พิพิธบางลำพู เดินมิวเซียมในอดีตโรงพิมพ์คุรุสภา ทะลุสู่ชุมชนบางลำพูกับมัคคุเทศก์น้อยที่ทำให้การเรียนรู้ท้องถิ่นมีชีวิตชีวา

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 10 มีนาคม 64 / อ่าน : 1,822


ภาคกลาง : โครงการพัฒนาต้นแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นในย่านบางลำพู กรุงเทพฯ มีกิจกรรมสืบเนื่องงานบูรณาการของเด็กไกด์บางลำพู โดยให้ความร่วมมือ เผยแพร่งานกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ผ่านนิตยสาร readthecloud The Magazine on Cloud aboutLocal • Creative Culture • Better Living ณ พิพิธบางลำพู  



/////////  *******  /////////



พิพิธบางลำพู เดินมิวเซียมในอดีตโรงพิมพ์คุรุสภา 

ทะลุสู่ชุมชนบางลำพูกับมัคคุเทศก์น้อยที่ทำให้การเรียนรู้ท้องถิ่นมีชีวิตชีวา

เรื่อง Museum Mindsภาพ ณัฐนิช ชนะฤทธิชัย

 

 

เดินมิวเซียมทะลุชุมชน 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของเมืองไทยในปัจจุบันมีมากกว่า 500 แห่งด้วยกัน แต่มีเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ยังคงเติบโตและทำงานร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่องและมีชีวิตชีวา เมื่อเราทราบข่าวว่า ‘พิพิธบางลำพู’ คือหนึ่งในนั้น เราจึงอยากชวนท่านผู้อ่านไปลงพื้นที่กับเรา 

บทความนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเราจะเดินตามภัณฑารักษ์ ผู้นำชมเรื่องราวประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์ กับส่วนที่ 2 ที่เราจะเดินตามไกด์เด็กจากชมรมเกสรลำพู ออกนอกกำแพงเข้าไปในชุมชนของพวกเขาจริงๆ

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านจะเห็นความสัมพันธ์ที่ส่งเสริมกันระหว่างทั้งสองส่วน อีกทั้งอาจจะได้พบคำตอบที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด ว่ากระบวนการแบบไหนที่เชื่อมโยงการทำงานของพิพิธภัณฑ์กับวิถีชีวิตชุมชนแห่งนี้ให้เป็นทองแผ่นเดียวกันได้อย่างงดงาม

Part 1 : การยืนต้นของลำพูร้อยปีในมิวเซียม 

เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กๆ ลอยมากับลมเอื่อยยามเช้า สร้างรอยยิ้มให้กับเราตั้งแต่ก้าวแรกที่ย่าง ผ่านกำแพงสู่พื้นที่ริมคลองบางลำพูบนถนนพระอาทิตย์ วันนี้ ลลิตา อัศวสกุลฤชา ภัณฑารักษ์ชำนาญการของพิพิธบางลำพู มารอต้อนรับเราด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ พลางอาสานำชมนิทรรศการด้วยตนเอง เธอบอกว่าบางครั้งเหล่าเด็กๆ ก็จะพาผู้เข้าชมเดินในตึกด้วย แต่กลุ่มวันนี้ขอรออยู่ข้างนอก “กลุ่มที่มาเป็นรุ่นล่าสุดของชมรมค่ะ เลยขอเวลาเตี๊ยมกันนาทีสุดท้ายเพิ่มเติมหน่อย” 

 

 

ว่าแล้วก็ได้ฤกษ์ถอดรองเท้า เดินเข้าไปเริ่มกันใน ‘ตึกปูน’ เดิมทีตึกนี้เคยเป็นโรงพิมพ์คุรุสภา (โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช) เป็นที่ฝึกสอนช่างพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทย เมื่อหมดสัญญาแล้วเคยมีแนวคิดรื้อถอน เพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะต่อจากสวนสันติชัยปราการ แต่แล้วชาวบ้านจากบริเวณโดยรอบรู้สึกว่าไม่ควรรื้อตัวอาคารที่พวกเขารู้สึกผูกพันมานาน นำมาซึ่งการปรึกษาหารือกับเจ้าของที่คือกรมธนารักษ์ และได้จุดร่วมว่าควรแปลงพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ให้ได้ทั้งอนุรักษ์ตึก ได้ทั้งความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน และเผยแพร่พันธกิจของกรมธนารักษ์ด้วยไปในตัว

