ไม่มีใครเชื่อแน่นอนว่าท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสนุกของสถานบันเทิง จะมีโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งตั้งอยู่ แถมยังตั้งมานานกว่า 102 ปีแล้ว โรงเรียนนั้นก็คือโรงเรียนพิมานวิทย์
ในช่วงเย็นหลังเด็กเลิกเรียนและถนนข้าวสารยังหลับใหล พันธกานต์ เกตุแก้วเจริญ ไกด์เด็กบางลำพูและศิษย์เก่าโรงเรียนพิมานวิทย์ พาเราเดินทางไปพบกับ คุณครูวชิรปราณี อำพล เพื่อเข้าไปทัศนศึกษาในอาคารเรียน 3 ชั้น ที่ก่อตั้งราว พ.ศ. 2465 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
โรงเรียนพิมานวิทย์ก่อตั้งโดย นายฮัจยียอ พิมานแมน คฤหบดีผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนาอิสลาม ภายใต้ชื่อเดิมคือ โรงเรียนอนุเคราะห์อิสลาม ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวมุสลิมในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ต่อมามีการพัฒนาหลักสูตรสอนภาษาไทย รับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา กระทั่งนายฮัจยียอถึงแก่อนิจกรรม นายมาโนช พิมานแมน บุตรชายจึงดูแลโรงเรียนต่อ และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนพิมานวิทย์ตั้งแต่นั้น
ภายในโรงเรียนไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม เนื่องจากยังมีนักเรียนศึกษาอยู่ทุกวันจันทร์-ศุกร์ แต่ในบางโอกาส เหล่าไกด์เด็กก็พาผู้มาเยือนเข้าชมได้ โดยโรงเรียนพิมานวิทย์ตั้งอยู่ริมถนนข้าวสาร แขวงตลาดยอด
สมาคมสหายสงคราม
อีกหนึ่งไฮไลต์บนถนนข้าวสาร ที่หลายคนเดินผ่านอาจคิดว่าเป็นเพียงของประดับตกแต่งธรรมดา แต่ป้ายสมาคมสหายสงคราม ในพระบรมราชูปภัมภ์ มีประวัติเก่าแก่กว่านั้น
หลังฝ่ายสัมพันธมิตรชนะฝ่ายอักษะ พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานพื้นที่ถนนข้าวสาร ส่วนหนึ่งคือที่ตั้งของตึก Buddy Group ให้กับทหารอาสาไทยที่ออกไปรบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และจัดตั้งเป็นสมาคมสหายสงคราม ในพระบรมราชูปภัมภ์ พร้อมให้สัมปทานป่าไม้ในประเทศไทย กล่าวคือ ใครที่ต้องการตัดไม้ในประเทศ จะต้องขออนุญาตกับทางสมาคมฯ และรายได้เหล่านั้นจะถูกมอบให้กับทหารอาสาเป็นการตอบแทน
ประสิทธิ์ สิงห์ดำรงค์ อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการถนนข้าวสาร เล่าให้ฟังว่า ป้ายนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2461 แต่หลังจากนั้นได้ถูกขโมยไปขาย ทางเจ้าของ Buddy Lodge จึงนำเงินไปไถ่คืนและนำมาตั้งไว้ที่ตึกเช่นเดิม
หากใครแวะไปข้าวสาร ก่อนเดินขึ้นบันไดเข้าร้าน Mulligans Irish Bar ก็เงยหน้าชมป้ายสมาคมสหายสงครามกันได้
ปัยย์สปา
