ละครชาตรี Sartorial ความบันเทิงในสังคมไทยที่พอดี สร้างพื้นที่และประสบการณ์ใหม่ผ่านท่วงท่าและเสียงดนตรี

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 2 มีนาคม 66 / อ่าน : 1,545


ละครชาตรี Sartorial ความบันเทิงในสังคมไทยที่พอดี สร้างพื้นที่และประสบการณ์ใหม่ผ่านท่วงท่าและเสียงดนตรี

ความบันเทิงในสังคมไทยเปลี่ยนไปตามกาลเวลา พื้นที่ในการแสดงออกซึ่งศาสตร์และวัฒนธรรมไทยที่ลดน้อยลง จึงทำให้วัฒนธรรมที่หาชมได้ยากนี้กำลังถูกลบเลือนไป ซึ่ง Sartorial หมายถึงการตัดชุดสูทที่ให้พอดีกับตัวผู้ใช้ เช่นเดียวกับการสวมใส่ที่ พอดีกัน ครูผู้สอนการรำจึงจำเป็นที่จะต้องสอนให้ศิษย์มีท่าทางถูกต้องทุกกระบวนเสมือนการสวมเสื้อผ้าที่ได้ขนาดไม่ใหญ่ ไม่เล็ก ไม่สั้น ไม่ยาวเกินไป งานศิลปะฉาก Satorial เป็นการสะท้อนภาพของชุมชนนางเลิ้งที่แม้จะเป็นชุมชนที่ไม่ร่ำรวยแต่กลับอุดมและเป็นสถานที่ที่ดำรงไปด้วยศิลปะวัฒนธรรมของชาติ

คุณรัฐ เปลี่ยนสุข และทีม Sumphat Gallery นักออกแบบวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้นำเอารากฐานวัฒนธรรมของไทยอย่างละครชาตรี มานำเสนอผ่านการออกแบบจากนักออกแบบ เพื่อสร้างพื้นที่และประสบการณ์ใหม่ผ่านท่วงท่าและเสียงดนตรี พร้อม Projection Mapping ท่ามกลางบรรยากาศชุมชนดั่งเดิม   ซึ่งเป็นแหล่งพำนักของศิลปินนักดนตรีไทยและนางรำ ในกิจกรรมยกระดับการพัฒนาพื้นที่ย่านเมือง ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม “ชุมชนนางเลิ้ง” บูรณาการร่วมเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ       ภายใต้ธีม “urban’NICE’zation” เมือง – มิตร – ดี

คุณรัฐ เล่าถึงเหตุผลที่ได้จัดนิทรรศการละครชาตรี Sartorial ขึ้นมา ว่า  Sartorial หมายถึงการตัดชุดสูทที่จะต้องตัดให้พอดีตัว เช่นเดียวกับการรำ รำอย่างไรให้พอดีกับแม่ครู การรำไทย ทำไมครูรำไทยจะต้องเข้มงวด เพราะท่าทางจะต้องมีแบบมีรูปทรงที่พอดี เหมาะเจาะกับการรำทั้งหมด ทั้งการออกแบบฉาก Satorial เป็นการสะท้อนภาพของชุมชนนางเลิ้งแหล่งพำนักของศิลปินนักดนตรีและนางรำ

คุณรัฐ ยังเล่าต่อถึงแนวคิด ละครชาตรี Sartorial ครั้งนี้ ว่า บางครั้งเราชอบนำเรื่องผีสางนางไม้มาพูดกับการรำไทย ทำให้เกิดปัญหากับเด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจ กลัว และกลายเป็นเรื่องไม่เป็นมงคล เพราะฉะนั้นหากเราพูดถึงการรำไทยเราจะพูดเรื่องที่เป็นมงคลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อย่างเช่น เรื่องชาตรี Happy birthday ที่เราจัดจะเน้นเรื่อง Power positive พลังแห่งความสุข ต่อไปใครจัดงานวันเกิด งานแต่งงาน เชิญคุณแม่และคณะไป ทุกอย่างจะเป็นสิริมงคลทั้งนั้น