คุณลลิตาชี้ให้เราดูบรรดารูปถ่ายและแบบแปลนของอาคารนี้ที่ติดหราอยู่บนผนัง แสดงให้เห็นว่าพื้นที่นี้ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก จากงานออกแบบแรกเริ่มของ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) ควบคุมการก่อสร้างโดย หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) ในช่วงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของไทยหรือยุค พ.ศ. 2475

 

 

 “มองจากด้านนอกคงเดิมเป๊ะ แต่ด้านในถูกถอดรูปให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ในส่วนของตึกปูนจัดแสดงพันธกิจหน้าที่ของกรมธนารักษ์ทั้งสี่ด้าน คือ หนึ่ง การผลิตและบริหารเหรียญกษาปณ์ สอง การดูแลรักษาและจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สาม การประเมินราคาทรัยพ์สิน และสี่ การบริหารที่ราชพัสดุ” 

ภัณฑารักษ์ของเราเล่าต่อว่า เดิมทีด้านหลังตึกปูนมีเรือนไม้ 2 หลัง แต่หลังหนึ่งถูกรื้อถอนไปเพื่อเปิดเป็นทางเข้า ส่วนอีกหลังได้รับบูรณะซ่อมแซมเพื่อทำเป็นส่วนจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยชุมชนบางลำพู ด้านในเรือนไม้นั้นเป็นส่วนนิทรรศการที่เล่าถึงชุมชนบางลำพู 

“เดี๋ยวเราเดินต่อไปที่เรือนไม้กัน จะเห็นว่าโครงสร้างนั้น ยังคงคานแบบโบราณไว้ แถมตัวชุดเหล็กยังเป็นเหล็กชุดเดียวกับที่สร้างสะพานพุทธด้วยนะคะ”

 

 

ตัวตึกไม้ให้บรรยากาศคลาสสิกโบราณ แต่ขอบอกเลยว่านิทรรศการนั้นเจ๋งไม่แพ้ใคร เริ่มจากวีดิทัศน์ในห้องแรกที่เชื้อชวนให้ผู้ชมไปตามหา ‘ขุมทรัพย์ บางลำพู’ กันด้านใน

“ขอบเขตของย่านบางลำพูนั้น เรานับจากฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา อีกฝั่งคือถนนวิสุทธิกษัตย์กั้น (สะพานพระราม 8) สุดมาถึงถนนเจ้าฟ้าและถนนราชดำเนินนอก ประกบกันเป็นพื้นที่ที่เราศึกษา ซึ่งในย่านนี้มีชุมชนย่อยลงไปอีกมากมาย ที่โดดเด่นชัดเจนก็มีเจ็ดชุมชน ได้แก่ ชุมชนวัดสังเวชวิศยาราม ชุมชนตรอกเขียนนิวสาน์-ตรอกไก่แจ้ ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ ชุมชนวัดสามพระยา ชุมชนวัดใหม่อมตรส ชุมชนบ้านพานถม และชุมชนบวรรังษี แต่ละที่เอกลักษณ์แตกต่างกัน ทั้งเรื่องศาสนาและภูมิปัญญา” ภัณฑารักษ์กล่าว

นิทรรศการในตึกไม้เริ่มจากการจำลองบรรยากาศคลองและต้นลำพู ซึ่งเป็นจุดเด่นของบริเวณนี้ อยู่คู่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่ตอนสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และด้วยความใกล้วัง บางลำพูจึงมีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมมาโดยตลอด ต่อมาถึงยุคที่เรียกได้ว่าเป็น ‘พระนครเซ็นเตอร์’ มีรถรางสีเหลืองคันใหญ่ เป็นตัวแทนทางรถที่เคยผ่านบางลำพูถึง 3 สายจาก 10 กว่าสาย แสดงถึงร้านรวงและมหรสพหลากหลายนำสมัย เยื้องกันมีโรงลิเกจำลองให้เราได้สวมชุดแบบเสมือนจริงด้วย 

 

 

