คอลัมน์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์: กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 |
|
โดยมุมานะหฤทัย อดสูดูไขษย กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม ข้อยคิดลิขิตด้วยพยายาม ต่อแต่งเติมตาม สติปัญญาอย่างเยาว์ ฯจากบทพระนิพนธ์ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ท้ายเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ ที่ทรง "ต่อแต่งเติมตาม" วรรณคดีเรื่องนี้จากสมัยสมเด็จพระนารายณ์จนมาจบโดยพระองค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ คำ "กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม" นั้นก็เพราะ "อดสูดูไขษย" นั่นเอง คำ "ไขษย" เป็นคำเดียวกับ "ขษัย" หรือ กษัย หรือ กระษัย เป็นคำโบราณ แปลว่า ความเสื่อม การสิ้น ความเสื่อมถอย ลดลงจากที่เคยมีเคยเป็น หมายความว่า ทรงเห็นความเสื่อมถอยของ "ภูมิกวี" ยุคนั้น หรือทรงเกรงว่าวิชากวีจะลดลงจากที่เคยมีเคยเป็น อันจะเป็นที่น่า "อดสู" แห่งยุคสมัย ท่านจึงมานะ... "พยายาม ต่อแต่งเติมตามสติปัญญาอย่างเยาว์ ฯ" เพื่อลบคำอันเป็นดั่งวาทะวิตกที่ว่า "กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม" ด้วยรู้สึกทำนองเดียวกันนี้ ในยุคนี้ด้วยว่า "กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม" ชะรอยจะเป็นจริง โดยเฉพาะบทกวีที่ปรากฏตามสื่อสาธารณะช่วงนี้ที่บางคนเรียกช่วง "โศกาลัย" คือช่วงกาลสวรรคต เช่นนี้ เห็นแต่คำกลอนดาษๆ ที่ดาษดาปรากฏยังที่โดดเด่นสะดุดตาเสียด้วย จริงอยู่ทุกคนมีสิทธิ์แสดงออกถึงโศกาดูรครั้งนี้ แต่การทำให้ปรากฏโดดเด่นยังสาธารณสถานนั้น ควรต้องคำนึงถึงความ "ดีเด่น" ทางวรรณศิลป์หรือ "ภูมิกวี" เป็นสำคัญ คือ ทั้งต้องดีเด่นและโดดเด่น คำดาษๆ ไปอยู่ในที่โดดเด่นก็จะยิ่งประจานความ "ด้อยเดียงสา" ทั้งของผู้แต่งและสถานที่นั้นๆ ไปด้วย สำคัญยิ่ง ยังถือเป็นการลดความสำคัญแห่งกาลสมัยไปด้วยโดยมิบังควร จะโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรืออะไรก็สุดแท้ ก็นี่แหละที่สะท้อนถึงวรรคกวีที่ว่า "กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม" เอาจริงๆากประสบการณ์อ่านวรรณกรรมโดยเฉพาะบทกวียุคจปัจจุบัน ก็ให้น่าเป็นห่วงเหมือนเราจะขาดการปูพื้นด้านกาพย์กลอนคือวิชากวีในระบบการศึกษามาแต่ต้น คือตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษานี่เลย เพราะฉะนั้น อย่าว่าแต่งเป็นเลย กระทั่งอ่านก็ดูจะไม่เป็นเอาเลยทีเดียวจริงด้วย ขอฝากสถาบันการศึกษาทุกระดับ ช่วยเป็นห่วงเรื่องนี้ด้วยเถิด คนจะสมบูรณ์เป็นมนุษย์ได้ก็แต่ด้วยได้รับการศึกษาที่สมดุลกันคือ ทั้ง "วิชาชีพ" และ "วิชาชีวิต" กวีนิพนธ์นี่แหละเป็นหนึ่งในวิชาชีวิตที่สำคัญยิ่ง เวียดนามเขามีคตินิยมว่า มนุษย์นั้น งอกงามได้ด้วยบทกวี มั่นคงด้วยหลักศีลธรรม เติมเต็มด้วยดนตรี ฝากท่านผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนด้วยละกันปัจจุบันนั้นดูราวกับว่า การประกวดวรรณกรรมคือการส่งเสริมงานวรรณกรรมที่ดีที่สุด มีตั้งแต่ระดับชาติ นานาชาติ และภาคเอกชน จากประสบการณ์อีกนั่นแหละ ที่ยังย้ำและยืนยันถึงการขาดพื้นฐานของงานด้านกวีนิพนธ์เอาจริงๆ ในแทบทุกระดับการศึกษาทั้งศิษย์และครูบาอาจารย์นั่นเลย ผู้ได้รับรางวัลจากการประกวด รวมถึงผู้ส่งผลงานเข้าประกวด ล้วนคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่นั่นแล้ว ยิ่งระดับประชาชนทั่วไป ก็ดูจะยิ่งซ้ำไปซ้ำมา ไม่ว่าจะเปลี่ยนกรรมการกี่ชุดก็ตาม จากการจัดประกวด พัฒนามาเป็นโครงการ "ค่ายวรรณกรรม" ซึ่งทำหน้าที่ "ต่อยอด" การปูพื้นฐานหรือ "ทดแทน" สิ่งที่สถาบันการศึกษาไม่ได้ให้ เวลานี้เห็นอยู่สองค่ายสำคัญคือ ค่ายเซเว่นกับค่ายศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ค่ายเซเว่น มี กล้าวรรณกรรม กับ บันไดกวี ธนาคารกรุงเทพ มีค่าย "กวีปากกาทอง" ค่ายเซเว่นจัดระดับมัธยมศึกษาและครูบาอาจารย์ ส่วนค่ายธนาคารกรุงเทพจัดระดับอุดมศึกษา โครงการค่ายวรรณกรรมนี้จะเป็นบทบาทใหม่ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนางานด้านวรรณกรรมได้ดีและเติมเต็มส่วนที่ขาดได้จริง ส่วนการจัดประกวดนั้น แม้จะยังคงความสำคัญอยู่ แต่ไม่ควรเน้นเป็น "ด้านหลัก" ของงานส่งเสริมวรรณกรรม ด้วย "ด้านลบ" ของเวทีประกวดนั้นมีไม่น้อยเลย เช่น ก่อให้เกิด "กิเลสในวงวรรณกรรม" คือกลายเป็นเวที "แจ้งเกิด-เปิดตัว" ทำให้เกิดอาการ "หัวปักหัวปำ" กับการประกวด ครั้นผิดหวังก็พานให้ "หัวฟัดหัวเหวี่ยง" ราวกับเสียจริตไปนั่น แท้จริงงานกวีเป็น "วิชาชีวิต" ดังว่า คือทำให้เราได้ประจักษ์ในความเป็นมนุษย์ เฉกเช่นศิลปะทั้งปวงที่ให้สุนทรียทัศน์แล้วก็ยังเป็นอลังการของสังคมสมภูมิธรรมอีกด้วย ดังนั้น กวีต้อง*บ่มิแล้งแหล่งสยาม |
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]