"บางลำพูของฉัน” และวันนั้นที่นิวเวิลด์

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 28 สิงหาคม 63 / อ่าน : 2,330


"บางลำพูของฉัน” และวันนั้นที่นิวเวิลด์



จากวันนั้นถึงวันนี้ ความทรงจำที่ไม่เคยจางหายไปของใครหลายๆ คน “ห้างนิวเวิลด์” ห้างสรรพสินค้าที่ทั้งคนทั้งในและนอกบางลำพูอยากมา... นั่นเพราะ...

        ...ห้างนิวเวิลด์ เป็นห้างชื่อดังในอดีตของย่านบางลำพู

        ...ห้างนิวเวิลด์ เป็นพื้นที่ของความทรงจำที่หลากหลาย

        ...ห้างนิวเวิลด์ ห้างที่มีลิฟท์แก้วทั้งในและนอกห้าง สามารถมองเห็นวิวได้ 360 องศา

        ...ห้างนิวเวิลด์ ทำให้เศรษฐกิจของคนบางลำพูฟื้นตัวขึ้นมาและเป็นที่รู้จัก เกิดความรุ่งเรืองให้กับพื้นที่

       แต่เมื่อห้าง “ถล่ม” ที่นี่ได้ถูก “ปิดตัว” ไปอย่างถาวรนานนับ 10 ปี เมื่อพื้นที่ถูกเปิดอีกครั้ง “นิวเวิลด์” จึงมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งเพื่อระลึกถึงความทรงจำและภาพวันวานที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ...

        เมื่อพูดถึงชื่อ “ห้างนิวเวิลด์” คนรุ่นใหม่ยุคนี้อาจไม่คุ้นหู แต่สำหรับวัยรุ่นยุค 30 กว่าปีก่อนคงจะจินตนาการภาพในความทรงจำขึ้นมาได้ทันที ห้างนิวเวิลด์เปิดให้บริการในปีพ.ศ.2526 ด้วยความสูง 4 ชั้น ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการก็ได้รับการตอบรับดีจนท่วมท้น ซึ่งปานทิพย์ ลิกขะไชย หรือพี่ต้าร์ของเด็กชมรมเกสรลำพู เล่าว่า ““ห้างนิวเวิลด์” เป็นห้างที่สามารถขึ้นไปและมองเห็นวิวทิวทัศน์ของบางลำพูได้ 360 องศา มีฟู้ดคอร์ท, บ้านบอล, รถบั๊มพ์, โรงภาพยนตร์ รวมไปถึงมีการจัดคอนเสิร์ตมีนักร้องดังๆ มาเยือนหลากหลาย อาทิ ไมโคร, บิลลี่ โอแกน ฯลฯ มาเล่นที่นี่ โดยไฮไลท์ที่สำคัญของห้างแห่งนี้คือ “ลิฟท์แก้ว” ลิฟท์ที่ใครๆ ก็อยากมาขึ้น เพราะมีทั้งลิฟท์ด้านนอกและลิฟท์ด้านในห้าง บางคนถึงขึ้นมาต่อคิวเพื่อรอขึ้นลิฟท์แก้วนี้ เพราะสามารถของเห็นวิวได้หลากหลายมุม ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาและชุมชน ที่สำคัญ “ห้างนิวเวิลด์”เป็นห้างที่คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมกับห้างมากมาย ซึ่งเป็นทั้งคนมาเดินเที่ยว ช้อปปิ้ง หรือ เป็นพ่อค้า แม่ค้า ขายของในห้างแห่งนี้”

         เมื่อห้างได้รับความนิยมจึงต่อเติมอาคารที่เดิมแค่ 4 ชั้นเป็น 11 ชั้น ซึ่งเกินจากที่กฎหมายกำหนด จนเกิดการฟ้องร้องขึ้น สุดท้ายศาลตัดสินว่าห้างต้องรื้อถอนชั้นที่ต่อเติมเพิ่มออกทั้งหมด ซึ่งระหว่างดำเนินการรื้อถอนด้านบน ห้างชั้น 1-4 ก็ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเพราะอาคารที่กำลังรื้ออยู่นั้นเกิดถล่มลงไปที่ชั้นล่าง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและร้านค้าจำนวนมากเสียหาย จากนั้นห้างจึงถูกปิดตัวลงด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยในปีพ.ศ.2547

