ถอดรหัสภูมิปัญญาฮูปแต้ม “สินไซ” สู่การทำสีจากธรรมชาติ
หลายคนคงเคยมีโอกาสไปดู “ฮูปแต้ม” หรือจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งถือเป็นฮูปแต้มที่ทรงคุณค่าของภาคอีสาน โดยเฉพาะโบสถ์ทั้งหลังเขียนเรื่องราวของวรรณกรรมเรื่องสินไซ หรือ สังข์ศิลป์ชัย ทั้งหมด โดยเฉพาะลายเส้นและสีที่ดูแปลกตาและเรียบง่าย ตามสไตล์ช่างพื้นบ้านแต่ทรงคุณค่า ง่าย และงาม น่าศึกษายิ่งนัก
และหากมีโอกาสได้เรียนรู้ศึกษาที่มาของการวาดลายเส้น สี และการรองพื้นสีต่าง ๆ แล้วจะเห็นว่านี่คือภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนโดยแท้ แม้ว่าโบสถ์หรือสิมหลังนี้จะมีอายุประมาณ 150 ปีย้อนหลีง แต่ซ่อนรหัสลับทางธรรมชาติเอาไว้มากมาย และเหมาะกับการ “ถอดรหัสองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นถิ่น” ส่งต่อให้ลูกหลานยุคปัจจุบันยิ่งนัก
โดยเฉพาะสีที่นำมาระบายฮูปแต้มหรือภาพวาดที่สิมหลังนี้เป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ ที่หาได้ในพื้นถิ่น เพราะสมัยก่อนไม่มีสีเคมีให้ใช้ โดยสีครามทำมาจากต้นครามที่ต้องผ่านกรรมวิธีการหมัก การต้ม จนกระทั่งได้สีที่สวยงาม สีเหลืองจากต้นเข แก่นขนุน เพราะให้สีทนทานไม่หลุดลอก สีเขียวจากใบหูกวางที่ใบอ่อนให้สีหนึ่ง และใบแก่ให้อีกสีหนึ่ง สีขาวได้จากการเอาหอยจูบหรือหอยขมไปเผาให้เปลี่ยนเป็นสีขาวแล้วเอามาตำ สีแดงได้จากการละลายน้ำเอาดินแดงของอีสานมาทำสี แต่ทุกสีที่ว่ามาจะต้องมีการผสมกับดินสอพองเพื่อให้สีตกตะกอนและจับตัวกันแน่นเพื่อเวลานำมาทาจะได้ติดทนทาน
วันนี้ (7 ต.ค. 2563 ) หมอผึ้ง หรือ นัทธ์หทัย วนาเฉลิม สัตวแพทย์หญิงคนเก่งที่เป็นทั้งนักเขียน นักทดลอง นักอ่าน ได้เป็นวิทยากรบอกเล่าเรื่องการลงสีของสิมวัดไชยศรีพร้อมกับพาเด็ก ๆ โรงเรียนบ้านสาวะถี (สาวัตถีราษฎร์รังสฤษฏิ์) และโรงเรียนสาวะถีพิทยาสรรพ์ ทำสีจากธรรมชาติและเรียนรู้วิธีการทำสีแบบโบราณ โดยโครงการ สาวะถีเมืองสามดีวิสาหกิจเพื่อสังคมยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ก่อนเด็ก ๆ จะไปคัดลอกลายฮูปแต้มจากผนังสิมแล้วมาลงสี
ความสนุกเริ่มตั้งแต่ได้รู้ว่าสีทำมาจากอะไร และการคนสีผสมกาวเม็ดกระถิน และการเริ่มลงมือวาด ระบาย และชมผลงานตัวเอง กิจกรรมนี้เสริมทักษะทั้งการฟัง (ฟังเรื่องเล่าสินไซรอบผนังสิม จากมัคคุเทศก์น้อยอาสา ฟังเรื่องการสร้างสิม การลงสี ปูนที่สร้างมาจากเพชรบูรณ์ และอื่น ๆ อีกมากมาย จากพี่หมอผึ้งวิทยากรคนเก่ง) ทักษะการเขียน (เขียนบันทึกเรื่องที่ได้ฟัง วาดภาพที่ตัวเองได้เห็น) การคิด (คิดว่าจะวาดภาพอะไร ตอนไหนในเรื่องสินไซ และตอนที่วาดนั้นสำคัญอย่างไร)
จบกิจกรรมเด็ก ๆ สนุก ได้ความรู้ และรู้ว่ากว่าจะเป็นภาพวาดแต่ละภาพไม่ได้ง่าย โดยเฉพาะนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เด็ก ๆ ได้วาดภาพลงบนแผ่นผ้าใบที่คุณหมอผึ้งรองพื้นด้วยกาวเม็ดมะขาม โดยเฉพาะกาวเม็ดมะขามที่มีเทคนิคพิเศษสุดด้วยการ เอาเม็ดมะขาม(เน้นมะขามเปรี้ยว)มาคั่วและแกะเปลือกออก ก่อนจะเอาไปแช่น้ำ 2 ชั่วโมงให้นิ่ม แล้วนำเม็ดมะขามมาสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนเอาไปต้มให้เปื่อยและได้เมือกก่อนจะตักเมือกมาทาบนแผ่นผ้าใบหลายรอบ ก่อนจะเอาเมือกมะขามไปผสมกับดินสอพองมาทาอีกที และต้องกวดหรือทำให้พื้นเรียบด้วยหอยเบี้ยนานหลายชั่วโมง กว่าจะได้ผ้าใบแบบโบราณผืนที่เด็ก ๆ ได้ใช้วาดวันนี้มันแสนลำบาก ยากเย็น แต่นั่นคือ ปัญญา สติ และสมาธิล้วน ๆ
ชื่นชมวิทยากรที่สุดยอดความตั้งใจและเอาความรู้ที่มีมาส่งต่อให้เด็ก ๆ ชื่นชมที่เป็นคนรุ่นใหม่แต่ไม่ลืมของโบราณ แถมยังเรียนรู้ ทดลอง และฝึกฝน จนเรียกว่า “เชี่ยวชาญ” คงมีโอกาสได้ร่วมแลกเปลี่ยนและถอดรหัสภูมิปัญญาร่วมกันอีก เพราะเมืองสาวะถีแห่งนี้มีรหัสลับของภูมิปัญญาบรรพบุรุษซ่อนเอาไว้อีกเยอะ.
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]