เสน่ห์อีสานบ้านสาวะถี ตอนที่ ๓ วัดโพธิ์ชัย

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 18 มกราคม 65 / อ่าน : 1,118


 

เสน่ห์อีสานบ้านสาวะถี ตอนที่ ๓ วัดโพธิ์ชัย

วัดโพธิ์ชัย (ข้อมูลโดยกรมศิลปากร)

ที่ตั้ง : วัดโพธิ์ชัย ตั้งอยู่จุดกึ่งกลางบ้านป่าหม้อและบ้านสาวะถี วัดตั้งอยู่อยู่บริเวณชายเนินทางด้านทิศเหนือ ทั้ง ๒ หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนเนินดินเดียวกัน ขนาดกว้างยาวประมาณ ๕๐๐ x ๑,๓๐๐ เมตร (บ้านป่าหม้ออยู่ทางทิศตะวันตก บ้านสาวะถีอยู่ทางทิศตะวันออก) วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ - ตะวันออกเฉียงใต้ ขนานไปกับลำห้วยคูส่งน้ำและลำห้วยกลางทุ่งที่อยู่ทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน
ความสำคัญ : ภายในวัด มีอาคารสิ่งปลูกสร้างถาวรหลายหลัง มีอุโบสถหลังใหม่สำหรับประกอบสังฆกรรม อยู่ทางด้านทิศตะวันออก นอกกำแพงแก้วด้านหลังอุโบสถหลังใหม่ มีสิม (อุโบสถ) ก่ออิฐฉาบปูนหลังเก่าตั้งอยู่ สภาพทรุดโทรม ปูนฉาบหลุดร่อนเห็นอิฐก่อด้านใน โครงสร้างอาคารผุกร่อน
หลักฐานทางโบราณคดี
ข้อมูลจากหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๑๒ กล่าวว่า วัดโพธิ์ชัย บ้านสาวะถี ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ โดยพระสิมมา ปภากโร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายบุญจันทร์ เชื้อสาวะถี ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างวัด ตั้งชื่อว่า “โพธิ์ชัย” เนื่องจากมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ ๒ - ๓ ต้น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒

สิม (อุโบสถ) วัดโพธิ์ชัย ไม่ทราบปีที่ก่อสร้าง แต่ทางวัดสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ หลังจากตั้งวัด ๑ ปี โดยจัดทำป้ายบรรยายติดตั้งไว้หลังสิมหลังนี้ เป็นอาคารก่ออิฐสอดินฉาบปูน แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนาด ๓ ห้อง ปัจจุบันทางวัดได้ถมดินปรับพื้นทับส่วนฐานเอวขันไปแล้ว จึงได้ทำการวัดขนาดบริเวณส่วนฐานบัวคว่ำที่โผล่พ้นดินขึ้นมา กว้างประมาณ ๕.๓๐ เมตร ยาวประมาณ ๗.๓๐ เมตร ก้อนอิฐที่ใช้ก่อสร้างขนาด ๓๖ x ๘ x ๑๖ เซนติเมตร นับว่ามีขนาดใหญ่กว่าอิฐที่พบใน การก่อสร้างโบราณสถานทั่วไปที่มีอายุการก่อสร้างร่วมสมัยกัน มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า ประตูทางเข้าทำจากไม้ชนิด ๒ บานมีอกเลาตรงกลาง ขนาดกรอบประตู ๒.๒๐ x ๑.๑๖ เมตร ผนังด้านข้างบริเวณห้องที่ ๑ และห้องที่ ๒ เจาะช่องหน้าต่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยห้องที่ ๑ เจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าในแนวนอนขนาด ๘๐ x ๕๐ เซนติเมตร ห้องที่ ๒ เป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าในแนวตั้งขนาด ๕๐ x ๑๐๕ เซนติเมตร (กรอบใน) ห้องที่ ๓ และผนังด้านหลังก่อทึบ
โครงสร้างหลังคาทำจากไม้ มุงด้วยแป้นเกล็ด (ไม้) ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินขอ โดยซื้อกระเบื้องเก่ามาจากบ้านหนองปลิง (อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดโพธิ์ชัย ห่างประมาณ ๓ กิโลเมตร) แล้วจึงเปลี่ยนมามุงสังกะสีจนถึงปัจจุบัน แต่เดิมด้านข้างทั้ง ๒ ด้านและด้านหลัง มีปีกนกแคบ ๆ ยื่นออกมา คลุมแนวเสมาจำนวน ๘ จุด (ด้านข้างละ ๓ จุด ด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ ๑ จุด ปัจจุบันถมดินทับไปแล้ว) ภายหลังจึงรื้อปีกนกด้านข้างออก แล้วต่อใหม่กว้างกว่าเดิมพื้นกันฝนสาด ส่วนด้านหลังยังคงเดิม (ข้อมูลโดย นายหนูคาน ดาสาวะ อายุ ๖๖ ปี)
ด้านใน ติดกับผนังด้านหลังการยกพื้นแนวตลอดผนังสูงจากพื้น ๑ เมตร ที่จุดกึ่งกลางมีการ ปั้นปูนเป็นฐานชุกชี (บัวคว่ำ - บัวหงาย) ยื่นออกมาเพื่อประดิษฐานพระประธานใหม่ และพระไม้จำนวนหนึ่ง มีตู้พระธรรมลงรักปิดทอง ๑ ตู้
สภาพปัจจุบัน ตัวอาคารทรุดโทรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะส่วนฐานอิฐกร่อนจากลมและฝน ผนังมีรอยปริแยก โครงสร้างหลังคาได้รับความเสียหายจากแมลงจำพวกมอดและปลวก
ข้อสันนิษฐานและการกำหนดอายุเบื้องต้น จากข้อมูลการสำรวจเบื้องต้นสันนิษฐานว่า สิมวัดโพธิ์ชัย น่าจะสร้างในช่วงประมาณ ๑๕๐ - ๑๐๐ ปีมาแล้ว


