มารู้จัก เพลงฉ่อย กันเถอะ... อีกหนึ่งความรู้จาก ปันศิลป์ ปันสุข

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 3 ตุลาคม 65 / อ่าน : 5,900


 

มารู้จัก เพลงฉ่อย กันเถอะ... อีกหนึ่งความรู้จาก ปันศิลป์ ปันสุข 



“เพลงฉ่อย” หลายๆ คนอาจจะเคยได้ชม โดยเฉพาะถ้าใครได้ดูรายการคุณพระช่วย ซึ่งผมเองตอนสมัยเรียนอยู่ช่วงมัธยมปลาย ผมชอบดูรายการนี้มาก เพราะได้เห็นวัฒนธรรมไทยในด้านต่างๆ ที่ผมชอบมากเป็นพิเศษก็คือช่วงฉ่อยหน้าม่าน ที่มีน้าโย่ง, น้านง และน้าพวง เชิญยิ้ม มาร้องเพลงฉ่อยพร้อมกับเล่นตลกให้ดู บอกเลยว่าเพลินและสนุก วันนี้ปันศิลป์ ปันสุขจะพาทุกคนไปรู้จักกับเพลงฉ่อยให้มากขึ้นกันครับ



-เพลงฉ่อย เป็นเพลงพื้นเมืองที่มีการแสดงท่าทางและการร้องคล้ายกับลำตัด ประกอบด้วยผู้แสดงฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ฝ่ายละประมาณสองถึงสามคน ในขณะที่พ่อเพลง แม่เพลง (ร้องนำ) ร้องโต้ตอบกัน ผู้ร้องคนอื่น ๆ ที่เหลือจะทำหน้าที่เป็นลูกคู่ เนื้อหาที่ร้องส่วนใหญ่มีทั้งเรื่องทางโลก ทางธรรม เชิงชู้ และมักจะมีถ้อยคำที่มีความหมายสองแง่สองง่าม การแสดงเพลงฉ่อยจะไม่มีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ แต่จะใช้การตบมือเป็นจังหวะแทน และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเพลงฉ่อยคือ ลูกคู่จะร้องรับด้วยคำว่า “เอ่ ชา เอ้ชา ชา ชาชาชา หน่อยแม่” (**ลำตัดคือการร้องเพลงเฉือนกันระหว่างชายหญิง มีการเกี้ยวพาราสีกัน มักจะตัดเอาท่อนสำคัญๆ ของเพลงพื้นบ้านต่างๆ มารวมกับบทเพลงที่ร้องอยู่ มีเครื่องดนตรีประกอบคือกลองรำมะนาและฉิ่ง)

-เพลงฉ่อยนิยมเล่นในทุกจังหวัดของภาคกลางและยังเผยแพร่ไปในยังภาคอื่นๆ อีกด้วย เมื่อก่อนเพลงฉ่อยถูกเรียกอีกอย่างว่า “เพลงไอ้เป๋” หรือ “เพลงเป๋” เพราะเพลงฉ่อยยุคแรกเริ่มจะมีตาเป๋กับยายมา มาร้องเพลงฉ่อยกัน และโด่งดังเป็นอย่างมาก ทำให้ชาวบ้านเรียกการแสดงนี้ว่าเพลงไอ้เป๋ ทั้งนี้ทั้งนั้นบางจังหวัดยังเรียกเพลงฉ่อยว่าเป็นเพลง “ทอดมัน” อีกด้วย เพราะมีคำว่า “ฉ่า” ในการร้องสร้อย ฉ่าคงเป็นเหมือนเสียงการหยิบทอดมันใส่ลงไปในกระทะร้อนๆ นี่แหละ

-เพลงฉ่อยคือเพลงที่ถูกประยุกต์มาจากเพลงพื้นบ้านต่างๆ เช่น เพลงโคราช เพลงเรือ เพลงปรบไก่ คือจะปรบมือเป็นจังหวะเพลงปรบไก่ ร้องบทไหว้ครูและเกริ่นอย่างเพลงโคราช ใช้กลอนก็ใช้คล้ายกับเพลงเรือ ประวัติของเพลงฉ่อยไม่มีที่มาแน่นอนว่าเริ่มตั้งแต่สมัยไหน แต่คาดการณ์ว่าอยู่ในยุคต้นสมัยรัชกาลที่ 5

-ศิลปินเพลงฉ่อยที่มีชื่อเสียงและศิลปินแห่งชาติที่เรารู้จักก็จะมี บัวผัน จันทร์ศรี, ชินกร ไกรลาส, โย่ง เชิญยิ้ม, นง เชิญยิ้ม, พวง เชิญยิ้ม เป็นต้น
ใครที่ไม่ค่อยมีโอกาสหรือไม่เคยชม มาดูเพลงฉ่อยในรายการคุณพระช่วยได้เลย.. 


ติดตามคอนเทนต์เกี่ยวกับแวดวงดนตรีได้ที่

และ Youtube ปันศิลป์ ปันสุข : https://bit.ly/3tKmMPW
ติดตามข่าวสารและกิจกรรมปันศิลป์ ปันสุข เพิ่มเติมได้ที่

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]