สสส. เผยหนังสั้น “บ้านปอด” เป็นสุดยอดผลงาน “ดีไซน์ฮีโร่” รับถ้วยพระราชทานฯ ไปครอง
โดย Art4D ชี้ชัด ผลงานโดดเด่น สามารถต่อยอดเป็นงานโฆษณาระดับมืออาชีพได้
จากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมเมื่อต้นปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมาพบว่ามีมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นและสะสมมาเป็นระยะเวลานาน และเริ่มส่งผลกระทบที่รุนแรงขึ้น คุณภาพของอากาศที่มีค่าฝุ่นละออง PM. 2.5 และ PM. 10 อยู่ในระดับที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มเข้ามามีผลกระทบกับร่างกายขั้นรุนแรง รวมไปถึงการเกิดขึ้นของโรคระบาดอุบัติใหม่ ที่เรียกว่า โควิด-19 เกิดการระบาดในวงกว้าง ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วกว่า 240 ล้านคน และกว่า 1.8 ล้านคนในประเทศไทย โครงการDESIGN HERO : THE NEW NORMAL จึงเกิดขึ้นด้วยการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาอายุระหว่าง 15-25 ปี จำนวน 11 ทีม (คัดเลือกจากผู้ส่งใบสมัครเข้ามากว่า 70 ทีม) มาใช้ความคิดสร้างสรรค์และความรู้ความสามารถของตนเองสร้างสรรค์ผลงานทั้งในด้านการออกแบบแขนงต่างๆ, การสื่อสาร, การออกแบบชุดกิจกรรมหรือกระบวนการที่เป็นประโยชน์ หรือการสร้างนวัตกรรมเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในภาวะวิกฤต ก่อให้เกิดการสร้างความรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกิดการพึ่งพาตนเองด้วยผลงานที่ไม่จำกัดรูปแบบ ด้วยการสนับสนุนจากโครงการปิ๊งส์ โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับนิตยสาร อาร์ตโฟร์ดี (art4d) ขึ้น
โดยนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า กว่า 3 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึง 15 มีนาคม 2564 เยาวชนทั้ง 11 ทีม อาทิ ทีม withFriend จากโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จ.พิษณุโลก ทีมหิ่งห้อยน้อย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทีม Maskmask จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ทีม B-Hero จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทีม BEST FRIEND จาก โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ทีม Green Lover จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิยาลัยตรัง จ.ตรัง ทีมศิลแปะ Sticky Art จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทีม THE 19 Divoc จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ สะพานใหม่ ทีม MALOMTOM จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ สะพานใหม่ ทีม อยากชงกาแฟ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ สะพานใหม่ และทีม STYLE KAMPONG จากมหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์วิทยาเขตปัตตานี, วิทยาลัยอาชีวศึกษาผดุงประชายะลา, มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
ซึ่งกมลทิพย์ กิมอารีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอาร์ตโฟร์ดีโค จำกัด กล่าวว่า ในการสร้างสรรค์ผลงานของทั้ง 11 ทีมได้มีพี่เลี้ยงระดับมืออาชีพที่มีความถนัดเฉพาะด้านมาให้คำแนะนำเยาวชนแต่ละทีม ทำให้เยาวชนได้รับทั้งความรู้ และเพิ่มพูนทักษะการคิด การทำงานแบบมืออาชีพไม่ว่าจะเป็นประเภทนวัตกรรม / เทคโนโลยี , ชุดกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, บอร์ดเกม , แอพพลิเคชั่น , แอนิเมชั่น / การ์ตูน และหนังสั้น นำโดย เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ , ไจ๋–ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ , วัชริศ ถนอมทรัพย์ , หมู-ไตรภัค สุภวัฒนา , อาจารย์อครพล กฤตฤานนท์วงศ์ , ดร.ดนุ ภู่มาลี , อาจารย์วันทวี สิมชมภู , สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์-Toolmorrow , อนันต์ ฐิตาคม-The Zero One และมายด์ - ณัฐดนัย วรธนารัตน์
กมลทิพย์ กิมอารีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอาร์ตโฟร์ดีโค จำกัด