“โรงลิเกหอมหวน เป็นลิเกลูกบทที่มีการแต่งตัวเป็นเอกลักษณ์ เป็นต้นแบบของคณะลิเกในปัจจุบัน เมื่อก่อนตั้งติดกับที่ตรงนี้เลยค่ะ ตอนนี้เป็นปั๊มน้ำมันไปแล้ว” คุณลลิตาเล่า “ส่วนอีกร้านที่ภูมิใจสำเสนอมากคือ ห้าง ต. เง็กชวน ผู้ผลิตแผ่นเสียงตรากระต่าย เมื่อก่อนเขาเป็นคนทำโรงหนังมาก่อน ดังนั้นพอมาทำแผ่นเสียงเขาจะออกแบบภาพปกของแผ่นได้สวยงาม และเป็นเจ้าที่ทำแผ่นเพลงท้องถิ่น เพลงพื้นเมืองด้วย”

คุณลลิตาแอบกระซิบว่า ในทัวร์ข้างนอกเราจะได้แวะไปร้าน ต. เง็กชวน ด้วย ซึ่งถึงเขาจะเลิกทำแผ่นเสียงไปแล้ว แต่เขาก็ยังทำสินค้าที่มีลักษณะเป็นแผ่นๆ อยู่นะ ให้รอดูว่าเป็นสินค้าอะไร

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนออีกหลายร้านรวงของชุมชน อาทิ ร้านกาแฟโบราณที่มีการทำที่พักพ่วงด้านบน (เรียกว่าเป็นจุดเริ่มของธุรกิจโฮสเทลก็ได้) แบรนด์เสื้อนพรัตน์ ร้านแรกๆ ที่ทำชุดนักเรียนสำเร็จรูป ห้างตั้งฮั่วเส็ง ชื่อดังเรื่องผลิตภัณฑ์เย็บปักถักร้อย และร้านรองเท้าแก้วฟ้า เจ้าของเดียวกับห้างนิวเวิลด์

 

 

“เจ้าของเขาเริ่มจากแบรนด์รองเท้ายี่ห้อ Big Buffalo นี่แหละค่ะ แล้วก็บริจาครองเท้าจากสต็อกเก่าของเขามาให้เราจัดแสดงด้วยนะคะ ให้ทายว่าอันไหน” ปริศนานี้ทำให้เราพินิจพิเคราะห์เหล่ารองเท้าในตู้กันนานพอสมควร (ขออนุญาตไม่เฉลยในที่นี้ เกรงว่าเมื่อตามไปดูแล้วจะหมดสนุก) 

ถัดจากร้านรวงยังมีการจัดแสดงวิธีชีวิตและสินค้าในครัวเรือนที่สืบทอดกันมาของแต่ละชุมชน ข้าวต้มน้ำวุ้นที่พัฒนาจากขนมบ๊ะจ่างทรงสามเหลี่ยมของชาวจีน เป็นของหวานจากชุมชนวัดสามพระยา มีการจัดแสดงโต๊ะเครื่องมือการปักโขน อีกทั้งโต๊ะเครื่องช่างทองหลวงในตรอกสุเหร่าชุมชนมัสยิดจักรพงษ์

“เจ้าของคือ ป้าเล็ก ลอประยูร ซึ่งตอนนี้แกเลิกทำแล้ว ช่างที่สืบต่อมาก็ไม่ใช่เครื่องมือแบบนี้ พอเราไปคุยเขาเลยก็ยกให้ทั้งโต๊ะมาจัดแสดง” 

เรื่องเล่าของภัณฑารักษ์ชวนให้เราสงสัยว่า ทำไมชุมชนถึงไว้ใจทีมมิวเซียมถึงขนาดนั้น “ชุมชนย่านนี้เข้มแข็งมากๆ แต่ไหนแต่ไร เขาเป็นผู้ขับเคลื่อนก่อนเรามาเสียอีก

