ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
พบเด็กอ้วนเกือบ 400 ล้านคนทั่วโลก สสส. สานพลัง กทม. – ภาคีเครือข่าย เดินหน้าโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ปี 4 มอบถ้วยรางวัลพระราชทานฯ 23 โรงเรียนต้นแบบ ทำสื่อสร้างสรรค์ รณรงค์ลดหวาน มัน เค็ม พัฒนานักสื่อสารสุขภาวะ เตรียมขยายผลส่งต่อโรงเรียนทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2565 แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร, สำนักโภชนาการ, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานบริหารแผนงานอาหารและโภชนาการ, เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน , เครือข่ายคนไทยไร้พุง และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม จัดกิจกรรมรณรงค์โครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน The New normal ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้ ปี 4 พร้อมประกาศผลและมอบรางวัลชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. เห็นความสำคัญของโรคอ้วนในเด็ก ทำให้มีการทำงานเชิงรุก ยกระดับมาตรฐานโภชนาการดีมีคุณภาพ ภายใต้โรงเรียนในสังกัดทั้งสิ้น 437 แห่ง ผ่านนโยบาย เพื่อทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งโภชนาการที่มีคุณภาพกับเด็กและเยาวชน ทั้งมื้อเช้าและมื้อกลางวัน โดย กทม. ได้ปรับเปลี่ยนหลักการจัดโภชนาการในโรงเรียนโดยคำนึงถึง 3 เรื่องสำคัญ คือ
1.เน้นคุณภาพอาหารโภชนาการ ครบ 5 หมู่ 2.คุณภาพอาหารเช้า / กลางวัน ให้โรงเรียนดำเนินการตามระบบ Thai School Lunch for BMA 3.จัดให้ในแต่มื้อได้รับอาหารที่มีประโยชน์ สะอาด ถูกหลักโภชนาการ ประกอบด้วยผักผลไม้ และลด หวานมัน เค็ม และมีปริมาณเพียงพอ มีเป้าหมายทำเด็กมีโภชนาการที่ดี โดย กทม. ได้ผลักดัน ให้โรงเรียนเป็นตัวกลางแจกจ่ายอาหารให้กับนักเรียนและชุมชุน เพื่อไม่ผลักภาระการดูแลเด็กนักเรียนกับผู้ปกครองเพียงฝ่ายเดียว และจะร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมออกแบบเมนูอาหารสร้างสรรค์ ที่นักเรียนสามารถเลือกอาหารที่ต้องการได้ แต่ต้องคำนึงถึงคุณค่าทางอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ และจัดทำอาหารที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มคน บริบท และสิ่งแวดล้อมตามโรงเรียนแต่ละพื้นที่
นายสง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และอุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รายงาน World Obesity Federation ปี 2565 พบว่าทั่วโลกมีคนเป็นโรคอ้วน ประมาณ 800 ล้านคน จำนวนนี้มี 39 ล้านคน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และอีกประมาณ 340 ล้านคน เป็นเด็กและวัยรุ่น อายุ 5 – 19 ปี ขณะที่รายงาน Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบเด็กอายุระหว่าง 6 – 14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 11.7 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 12.4 ในปี 2564 และปี 2565 พบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.7 โดยพบว่าเด็กวัยรุ่น อายุ 15 – 18 ปี ร้อยละ 13.1 อ้วนเกินค่าเป้าหมายที่กำหนด จากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม เช่น ไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูงเกินไป
ขณะที่กลยุทธ์ทางการตลาดมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ และการกินของเด็ก โดยเฉพาะวัยที่เริ่มมีกำลังซื้อและใช้จ่ายด้วยตัวเองได้ การพัฒนามาตรการปกป้องกันการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก จึงควรยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี พ่อ แม่ คนเลี้ยงดู และพัฒนากฎหมายคุ้มครอง ภายใต้การมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน โดยควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และนำไปปฏิบัติได้จริง
“หากปล่อยให้เด็กอ้วนเกิดขึ้นโดยไม่ควบคุม จะทำให้เด็กโตเป็นผู้ใหญ่อ้วน ร้อยละ 80 ปัญหาเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารไม่มีประโยชน์ การให้ความรู้และความเข้าใจกับเด็ก ผู้ปกครอง เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ที่ผ่านมาพบว่า การสื่อสารเรื่องนี้ยังใช้สื่อแบบเดิม ไม่ทันสมัย ไม่เข้าถึงเด็กได้ลึกพอ ครั้งนี้จึงมีนักโฆษณา ครีเอทีฟมืออาชีพ ให้คำปรึกษากับครูตลอดโครงการ โดยให้เด็กได้ลงมาเป็นผู้สร้างสรรค์สื่อด้วยตัวเองด้วย คาดว่าเมื่อทำต่อเนื่อง จะทำให้เข้าใจโภชนาการทางอาหารเพิ่มขึ้น จะทำให้โรคอ้วน และขาดสารอาหารมีแนวโน้มลดลง” ดร.สง่า กล่าว