“เมื่อได้ผลงานมา พบว่า เหนือความคาดหมายเพราะเด็กและเยาวชนที่ส่งผลงานเข้ามานั้นมีอายุค่อนข้างน้อยแต่เมื่อได้ลงมือสร้างสรรค์ผลงาน กลับมีไอเดียที่ถือว่า “ทำได้ดี” มีการพัฒนาผลงานออกมาได้ค่อนข้างไกลเมื่อเทียบกับผลงานที่ส่งเข้ามาครั้งแรก โดยผลงานนั้นมีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีการนำเอกลักษณ์ประจำถิ่นใส่ลงมาในแนวคิด ในผลงานด้วย ทำให้บางผลงานสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นงานโฆษณาดีๆ ได้ ส่วนบางผลงานมีความเป็นสากลสามารถนำไปต่อยอดและโปรโมทไปในระดับนานาชาติได้เลย ซึ่งสามารถติดตามชมผลงานทั้งหมดนี้ได้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ใน 5 ช่องทาง อาทิ Youtube, Facebook, Instagram, Twitter และ TikTok หรือที่แฮชแท็ก #DesignHero #TheNewNormal #pings #PM2.5 #COVID19” กมลทิพย์ กิมอารีย์ กล่าว
นายดนัย หวังบุญชัย กล่าวต่อว่า หลังจากมีการเผยแพร่ผลงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ไปแล้ว ทั้ง 11 ผลงาน ยังได้ถูกจัดแสดงในงาน BANGKOK DESIGN WEEK 2021 ที่ผ่านมาด้วย เพื่อนำคะแนนจากการจัดแสดงและเผยแพร่มารวมกับคะแนนของคณะกรรมการโครงการฯ เพื่อหาผลงานที่ดีที่สุด รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจากการตัดสิน พบว่า ผลงานประเภทหนังสั้น เรื่องบ้านปอด ของทีม MALOMTOM จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ SBAC สะพานใหม่ เป็นผลงานที่ดีที่สุดได้รับรางวัลชนะเลิศ รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนสนับสนุนการศึกษาและต่อยอดกิจกรรม 30,000 บาท และประกาศนียบัตรไปครอง , รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ผลงานบอร์ดเกม ประเภท Bluffing games (เกมบลัฟ) หรือเกมล่ามนุษย์หมาป่า ของทีม THE 19 Divoc จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ SBAC สะพานใหม่ รับทุนสนับสนุนการศึกษาและต่อยอดกิจกรรม 20,000 บาท โล่เกียรติคุณและประกาศนียบัตร , รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ผลงานประเภทการ์ตูน แอนิเมชั่น เรื่องหิ่งห้อยน้อยตะลุยนิวนอร์มอล ของทีมหิ่งห้อยน้อย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รับทุนสนับสนุนการศึกษาและต่อยอดกิจกรรม 10,000 บาท โล่เกียรติคุณและประกาศนียบัตร สำหรับรางวัลชมเชยมี 2 รางวัล ได้แก่ ผลงานประเภทการ์ตูน แอนิเมชั่น เรื่องBEST FRIEND ของทีม BEST FRIEND จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ และ ผลงานประเภทแอพพลิเคชั่น ของทีม B-Hero จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยแต่ละรางวัลได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาและต่อยอดกิจกรรม 5,000 บาทและประกาศนียบัตร
ทั้งนี้ นายดนัย หวังบุญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับก้าวต่อไป สสส. โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ อยากจะเห็นการมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษา ครู พี่เลี้ยง รวมทั้งอาจารย์ที่ปรึกษา กับการทำงานเป็นกลุ่มของนักศึกษามาออกแบบเพื่อสังคม, สิ่งแวดล้อม, สุขภาพ ที่เป็นโปรเจกต์การทำงานด้านการออกแบบในเชิงกึ่งวิทยานิพนธ์ และสามารถนำมาใช้จริงกับสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือขยับขับเคลื่อนสังคม หรือสามารถก้าวไปเป็นผู้ประกอบการเองได้อย่างยั่งยืน แต่จะออกมาเป็นโครงการในรูปแบบไหน? อย่างไร? สามารถติดตามรายละเอียดได้อย่างต่อเนื่องที่เว็บไซต์ www.artculture4health.com, www.pings.artculture4health.com และที่แฟนเพจ www.facebook.com/artculture4h, www.facebook.com/pingsproject ซึ่ง สสส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าธุรกิจที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นอยากก้าวเข้ามาทำงานเป็นกลุ่มต่อๆ ไป ประกอบกับเกิดเป็นหลักสูตร และมีที่ปรึกษา เกิดเป็นการทำงานต่อเนื่องในระยะยาวต่อไปได้
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]