ลัดเลาะย่านเก่า ฟังเรื่องเล่าในอดีต เที่ยวชุมชนไปกับไกด์เด็ก อนาคตของย่าน ‘บางลำพู’

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 4 กรกฎาคม 65 / อ่าน : 1,169


Summary
  • งาน “เสนาะเสียง เสน่ห์แสง แห่งย่านบางลำพู” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25-26 มิถุนายน 2565 ณ พิพิธบางลำพู เป็นงานที่ชวนให้เราไปสัมผัสมรดกทางวัฒนธรรมที่ชาวบางลำพูส่งต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
  • ในงานมีกิจกรรมเดินท่องเที่ยวชุมชนย่านบางลำพู โดยมีเด็กๆ ในชุมชนที่เรียกกันว่า ‘ไกด์เด็กบางลำพู’ ทำหน้าที่เป็นไกด์พาเราเดินท่องไปในชุมชน ลัดเลาะตามตรอกซอกซอย แล้วบอกเล่าเรื่องราวของบางลำพูตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันให้ฟัง

 

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสไปสัมผัสเสน่ห์ของย่านบางลำพู ย่านชุมชนเก่าแก่ในเกาะรัตนโกสินทร์ที่ร่ำรวยไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ผ่านงาน “เสนาะเสียง เสน่ห์แสง แห่งย่านบางลำพู” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25-26 มิถุนายน 2565 ณ พิพิธบางลำพู

ภายในงานได้คัดสรรของเด็ดของดีประจำย่าน ทั้งอาหาร ขนม ไปจนถึงของขึ้นชื่อของแต่ละชุมชน มารวมกันไว้ที่พิพิธบางลำพู เพื่อให้ทุกคนได้เข้ามาทำความรู้จักได้อย่างง่ายดาย ภายในหนึ่งรอบการเดิน เราจะได้ลิ้มรส ได้ดู ได้ฟัง สัมผัสมรดกทางวัฒนธรรมที่ชาวบางลำพูส่งต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

ในงานยังมีกิจกรรมเดินท่องเที่ยวชุมชนย่านบางลำพู โดยมีเด็กๆ ในชุมชนที่เรียกกันว่า ‘ไกด์เด็กบางลำพู’ ทำหน้าที่เป็นไกด์พาเราเดินท่องไปในชุมชน ลัดเลาะตามตรอกซอกซอย แล้วบอกเล่าเรื่องราวของบางลำพูตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันให้ฟัง 

จุดเริ่มต้นเส้นทางอยู่ที่พิพิธบางลำพู กิจกรรมเริ่มขึ้นเมื่อเราได้ยินเสียงของไกด์เด็กดังเจื้อยแจ้วผ่านไมโครโฟนและลำโพงขยายเสียงเพื่อเรียกให้ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนไปรวมตัวกัน เสียงฟังดูคล่องแคล่วมั่นใจ แสดงให้เห็นว่าแม้จะอายุน้อย แต่มากไปด้วยประสบการณ์ 

“สวัสดีค่ะ พวกเราไกด์เด็กบางลำพู” หลังจากทักทายแนะนำตัวเสร็จสรรพ ไกด์เด็กก็เริ่มเล่าถึงประวัติศาสตร์ย่านบางลำพู เริ่มตั้งแต่ประวัติของพิพิธบางลำพู โดยคำว่า ‘พิพิธ’ หมายถึง ความหลากหลาย ‘พิพิธบางลำพู’ จึงหมายความว่า ความหลากหลายของย่านบางลำพู พื้นที่แห่งนี้ในอดีตเคยเป็นทั้งบ้านของพระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร อธิบดีกรมคลัง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาเป็น โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ซึ่งเป็นโรงเรียนการพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย และเปลี่ยนมาเป็น โรงพิมพ์คุรุสภา จนท้ายที่สุด กรมธนารักษ์ ก็ได้ปรับปรุงให้เป็นพื้นที่เรียนรู้และถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชนที่หลากหลาย จนกลายมาเป็น พิพิธบางลำพู 


จากนั้นน้องๆ ไกด์เด็กก็เริ่มพาลูกทัวร์ออกเดิน คนหนึ่งถือไมค์ อีกคนยกลำโพงเดินตาม พาเราข้ามถนนพระอาทิตย์ไปฝั่งตรงข้ามพิพิธบางลำพู เพื่อจะเดินเข้าไปในซอกซอยของชุมชน ระหว่างทางก็ชี้ให้ดูข้างทาง เช่น ปั๊มน้ำมันที่อดีตเคยมีโรงภาพยนตร์ตั้งอยู่ตรงนี้มาก่อน แล้วพาเราเลี้ยวเข้าตรอกแรก คือ ‘ตรอกไก่แจ้’ ตรงปากซอยจะได้พบเจอกับศิลปะ Street Art บนกำแพง เป็นศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวของย่านบางลำพู เริ่มจากรูปวาด ‘แม่เปี๊ยก’ ช่างฝีมือผู้เลื่องชื่อที่กำลังนั่งปักชุดโขน ชุดละคร อย่างประณีต เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจของคนในชุมชนเขียนนิวาสน์ - ตรอกไก่แจ้ 