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า “โรคอ้วน” หรือ ภาวะโภชนาการเกินในเด็กวัยเรียน เป็นปัจจัยเสี่ยงและปัญหาสาธารณสุขที่ต้องร่วมแก้ไข เพราะเด็กที่เป็นโรคอ้วนตั้งแต่อายุน้อย เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ 1 ใน 4 คน มีโอกาสเป็นโรคอ้วน และหากเด็กอ้วนไปถึงวัยรุ่น มีความเสี่ยงสูงที่ 3 ใน 4 คน จะป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ส่วนเด็กที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอตามเกณฑ์โภชนาการ จะเสี่ยงเกิดภาวะ “ทุพโภชนาการ” น้ำหนักน้อย เตี้ย ผอม แคระแกร็น ส่งผลกระทบต่อร่างกายและพัฒนาการ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์ ไม่มีกิจกรรมทางกาย กินอาหารหวาน มัน เค็ม ดังนั้น สสส. จึงเร่งผลักดัน สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ป้องกันและลดอัตราการเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs โดยมุ่งพัฒนา “นักสื่อสารสุขภาวะ” ในระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันปัญหาโรคอ้วน ในเด็กและเยาวชน ผ่านการให้ความรู้ในสื่อต่างๆ ทุกแพลตฟอร์ม
“สื่อถือเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการนำมาสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะภายใต้สื่อยุคดิจิทัลที่มีช่องทางสื่อที่หลากหลาย สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจ แรงบันดาลใจ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมถึงการพัฒนาครูและนักเรียน สู่การเป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่มีทักษะเท่าทันสื่อ ร่วมสื่อสารประเด็นสุขภาพผ่านการพัฒนากระบวนการสื่อสาร และกิจกรรมสร้างสรรค์ในโรงเรียน โดยการมีส่วนร่วมของครูนักเรียนและผู้ปกครอง สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะในโรงเรียน เพื่อช่วยลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กและเยาวชนได้ ซึ่งโรงเรียนสังกัด กทม. เป็นอีกเป้าหมาย ที่สามารถร่วมเป็นพลังขับเคลื่อน และเป็นโรงเรียนต้นแบบเรื่องการป้องกันเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ จนขยายผลไปทั่วประเทศได้ ” นางเบญจมาภรณ์ กล่าว
ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการมีเป้าหมายสร้างเสริมสุขภาพในเด็กประถมและมัธยมศึกษา เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้ครู ผู้ปกครอง พัฒนาสื่อและกิจกรรม ด้วยการออกแบบ ผลิต และจัดกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์สังคมเชิงรุก ผ่านการเปิดโจทย์ เปิดประเด็น ให้เด็กและเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษา ได้รับสื่อสร้างสรรค์ พร้อมพัฒนาความรู้ เนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละโรงเรียน โดยทุกคนต้องปรับพฤติกรรมใหม่ช่วงโควิด-19 ผ่านการเรียนระบบ 5 ON คือ Online, On Air, On Hand, On Site และ On School Line
แม้ปีนี้จะต้องทำรูปแบบ The New normal แต่พบว่า 23 โรงเรียนต้นแบบ สร้างสรรค์สื่อนวัตกรรมออกมาได้น่าสนใจ และเพื่อเป็นกำลังใจ จึงคัดเลือกโครงการที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ และเป้าหมายเป็นรูปธรรม สู่การเรียนการสอนได้จริงขึ้นมา โดยเน้นการเสริมพลังและสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียน ครู และสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลสุดยอดโรงเรียนสร้างสรรค์สื่อนวัตกรรมรณรงค์ลดน้ำหนัก ส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ ด้วยการรับรางวัลชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
“สุดยอดผลงานที่ได้ จะเป็นต้นแบบสื่อที่ดี ที่ใช้ขยายผลกับกลุ่มเป้าหมายข้างเคียง ระหว่างกลุ่มเพื่อนของเด็ก ครอบครัว ครู หลักสูตร นโยบายของโรงเรียน ร้านค้ารอบสถานศึกษา เพื่อผลักดันให้โรงเรียนที่ได้รางวัลเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนอื่นๆ ยกระดับขยายพื้นที่ ผ่านการประยุกต์ใช้หลักสูตรต่างๆ ให้เหมาะสม เช่น โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผ่านการอบรมผู้บริหาร ครู และนักเรียนแกนนำ รูปแบบ Train for The Trainer เน้นกลุ่มนักเรียน ป.4 – 6 ใน 4 ภูมิภาค สร้างนักสื่อสารสุขภาวะ ที่พัฒนาสื่อเป็นนวัตกรรม ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมแต่ละพื้นที่ ลดปัญหาโภชนาการระยะยาว สามารถติดตามประกาศของโครงการได้ที่ www.artculture4health.com” นายดนัย กล่าว
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]