เมื่อพูดถึงเครื่องดนตรีของภาคอีสาน “ แคน ” คือสิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่มักจะนึกออก จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า คนภาคอีสานให้ความสำคัญกับแคนมากขนาดไหน เสียงของแคนมันบ่งบอกถึงจิตวิญญานและวิถีชีวิตของคนภาคอีสานรวมไปถึงคนไทยด้วย ปันศิลป์ ปันสุขจะมาแชร์เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่หลายๆคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนว่าเครื่องดนตรีที่ชื่อว่า “ แคน ” นั้นมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
1. จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีการขุดค้นซากแคนในชั้นหินอายุมากกว่า 2,000 ปี ในมณฑลยูนนานของประเทศจีน และค้นพบขวานสำริดแกะสลักรูปคนเป่าแคนน้ำเต้าอายุราวๆ 3,000 ปีที่เวียดนาม
2. แคนคือเครื่องดนตรีที่สามารถนำไปบรรเลงได้หลายแบบทั้งเพลงไทยเดิม เพลงไทยสากลรวมถึงเพลงลูกทุ่ง เเต่เมื่อนำมาใช้บรรเลงทำนองพื้นบ้านของภาคอีสานหรือหมอลำ จะเรียกว่า “ ลายแคน ”
3. ลาย หมายถึง เพลงหรือทำนองที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรีแต่ละชนิด เช่น ลายแคน ลายพิณ ลายแซกโซโฟน เป็นต้น
4. แคนมีหลายประเภท อาทิเช่น แคนหก แคนเจ็ด แคนแปด แคนเก้า ทั้งหมดต่างกันตรงที่จำนวนลูกแคน ยิ่งลูกแคนเยอะ แคนก็สามารถเล่นตัวโน้ตได้เยอะขึ้น แคนหกมักเหมาะสำหรับเด็กเพราะไม่ต้องเล่นโน้ตเยอะ แคนแปด แคนเก้า เหมาะสำหรับมืออาชีพเพราะสามารถนำไปใช้บรรเลงเดี่ยวหรือเป่าประสานไปกับการขับร้องหรือ “ ลำ ” ได้ ปล. ลำ คือการขับร้องเพลงของภาคอีสาน
5. คนเป่าแคนที่ชำนาญของชาวอีสาน จะเรียกว่า “ หมอแคน ”
6. แคนคือเครื่องดนตรีที่ใช้การเป่าลมและดูดลมเพื่อให้เกิดเสียง คล้ายฮาโมนิก้า
7. แคนทำมาจากไม้อ้อหรือไม้เหี้ยน้อย ปัจจุบันไม้อ้อหาได้ยาก แคนส่วนใหญ่จึงทำจากไม้เหี้ยน้อย
8. แคนคือเครื่องดนตรีที่สามารถประสานเสียงได้ด้วยตัวมันเอง
9. แคนคือเครื่องดนตรีที่มักอยู่ในทุกประเภทของเพลงในภาคอีสาน และมักถูกใช้กับงานพิธีสำคัญต่างๆ
ทั้งพิธีที่เกิดจากความเชื่อและพิธีการทางศาสนา