บนกำแพงเดียวกันนั้นเอง ก็มีแผนที่วาดมือของบางลำพู ที่ประกอบไปด้วย 7 ชุมชนที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป ได้แก่ ชุมชนเขียนนิวาสน์ - ตรอกไก่แจ้ ที่เรามาเยือนนี้ เดิมทีชุมชนนี้เป็นพื้นที่วังเจ้านายในอดีต และเคยมีคฤหาสน์ของเจ้านาย ที่ด้านบนมีตัวบอกทิศทางลมเป็นรูปไก่แจ้ จึงทำให้คนในชุมชนเรียกขานซอยนี้ว่า ตรอกไก่แจ้ และตรอกนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งของช่อง 4 บางขุนพรหม สถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย, ชุมชนวัดสังเวชวิศยาราม ที่โดดเด่นด้านดนตรีไทยและศิลปะการแสดง มีบ้านดุริยประณีตที่เป็นโรงเรียนฝึกสอนและสืบสานด้านดนตรีไทย, ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ ในอดีตเคยมีชื่อเสียงในฐานะชุมชนช่างทอง แต่ปัจจุบันการทำทองนั้นเลือนหายไปแล้ว, ชุมชนสามพระยา ที่มีขนมข้าวต้มน้ำวุ้นที่โด่งดัง เป็นการนำข้าวเหนียวมาห่อใส่ใบตอง พับเป็นทรงสามเหลี่ยม นำไปต้มสุก แล้วนำมาใส่น้ำแข็ง น้ำเชื่อม กินเป็นขนมหวานเย็น, ชุมชนวัดใหม่อมตรส ที่มีวิถีชีวิตเก่าแก่ของคนในชุมชนเป็นการแทงหยวกกล้วย ซึ่งเป็นงานศิลปะที่นำมาใช้ตกแต่งในงานมงคลและอวมงคล, ชุมชนบ้านพานถม ชุมชนที่อดีตเคยเลื่องชื่อด้านการทำเครื่องเงินและเครื่องถม โดยเฉพาะขันน้ำพานรอง และ ชุมชนบวรรังษี เป็นแหล่งผลิตทองคำเปลว แต่ปัจจุบันช่างตีทองน้อยลงเรื่อยๆ แล้ว


บนกำแพงยังมีรูปวาดที่ศิลปินวาดเป็นคนใส่หัวโขน เพื่อสื่อถึงชุมชนที่ทำศิลปะชุดโขน ชุดละคร และบนฝ่ามือเป็นรูปดวงตา เป็นดวงตาที่มองเห็นทั้งอดีตและอนาคต เหมือนไกด์เด็กที่เป็นดั่งอนาคตของบางลำพู ที่มาเล่าเรื่องราวในอดีตให้ทุกคนฟัง ตรงข้ามกำแพงก็จะมีบ้านทรงฝรั่งที่ด้านบนหลังคามีตัวบอกทิศทางลมรูปไก่แจ้ บ้านหลังนี้ไม่ใช่คฤหาสน์ของเจ้านายที่เป็นที่มาของชื่อซอย แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นภาพตัวบอกทิศทางลมรูปไก่ที่ไกด์เด็กเล่าถึงได้เป็นอย่างดี เมื่อเดินทะลุไปอีกซอยก็จะเจออีกตรอกที่เชื่อมถึงกันก็คือ ‘ตรอกเขียนนิวาสน์’ ที่ตั้งของบ้านปักชุดละครของแม่เปี๊ยก ระหว่างทางก็จะแวดล้อมไปด้วยบ้านเรือนไม้ของคนในชุมชน 

หลังจากลัดเลาะตามตรอกซอกซอยของชุมชนแล้ว ไกด์เด็กบางลำพูก็นำเราเดินออกมาบริเวณถนนใหญ่อีกครั้ง เพื่อพาเดินไปยัง ‘วังริมป้อมพระสุเมรุ’ เป็นกำแพงวังเก่าที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน เดิมเป็นวังของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา พระราชอนุชาของรัชกาลที่ 1 และมีการตั้งศาลบูชาไว้ด้วย ไกด์เล่าว่าที่ตรงนี้จะมีการจัดงานประจำปี มีรำโขนถวายงานประจำทุกปี 

จากนั้นก็พาเราเดินลัดเลาะริมถนนพระอาทิตย์ ที่ทางด้านซ้ายมือจะเป็นอาคารพาณิชย์สีแดง-เขียว ลักษณะเดียวกันหมดตลอดแนวถนน จนคนที่ผ่านไปผ่านมาแถวถนนพระอาทิตย์มักจะคุ้นชินกับเอกลักษณ์อาคารตึกแถวเหล่านี้ และปรากฏเป็นป้อมพระสุเมรุตระหง่านอยู่ตรงหัวมุมถนน เดินผ่านร้านรวงมากมายที่ตั้งอยู่ริมถนน ทั้งร้านอาหาร ร้านโชห่วย บาร์ และคาเฟ่ เป็นสิ่งที่เน้นย้ำว่าบางลำพูเป็นย่านธุรกิจการค้ามาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน และย่านนี้ไม่เคยหลับใหล ยังคงเป็นพื้นที่การค้าและการท่องเที่ยวที่พร้อมรองรับผู้มาเยือนจากทั่วทุกสารทิศ