“ในการประสานกับชุมชนเรามี Keyman หรือผู้ประสานงานหลักในแต่ละชุมชน ซึ่งต้องทำให้เขาเข้าใจก่อนว่าเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการอนุรักษ์สิ่งสำคัญในชุมชนของเขา ซึ่งไม่ง่ายนะคะ แต่เราก็เน้นความสม่ำเสมอ ไปเรื่อยๆ ไปบ่อยๆ และไม่ได้ไปเอาอย่างเดียว เวลาเขามีงานอะไร เช่น งานประจำปี งานเทศกาล เราก็ไปร่วมด้วย ช่วงพักเที่ยงพวกเราก็ไปเดินข้ามไปกินข้าวในชุมชน หรืออย่างข้าวตังที่เขาทำกันตอนตีสี่ตีห้า เราก็ตื่นเช้าตรู่ไปช่วยเขาทำด้วย ถ้าเรามาแปดโมงครึ่งตามเวลาราชการ เขาก็เอาไปขายหมดแล้ว” 

 

ภัณฑารักษ์ของเราเล่าอย่างภูมิใจ “ทีมพิพิธภัณฑ์นั้นมีการทำโครงการสำรวจชุมชนเพิ่มเติมต่อเนื่อง เรื่อยๆ เราพบเนื้อหาที่เพิ่มเติมจากนิทรรศการมากกว่าเจ็ดชุมชนที่นำเสนอ เช่น ชุมชนมัสยิดตึกดิน ที่แยกตัวออกมาจากชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ เป็นต้น หรือเกร็ดเรื่องขนมอย่างข้าวตังและโบ๊กเกี้ยะ ที่สุดท้ายเรามานำเสนอในอีเวนต์ ในนิทรรศการหมุนเวียน รวมถึงสื่อโซเซียลด้วย” 

ไฮไลต์สุดท้ายของตัวนิทรรศการคือต้นลำพูจำลอง ที่มีง่ามหนึ่งมาจากเศษเสี้ยวของต้นจริง ล้อมรอบด้วยแรงระยิบของหิ่งห้อย

“เป็นต้นลำพูร้อยปีที่ยืนต้นตายตอนมีน้ำท่วมใน พ.ศ. 2554 ค่ะ” คุณลลิตาเล่าให้ฟังว่าต้นลำพูเป็นพืชที่รากอากาศ น้ำมากไปก็ไม่ได้ แห้งไปก็ไม่ดี ชุมชนใจหายมาก เพราะพวกเขาคุ้นเคยกับมันมาหลายชั่วอายุคน ทางพิพิธภัณฑ์จึงเลือกกิ่งหนึ่งจากต้นมาประกอบเข้ากับวัสดุจำลอง เพื่อคืนชีพให้มันอีกครั้ง 

 

 

ก่อนลงจากอาคาร เรายังได้มีโอกาสไหว้ ‘พระพุทธบางลำพู ประชานาถ’ พระพุทธรูปซึ่งชาวชุมชนบางลำพูได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ด้วย

“ทุกๆ เดือนจะมีการทำบุญที่พิพิธภัณฑ์นำโดยชุมชน และในวันสงกรานต์ทุกปี ชาวชุมชนบางลำพูจะอัญเชิญพระพุทธรูปนี้ไปประดิษฐานในสวนสันติชัยปราการเพื่อให้คนในผู้คนได้สรงน้ำท่า…” ยังไม่ทันสิ้นคำของภัณฑารักษ์ เสียงเจี๊ยวจ้าวของเด็กๆ ดังขึ้นมากจากใต้ถุนเรือน น่าจะเป็นสัญญาว่าไกด์ของเราพร้อมแล้ว

Part 2 : การผลิบานของเหล่าเกสรลำพูในชุมชน

“สวัสดีค่ะ หนูชื่อ หนูนา อายุ 10 ขวบ มาจากชุมชนวัดสังเวชฯ ค่ะ”

“สวัสดีค่ะ หนูชื่อ ขนุน อายุ 10 ชวบ มาจากชุมชนวัดสังเวชฯ ค่ะ”

“สวัสดีครับ หนูชื่อ ทีม อายุ 11 ขวบ มาจากชุมชนวัดสังเวชฯ ค่ะ” 

