ความพยายามในการจัดการ “ชุมชนไร้ขยะ” ด้วยพลังของคนในชุมชนที่ชาวบ้านสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ภายใต้โครงการสปาร์คยู “ปลุกใจไทสาวะถี สู่วิถีสะอาด” โดยได้รับการประสานจัดการโดย เครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำมาตลอดระยะเวลา 3 ปี
ปีแรกเริ่มต้นด้วยการสอบถามปัญหา “ปัญหาของชุมชนคืออะไร ?” ทุกความเห็นพุ่งเป้าไปที่ปัญหาขยะ ไม่ได้มองเรื่องปากท้อง เพราะคงคิดว่าปากท้องเป็นภาระของแต่ละคน แต่หากมองปัญหาร่วมที่จะช่วยกันแก้ไข พวกเขาเลือกปัญหาขยะ
เมื่อมีเป้าหมายร่วมกันแล้ว ปีที่ 2 เริ่มจัดกระบวนการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งที่บ้าน ชุมชน โรงเรียน จากขยะที่เคยมีอยู่ในพื้นที่วันละ 7 ตัน พ้นปีที่ 2 ในการดำเนินการขยะลดลงเหลือ 4 ตัน พร้อมกับเทศบาลตำบลสาวะถีมีเป้าหมายปิดบ่อฝังกลบขยะของเทศบาลทั้งหมด และร่วมรณรงค์ในโครงการด้วยกันหลายกิจกรรม โดยเฉพาะกองทุนฌาปนกิจ ใครมีขยะมาขายจะเก็บเงินเข้าบัญชี เวลาเสียชีวิตก็จะมีเงินช่วยเหลือ ทำให้บ้านสาวะถีแทบทุกหลังคาเรือนไม่มีขยะ
เมื่อบ้านจัดการปัญหาขยะได้ ชุมชนก็ไม่มีขยะ ส่วนในโรงเรียนพบว่าปัญหาขยะมีเยอะ เพราะเด็กยังไม่คิดว่า “ขยะเป็นภาระของตัวเอง” “ขยะคือสิ่งไม่มีค่า” แต่พอสร้างความตระหนัก ให้ความรู้และปล่อยให้เขาคิดและทำ ทำให้เขารู้ปัญหาขยะและร่วมกันวางแผนแก้ไข ผ่านโครงงาน คลิปวีดีโอรณรงค์ และนำไปสู่ “โรงเรียนปลอดขยะ”
ในขณะที่พื้นที่สร้างสรรค์อย่างวัด โดยเฉพาะวัดไชยศรี พระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดคือต้นแบบจัดการปัญหาขยะของวัด หากใครได้เข้าไปในวัดแห่งนี้จะเห็นว่าร่มรื่น สวยงาม เพราะท่านเอาแนวคิดที่ว่า “วัดคือพื้นที่สร้างสรรค์ ปลอดภัย ทุกเพศทุกวัยต้องมาใช้ประโยชน์จากวัดได้ และที่สำคัญเด็กเล็ก ๆ จะต้องสามารถเดินในวัดโดยไม่ต้องใส่รองเท้า”
แต่การจัดการปัญหาก็ยังไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้ชุมชนปลอดขยะ เพราะขยะยังมีอยู่ และเมื่อมาร่วมคิด ร่วมแก้ไข ก็พบว่าปัญหา “ขยะมาจากตลาด” จะทำอย่างไรให้ตลาดไม่มีขยะ จึงได้เกิด “ตลาดนัดสาวะถีของดีบ้านเฮา”เกิดขึ้นและนำมาสู่กิจกรรม “นุ่งสิ่น ถือตะกร้ามาตลาด” โดยเน้นตลาดปลอดขยะพลาสติกและโฟม เน้นให้ชุมชนนำสินค้าพื้นบ้านมาจำหน่าย ในตลาดจะต้องมีอาหารที่เป็นอาหารพื้นถิ่นเพื่อให้คนที่มาเยือนได้ลิ้มลองอาหารอร่อย ปลอดภัยและหาได้เฉพาะที่นี่
โดยมีปัจจัยความสำเร็จที่ซ่อนอยู่คือ การสร้างรายได้ การส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นถิ่น ชวนเด็กเยาวชนให้ได้มานุ่งสิ่น นุ่งโสร่ง และถือตะกร้ามาเดินซื้อสินค้า แต่ละครั้งมีเด็ก ๆ แต่งตัวมาถ่ายรูป มาเซลฟี่กันอย่างสวยงาม พ่อค้าแม่ค้ามือสมัครเล่นก็เตรียมปลูกพืชผักเอามาขาย มาแลกเปลี่ยนกัน เมื่อมีเอกลักษณ์ เมื่อสร้างอัตลักษณ์ร่วมทำให้ตลดดสาวะถีกลายเป็นที่ท่องเที่ยวใหม่ของชุมชน “ไปตลาดเหมือนไปเที่ยว”