“หนังประโมทัย” หรือ “หนังบักตื้ออีสาน” เป็นการแสดงพื้นบ้านอีสานที่ผ่านยุคสมัย และส่งต่อมาสู่สังคมอีสาน – โลกาภิวัฒน์ในวันนี้... และยังคงทำหน้าที่สืบทอดคุณค่าเชิงศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีการดำรงชีวิต อุดมคติ ความเชื่อ ปรัชญา ทางพุทธศาสนา และคุณธรรม จริยธรรม ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น... ที่สำคัญวันนี้ “หนังประโมทัยพื้นบ้านอีสาน” ถือได้ว่าเป็น “หัวใจ” ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชนได้อย่างแท้จริง ทั้ง “การไหว้ครู” “การตั้งจอหนัง” “การตัดตัวหนังหรือตัวหุ่น” “การลำกลอนและขับผญา” ฯลฯ รวมไปจนถึง “การเล่นเครื่องดนตรีอีสาน” ประกอบการแสดง ทุกอย่างล้วนยังคงกลิ่นไอวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้อย่างทรงคุณค่าและหาดูได้ยาก
และเพื่อเป็นการสืบสานสืบทอด กลุ่มละคร “คนหน้าดำ” นำโดยนายเจริญพงศ์ ชูเลิศ กลุ่มคนที่ทำงานภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้พื้นฟูและหยิบเอาวรรณกรรมพื้นบ้านสืบสานภายใต้โครงการหนังประโมทัยพื้นบ้าน สานสร้างชุมชน เป็นการนำพาเยาวชนและชุมชนให้กลับไปสู่ความมีชีวิตแบบคนอีสาน รู้สึกอิ่ม/ภาคภูมิใจในรากเหง้าของตน และสามารถดำรงตนอยู่ได้ภายใต้กระแสความเป็นเมืองที่คืบคลานเข้าไปหาอย่างไร้ทางสกัด ...จึงก่อเกิดเป็น คณะหนังประโมทัย “เพชรอีสาน” ขึ้น โดยเรื่องราวของ “สินไซ” ตัวเอกในวรรณกรรมพื้นถิ่นเรื่อง “สินไซ” หรือ “สังข์ศิลป์ชัย” เป็นวรรณกรรมเรื่องแรกที่ถูกนำมาแสดง
นายเจริญพงศ์ ชูเลิศ เล่าว่า สินไซ เป็นวรรณกรรมที่นักปราชญ์ได้นำเอาแก่นธรรมะคืออภิธรรมขั้นสูง คือแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานไปสู่การตัดกิเลสจนพบอริยสัจสี่อันเป็นโลกุตรธรรม ซ่อนไว้ใจกลางเรื่อง จากนั้นจึงล้อมไว้ด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม คำสอนแก่ทั้งผู้นำและประชาชนทั่วไป แล้วเคลือบชั้นนอกไว้ด้วยความสนุกผจญภัย รัก-โลภ-โกรธ-หลง-ชิงรักหักสวาท มีเล่ห์เหลี่ยมชิงไหวชิงพริบ ผสมกลมกลืนได้อย่างลงตัว จึงทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับการตอบรับจากสังคมในยุคสมัย จนกระทั่งยอมรับนำเอาแนวปฏิบัติบางประการมาเป็นขนบธรรมเนียมของตน และเพื่อให้เผยแพร่ให้แก่ประชาชนทั่วไปที่แม้จะไม่ได้เรียนหนังสือให้สามารถรับรู้เรื่องราวได้ จึงได้แปรรูปวรรณกรรมออกมาด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การร้องหมอลำ เทศน์แหล่ หนังประโมทัย (หนังตะลุงอีสาน) ภาพจิตรกรรม และอื่นๆ โดยเฉพาะการทำเป็นฮูบแต้ม(ภาพจิตรกรรมฝาผนัง) ที่เจตนาแต้มไว้ภายนอกสิม (โบสถ์) ยิ่งแสดงถึงเจตนาของความศรัทธาที่อยากจะให้ผู้เลื่อมใสศรัทธา โดยเฉพาะสตรีที่เข้าไปภายในสิมไม่ได้ และส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือจะได้เข้าใจเรื่องราวผ่านทัศนศิลป์เหล่านั้น
“ตัวหนังประโมทัยในวรรณกรรมพื้นบ้าน เรื่อง “สินไซ” นั้นประกอบไปด้วยตัวแสดงดังนี้ ฤาษี, สินไซ (สังข์ศิลป์ชัย) หรือท้าวสินไซ, สังขาระกุมาร หรือ สังข์ทอง หรือท้าวสังข์ทอง, สีโห ท้าวสีโห หรือ สีหราช, พระยากุศราช, นางสุมณฑา, นางจันทา,นางลุน, ยักษ์กุมภัณฑ์, ยักษ์เวสสุวัณ,ยักษ์กันดาร,ยักษ์คินี, หมอโหร หรือ หมอดู, บักห้า, บักหก, เสนาอำมาตย์ของยักษ์กุมภัณฑ์, หมอตำแย, ตัวตลก, จารย์ป่องหัวโต, บักสีดังแหมบ หรือ บักแอว ด้วยเสน่ห์ของตัวละครทั้งหมด และดนตรีประกอบที่เป็นทำนองอีสานแท้ๆ ทำให้เมื่อได้แสดงสามารถสะกดนดูให้นั่งดูไม่ยอมลุกไปไหนได้ตั้งแต่ต้นจนจบการแสดงเลย” นายเจริญพงศ์ ชูเลิศ เล่า
วันนี้ “สินไซ” ไม่เพียงแต่จะถ่ายทอดให้เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นรวมทั้ง แกนนำแถวสองสามารถช่วยกันสร้างสรรค์ สืบสานหนังประโมทัยหรือหนังบักตื้ออีสานให้คงอยู่ มีลมหายใจต่อไปในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังก่อเกิดพื้นที่สร้างสรรค์ ในด้านสื่อศิลปวัฒนธรรมที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งในโรงเรียน บ้าน ชุมชน รวมทั้งเกิดศูนย์เรียนรู้ในวัด ด้านคุณธรรม จริยธรรมที่สอดแทรกเรื่องราวผ่านหนังประโมทัยหนังบักตื้ออีสาน ที่สำคัญนี่เป็นเสมือนการร่วมสร้างสรรค์สื่อศิลปวัฒนธรรมให้เห็นเป็นรูปธรรมของคนในชุมชนทุกระดับทุกองค์กร ทุกคนเห็นคุณค่าของตนเอง สามารถร่วมคิดร่วมทำร่วมสร้างได้ในบริบทของตนเอง นำไปสู่ความภาคภูมิใจ และสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน พัฒนาชุมชนและสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชนผ่าน หนังประโมทัย อีกด้วย
วันนี้สื่อศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านได้ทำให้ชุมชนที่ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เกิดความเข็มแข็งสามารถของดีที่มีในชุมชนให้คงอยู่ได้ ชุมชนอื่นๆ ก็ทำได้เพียง “เริ่มทำ” เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ตัวก่อน... แล้วการเปลี่ยนแปลงจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ไม่แน่ชุมชนที่คุณอยู่จะมีของดีที่เป็นหน้าเป็นตาสร้างชุมชนให้เข้มแข็งได้เช่นเดียวกับที่นี่... ลองทำดู!!
ติดตาม วรรณกรรมพื้นบ้านเรื่อง “สินไซ” แบบเต็มๆ ได้ที่ www.artculture4health.com
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]