สสส.ร่วมสนับสนุนพลังด้านวัฒนธรรม “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน”  สื่อพื้นบ้าน รากฐานชุมชน วันศุกร์ที่ 17 – อาทิตย์ ที่ 19 มีนาคม 2566 ณ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 19 มีนาคม 66 / อ่าน : 815


สสส.ร่วมสนับสนุนพลังด้านวัฒนธรรม “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน”  สื่อพื้นบ้าน รากฐานชุมชน วันศุกร์ที่ 17 – อาทิตย์ ที่ 19 มีนาคม 2566 ณ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง

วันที่ 17  มีนาคม 2566 อาจารย์ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ร่วมเปิดงาน โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน โดยมี รศ.ดร.วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และคุณยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธี พร้อมด้วย คุณโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม คุณนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ศิลปินโนรา ตลอดทั้งประชาชนทั่วไปเข้าร่วม ณ ลานหน้าอนุสาวรีย์ 4 ครูต้นโนรา

.

อาจารย์ดนัย หวังบุญชัย กล่าวในมุมของ สสส. ที่เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนงาน “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ว่า สสส. เราทำเรื่องสุขภาพโดยเน้นให้ชุมชนเข้มแข็งจากรากฐานวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมคือวิถีชีวิตที่มีอัตลักษณ์ มีประวัติศาสตร์และคุณค่า ซึ่งเป็นมรดกตกทอดกันมา เพราะฉะนั้น ในงานศิลปะวัฒนธรรมทาง สสส. มองว่า ถ้าเราสามารถที่จะนำศิลปวัฒนธรรมมาสืบสานสืบต่อให้กับคนรุ่นใหม่ และคนในชุมชนให้มีความหวงแหน อยากจะสืบสานสืบทอด ฉะนั้นในงานต่าง ๆ เหล่านี้สุดท้ายชุมชนจะเข้มแข็ง ชุมชนจะมีภูมิคุ้มกันในด้านวัฒนธรรม และภูมิคุ้มกันในด้านวัฒนธรรมจะส่งต่อในเรื่องคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม เหมือนที่โนราและไทยพีบีเอส (ThaiPBS) ทำอยู่ตอนนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ส่งเสริมทำให้คนไทยรู้คุณค่ามากขึ้น แม้กระทั่งวันนี้เรามาเรียนรู้ในเวทีของโนรา เรายังชื่นชมเลยว่าหลายเรื่องเรายังไม่รู้ที่มาที่ไป แต่ว่าไทยพีบีเอส และทางภาคีเครือข่ายรวมทั้งคนทำงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมรวมพลังกันมาได้ขนาดนี้ เราถือว่าเป็นผลสำเร็จอย่างดียิ่งที่น่าสนับสนุน และอยากให้ต่อยอดให้คนรุ่นหลังและคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบสาน นั่นคือภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดในเรื่องสุขภาพ

.

สิ่งที่ปรากฏการภายใน 3 วัน 2 คืนที่พวกเราได้เห็น ผมเชื่อว่าเป็นประวัติศาสตร์ของคนที่ทำงานด้านศิลปะวัฒนธรรมและคุณค่าเหล่านี้จะกลายเป็นบันทึกภูมิประวัติในเรื่องของโนราและศิลปวัฒนธรรมที่อยากให้ภูมิปัญญาทั้งที่จับต้องได้และที่จับต้องไม่ได้ในแขนงอื่น ๆ ได้ฟื้นฟูขึ้นมา และริเริ่มที่เป็นพลังด้านวัฒนธรรม หรือที่เรียกว่า Soft Power ให้คนต่างถิ่นอยากมาเยี่ยมชม มาเรียนรู้ คนต่างชาติรู้สึกว่าอยากจะอนุรักษ์ อยากจะสืบสาน และอยากจะเห็นคุณค่าแบบนี้ในวัฒนธรรมของเขาบ้าง เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่ 3 วัน 2 คืนนี้ โนราเป็นประวัติศาสตร์ให้กับคนรุ่นใหม่และคนที่สนใจด้านศิลปวัฒนธรรม

.

ทั้งนี้งานโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน จัดขึ้นเพื่อรวบรวมพิธีกรรม ครูต้นโนรา จากที่ต่าง ๆ มารวมกัน ณ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว เนื่องจากวัดพระบรมธาตุเจดีย์ เขียนบางแก้ว เป็นตำนานกำเนิดครูต้นโนรา ปัจจุบันยังเป็นที่ประดิษฐานรูปจำลอง 4 ครูต้นโนรา อาทิ 4 ครูต้นโนราพญาสายฟ้าฟาด แม่ศรีมาลา พระนางนวลทองสำลี และขุนศรีศรัทธา อีกทั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage: ICS-ICH) ครั้งที่ 16 ผ่านการประชุมทางไกลเต็มรูปแบบ มีมติให้ขึ้นทะเบียน “โนรา” หรือ “Nora, Dance Drama in Southern Thailand” ในบัญชีรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity – บัญชี RL) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 (2003 Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก โดย “โนรา” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโกลำดับที่สามของไทยด้วย

.

การขึ้นทะเบียนครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจของไทยและถือเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในระดับสากลต่อคุณค่าและความสำคัญของ “โนรา” ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นการแสดงออกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคและในประเทศไทยด้วย รวมทั้งจะช่วยส่งเสริมบทบาทอันแข็งขันของชุมชนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการเรียนรู้ เข้าถึง พัฒนา และสงวนรักษาประเพณีและศิลปะดังกล่าวไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังต่อไป

.

เพื่อเป็นการแสดงถึงความยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นสามารถติดตามบรรยากาศที่เกิดขึ้นได้ในวันที่ 17-19 มีนาคมนี้ ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) และที่ชมไฮไลต์ แฟนเพจ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. https://www.facebook.com/artculture4h



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]