“บอกเขาไปซิว่าชื่อ ทีมมี่” เด็กๆ หัวเราะกันคิกคัก ส่วนทีมมี่แค่กลอกตาใส่เพื่อนเบาๆ จนเมื่อแนะนำตัวกันครบทีมแล้ว เราจึงออกเดินจากมิวเซียมชิดซ้ายมือไปทางวัดสังเวชฯ ขณะที่ข้ามสะพานคลองรอบกรุง เด็กๆ ก็หยุดชี้ให้เราดูรูปศิลปะบนกำแพงริมคลอง พวกเขาบอกว่าในชุมชนของเขามีงานสตรีทอาร์ตวาดไว้เป็นจุดๆ

“เป็นโครงการของกรมธนารักษ์ร่วมกับศิลปินสตรีทอาร์ตหลายๆ ท่าน สร้างสรรค์ภาพที่เกี่ยวกับเอกลักษณ์ของชุมชน บางภาพเองชุมชนก็ร่วมวาดด้วย โดยพวกเขาจะเลือกกันเองว่าจะให้วาดตรงไหน และอยากสื่ออะไรเกี่ยวกับบ้านของเขา อย่างตรงจุดนี้ก็ทำงานกับโรงเรียนวัดสังเวชฯ เป็นรูปเรือยาวที่ครั้งหนึ่งเคยล่องแถวนี้” คุณลลิตาขยายความ 

 

 

“ตรงนั้นบ้านหนูค่ะ” ขนุนชี้ไปให้เราดูอีกฝากหนึ่งของสะพาน พวกเราเห็นแค่หลังคาผ้าใบสีแดงที่ซ่อนอยู่ในหลืบ แต่เธอดูภูมิใจนำเสนอเหลือเกิน “หนูเรียนโรงเรียนวัดสังเวชฯ ตรงนี้ค่ะ แล้วด้านหน้านี่เป็นคุณยายของหนูเองค่ะ ร้านลูกชิ้นคุณยายเป็นร้านประจำหน้าโรงเรียนค่ะ” น้องขนุนพาพวกเราเดินไปสวัสดีคุณยายของเธอพอเป็นพิธี แต่กลิ่นหอมของลูกชิ้นทอดก็ทำให้พวกเราอดใจไม่ไหว จัดไปกันคนละไม้สองไม้ ทั้งไกด์และลูกทัวร์

กลุ่มไกด์เด็กนี้ถือเป็นส่วนต่อยอดมาจาก ‘ประชาคมบางลำพู’ ที่คนเก่าแก่ในท้องถิ่นมารวมตัวกันเพื่อฟื้นฟู ยืนหยัด รักษาวิถีของชุมชนย่านนี้เอาไว้ พอมีการรวมกลุ่มกันของผู้ใหญ่ ก็มีทำให้มีการรวมกันของเด็กๆ ด้วย โดยพวกเขามีชื่อว่า ‘ชมรมเกสรลำพู’ ปัจจุบันดำเนินงานมากว่า 19 ปีแล้ว เด็กๆ บอกเราว่าการมาเป็นไกด์ทำให้พวกเขาได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และได้รู้เรื่องในย่านบางลำพูอย่างลึกถึงแก่นมากขึ้น 

“ตรงนี้เป็นกำแพงเมืองเก่าครับ เคยเป็นวังของกรมหลวงจักรเจษฎา” ไกด์ของเราเล่า “แล้วขนมเบื้อง ร้านแม่ประภาที่ติดกันข้างๆ นี่ก็อร่อยมากครับ” เมื่อเดินไปถึงหน้าร้านขนมเบื้องที่น้องบอก เราจึงไปจ๊ะเอ๋กับป้าย ต. เง๊กชวน ด้านบนร้าน ภัณฑารักษ์ของเราเลยหันมาเฉลย 

 

 

“นี่ไงคะ ที่บอกว่าร้าน ต. เง๊กชวน ยังทำสินค้าเป็นแผ่นๆ ขายอยู่ คือขนมเบื้องที่แหละค่ะ เขาถือเคล็ดว่าถ้าที่นี่ทำอะไรเป็นแผ่นจะขายดี ก็ขายดีจริงๆ นะ” นอกจากป้ายชื่อร้านเก่าแล้ว ยังมีครุฑตราตั้งที่เคยได้รับพระราชทานสมัยทำแผ่นเสียงตรากระต่ายติดไว้อยู่ด้วย “ถือเป็นร้านขนมเบื้องร้านเดียวในประเทศที่มีครุฑตราตั้งนะคะ” คุณลลิตาหัวเราะ