แล้วเราก็ข้ามถนนพระอาทิตย์กลับไปยังฝั่งป้อมพระสุเมรุอีกครั้ง เพื่อไปยัง ‘สวนสันติชัยปราการ’ พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไกด์เด็กพาเราไปหยุดอยู่ตรงหน้าประติมากรรมปูนปั้น ที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตและความรุ่งเรืองในแต่ละสมัยของบางลำพู แล้วก็พาไปนั่งพักอยู่ตรงขั้นบันได เบื้องหน้าเป็นต้นลำพูที่เพิ่งปลูกใหม่โดยน้าของน้องไกด์ในชุมชนนี่เอง ต้นลำพูนี้อายุเพียง 10 กว่าปีเท่านั้น และมีทั้งหมด 45 ต้น ตอนนี้ก็เริ่มออกกิ่งออกดอกกันแล้ว 


ต้นลำพูเป็นที่มาของคำว่า ‘บางลำพู’ ไกด์เล่าว่าแต่ก่อนย่านนี้เคยมีต้นลำพูอยู่จำนวนมาก แต่เมื่อตอนน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ ทำให้ต้นลำพูยืนต้นตาย คนในชุมชนจึงต้องปลูกต้นลำพูขึ้นใหม่ เหมือนเป็นการเน้นย้ำถึงรากเหง้าที่มาของชุมชนตัวเอง ไม่เพียงเท่านั้น คนในชุมชนยังร่วมกันพัฒนาสูตรขนมขึ้นมาใหม่เพื่อเป็น Signature ของชุมชน ชื่อว่า ‘ขนมเกสรลำพู’ ด้านนอกจะเป็นขนมมันม่วง สอดไส้ด้วยนม และด้านบนจะพิมพ์ลาย 9 ลาย แต่ละคนก็อาจจะได้ลายไม่ซ้ำกัน ทุกลายบนขนมเกสรลำพูล้วนเป็นลายวัฏจักรของดอกลำพู ตั้งแต่เป็นดอกตูม เกสร ดอก ผล และคำว่า ‘เกสรลำพู’ ยังเป็นชื่อชมรมของน้องๆ ไกด์เด็กบางลำพู ที่เลือกใช้ชื่อนี้เพราะเกสรเป็นเหมือนตัวกระจาย ที่จะกระจายความรู้ กระจายวัฒนธรรมไปให้คนอื่นๆ


‘สวนสันติชัยปราการ’ สวนสาธารณะที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มองไปเป็นสะพานพระรามแปด และเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับชุมชน พื้นที่ที่คนในชุมชนสามารถมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ทั้งออกกำลังกาย รำไทเก๊ก เต้นแอโรบิก เต้นบีบอย สอนศิลปะ ทำกิจกรรมต่างๆ หรือแค่มานั่งสูดอากาศให้ผ่อนคลาย 

มีเรื่องเล่าน่ารักๆ จากสองพี่น้องไกด์เด็กบางลำพู คือ ขนุน และ น้อยหน่า ที่เล่าว่ามีคนในชุมชนแซวว่าพวกเธอน่าอิจฉา เพราะบ้านของน้องทั้งสองอยู่ติดกับป้อมพระสุเมรุ ด้านหน้าติดวิวแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหลังติดคลองบางลำพู มีป้อมหน้าบ้าน แล้วยังมีสวนเอาไว้ทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย  


เราจบทริปนี้ด้วยการได้รับโอกาสให้ขึ้นไปชมรอบฐานชั้นแรกของ ‘ป้อมพระสุเมรุ’ ป้อมปราการที่ไม่อนุญาตให้ขึ้นมากว่า 20 ปี และยังไม่เคยเปิดให้ขึ้นชมในทริปไหนมาก่อน โดยป้อมพระสุเมรุเป็นป้อมปราการขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นปราการป้องกันพระนคร ภายในฐานของป้อมพระสุเมรุยังมีร่องรอยความเก่าแก่ของผนังอิฐดั้งเดิม ผิวปูนเก่า มีปืนใหญ่ และรายล้อมไปด้วยกำแพงที่มีช่องกากบาทอยู่ ระหว่างเดินรอบฐานชั้นแรก ก็จะมีเรื่องเล่าของเด็กๆ ที่ได้ไปพูดคุยกับคนเก่าคนแก่ในชุมชน โดยแต่ละคนก็จะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับป้อมพระสุเมรุในอดีต 

สำหรับใครที่อยากสัมผัสเสน่ห์ย่านเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่มีชีวิต ก็สามารถไปเยือนด้วยตัวเองได้ที่ย่านบางลำพู ที่ยังคงหลงเหลือวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมสืบต่อกันมาให้เห็น รวมถึงสามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ของย่านบางลำพู และสนับสนุนเด็กและเยาวชนในนาม ‘ไกด์เด็กบางลำพู’ ได้ ที่นี่


อ่านข่าวจากหน้าเว็บไซต์ ที่นี่

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]