เดินต่อไปเกือบสุดซอยรามบุตรี ไกด์เด็กพาเราหยุดชมร้านนวดแห่งหนึ่งที่มีเรือนไทยทรงคหบดีตั้งเด่นอยู่ตรงหน้า ที่แห่งนี้คือ ปัยย์สปา ร้านนวดแผนไทยในเรือนไทยไม้สักทอง ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 4 มีอายุมากกว่า 150 ปี
ขณะที่เรือนไทยหลังอื่นในละแวกข้าวสารถูกรื้อออกไป เรือนไทยแห่งนี้ถือเป็นหลังสุดท้ายที่ไม่ยอมให้ใครมาชิงพื้นที่ กระทั่งเจ้าของคนปัจจุบันเข้ามาปรับปรุงและปรับเปลี่ยนให้เรือนไทยกลายเป็นร้านนวดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ร้านปัยย์สปาจึงกลายเป็นจุดนัดหมายของผู้คนที่เมื่อยล้า ให้พวกเขาได้มาผ่อนคลายท่ามกลางบรรยากาศสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง
ตั้งฮั่วเส็ง
เดินจากถนนข้าวสารมาหลบร้อนกันในห้างสรรพสินค้าขึ้นชื่อของย่านอย่าง ตั้งฮั่วเส็ง ไกด์เด็กยังไม่หยุดบอกเล่าเรื่องราวอันน่าสนใจ เพราะที่แห่งนี้คือแหล่งขายวัสดุและอุปกรณ์งานฝีมือที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย โดยเฉพาะเส้นด้ายและไหมพรมที่มีสีให้เลือกเยอะกว่าแหล่งอื่น แถมยังเน้นคุณภาพเป็นหลัก
ห้างตั้งฮั่วเส็งก่อตั้งใน พ.ศ. 2505 บนทำเลทองในย่านการค้าบางลำพู ถือเป็นตั้งฮั่วเส็งสาขาแรกของประเทศไทยที่อยู่คู่ย่านเก่ามากว่า 60 ปี โดยคำว่า ตั้ง เป็นชื่อแซ่ของตระกูลจุนประทีปทอง ผู้ก่อตั้ง, ฮั่ว คือ ชื่อของนายอุดม พี่ชายคนโตของตระกูล และผู้บริหารตั้งฮั่วเส็งรุ่นที่ 1 ส่วนคำว่า เส็ง เป็นอักษรมงคลที่หมายถึง ความเจริญงอกงาม นิยมนำมาตั้งชื่อธุรกิจการค้า
ปัจจุบันห้างแห่งนี้ยังคงเปิดให้บริการทุกวัน และมีส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มเติม เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า แต่ขณะที่การตลาดต้องพัฒนา ทางตั้งฮั่วเส็งก็ไม่ลืมที่จะสนับสนุนชุมชน ในฐานะห้างเก่าและความภูมิใจของคนพื้นที่ด้วย
มัสยิดจักรพงษ์ – ตรอกสุเหร่า
ตรอกมีความกว้างเล็กกว่าซอย และในตรอกสุเหร่า ทางเข้ามัสยิดจักรพงษ์แห่งนี้ ก็แคบจนแทบจะเดินพร้อมกัน 2 คนไม่ได้ ถึงอย่างนั้น เมริกา พลังเดช หนึ่งในไกด์เด็กบางลำพูก็ยังเชิญชวนให้เรามาในช่วงเช้า เพื่อชิมอาหารจากร้านค้าข้างทางที่ขายอาหารมุสลิมแสนอร่อย (เสียดายว่าตอนที่เราไป ร้านปิดกันหมดแล้ว)
หลังจากเดินผ่านตรอกเข้าไปในชุมชน เราได้ยินเสียงสวดดังมาจากมัสยิดสีเหลืองนวลตรงหน้า นี่คือมัสยิดจักรพงษ์ ศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิม เดิมทีคนในชุมชนเป็นชาวมุสลิมผู้ประกอบอาชีพช่างทองจากจังหวัดปัตตานี เดินทางเข้ามากรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นช่างสิบหมู่ทำเครื่องประดับจากทองส่งเข้าวัง หลังจากนั้นครอบครัวช่างฝีมือก็เดินทางมาเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นชุมชน ซึ่งในบริเวณใกล้เคียงกันจะมีมัสยิดอยู่ทั้งหมด 2 แห่ง คือ มัสยิดจักรพงษ์และมัสยิดบ้านตึกดิน (ตั้งอยู่แถวโรงเรียนสตรีวิทยา)
