ปลุก เปลี่ยน ปลูก ปลอดสารเพื่อชุมชน สปาร์คยูอีสาน ร้อยเอ็ด

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 16 กุมภาพันธ์ 64 / อ่าน : 1,266


 

ปลุก เปลี่ยน ปลูก ปลอดสารเพื่อชุมชน #สปาร์คยูอีสาน @ร้อยเอ็ด

มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดคนนับร้อยนับพัน ให้หันมาปลูกผักปลอดสารพิษลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมอย่างจริงจัง ในยุคที่เกษตรกรถูกปลูกฝังให้ใช้สารเคมี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับโครงการปลุกใจไทกุลา สปาร์คลั่นทุ่ง ที่เปลี่ยนแปลงพื้นที่การดำเนินงานอย่างชุมชนบ้านสำราญ ต.หนองแคน อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ให้เป็นชุมชนที่ปลอดสารเคมี โดยส่งเสริมให้คนในชุมชนหันมาปลูกผักปลอดสารพิษในแปลงผักสาธิต ที่ทางโครงการจัดสรรขึ้นมา ที่ศูนย์เรียนรู้เฉลิมพระเกียรติตำบลหนองแคน ( หนองก่าม ) โดยสมาชิกแต่ละท่าน จะได้แปลงปลูกผักขนาด 2 เมตร ซึ่งจะปลูกอะไรก็ได้ตามต้องการแต่ต้องปลอดสารพิษ 100 % และมีการติดมิเตอร์เพื่อเก็บค่าไฟในการใช้น้ำเอาไว้ทุกแปลง ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการกว่า 40 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านที่ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์และหารายได้เสริมในวัยเกษียณ

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่เราได้มาเยี่ยมชมศูนย์เฉลิมพระเกียรติตำบลหนองแคนแห่งนี้ ภาพที่เราเห็นหลังจากเดินลงรถมาคือ หุ่นฟางยักษ์ปีศาจยาฆ่าแมลง ที่ตั้งเด่นอยู่ท่ามกลางแปลงผักที่เขียวขจี สวยงามสบายตา และมีเหล่าคุณย่าคุณตาคุณยาย ที่กำลังนั่งดายหญ้า และรดน้ำผักอยู่ในสวนตัวเองอย่างมุ่งมั่น ภายในหนึ่งแปลงผักนั้นมีการปลูกผักหลากหลายชนิด มีผักคะน้า ต้นหอม ผักชี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักสลัด มะเขือเทศ กวางตุ้งและผักมากมายนานาชนิด เรียงรายผสมผสานกันไป

ในขณะที่เรากำลังเดินชมสวนอยู่นั้น เราก็ได้ทักทายกับคุณแม่ท่านหนึ่งที่กำลังรดน้ำผักด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และซักไซ้สอบถามคุณแม่เกี่ยวกับเรื่องผักชนิดต่าง ๆ จนได้ทราบชื่อของเธอว่าชื่อ ‘คุณแม่ หนูพวล บุญศร’ คุณแม่ หนูพวล เล่าว่า ได้เข้าร่วมกิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษตั้งแต่จัดกิจกรรมช่วงแรก ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เธอรู้สึกว่ากิจกรรมนี้ดีและมีประโยชน์ทำให้รู้สึกกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับจากโครงการปลุกใจไทกุลา สปาร์คลั่นทุ่ง และมองว่าการได้ปลูกผักปลอดสารพิษกินเองไม่ต้องไปซื้อเขากิน ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องสารพิษและยาฆ่าแมลง อีกทั้งยังนำผักเหล่านี้ไปขายสร้างรายได้เสริมให้ตนเองอีกด้วย

เธอเล่าไปก่อนพลางเด็ดมะเขือเทศลูกสวยมาให้เราชม แล้วเราก็ถามคุณแม่ต่อว่าผักสวย ๆ แบบนี้ถ้าไม่ได้ใส่ยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยเคมีคุณแม่ใส่อะไรละ ทำไมมันถึงสวยได้ขนาดนี้ ?คุณแม่หนูพวลตอบกลับมาอย่างรวดเร็ว “ใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยขี้วัว” จากวัวที่เลี้ยงไว้ก็เก็บใส่กระสอบมาโรยใส่ผักเป็นประจำ นี้คือเคล็ดไม่ลับที่ทำให้ผักของแม่หนูพวลสวยงาม และเธอยังบอกกับเราอีกว่า เธอสอนลูกหลานตลอดว่าให้ปลูกผักกินเองไม่ต้องไปซื้อเขาเราปลูกไว้ที่บ้านเราก็เก็บกินได้สด ๆ เพราะผักนั้นมีประโยชน์ สังเกตได้จากคนในครอบครัวที่อุดมสมบูรณ์ขึ้น เธอพูดไปพรางหัวเราะ ก่อนเธอจะชี้ให้ดูหุ่นลูกสาวของเธอที่อุดมสมบูรณ์จากการเลี้ยงดูอย่างดีจากผักที่ปลูกเองกับมือ

