คอลัมน์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์: อันสะท้อนทางไท มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 "โบสถ์วิหารที่งามสง่า คือบทกวีของสรวงสวรรค์" ประโยคนี้เขียนโดย "เขมานันทะ" หรือ โกวิท เอนกชัย ศิลปินแห่งชาติ เขียนไว้ในหนังสือ "อันเนื่องกับทางไท" ไท ไม่ใช่ไทย ไทยที่หมายถึง ความเป็นใหญ่ ความเป็นอิสระ "อันเนื่องกับทางไท" เป็นหนังสือที่เปิดอ่านไม่รู้เบื่อ ลองอ่านความขยายของประโยคข้างต้นดังนี้"โบสถ์วิหารที่งามสง่า คือบทกวีของสรวงสวรรค์ เส้นสายจังหวะช่องไฟ ทั้งในสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม นาฏลักษณ์ หนังใหญ่ ดนตรี ฯลฯ ถูกเรียบเรียงลงเพื่อให้ประสานสอดกันตามอย่างประเพณีนิยม แสดงออกซึ่งความรู้สึกทางกวีนิพนธ์ อยู่ในสำนึกของคนไท ก่อเกิด กุสุมรส ในการเสพศิลปะนั้นๆ งานศิลปกรรมหลักของไทนั้นให้รสสัมผัสแห่งสรวงสวรรค์ ท่วงท่า ของไทที่แสดงออก มีลักษณะ งอกงาม ปฏิสนธิ สืบเนื่องจากภาวะหนึ่ง สู่ภาวะหนึ่ง ไปในอนันต์ ไม่ว่าในการเขียนลายกนก ท่วงทำนองของดนตรี ท่วงท่าของนาฏลักษณ์ ฯลฯ มีการสืบสาน สะท้อนสภาวะของสายน้ำ กระแสลม แดด คลื่นที่ซัดสาด อันเป็นมนต์เสน่ห์ของภูมิภาคตะวันออก งานศิลปะของไท มีการเคลื่อนไหวที่เนิบเนื่อง แสดงอยู่ในเส้นสาย และท่วงท่าประสานระหว่างความนิ่ง และการเคลื่อนไหว ไม่อาจใช้การประเมินคุณค่าภายในกรอบของ กาละเทศะ ตามอย่างตะวันตก เพราะต่างปรัชญาและความหมายในการแสดงออกทางศิลปะ ที่ขีดเส้นใต้ไว้นั้นมีเชิงอรรถ แปลเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษไว้ เช่น กุสุมรส = POLITE ท่วงท่า = GESTURE งอกงาม = FERTILITY กาละเทศะ = TIME-SPACE แม้คำว่า "ไท" ก็มีเชิงอรรถอธิบายว่า "ใช้คำหมายถึงอิสระ ไม่ใช่ไทย อันหมายถึงควรให้" ไทยที่ว่าหมายถึงควรให้นั้น ดังเราคุ้นชินจากคำว่า "ไทยทาน" นั้นเอง ข้อความที่ยกมาข้างต้นนั้นนอกจากไพเราะด้วยรสของภาษาแล้ว ยังทำให้เราได้เห็น ได้เข้าใจงานศิลปะไทๆ ได้ชัดเจน ได้เห็นความงามที่เรามักมองผ่านอย่างฉาบฉวย ผิวเผินอีกด้วย เขมานันทะ หรือ โกวิท เอนกชัย นั้น เคยเปรยให้ฟังถึงวิธีคิดของคนตะวันตก ตะวันออก จากวิธีกินอาหาร คือ ชาวตะวันตกกินอาหารด้วยวิธีกินทีละอย่าง เช่น กินสเต๊ก โดยใช้มีดกับส้อมได้เนื้อพอคำใส่ปาก ปรุงเปรี้ยว เค็ม เผ็ด มัน เอาจากเครื่องเคียงที่วางมาในจานนั้น เช่น ผักดอง มันบด พริกไทย แม้เนื้อนั้นจะผ่านการหมักมาบ้าง แต่ก็ต้องให้รสธรรมชาติคงอยู่มากที่สุด