สุพิน หนองบัว ผู้ดูแลกิจกรรมไกด์เด็กบางลำพูเล่าว่า หากไม่ใช่ช่วงที่มีกิจกรรมทางศาสนา พวกเขาจะพาแขกผู้มาเยือนเข้าเยี่ยมชมด้านบนของมัสยิด ซึ่งด้านในมีการตกแต่งสวยงาม ทั้งยังมีนาฬิกาแบบจันทรคติที่ชาวมุสลิมใช้ดูเวลาตั้งอยู่ด้วย
ตรอกต.เง๊กชวน
คำเตือนแรกคือระหวังหลงทาง หากไม่ได้มากับผู้ช่ำชองพื้นที่อย่างไกด์เด็กบางลำพู แต่อย่างไรก็ตาม ปานทิพย์ ลิกขะไชย ประธานชมรมเกสรลำพู และผู้ดูแลกิจกรรมไกด์เด็กบางลำพู บอกกับเราว่า ทางออกจากมัสยิดจักรพงษ์มีทั้งหมด 4 ทาง ซึ่งชื่อของตรอกจะตั้งตามสถานที่หน้าซอย ได้แก่ ตรอกต.เง๊กชวน ตรอกฟาโรห์ ตรอกก๋วยเตี๋ยวเป็ด และตรอกสุเหร่า
ส่วนที่หน้าตรอกต.เง๊กชวน คือที่ตั้งของร้านขนมเบื้องแม่ประภา ซึ่งแม่ประภาคือสะใภ้ของนายเตีย เง๊กชวน หรือ ต.เง๊กชวน เจ้าของห้างจำหน่ายเครื่องหีบเสียงและจานเสียงตรากระต่าย แต่ในปัจจุบัน ต.เง๊กชวน ปิดกิจการไปแล้ว เหลือเพียงขนมเบื้องแม่ประภาเท่านั้น
ศาลเจ้าพ่อเขาตก
ความศรัทธาและความเชื่อที่มีต่อเจ้าพ่อเขาตกกระจายอยู่หลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่นเดียวกับศาลเจ้าจีนของเจ้าพ่อเขาตกที่ตั้งอยู่บนถนนไกรสีห์ ขนาบข้างด้วยตึกปูนและอาคารจอดยานยนต์ของกรุงเทพมหานคร
เดิมทีศาลเจ้าพ่อเขาตกเป็นศาลเจ้าประจำตลาดยอด แต่หลังเกิดเพลิงไหม้ใน พ.ศ. 2510 ศาลเจ้าก็ได้รับความเสียหายไปด้วย แต่กระนั้นความศรัทธาของชาวจีนในย่านบางลำพูก็ไม่ได้มอดหมดไปพร้อมเถ้าถ่าน พวกเขาสร้างศาลเจ้าพ่อเขาตกขึ้นอีกครั้งบนพื้นที่ลานจอดรถของตลาดยอดเดิม ก่อนจะมีการย้ายอีกครั้ง และมาตั้งอยู่บนพื้นที่ปัจจุบันเป็น ศาลเจ้าพ่อเขาตก-เจ้าพ่อพันท้ายนรสิงห์
เนื่องจากนี่คือทริปสุดพิเศษในธีม Se(e)crets of Summer in Banglumphu ที่จัดขึ้นโดยไกด์เด็กในย่าน หลังจากเดินชมประวัติศาสตร์กันมาเหนื่อย ๆ เจ้าบ้านตัวน้อยจึงได้จัดเตรียมเซ็ตอาหารคาว-หวานขึ้นชื่อประจำย่านมาให้เราได้ทานทั้งหมด 4 เมนู พร้อมผักและผลไม้แกะสลักประดับจานโดย พรชิตา บัวประดิษฐ หนึ่งในเหล่ามัคคุเทศก์ ซึ่งเซ็ตอาหารดังกล่าวสามารถหาทานได้ตลอดปี แต่จะเหมาะที่สุดในช่วงฤดูร้อน โดยทุกท่านสามารถเดินทางไปที่ร้านเอง หรือให้ไกด์เด็กคัดเลือกสำรับมาให้ในช่วงท้ายของวันก็ได้
เมนูแรกคือ ข้าวแช่แม่ศิริ ถือเป็นข้าวแช่ร้านดังในย่านนี้ ตั้งอยู่หลังนิวเวิลด์ ในตรอกไกรสีห์ ถนนพระสุเมรุ ชุมชนบ้านพานถม ซึ่งเป็นร้านที่เริ่มต้นกิจการมานานกว่า 50 ปี เรียกได้ว่าใครมาถึงก็ต้องกิน แต่นอกเหนือจากร้านแม่ศิริแล้วยังมีอีก 4 ร้าน ซึ่งเด็ก ๆ บอกกับเราว่า รสชาติไม่ได้แตกต่างกันมากนัก โดยทั้งหมดถือเป็นของดีที่ชาวบางลำพูแนะนำให้ทานในช่วงฤดูร้อนนี้