 

 

 

ถัดไปไม่ไกลเราแวะเข้าไปถ่ายรูปกับสตรีทอาร์ตอีกผลงานในซอย ทีมไกด์เด็กของเราไม่รอรี วิ่งเข้าไปโพสต์ท่าให้ถ่ายรูปทันที “อันนี้เป็นรูปช่างปักชุดโขนค่ะ ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่าโต๊ะของเขามีขาไม่ครบ เพราะคนวาดจะสื่อว่าเป็นอาชีพที่ค่อยๆ หายไป ส่วนติดกันนี้เป็นรูปไก่ค่ะ ตรอกนี้ชื่อไก่แจ้ค่ะ” 




พอถามไปถามมาจึงเพิ่งรู้ว่า ที่ชื่อนี้ไม่ใช่เพราะแถวนี้เลี้ยงไก่ขายแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะในสมัยก่อนบริเวณปากตรอกแห่งนี้เป็นที่ตั้งของบ้านพระนิติธานภิเษก ผู้พิพากษาศาลฎีกาในสมัยรัชกาลที่ ๖ พอดีว่าบ้านสามชั้นของท่านมีเสาโลหะบอกทิศทางลมรูปไก่ ตามอย่างลักษณะบ้านเรือนฝรั่ง จึงทำให้ผู้คนในย่านนี้เรียกติดปากกันว่าบ้านไก่แจ้ และกลายมาเป็นชื่อ ตรอกไก่แจ้ “ตอนนี้ก็ยังมีไก่อยู่บนหลังคานะคะ”

พิกัดถัดมา คณะของเราลัดเลาะไปในที่ ‘มัสยิดจักรพงษ์’ ตั้งตระหงานอยู่ใจกลางชุมชนชาวมุสลิมที่มีบทบาทสำคัญในด้านช่างฝีมือทำทองมาตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นชุมชนมุสลิมแห่งแรกในเขตพระนคร 

 

 

“ปกติแล้วคณะทัวร์ที่มากับเกสรลำพูจะได้ขึ้นไปชมด้านบนของมัสยิดด้วยค่ะ แต่วันนี้มีละหมาดพอดี แล้วพี่ก็แต่งตัวไม่เรียบร้อยนะคะ” ไกด์ตัวเล็กหันมาบุ้ยใบ้เสื้อแขนกุดของเรา เราได้แต่หัวเราะและสัญญาว่าครั้งหน้าจะนัดแนะกันให้ดีกว่านี้ อย่างไรก็ตามเด็กๆ ก็พาไปชมและชิม (อีกแล้ว) อีกหนึ่งของดีของชุมชนมุสลิมตรงนี้ นั่นคือ ซาโมซ่า ขนมบาเยีย และสะเต๊ะไก่กลิ่มหอมเตะจมูก 

“ที่เราเดินทะลุมาเรียกว่าตรอกสะเต๊ะ หรือบางคนเรียกตรอกแขก เพราะที่นี่เดิมเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมุสลิมเชื้อสายยะวาหรือชวาที่อพยพมาจากอินโดนีเซีย มีฝีมือในการทำไก่สะเต๊ะรสดีไม่แพ้ที่ไหนเลยค่ะ” 

อีกกิจกรรมที่ขาดไม่ได้คือการสักการะ ‘ศาลเจ้าพ่อหนู’ ตรงเชิงสะพานนรรัตน์สถาน (บางลำพูฝั่งเหนือ) ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางวัฒนธรรมในบริเวณนี้ ด้วยความที่เจ้าของที่เป็นชาวมุสลิม อนุญาตให้สร้างศาลจีน แต่ประทับพระพุทธรูปโบราณเนื้อนวโลหะ ทีมไกด์ของเราเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ชาวบ้านเชิญพระพุทธรูปนี้มาประดิษฐาน มีคนเห็นเด็กชายตัวเล็กวิ่งเล่นอบู่บนหลังคาตลาดนานา ทำให้ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘เจ้าพ่อหนู’