เรียกว่าไปปรุงในปากเป็นคำคำไป ผิดกับชาวตะวันออก ใช้วิธีปรุงรสรวมในหม้อและในชามเลย เช่น แกง และยำ วิธีกินอาหารที่ต่างกันแบบนี้สะท้อนวิธีคิดคือ ชาวตะวันตกจะคิดเป็นเรื่องๆ และลงลึกในแต่ละเรื่อง ส่วนชาวตะวันออกนั้นมักคิดรวมๆ ทุกเรื่องในเรื่องเดียวกัน จริงเท็จอย่างไรก็เป็นทรรศนะหรือมุมมองที่น่าคิดรื่องของลักษณะไท หรือความเป็นไทของคนไทยนี่ก็น่าคิด แขมานันทะอีกเช่นกัน แนะว่า่อนจะตั้งคำถามว่า เราจะเป็นอะไร ควรตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า อะไรที่ทำให้เราเป็นเราอยู่นี้ ลักษณะไทย เป็นงานรวบรวมและค้นคว้าของนักวิชาการมาแล้ว เป็นหนังสือหลักๆ ไว้หลายเล่ม เจ้าภาพคือธนาคารกรุงเทพ ผู้ต้นคิดและเป็นหลักของงาน "ลักษณะไทย" ชุดนี้คือ อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นี่ก็เป็นหลักฐานหนึ่งที่น่าสนใจ ที่คนไทยควรได้รู้ได้เรียน ยิ่งในยุค "เปลี่ยนผ่าน" ของสังคมไทยช่วงนี้ เรื่องของศิลปวัฒนธรรมไทย ก็คือจิตวิญญาณหรือแก่นสารสำคัญยิ่ง ที่จะชี้ขาดความเป็นความตายของสังคมเอาเลยทีเดียว เคยเปรียบกับต้นไม้ว่า มีส่วนสำคัญอยู่สามคือำต้น ราก และเรือนยอด เปรียบเป็นประเทศ ลำต้นคือสังคม รากคือเศรษฐกิจ เรือนยอดคือการเมือง ส่วนที่เป็นดอกผลนี่แหละคือศิลปวัฒนธรรม เพราะฉะนั้น งานศิลปวัฒนธรรม จึงเป็นส่วนผล อันมีที่มาจากส่วนเหตุคือ เศรษฐกิจ การเมือง อันเป็นสามสัมพันธ์ที่สำคัญยิ่ง บัดนี้ ประเทศไทยเรากำลังก้าวสู่ช่วง "เปลี่ยนผ่าน" ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งงานศิลปวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่อย่างสะท้อนให้เห็นภาวะเปลี่ยนผ่านนี้ด้วย ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในคุณค่าของคำว่า "ลักษณะไทย" และ ความเป็น "ไท" แท้จริง ดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้เอง จำเพาะการเมืองที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของช่วงนี้ เราพูดถึง "ประชาธิปไตย" กันมาก เขมานันทะให้ทัศนะว่า "...ประชาธิปไตยนั้นมีอะไรที่เน่าเหม็นอยู่ด้วย ถูกต้องที่เขาพูดว่า ประชาธิปไตย เป็นระบบที่เลวน้อยที่สุด แต่เราไม่ได้พูดถึงดี แต่มันเลวน้อยกว่าเผด็จการเท่านั้นเอง ดังนั้น ในแง่การเมือง เราไม่ควรหยุดอยู่แค่ประชาธิปไตยเฉยๆ เราควรมองหาลู่ทางที่จะให้ประชาธิปไตยเติบโตไปในทางธรรมทำให้คุณค่าของคนเต็มเปี่ยม" |
|
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]