หอแจกหลังเดิม
หอแจกวัดโพธิ์ชัย (เดิม) ปัจจุบันรื้อไปแล้ว เป็นฝีมือของหลวงปู่อ่อนสา ลักษณะเป็นอาคารหลังไม้ทั้งหลัง อาคารทรงปราสาทหน้าจั่วแบบอีสาน มีลักษณะโครงสร้างหลังคาที่ถูกออกแบบให้เป็นเรือนชั้นซ้อน ตามคติการสร้างปราสาท และ เรือนของผู้มีฐานนันดรสูง ในศาสนาพุทธและพราหมณ์ ชั้นหลังคาลาด ชั้นแรกคลุมตัวอาคารไว้ทั้ง ๔ ด้าน ด้านบนหลังคาลาดแต่ละด้านยกซุ้มจั่ว ด้านละ ๓ ตัว ตรงมุมอาคารแต่ละด้าน อีกด้านละ ๑ ตัว ชุดหลังคาลาดยกซุ้มจั่วนี้ เรียงซ้อนกันขึ้นไป ๔ ชั้นโดยไล่ขนาดกันตามความสูง โดยแต่ละชั้นมีองค์ประกอบเหมือนกันเกือบทุกชั้น ชั้นบนสุดเป็นจั่วหลังคาคุมซ้อนกัน ๒ ชั้น ประดับสันหลังคาด้วยช่อฟ้าเป็นส่วนยอดสุดของตัวอาคาร (ธีระวัฒน์ แสนคำ, ๒๕๖๐.)
ว่ากันว่าหอแจกหลังนี้หลวงปู่อ่อนสาได้แบบมาจากพม่า ตอนที่ท่านไปธุดงค์ที่พม่า แล้วได้แบบกลับมาสร้าง ท่านออกแบบและควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงยศ วีระทวีมาศ (๒๕๖๐) สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มไทใหญ่ (คล้ายกับหอแจกวัดศรีมณฑา ที่จังหวัดมุกดาหาร) เพราะมีลักษณะอิทธิพลของสถาปัตยกรรมพม่าผสมผสานกับแบบล้านช้าง”
นอกจากนั้น อาจารย์ติ๊ก แสนบุญ (๒๕๖๐) ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หลังคาดูเป็นเอกลักษณ์สกุลช่างขอนแก่นพบมากในส่วนงานหลังคาหอธรรมาสน์ เช่น อย่างหอธรรมมาสน์วัดบ้านหนองกุงก็มีลักษณะแบบนี้ แต่ดูซับซ้อนมากกว่า จึงเป็นไปได้ที่เป็นรูปแบบไทใหญ่ อย่างแถบร้อยเอ็ด หรือมุกดาหาร

อ้างอิงข้อมูลจาก หนังสือถิ่นฐานบ้านสาวะถี


 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]