ด้านหญิงชราผู้แสนร่าเริง คุณยายไหม บุญศร ได้บอกกับเราว่าคุณยายมาแปลงผักแห่งนี้ทุกเช้าทุกเย็นเพื่อมารดน้ำและดูแลผักของตนเองเป็นประจำ ทุกครั้งคุณยายจะมาพร้อมหลานน้อยที่มาคอยช่วยเหลือและเล่นสนุกกับเพื่อนตาประสาเด็ก เนื่องจากคุณย่าคุณยายแต่ละคนที่มาก็ต่างพาลูกหลานมาด้วยเสมอ จนกลายเป็นเหมือนจุดนัดพบของคนสองวัย เราถามต่อว่าเงินที่ได้จากการขายผักยายเอาไปทำอะไร ? “ก็พอได้เป็นค่าขนมค่านมให้หลานน้อยและพอได้เงินไว้ไปซื้อของเข้าวัดทำบุญ” คำตอบของหญิงชราที่เอ่ยออกมาเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ถือเป็นความสุขเล็ก ๆ ในวัยเกษียณของคุณยายจริง ๆ
หลังจากเราพูดคุยกับคุณแม่หนูพวลและคุณยายไหมเสร็จเราก็หันไปสนใจกับคุณตาคุณยายแปลงข้าง ๆ ที่กำลังร้องและเต้นรำอย่างสนุกสนานสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้คนที่มาเยี่ยมชมเป็นอย่างมาก ทำให้เรามองเห็นว่าคนเฒ่าคนแก่ของชุมชนแห่งนี้สุขภาพแข็งแรงเป็นเพราะกินผักปลอดสารพิษที่ถูกปลูกด้วยความรักและวิตามินจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของคุณยายเหล่านี้ทำให้ผักของที่นี่สวยงามและต้นใหญ่กว่าที่อื่น
เมื่อเห็นผักสวยงามน่ารับประทานก็ถึงเวลาที่เราจะหยิบตะกร้าลุยสวนเดินซื้อผักปลอดสารพิษของเหล่าคุณยายไปฝากคนที่บ้านแล้ว ผักในแต่ละแปลงสวย ๆ ทั้งนั้นและผักต้นใหญ่มากซึ่งผักเหล่านี้คุณยายเขาขายให้เราในราคาไม่แพงนักทั้งแจกทั้งแถม ในราคาเริ่มต้นที่ 10 บาทเท่านั้น ทำเอาเราต่างหิ้วผักกลับบ้านกันเต็มไม้เต็มมือเลยทีเดียว

นอกจากการปลูกผักปลอดสารพิษแล้ว โครงการสปาร์คลั่นทุ่งยังใช้สื่อศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างละครหุ่นหนังบักตื้อ สอนใจให้คนในชุมชนให้ลดละเลิกการใช้สารเคมีผ่านบทละครผีตาแฮกวัฒนธรรมและวิถีชีวิตโบราณบอกเล่าเรื่องราวโดยเด็ก ๆ ในชุมชนที่มาปลูกผักกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เพื่อให้เด็กเหล่านี้เป็นสื่อกลาง และยังมีประติมากรรมหุ่นฟางยักษ์ยาฆ่าแมลงที่ปักลูกศรสารเคมีลงบนดอกบัวแดงที่เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอปทุมรัตต์ หุ่นฟางปีศาจร้ายที่เป็นมีลักษณะเหมือนงู เนื่องจากเด็ก ๆ ร่วมกันตีความหมายจากสิ่งที่พวกเขากลัวคืองู จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประติมากรรมที่สื่อถึงปีศาจร้ายเป็นเหมือนสารเคมีที่คอยกัดกินอำเภอปทุมรัตต์ เพื่อหวังให้คนในชุมชนเปลี่ยนความคิดเปลี่ยนพฤติกรรมและตระหนักถึงปัญหาของการใช้สารเคมี

วันนี้เด็ก ๆ เยาวชนจากโครงการสปาร์คลั่นทุ่ง ปลุกใจไทกุลา ที่ปฎิบัติงานในพื้นที่ชุมชนบ้านสำราญอยากร่วมกันสื่อสารเรื่องราวพิษร้ายของการใช้สารเคมี ในการปลูกพืชและทำนาข้าวหอมมะลิออกไปให้คนในพื้นที่บ้านสำราญได้รู้และตระหนัก เพื่อปลุกให้ชาวทุ่งกุลาร้องไห้ลดการใช้สารเคมีและหันมาทำนาวิถีเดิมใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี หวังสร้างความมั่นคงทางอาหารและสามารถเป็นครัวของโลกได้ในอนาคต และในวันนี้ทำให้เรามองเห็นว่าเด็กเยาวชนจากโครงการสปาร์คลั่นทุ่งสามารถทำให้คนในชุมชนและผู้ที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนความคิดได้บ้างแล้ว

เรื่อง ธนรรถพร อุ่มเกตุ
ภาพ ทวีศักดิ์ กุสุมาลย์

 

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]