มาสปาร์คกันให้ลั่นทุ่งเพื่อทุ่งกุลาปลอดสารพิษ

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 24 พฤศจิกายน 63 / อ่าน : 1,546


มาสปาร์คกันให้ลั่นทุ่งเพื่อทุ่งกุลาปลอดสารพิษ
จะทำอย่างไรเมื่อทุ่งกุลาร้องไห้ที่เขาว่ากันว่ามีชื่อเสียงเรื่องข้าวหอมมะลิที่อร่อยที่สุด แต่กลับเป็นพื้นที่ที่ใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมมากที่สุดเช่นกัน ? เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ด้วยเหตุนี้กลุ่ม “สปาร์คลั่นทุ่ง ปลุกใจไทกุลา” ภายใต้แผนงานสื่อศิลปะวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. นำทีมโดย ครูสว่าง สุขแสง และ ครูเซียง ปรีชา การุณ ได้พาเด็ก ๆ ในชุมชนบ้านสำราญ – หนองบาก อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกันทำกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อรณรงค์ลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม โดยใช้หนังบักตื้อที่สื่อดั้งเดิมในท้องถิ่นมาเป็นช่องทางในการสื่อสาร ใช้การผสมผสานระหว่างเรื่องราวความเชื่อในอดีตที่สอดคล้องกับการทำนาอินทรีย์แบบดั้งเดิมอย่าง ‘ผีตาแฮก’ มาเล่าเรื่องราวผ่านการแสดงเพื่อให้คนในชุมชนและเด็ก ๆ ได้ตระหนักถึงปัญหาของการใช้สารเคมีเพื่อให้ชุมชนนี้มีชื่อเสียงในเรื่อง ‘ทุ่งกุลาปลอดสาร’
.
.
เหตุผลที่กลุ่มสปาร์คลั่นทุ่ง ปลุกใจไทกุลาใช้เรื่องผีตาแฮกในการรณรงค์เพราะ ครูเซียงและ ครูสว่างผู้ขับเคลื่อนโครงการมองเห็นว่าปัจจุบันคนใช้สารเคมีเพิ่มมากขึ้นและวัฒนธรรมการบูชาผีตาแฮกลดน้อยลง ในทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่ไม่มีใครรู้จักผีตาแฮก จึงหยิบยกเอาเรื่องราวของผีตาแฮกมาใช้เผยแพร่ในการแสดงผ่านบทกลอนลำเพื่อเป็นการฟื้นฟูวิถีเก่า
“ละครที่เราพูดเรื่องผีตาแฮกมันจะทำให้เด็กใช้ตัวนี้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องการใช้สารเคมี ในพื้นที่ เราต้องการให้คนในพื้นที่เข้าใจในการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเดิมทีผีตาแฮกยังคงอยู่ เพราะเขาทำเกษตรอินทรีย์ พอมาสมัยใหม่ทำเกษตรที่มีสารเคมีเยอะขึ้นผีตาแฮกเลยหนีไป พอผีตาแฮกหนีไปไม่มีใครปกปักรักษาทุ่งนา ในไร่นาก็ไม่มีกุ้งหอยปูปลา คนที่ลงไปในทุ่งนาก็ยังเป็นป่วยแผลพุพอง นี่คือการที่ไม่มีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคือผีตาแฮก ทำให้ต้องกลับมาทำเกษตรอินทรีย์จึงสมบูรณ์ เรื่องเล็ก ๆ ที่เด็กพูดมันจะทำให้ตัวเด็กเข้าใจเองและผู้ใหญ่ที่ดูเข้าใจด้วย” ครูสว่างกล่าว
.
.
สื่อที่ใช้ในการสื่อสารของกลุ่มสปาร์คลั่นทุ่ง ปลุกใจไทกุลา ไม่ได้มีแค่หนังบักตื้อเพียงอย่างเดียวยังมีหน้ากากที่ทำมาจากหวดนึ่งข้าวที่มีสไตล์คล้าย ๆ ผีตาโขนที่ครูเซียงและเด็ก ๆ ได้ร่วมกันออกแบบให้กลายเป็นหนึ่งชิ้นงานศิลปะที่มีชื่อเสียง ครูเซียงและครูสว่างพยายามหากิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมในทุก ๆ หน้าที่ไม่ว่าจะเป็นการทำหุ่นฟางทำหน้ากากและร่วมออกแบบบทแสดง เขียนกลอนลำ เพื่อให้น้อง ๆ ได้ซึมซับและเรียนรู้ อีกทั้งยังมีการทำแปลงปลูกผักสาธิตให้พวกเขาได้ลงมือทำเรื่องเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นการทดลองว่าการไม่ใช้สารเคมีในการปลูกผักมันจะเป็นอย่างไร ซึ่งเด็ก ๆ ตั้งใจทำกิจกรรมกระตือรือร้นและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สังเกตจากเสาร์อาทิตย์ เป็นวันหยุดที่เด็กหลายคนใช้เวลานี้ไปกับการเล่นสนุก แต่เด็ก ๆ ที่เข้าร่วมโครงการกลับไม่ไปเที่ยวเตร่แต่กลับมาร่วมกันทำกิจกรรม