แพน เรืองนนท์

ที่มา : จันทรา เนินนอก, 2562

หากสืบค้นความเป็นมาของการแสดงละครชาตรีในประเทศไทย มีข้อสันนิษฐานหลายประการ เช่น ละครชาตรีถือกําเนิดมาจากการพัฒนารูปแบบการเล่นโนห์ราชาตรีทางภาคใต้ หรือมาจากการดัดแปลงการแสดงของละครใน บางข้อสันนิษฐานกล่าวว่าละครชาตรีได้รับอิทธิพลมาจากละครอินเดียที่เรียกว่า “ยาตรา” โดยมีลักษณะการแสดงที่มีตัวละครเอก 3 ตัวเท่านั้นในการดําเนินเรื่อง บางแนวคิดกล่าวว่าโนราห์ชาตรีอาจปรับปรุงมาจากละครเร่ของอินเดียเนื่องจากสมัยโบราณละครอินเดียเป็นที่นิยมมากทางภาคใต้ และเรื่องที่แสดงโนห์ราชาตรีส่วนใหญ่เป็นเรื่องพระสุธน มโนห์รา จึงเรียกการแสดงประเภทนี้ว่าโนห์ราชาตรีแต่คนภาคใต้มีออกเสียงโดยการตัดพยางค์หน้าของโนห์ราชาตรี จึงเรียกการแสดงนี้ว่า ชาตรี (สิทธิชัย สุขธรรมสถิต และอิงคยุทธ พูลทรัพย์, 2564)

กลุ่มละครชาตรีที่นางเลิ้งนั้น เป็นกลุ่มละครที่มีหลักฐานสืบค้นไปได้ชัดเจนถึงรากที่มาจากกลุ่มละครภาคใต้ที่ถูกกวาดต้อนขึ้นมาตั้งแต่เมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งกลุ่มละครเหล่านี้ตั้งบ้านเรือนในละแวกถนนหลานหลวงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่ปรากฏในสารบาญบัญชีของราษฎร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็พบมีการบันทึกถึงกลุ่มผู้คนที่ประกอบอาชีพละครอยู่อาศัยในละแวกนี้ และบ้านละครสําคัญที่มีชื่อเสียงในละแวกนี้บ้านหนึ่งก็คือ บ้านครูพูน เรืองนนท์ ซึ่งมีบ้านติดกับวัดแค ทั้งนี้ต้นตระกูลของบ้านเรืองนนท์คือพระศรีชุมพล (ฉิม) ชื่อเดิม “เรือง” เคยรับราชการเป็นครูสอนละครในราชสํานักนครศรีธรรมราช ซึ่งในปัจจุบันบ้านเรืองนนท์ ก็ยังถือว่าเป็นบ้านละครที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการละครนาฏศิลป์ของไทย

ก่อนการแสดงละครชาตรี จะเริ่มขึ้น คุณรัฐ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับละครชาตรีที่สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานที่ว่า ละครชาตรีถือกำเนิดมาจากการพัฒนารูปแบบการเล่นโนราห์ชาตรีทางภาคใต้ หรือมาจากการดัดแปลงการแสดงของละครใน

คุณรัฐ เล่าว่า ละครชาตรี เป็นละครที่มาพร้อมกับชาวใต้ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ ตอนที่พระองค์ท่านได้อพยพคนเข้ามาอยู่ที่เกาะรัตนโกสินทร์ ณ จุดที่เรียกว่าบ้านสนามควาย หรือย่านนางเลิ้งในปัจจุบัน ชาวบ้านที่อพยพมาเป็นชาวใต้และมีการละเล่นการละครเข้ามาด้วยนั่นคือโนราห์ ชาวกรุงในขณะนั้นไม่เข้าใจว่าโนราห์คืออะไร เนื่องจากการแสดงที่เสพเป็นปรกตินั้น คือการแสดงในภาคพื้นวัฒนธรรมของตนเป็นอาทิละครใน ทำให้ชาวกรุงไม่เข้าใจการแสดงโนราห์ที่ชาวใต้สื่อสารออกมาว่าคืออะไร ทั้งภาษาท่าทางที่ดูแปลกไป ฉะนั้น ชาวใต้ที่อพยพเข้ามาจึงดัดแปลงเอามโนราห์กับละครในเข้าด้วยกัน ทั้งละครชาตรีเดิมทีเป็นละครที่ผู้ชายเล่นทั้งหมด ดังนั้น เครื่องแต่งกายจึงไม่มีการสวมใส่เสื้อ แต่ในช่วงหลังเริ่มประยุกต์ใช้ผู้หญิงเข้ามารำเยอะขึ้นลักษณะการแต่งกายจึงปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

