“สุรชัย รุณบุญรอด” ชายวัยเกษียณที่ใช้เรือจำลองเป็นสื่อกลางให้คนหันมองความสำคัญคู-คลอง

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 4 สิงหาคม 64 / อ่าน : 1,246


“สุรชัย รุณบุญรอด” ชายวัยเกษียณที่ใช้เรือจำลองเป็นสื่อกลางให้คนหันมองความสำคัญคู-คลอง


หากย้อนกับไปมองการคมนาคมในอดีต “เรือ” เห็นจะเป็นยานพาหนะที่สำคัญของคนไทย ซึ่งสมัยก่อนคนไทยใช้เรือในการเดินทางและมีวิถีชีวิตที่ผูกผันกับลำคลอง จะเห็นได้จากบ้านเรือนเก่าๆ ริมคลองที่หันหน้าบ้านเข้าหาแม่น้ำลำคลอง แต่ปัจจุบันยุคสมัยที่เปลี่ยนไปการใช้เรือจึงลดน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยการสัญจรทางบกเสียมากกว่า ภาพการพายเรือหรือการไปมาหาสู่โดยเรือจึงถูกกลืนหายไป


แต่มีคนที่เห็นว่า “เรือ” ยังมีคุณค่าสำหรับจิตใจของเขา และลุกขึ้นมาสร้างภาพจำในอดีตให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นเรื่องราวเรือต่างๆ ผ่านการทำเรือจำลอง BLT Bangkok ชวนคุยกับลุง “สุรชัย รุณบุญรอด” ข้าราชการเกษียณ วัย 66 ปี ที่เดินหน้าถ่ายทอดการต่อเรือให้แก่เยาวชน ผู้สนใจ


“หากอะไรสักอย่างที่จะทำให้พวกเขาหันมองความสำคัญของลำคลอง แม่น้ำอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่า “เรือ” ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางนะ ที่สามารถทำได้ และนี่คือเป้าหมายของผม แต่ก็ค่อยๆทำไป ทำเท่าที่ตัวผมจะทำไหว ” ลุงสุรชัย เปิดฉากการสนทนาด้วยคำพูดที่กระตุกความรู้สึกของเรา ก่อนที่จะย่างก้าวเข้าไปในห้องทำงานของเขา

ทำไมถึงมาสอนการต่อเรือจำลอง?

นในวัยอย่างผม อีกไม่นานก็คงต้องจากโลกนี้ไป (หัวเราะ) เรามีองค์ความรู้ จะทำอย่างไรไม่ให้มันตายตามตัวเราไปด้วย คุณเคยได้ยินคำว่าผู้ใหญ่หวงวิชาไหม สำหรับผมรู้สึกเสียใจกับคำนี้มาก วิชาไม่ใช่มันจะอยู่ๆ แล้วเกิดขึ้นกับตัวเอง หรือไปเรียนปุ๊บ ทำได้ปั๊บ บางคนต้องใช้เวลาถึง 10 – 20 ปี กว่าจะชำนาญ ผมจึงไม่อยากเป็นผู้ใหญ่หวงวิชา จึงลุกขึ้นมาถ่ายทอดให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้เรียนรู้ สำหรับผมแล้วถ้าสอนใครได้จะสอนอย่างเต็มที่ขอเพียงหนึ่งในร้อยคนที่ผมสอนและเขาสามารถเอาไปต่อยอด สอนให้แก่คนอื่นๆได้ เพียงแค่นี้ก็พอใจแล้ว คิดเพียงว่าอยากจะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้แก่ชุมชน และนี่เป็นสิ่งที่ผมอยากทำมานานแล้ว



จุดเริ่มต้นในการต่อเรือของคุณลุง

อันที่จริงผมเพียงแค่อยากหาอาชีพเสริมในวัยเกษียณ จนมานึกถึงตอนเป็นเด็ก พ่อผมเป็นช่างไม้และเคยต่อเรือเล็กๆ ให้เล่นหนึ่งลำ ซึ่งนั่นเป็นของเล่นชิ้นแรกของผม มันฝังใจมาโดยตลอด ส่วนตัวเป็นคนที่ชื่นชอบเรือใบ หรือสำเภา อะไรพวกนี้อยู่แล้ว ตอนที่ออกจากราชการก็เลยลองต่อเรือสำเภาสักลำ พูดง่ายๆ คืออยากจะลองทำเรือไว้ขาย หารายได้ในช่วงเกษียณ เลยศึกษาข้อมูล ขั้นตอนการทำ ครูพักลักจำบ้าง ค่อยๆพัฒนาการต่อเรือมาเรื่อยๆ ใช้เวลาถึง 4 ปีกว่าจะขายได้ (หัวเราะ) กระทั่งพอมีความรู้บ้างทำ อยากทำพิพิธภัณฑ์เรือจำลอง เลยได้ไปทำอยู่ที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม จนมีบางจังหวะที่รู้สึกว่าตรงนี้ ไม่ใช่แหล่งเรียนรู้แล้ว ดูเป็นแหล่งทำมาหากินเสียมากกว่า จึงถอยกลับมาอยู่บ้าน นั่งทำที่บ้านตัวเองดีกว่า