.
.
“ ปีแรกที่สปาร์คมาลงบ้านสำราญก็ทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะหรือเรื่องป่า ตอนนั้นก็มีกลุ่มคนและเด็กประมาณ 10 กว่าคน หลังจากที่เราทำมาแล้วก็มีเด็กสนใจ พ่อแม่ผู้ปกครองก็เห็นว่ากิจกรรมนี้ มันมีประโยชน์ต่อลูกหลานเขา ระหว่างช่วงวันว่างเสาร์อาทิตย์เขาก็ไม่ได้ไปเตร่ไหน ก็เอามาฝึกเรื่องของศิลปะท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นหมอลำหรือหนังบักตื้อเอง ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงว่า มาตอนแรกอาจจะยังไม่รู้จักกับเด็ก ๆ ชุมชนและชาวบ้าน เท่าไหร่ พอได้มาร่วมกิจกรรมแล้วมันก็เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองของเด็ก ๆ เอง บางคนก็เข้ามาช่วยถ้าเขามีเวลา มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าตัวเด็กเอง ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำ เกษตรอินทรีย์เขาก็ยังไม่เข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร ค่อยได้เรียนรู้และซึมซับในตัวโครงการนี้ไปด้วย ” ครูเซียงเล่าผลที่ได้จากการทำโครงการ
จากการสอบถาม เด็กหญิงสุดา บางสร้อย นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการสปาร์คลั่นทุ่ง ปลุกใจไทกุลา บอกกับเราว่า ได้เข้ามาเรียนรู้ทำกิจกรรมทำหุ่นฟางทำหน้ากากและแสดงหนังบักตื้อกับครูเซียงตั้งแต่รุ่นแรก ๆ รู้สึกชอบและได้เรียนรู้และได้ประโยชน์มากมาย ไม่ติดเกมส์ไม่ติดโทรศัพท์ อยากเชิญชวนน้อง ๆ ให้มาเข้าร่วมกิจกรรมเยอะ ๆ เช่นเดียวกับ เด็กหญิงตรีทิพย์ ยภา เล่าว่า ตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยได้ยินคำว่าผีตาแฮกมาก่อน จนได้เข้ามาทำกิจกรรมกับครูเซียงทำหุ่นฟางและแสดงหนังบักตื้อเรียนร้องหมอลำ อีกทั้งเรียนรู้การปลูกผักอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมีโดยการใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ ซึ่งเป็นประโยชน์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
ด้านการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวหนังบักตื้อและการร้องหมอลำ ครูเซียงและครูสว่างได้ให้พ่อครูแม่ครูที่อยู่ในอำเภอปทุมรัตน์มาเป็นผู้ถ่ายทอดให้เด็ก ๆ หนึ่งในนั้น คือ แม่จำปี บุญสอน อาชีพเดิมประกอบอาชีพหมอลำ ซึ่งได้มามีส่วนร่วมในการสอนลูกหลานในการร้องหมอลำและต่อกลอนลำ แม่จำปีเผยว่า ภูมิใจที่ได้สอนกลอนลำที่ตนเองเรียนมาได้ถ่ายทอดออกไปให้ลูก ๆ หลาน ๆ ได้มีความรู้ติดตัวเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งเนื้อหาที่อยู่ในกลอนลำนอกจากจะเป็นเนื้อหาของผีตาแฮกและการลดใช้สารเคมีแล้วยังมีสอนเรื่องบุญคุณพ่อแม่ทำให้สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ได้ซึมซับเข้าไปในจิตใจของพวกเขา
.
.
“ ภูมิใจที่เด็กสนใจอยากเรียนรู้สิ่งเก่า ๆ ภูมิปัญญาตั้งแต่เก่า กลอนลำที่เรามีกลัวมันสูญหายไปจึงอยากสืบทอดให้ลูกหลาน 10 คน ได้ 1 คน ก็ยังดี จากการสังเกตเด็กเข้ามาสนในกิจกรรมถึง 50% ของหมู่บ้านทำให้ตกใจว่าเด็กอายุแค่นี้ทำไมลำได้ ” แม่จำปี กล่าวด้วยความภูมิใจ
เรื่องโดย - ธนรรถพร อุ่มเกต ทีมพัฒนาสื่อสปาร์คยูอีสาน
#​สปาร์คยูอีสานม่วนสุข




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]