“เมื่อตอนไฟไหม้ใหญ่ ตรงคลองฝั่งตรงกันข้ามกับศาล ว่ากันว่าคนเห็นเด็กชายตัวเล็กไปปัดเป่าไฟไม่ให้ลามมาถึงตลาด คนแถวนี้ก็เลยจะเอาพวกของเล่นเด็กมาถวายเป็นของแก้บนค่ะ” ไกด์ตัวจิ๋วของเราเล่าไปเสี่ยงเซียมซีไป “พอช่วงวันเด็กที่ศาลก็จะรวบรวมของเล่นไปแจกเด็กๆ ในชุมชนอีกทีค่ะ”

เราลงจากศาลมานั่งกินร้านขนมโบ๊กเกี้ยะริมคลอง ถือโอกาสนี้เลี้ยงเหล่าไกด์ตัวจิ๋วของเราด้วยเลย บางคนเลือกเฉาก๊วย บ้างเลือกถั่วแดง แปะก๊วย บ้างเลือกเส้นเลียงหุ้งสีเหลืองสด ส่วนเราไปสะดุดตากับ ข้าวต้มน้ำวุ้นสามเหลี่ยม “อย่างเดียวกับที่เห็นในมิวเซียมแหละคะ” คุณลลิตาเหมือนจะอ่านใจเราออก แน่นอนว่าเรารีบสั่งสิ่งนี้ไม่รีรอ พอได้ลิ้มลองความหอมมันเข้ากับน้ำแข็งเย็นๆ จึงถึงบางอ้อว่าทำไมคนในชุมชนถึงติดใจสิ่งนี้กันมากมาย 

 

 

“เวลาคนมาชมพิพิธภัณฑ์แล้วสนใจจะเดินไปต่อ เราก็จะให้เขาติดต่อทางเพจ ‘เสน่ห์บางลำพู’ หรือประสานให้กับชมรมเกสรลำพูเลยโดยตรง มันเป็นการต่อยอดที่ไปด้วยกัน ของที่ระลึกที่เด็กๆ ทำและออกแบบก็มาวางขายในพิพิธภัณฑ์ มีงานอีเวนต์อะไร พวกเราก็จะเชิญคนในชุมชนมาออกบูทบ้าง สร้างมูลค่าให้สินค้าของเขา เด็กๆ ก็มาใช้พื้นที่ในพิพิธภัณฑ์วิ่งเล่นอยู่ตลอด

“ถ้าชุมชนจะใช้ห้องประชุมเราก็ไม่คิดเงิน มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน จากเรื่องใหญ่ๆ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ อย่างน้ำแข็งที่เอามาใช้ในอีเวนต์ของพิพิธภัณฑ์ ชุมชนก็เอามาให้” คุณลลิตาปิดท้ายด้วยความภูมิใจ 

พอพูดถึงน้ำแข็งก็นึกขึ้นได้ว่า แม่ของไกด์ทีมมี่ทำงานอยู่โรงงานน้ำแข็งด้วย แต่พอจะเรียกไกด์ทีมมี่มาขยายความ ปรากฏว่าเด็กทั้งแก๊งวิ่งไปออกันอยู่ที่คนขายน้ำตาลปั้นเสียแล้ว 

“พี่ทำเป็นรูปเจ้าหญิง Frozen ได้ไหมคะ” เสียงไกด์ทีมมี่ดังฟังชัด “หรือรูปเมอร์เมดก็ได้ หนูอยากได้รูปเมอร์เมด”

 

 

 

พิพิธบางลำพู อยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์ 

วันอังคาร-วันศุกร์ เปิดตามเวลาราชการ 08.30 – 16.30 น. รอบรับชมสุดท้ายเวลา 15.00 น.

วันเสาร์-อาทิตย์ เปิดเวลา 10.00 – 18.00 น. รอบรับชมสุดท้ายเวลา 16.00 น

ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่คนละ 30 บาท, เด็กอายุ 10-18 ปี คนละ 10 บาท 

สนใจ Walking Tour ในชุมชนโดยไกด์เด็กบางลำพู ติดต่อได้ที่ Facebook : เสน่ห์บางลำพู

อบคุณข้อมูลจาก :  เดินเที่ยวบางลำพูในอดีต เพื่อรักษาอนาคตชุมชนไปกับไกด์ตัวน้อยที่ 'พิพิธบางลำพู' - The Cloud (readthecloud.co) 

 

 

 


 

 

 

 





ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]