ข้อมูลทางคติความเชื่อของละครชาตรี แต่เดิมละครชาตรีไม่มีฉากหรือโรงละครจะใช้เสาไม้ปักลงกลางโรงแล้วนำผ้าสีแดงพัน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เสามหาชัย จากนั้นจึงอันเชิญพระวิษณุกรรมมาสถิต ซึ่งคติความเชื่อเรื่องการอันเชิญพระวิษณุกรรมมาสถิต ณ เสามหาชัย มีคำอธิบาย ว่า

“พระเทพสิงหรกับแม่ศรีคงคาเป็นสามีภรรยากัน และมีความสามารถในการแสดงละครชาตรีมาก แม้กระทั่งนางฟ้าก็ชวนกันมาดู จนลืมขึ้นไปเฝ้าพระอิศวร ทำให้พระอิศวรกริ้ว ตรัสว่า จะจัดละครโรงใหญ่ขึ้นแสดงประชัน และจะทำลายการแสดงของพระเทพสิงหร พระวิสสุกรรมจึงทูลเตือนพระอิศวรว่า พระองค์เป็นใหญ่ในโลก ไม่สมควรจะไปทับถมผู้น้อย แต่พระอิศวรไม่ยอมรับฟัง พระวิสสุกรรมจึงแจ้งแก่พระเทพสิงหรและแม่ศรีคงคาว่า ถ้าจะจัดแสดงละครชาตรีขึ้นเมื่อใด พระองค์จะเสด็จมาประทับป้องกันภัยอันตราย” (มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ, 2554)

ดังนั้น เสามหาชัย จึงเป็นที่สถิตของพระวิษณุกรรม พระองค์จะเสด็จมาประทับเพื่อปัดเป่าภัยอันตรายทั้งปวงตลอดการแสดงละครชาตรี

ความดั่งเดิมของการแสดงละครชาตรีที่ยังคงเหลือ จากต้นตระกูลผู้นำละครชาตรีดัดแปลงจากการรำโนราห์มาพัฒนาการรำในกรุงเทพฯ

กัญญา ทิพโยสถ ครูนางรำชาตรีแบบดั้งเดิมท่านสุดท้ายซึ่งเป็นต้นตระกูลผู้นำละครชาตรีดัดแปลงจากการรำโนราห์มาพัฒนาการรำในกรุงเทพฯ จนเป็นที่นิยม

ครูกัญญา เล่าถึงประวัติต้นตระกูลละครชาตรีของตนเอง ว่า บรรพบุรุษเป็นคนนครศรีธรรมราช แสดงโนราห์กับหนังตลุง อพยพเข้ามาในพระนครเมื่อปี 2435 บริเวณที่เรียกว่าบ้านสนามควาย ครอบครัวมีอาชีพทางการแสดงอย่างเดียว การแสดงละครชาตรีนำบทละครมาจากบทพระราชนิพนธ์ ซึ่งนำเอาเพียงเค้าโครงเรื่องมา ส่วนวิธีการแสดงหรือวิธีการร้องการรำเราคิดเอง คือปรับจากโนราห์ให้เหมือนภาคกลาง ไม่ว่าจะเป็นท่าทางการร้องการรำ เครื่องดนตรีที่ใช้ในการเล่นไม่มีเครื่องปี่พาทย์เข้ามาผสม ซึ่งแบบเก่าและดั่งเดิมมีเพียง ปี่ โทน กลองตุ๊ก ฉิ่ง และกรับ

