สินไซผจญภัย ข้าม 6 ย่านน้ำ 9 ด่านมหาภัย
วรรณกรรมเรื่องสินไซคือหนึ่งในสื่อศิลปวัฒนธรรม ที่ค้นพบบนจิตรกรรมฝาผนัง หรือฮูปแต้มวัดไชยศรี บ้านสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่เครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน แผนงานสื่อศิลป วัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. นำมาใช้ในการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมชุมชนในชื่อโครงการสินไซโมเดลสินไซ
.
วรรณกรรมสินไซบอกเล่าถึงการผจญภัยของสินไซผู้เป็นลูก (น้อย) ออกติดตามนางสุมณฑาที่ถูกยักษ์กุมภัณฑ์ได้แอบเข้ามาลักพาตัวกลับคืนเมือง แม้สินไซถูกพระบิดาคือพระยากุศราชเนรเทศจากเมืองเป็งจาลออกไปอยู่ป่ากับนางลุนผู้เป็นพระมารดา ทั้งที่ไม่เคยเห็นหน้าพระบิดา แต่ด้วยความกตัญญูจึงได้ขันอาสาออกติดตามนางสุมณฑาไปพร้อมด้วยโอรสทั้ง 6 การออกติดตามอากลับนครเป็งจาลเป็นไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก ต้องเผชิญกับภยันตรายต่าง ๆ โดยเฉพาะต้องผ่าน ด่านทั้ง 9 ด่าน มีด่านงูซวง ด่านช้าง ด่านกินรี เป็นต้น จนทะลุทะลวงถึงด่านยักษ์กุมภัณฑ์ จึงสามารถนำอากลับนครเป็งจาลได้สำเร็จ
.
สินไซจะพบเจอเหตุการณ์อะไรบ้างกว่าจะนำอากลับนครเป็งจาลได้สำเร็จ ตามมาดูการผจญภัยของสินไซ ข้าม 6 ย่านน้ำ 9 ด้านมหาภัย
ด่านแรก คือ ด่านงูซวง เป็นงูยักษ์ใหญ่ลำตัวยาว ตาแดงเหมือนแสงอาทิตย์เวลาพ่นพิษร้อนดั่งไฟ สินไซต่อสู้กับงูยักษ์จนชนะแล้วเดินทางต่อถึงแม่น้ำกว้าง 1 โยชน์ ท้าวทั้งหกเกิดหวาดกลัวภยันตรายจึงขอกลับเมืองเป็งจาล แต่สินไซไม่ละความพยายาม สินไซให้โอรสทั้งหกพักคอยที่นี่โดยมอบหมายให้สีโหเป็นผู้คอยเฝ้าดูแลอยู่ จากนั้นสินไซกับหอยสังข์ก็เดินทางตามหานางสุมณฑาต่อไป
ด่านที่สอง คือ ด่านวรุณยักษ์หรือยักษ์กันดาร ซึ่งเป็นยักษ์ที่มีความกักขฬะ ชั่วช้าสามาน ไม่มีความเมตตา สินไซสู้กับยักษ์จนเป็นฝ่ายชนะจึงเดินทางต่อไป ข้ามแม่น้ำกว้าง 2 โยชน์ สินไซก็ขี่สังข์ข้ามน้ำไป
ด่านที่สาม คือ ด่านพระยาช้างฉัตทันต์ ฝูงช้างโขลงนี้มีช้างนับแสนตัว โดยมีพระยาฉัททันต์เป็นหัวหน้าโขลง เมื่อเห็นสินไซก็วิ่งกรูเข้ามาเพื่อหวังจะทำร้าย แต่สุดท้ายก็ถูกสินไซปราบจนพ่ายแพ้ หัวหน้าโขลงช้างจึงยอมบอกแก่สินไซว่า เมื่อหลายปีก่อนตนเห็นยักข์กุมภัณฑ์อุ้มนางสุมณฑาเหาะผ่านไป จากนั้นก็ยอมให้สินไซขี่คอช้างและนำไปส่งจนสุดเขตแดน สินไซเดินทางต่อมาถึงแม่น้ำกว้าง 3 โยชน์ สินไซก็ขี่สังข์ข้ามไป
ด่านที่สี่ คือ ด่านยักษ์สี่ตน มีชื่อว่า สวงหรือกันดานยักษ์ จิตตยักษ์ ไชยยักษ์ และวิไชยยักษ์ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีฤทธิเดชแก่กล้า เกิดการต่อสู้กันแต่สุดท้ายสินไซก็สามารถปราบยักษ์ทั้ง 4 ได้อย่างราบคาบ สินไซและหอยสังข์จึงเดินทางต่อไปพบแม่น้ำกว้าง 4 โยชน์ สินไซก็ขี่สังข์ข้ามไป
ด่านที่ห้า คือ ด่านยักษ์ขิณี เป็นยักษ์ที่มากด้วยกามราคะ พอเห็นหนุ่มน้อยรูปงามอย่างสินไซก็เกิดไฟแห่งความกำหนัดและอยากได้สินไซมาเป็นสามีนางจึงออกอุบายเนรมิตศาลาพร้อมข้าวปลาอาหาร อีกทั้งแปลงกายเป็นสาวสวยมาหลอกล่อ เมื่อสินไซผ่านมานางก็เชิญชวนให้ขึ้นพักที่ศาลา แต่สินไซสังเกตว่าดวงตานางแข็งกระด้างจึงรู้ว่าไม่ใช่คน ก็ไม่หลงกลและหลีกหนีให้ห่างไกล นางยักษ์วิ่งตามและบอกว่าถ้ามีเมียแล้วขอเป็นน้อยก็ได้ สินไซจึงรีบเดินทางต่อไปจนกระทั่งถึงฝั่งแม่น้ำ 5 โยชน์ สินไซรีบขี่สังข์ข้ามไป นางยักษ์ตามมาถึงแต่ข้ามไปไม่ได้