ประเภทเรือที่ต่อ

จริงๆ แล้วผมชอบเรือไทยนะ โดยเฉพาะเรือพื้นบ้าน แค่คนไทยส่วนใหญ่ชอบเรือของฝรั่ง ฝรั่งมาเมืองไทยเขากลับชอบเรือไทย เรือโบราณแบบที่มีหลังคาไม้สาน ซึ่งส่วนตัวผมชอบเรือไทยมากกว่า ไปสอนที่ไหนก็จะสอนการต่อเรือไทย ส่วนพวกเรือใบ เรือสำเภาผมก็สอนอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะสอนเน้นการต่อเรือพื้นบ้าน

สิ่งสำคัญและเป้าหมายในการสอนต่อเรือ

เป้าหมายจริงๆของผมไม่ใช่งานหรือสัดส่วนของการต่อเรือ แต่ผมต้องการให้คนที่มาเรียน สนใจกับวัฒนธรรมเรือไทยว่าเป็นอย่างไร เรียนรู้พื้นฐานของเรือก่อน ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าเรือเหมือนเป็นอัตลักษณ์ของประเทศอย่างหนึ่ง สำคัญที่สุดคือให้ทุกคนได้ตระหนักถึงแหล่งน้ำ ลำคลอง และเรืออาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่คนไทยจะหันมาให้ความสำคัญกับคูคลอง


ทำไมจึงเน้นการสอนต่อเรือในชุนชน

ที่ผ่านมาพยายามที่จะสื่อสารกับคนที่มาเรียนว่า “เรือ” คืออะไร หลายๆชุมชน มีคนที่ทำเรือเก่งมากนะ ทำได้ดีกว่าผมเสียด้วยซ้ำ (หัวเราะ) แต่เขาอาจจะไม่มีช่องทาง หรือโอกาสเท่านั้นเอง อย่างที่ได้ไปสอนในชุมชนหัวตะเข้ มีคนต่อเรือเก่งๆเยอะมาก ผมเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ไปสะกิดและฟื้นวิชาเท่านั้น ปรากฏเรือที่เขาทำออกมาสวยมาก ซึ่งคนในชุมชนสามารถเข้าถึงพวกเขาได้ง่าย และมีฝีมือ (ยิ้ม)


มองอนาคตของเรือไทยอย่างไรบ้าง

สำหรับผมแล้วเรือมันยังสำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทยอยู่นะ ในบางพื้นที่เขาก็ยังใช้เรือเป็นพาหนะสัญจรไป – มา หรือใช้ประกอบอาชีพ มันคือเสน่ห์ที่ควรรักษาเอาไว้ บางพื้นที่ บทบาทของเรือค่อยๆเลือนหายไป แต่ถ้าเราตระหนักและให้ความสำคัญกับเรือมากขึ้น คงจะได้เห็นภาพการสัญจรโดยใช้เรือเพิ่มขึ้น แต่ด้วยสภาพแวดล้อมไม่เหมือนแต่ก่อน ทั้งน้ำเสีย ไม่สะอาด จริงๆแล้วเราควรจะให้ความสำคัญกับคูคลองเสียก่อน ใจจริงผมก็อยากให้มันอยู่นานที่สุด อยากให้เป็นแบบสมัยก่อน ที่จะเห็นภาพพระบิณฑบาตทางเรือ สมัยนี้พระนั่งมอเตอร์ไซค์แล้ว บ้านที่เคยหันหน้าหาคลอง เปลี่ยนไปหันหน้าเข้าถนน (หัวเราะ) ที่ผมมาสอนการต่อเรือ ผมก็แค่ปรารถนาให้คนรุ่นใหม่สนใจกับเรือแหล่งน้ำมากขึ้น ขอเพียงหนึ่งในร้อยคนก็พอใจแล้ว ชีวิตไม่ต้องเอาร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]