อนๆ เขาไปไกลกว่าน้อง น้องมีช่องว่างระหว่างตัวเองกับเพื่อนที่อยู่ในมหาวิทยาลัย พื้นที่ตรงนี้เหมือนจะเปิดโอกาสให้เขาได้สื่อสาร ได้เชื่อมโยงกับคนมากขึ้นผ่านกิจกรรมที่เป็นจังหวะที่ไม่เร่งเร้า และเขาเองก็รู้สึกว่า เขาได้รับการยอมรับ เลยทำให้พฤติกรรมที่เคยต่อต้าน มันค่อยๆ ลดลงโดยปริยาย

 

          กิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ , เยี่ยมเยือนกลุ่มเป้าหมาย , ชมฮูปแต้มและหมอลำสินไซ , สุนทรียสนทนา , สินไซในใจตน (กงล้อสี่ทิศ) และเปิดพื้นที่ สินไซ ศิลป์สุข (ธรรมชาติ วัฒนธรรม ศิลปะ) ก่อให้เกิดประโยชน์มากมายทั้งทางกาย คือ การได้ฝึกทักษะการมองเห็นความงาม สุนทรียภาพ ทางจิต ได้ความรู้สึกอบอุ่นใจ มั่นคง และเชื่อมั่นต่อตนเองและสังคม ทางปัญญา ได้เปิดโลกทัศน์ ให้เห็นความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ตามจริงมากยิ่งขึ้น ทางสังคม ได้ทำงานร่วมกัน เกิดมิตรภาพและการแลกเปลี่ยนทัศนคติในวงกว้าง ซึ่งผลลัพท์ที่ออกมานั้นสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างการจดจำ และเปิดโอกาสให้กับคนในสังคมมากมายเห็นได้จากรอยยิ้มของคนที่มาเยือน พ่อแม่ผู้ปกครองของคนพิการและบุคคลออทิสติกได้ทำกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย สมกับชื่อที่ว่า สินไซ ศิลป์สุข จริงๆ 
          ซึ่งใครที่สนใจกิจกรรม “เดินดงชมป่า 9 ด่านมหาภัย” โดยมัคคุเทศก์เยาวชนออทิสติก และร่วมพูดคุยสนทนากับคนพิการด้านต่างๆ หรือร่วมกิจกรรมดีๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกมากมายสามารถติดตามได้ที่ แฟนเพจโฮงสินไซ หรือที่ www.facebook.com/SinxayHeritageHouse หรือที่ www.facebook.com/artculture4h 
 

 


 

 

 

 

            

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]