ส่วนอาหารคาวอีกอย่างคือ ขนมจีนซาวน้ำ ร้านสมทรงโภชนา ซึ่งมี 2 ร้านได้แก่ เจ้าเก่าวัดสังเวช และเจ้าใหม่ที่ถนนสามเสน แต่ในครั้งนี้ พวกเขาเลือกร้านที่ตั้งอยู่บนถนนสามเสนระหว่างซอย 3 กับซอย 5 ให้เรา ซึ่งนอกจากคนจะเข้ามาทานก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยอันขึ้นชื่อแล้ว เมนูขนมจีนซาวน้ำก็เป็นอีกหนึ่งเมนูแนะนำของร้านด้วย
แตงโมเป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่เหมาะจะรับประทานในช่วงฤดูร้อน เพราะให้ทั้งความหวานและความสดชื่น ยิ่งนำไปจิ้มกับปลาแห้งทำเองจาก ร้านลุงโอ่ง ยิ่งเพิ่มความอร่อยและเข้ากันอย่างไม่น่าเชื่อ โดยร้านลุงโอ่งตั้งอยู่ที่ตลาดเช้าบางลำพู ขายตั้งแต่ประมาณ 6.00 – 8.00 น. นอกจากปลาแห้งยังมีขายข้าวเหนียวมูนสังขยาด้วย สำหรับการตกแต่งภายในจาน รูปทรงแตงโมถูกดีไซน์ออกมาให้เป็นสี่เหลี่ยม เพื่อสื่อถึงกำแพงเมืองเก่าและอาคารโบราณในย่านนี้
อีกหนึ่งของหวานที่นำมาเสิร์ฟคือ โบ๊กเกี้ย ขนมหวานเย็นมาพร้อมขนมสามเหลี่ยมอย่างข้าวต้มน้ำวุ้น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านในชุมชนวัดสามพระยา ทานคู่กันสดชื่นดับร้อนได้เป็นอย่างดี
ตกเย็นปิดท้ายกันด้วยเวิร์กชอปสุดพิเศษจาก แก้วใจ เนตรรางกูร เจ้าของสูตรขนมเกสรลำพู และ สายสุนีย์ แซ่ฟุ้ง หัวหน้ากลุ่มศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพ ตรอกบ้านพานถม เจ้าของเวิร์กชอปดอกไม้ประดิษฐ์
แก้วใจเล่าให้ฟังว่า ถึงแม้ขนมเกสรลำพูจะเป็นขนมที่เพิ่งคิดค้นขึ้นในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่เธอได้ใส่ความเป็นบางลำพูลงไปจนเต็มเนื้อแป้ง ด้วยแป้นพิมพ์ 9 ลายที่บอกเล่าเรื่องราวของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นลำพู ซึ่งเป็นที่มาของชื่อย่าน โดยลำพูต้นสุดท้ายได้ยืนต้นตายไปแล้วเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ. 2554
ปิดวันกันเมื่อแสงอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า ทั้งสองเวิร์กชอปรวมถึงอาหารเย็น 2 สำรับ เป็นกิจกรรมพิเศษที่ทางเพจเสน่ห์บางลำพู นำโดยไกด์เด็กจัดขึ้นเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน และเป็นการอนุรักษ์ประวัติศาตร์ สถานที่ท่องเที่ยว และความทรงจำให้คงอยู่ต่อไป
หากใครสนใจเดินชมสถานที่ลับ (ที่แท้จริงแล้วมีมากกว่านี้) รวมถึงดับร้อนด้วยอาหารและกิจกรรมสุดสนุก หรือต้องการชมเส้นทางทัวร์อื่น ๆ สามารถติดต่อไปได้ที่เพจเสน่ห์บางลำพู
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]