ด่านที่หก คือ ด่านนารีผล เป็นต้นไม้มีดอกสีส้มครั้นกลีบดอกหล่นก็เกิดเป็นผล มีรูปร่างเหมือนหญิงสาวที่สวยงาม รูปเท้าทั้ง 2 ข้างหย่อนลงมา ศีรษะติดกับด้านขั้ว เนื้อนุ่มเนียนหากใครได้เห็นก็สามารถทำให้เกิดความกระสันทรวงได้ สินไซเองก็หลงเข้าไปเชยชมจนกระทั่งเกิดการต่อสู้กับหมู่วิทยาธร สินไซเป็นฝ่ายชนะ เมื่อพักหายเหนื่อยแล้วก็ออกเดินทางต่อไปจนถึงฝั่งแม่น้ำกว้าง 6 โยชน์และขี่สังข์ข้ามไป
ด่านที่เจ็ด คือ ด่านยักษ์อัสสมุขี ที่ภูเขาชื่อเวละบาด หรือเวรระบาด มีนางยักษ์ผีเสื้ออาศัยอยู่ชื่อ อัสสมุขียักษิณี มีหน้าเหมือนสุนัข เมื่อยักษ์อัสสมุขีเห็นสินไซก็เกิดพอใจอยากได้เป็นคู่ครองจึงเข้ามาโอบอุ้มและเหาะไป สินไซจึงตั้งสติและพูดจาหว่านล้อมให้นางยักษ์อัสสมุขีปล่อยตัว แต่พูดจาอยู่เนิ่นนานก็ไม่เป็นผล สินไซจึงตัดคอนางยักษ์จนตาย และบนเขาเวละบาดนี้มีต้นกาลพฤกษ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พระอินทร์เนรมิตไว้ มีดอกเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์พร้อมเครื่องทรงของเทพ ผู้มีบุญญาธิการเท่านั้นจึงจะพานพบได้ สินไซจึงถือโอกาสชำระร่างกายและเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่ จากนั้นก็เดินทางต่อเพื่อไปพบกับหอยสังข์ซึ่งได้เดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้ว
ด่านที่แปด คือ ด่านเทพกินรี ณ ผาจวงถ้ำแอ่นมีหมู่กินรีร่างเป็นคน สามารถใส่ปีกติดหางบินบนอากาศได้ เป็นธิดาของเทวดา สินไซได้รู้จักกับเทพกินรี นามว่า เกียงคำ จนเกิดความรักใคร่จึงเกี้ยวพาราสีที่สุดก็ได้นางเกียงคำเป็นเมียและครองรักอยู่กับนางเป็นเวลาระยะหนึ่ง ครั้นแล้วสินไซก็ขอลานางเกียงคำออกเดินทางต่อ นางจึงฝากฝังสั่งความไว้ว่า ถ้าได้ครองเมืองเรืองรุ่งเมื่อไหร่แล้วก็อย่าลืมกัน
ด่านที่เก้า คือ ด่านยักษ์กุมภัณฑ์ เป็นด่านสุดท้ายของการผจญภัยไปสู่เมืองอโนราชเพื่อตามนางสุมณฑากลับคืนเมืองเป็งจาล ด่านนี้นับเป็นด่านใหญ่ที่สินไซต้องทำการรบยักษ์กุมภัณฑ์ถึง 2 ครั้ง (พิมพ์วลัญช์ พลหงส์ และ สุนิศา โพธิแสนสุข, 2564.)
อ้างอิง
เครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน. (ม.ป.ป). สินไซโมเดลแห่งบ้านสาวะถี. จาก
พิมพ์วลัญช์ พลหงส์ และ สุนิศา โพธิแสนสุข. (2564). การวิเคราะห์วรรณกรรมเรื่องสินไซเพื่อกำหนด
แนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏศิลป์. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี. 12(1), 118-119.
โสวิทย์ บำรุงภักดิ์ และ ทักษิณาร์ ไกรราช. (2558). เครือข่ายการเรียนรู้: กระบวนการสร้างและการใช้ความรู้
จากวรรณกรรมเรื่องสินไซ สู่การพัฒนาสังคมของชาวจังหวัดขอนแก่น (รายงานการวิจัย). มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น.
.
ติดตามข่าวสารและกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เพิ่มเติมได้ที่
Official Web : http://artculture4health.com/
Facebook : https://www.facebook.com/artculture4h
Youtube แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ : http://bit.ly/3YVFSl5
Instagram : https://www.instagram.com/artculture4health/
Twitter : https://twitter.com/art_culture4h
Tiktok : https://www.tiktok.com/@artculture4health
.
#สสส #แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพสสส #สื่อศิลป์SE #SE #ศิลป์สร้างสุข #สินไซ #สาวะถี #สินไซโมเดล #เที่ยวสาวะถีวิถีสุข #สาวะวิถี #ฝอยแก่นฝอยสุข #ศิลป์๘เปี่ยง
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]