การแสดงละครชาตรีคณะกัญญาลูกแม่แพนเริ่มต้นด้วยการโหมโรงชาตรี ต่อด้วยการร้องประกาศหน้าบทหรือการกล่าวคําบูชาครู โดยผู้ที่เป็นหัวหน้าวงเท่านั้น จากนั้นจึงเป็นการร้องบูชาครูหน้าเตียง และการร้องรําซัดหน้าเตียง เมื่อจบการร้องรําซัดหน้าเตียงจึงเริ่มจับเรื่องหรือเริ่มเข้าการแสดง ทํานองที่ใช้ในการขับร้องละครชาตรีมีทั้งหมด 4 ทํานอง คือ ทํานองร่าย ทํานองโทน ทํานองกําพลัด และทํานองครวญโทน (จันทรา เนินนอก, 2562) ระยะเวลาในการแสดงประมาณ 5-6 ชั่วโมง ตั้งแต่ 10 โมงเช้า จากนั้นพักเที่ยง และแสดงไปจนถึง 4 โมงเย็น

การแสดงละครชาตรีแบบดั่งเดิมยังพบเห็นอยู่ไหม สถานการณ์การแสดงละครชาตรีไทยแบบดั่งเดิม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมาก็ไม่มีเลย มีแต่ชาตรีสมัยใหม่ที่เห็นกันอยู่ และส่วนใหญ่หนักไปทางแก้บน มีเด็กรุ่นใหม่เริ่มเข้ามาให้ความจนใจไหม เด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาส่วนมากก็จะเป็นเด็ก ๆ นักศึกษาที่เข้ามาทำวิทยานิพนธ์ ค้นหาประวัติการร้อง การรำละครชาตรี ครูกัญญาเล่าเสริมว่า การแสดงความยากของละครชาตรีคือผู้แสดงต้องได้ทั้งร้องและรำ เพื่อดำเนินเรื่องเอง คล้ายเป็นหัวหน้าที่ควบคุมทั้งหมด เนื่องจากการร้องของเราจะเป็นจังหวะให้นักดนตรี นักดนตรีจะฟังว่าเราร้องจังหวะ หรือทำนองอะไร แล้วบรรเลงเพลงตามจังหวะและทำนองนั้น แล้วการสืบทอดละครชาตรีในปัจจุบันล่ะ ไม่รู้ เราบอกไม่ได้ ในครอบครัวไม่มีแล้ว แต่ยังพอมีที่สามารถเล่นได้ เพียงต้องมีคนช่วย เพราะเขาเป็นรุ่นใหม่ เราก็อะลุ้มอล่วยกัน ถ้าให้มาเล่นแบบที่ครูเล่นอยู่เด็กอึดอัดใจแน่ ก็ต้องเอาดนตรีไทยเข้าไปช่วย…

อ้างอิง

          กัญญา ทิพโยสถ สัมภาษณ์โดย รัฐ เปลี่ยนสุข จากกิจกรรมยกระดับการพัฒนาพื้นที่ย่านเมือง ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม “ชุมชนนางเลิ้ง” บูรณาการร่วมเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ภายใต้ธีม “urban’NICE’zation” เมือง – มิตร – ดี. 5 กุมภาพันธ์ 2566

          จันทรา เนินนอก. (2562). การขับร้องละครชาตรีคณะกัญญาลูกแม่แพน. วารสารศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 6(2), 22-30.

          สิทธิชัย สุขธรรมสถิต และอิงคยุทธ พูลทรัพย์. (2564). การอนุรักษ์และการสืบทอดละครชาตรีในตรอกละครชุมชนนางเลิ้ง กรุงเทพมหานคร. วารสารรัชต์ภาคย์, 15(43), 148-165.

          มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. (2554). ละครชาตรี เล่ม 36. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2566. จาก https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=36&chap=2&page=t36-2-infodetail04.html



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]