ทั้งนี้ รศ.ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ ประธานคณะทำงานฯ บอกว่า ปัจจุบันโลกของเรากำลังประสบกับภาวะวิกฤตสถานการณ์ โควิด – 19 ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทุกชาติทุกภาษา เป็นสถานการณ์ที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน สถานศึกษาต้องปิดการเรียนการสอน ห้องสมุดต้องปิดให้บริการ ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสารทยอยปิดตัวกันอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อทั้งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์และผู้ที่ทำงานในวงการสิ่งพิมพ์ สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ สำหรับประเทศไทยยังขาดองค์กรที่รับผิดชอบดำเนินการเรื่องระบบหนังสืออย่างครบวงจรในการพัฒนาการอ่าน การเขียน การเรียนรู้อย่างเป็นระบบ การพัฒนาระบบหนังสือจึงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสังคมของการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ได้
คณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรมและคณะทำงานจัดทำพิจารณาศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา จึงได้จัดสัมมนา “รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาสู่การจัดตั้งสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน(องค์การมหาชน) เขตภาคกลาง” ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะด้านปัจจัยเงื่อนไข องค์ประกอบและทิศทางในการขับเคลื่อนสู่การเป็นสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน (องค์การมหาชน) ที่จะเป็นองค์กรที่บริหารจัดการระบบหนังสือทั้งระบบ ตั้งแต่นักเขียน หนังสือทั้งที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์และดิจิทัล การแปลวรรณกรรมจากไทยสู่สากล และกระบวนการผลิตเพื่อให้ผู้อ่านเข้าถึงหนังสือได้ อีกทั้งยังมีการรวบรวมจัดทำฐานข้อมูลทางดิจิทัลในการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมจากศิลปินศิลปวัฒนธรรมทุกแขนงทุกระดับที่เป็นภูมิรู้ภูมิปัญญาแผ่นดิน และเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาคุณค่าและความยั่งยืนทางด้านศิลปวัฒนธรรมแก่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในการสัมมนานี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 50 คน โดยรูปแบบการสัมมนาประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ และการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรวิชาชีพ องค์การมหาชน และภาคประชาสังคม ซึ่งความคิดเห็นที่ได้จะถูกนำไปเพื่อการจัดตั้งซึ่งสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน (องค์การมหาชน) ที่จะช่วยและดูแลศิลปินในทุกแขนงสาขาทั่วประเทศต่อไป....