        นับจากวันนั้น “ห้างนิวเวิลด์” จึงกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าขานต่อๆ กันมา จากห้างดังที่มีคนอยากไปสัมผัส กลายเป็นห้างร้างและเปลี่ยนบทบาทจากห้างมาเป็นบ่อปลากลางกรุงหรือที่เรียกกันว่าวังมัจฉา ที่กลายมาเป็นวังมัจฉาด้วยเหตุที่โครงสร้างด้านบนเปิดโล่งหลังมีการถล่มของชั้นบนลงมาทำให้ฝนตกลงมาที่ชั้นล่างกลายเป็นน้ำขัง เมื่อมีน้ำขังก็มียุงเกิดขึ้น ในที่สุดชาวบ้านจึงนำปลามาปล่อยเพื่อกำจัดและไล่ยุง นานเข้าปลาที่ถูกนำมาปล่อยได้ขยายพันธุ์จนแน่นห้างและกลายเป็นสถานที่ลึกลับที่ใครต่อใครอยากเข้าไปสัมผัสบรรยากาศ ก่อนที่จะมีคำสั่งปิดตึกห้ามคนเข้าเด็ดขาด ได้มีการสูบน้ำออกรวมถึงขนย้ายปลาออกไปในปีพ.ศ.2557 เป็นการปิดตำนานบ่อปลากลางกรุงเก่าไป



จากจุดเริ่มต้นที่มาจากความหวังและความสุขสนุกสนานแต่สุดท้ายมาจบลงด้วยความเศร้า ถูกปิดตายและกลายเป็น “ห้างร้าง” มาจนถึงวันนี้...

        ยิ่งยาวนาน ยิ่งผูกพัน จากอดีตถึงปัจจุบัน ความทรงจำที่ไม่เคยจางหายไปจากใครหลายๆ คน

        เมื่อห้างเป็นพื้นที่ที่มีค่าของความทรงจำ งานนิทรรศการในห้าง ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town จึงเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือของห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ บางลำพู, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ประชาคมบางลำพู และชมรมเกสรลำพู โดยมีอาจารย์หน่อง ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญการออกแบบและพัฒนาชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและการพัฒนาเมือง เป็นหัวเรือหลักของการจัดนิทรรศการครั้งนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ว่าอยากนำพาผู้คนไปหวนระลึกถึงความทรงจำที่เคยมีในอดีตกับพื้นที่ที่เคยเป็นเหมือนดั่งศูนย์กลางชุมชน และนำเอาความทรงจำที่มีเหล่านั้นมาแชร์เพื่อให้คนนอกได้ร่วมฟัง ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้ประกอบด้วย

    O คนในชุมชนมาร่วมแลกเปลี่ยนความทรงจำ เติมเต็มเรื่องราวที่ผ่านมาร่วมกัน  

    O คนต่างพื้นที่ได้เห็น และรับรู้เรื่องราวที่น่าสนใจของพื้นที่

   O เด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราว ความเป็นมาของของดีที่มีอยู่ในชุมชนเพื่อต่อยอดการทำงานและพัฒนาพื้นที่ให้น่าสนใจต่อไปในอนาคต

1.คอนเทนต์ที่เล่าเรื่องความเป็นย่านบางลำพู จาก 20 กลุ่มคนในย่านบางลำพูผ่านของ 20 ชิ้น ด้วยแนวคิด “เวลาพูดถึงบางลำพูเราคิดถึงอะไร” จึงได้มาซึ่งของ 20 ชิ้นมาจัดแสดงบนเก้าอี้พลาสติก 20 ตัว” และมีนักศึกษานำชมบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสิ่งของชิ้นนั้นๆ

2.การนำภาพเสมือนจริงของ 40 บุคคลสำคัญในบางลำพู อาทิ นักธุรกิจที่เกิดและเติบโตในบางลำพู ประธานชุมชน ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นที่รักษาวิถีในประวัติศาสตร์เอาไว้ เช่น การแทงหยวก การทำชุดโขน หรือการจัดงานสงกรานต์ประเพณี” มาฉายบนผนังฝั่งหนึ่งของตึก พร้อมโควตคำพูดที่เล่าสิ่งที่ตัวเองทำและวิถีของชุมชน


3.การทำ lighting installation ฉายแสง ติดตั้งไปบอกเล่าเรื่องราว มีทั้งภาพปลาคาร์ฟว่ายไปมาคอยต้อนรับผู้ชมที่บ่อน้ำชั้น 1 และที่คอลิฟต์ซึ่งทอดยาวจากชั้น 1 ถึงดาดฟ้า ส่วนที่ชั้นสองจะมีภาพบันไดผ้าประกอบแสงไฟสื่อถึงบางลำพูที่กำลังเดินไปสู่อนาคต


4.แอนิเมชั่นสั้นๆ เป็นภาพวาดเล่าเรื่องต่างๆ ในย่านบางลำพูที่ฉายลงไปบนผ้าสร้างสีสันอีกรูปแบบหนึ่งให้น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น

“บางลำพูของฉันและวันนั้นที่นิวเวิลด์” …..

       จากห้างที่ถูกปิดมานาน นิทรรศการนี้จึงเป็นเหมือนการเปิดต้อนรับคนในย่านบางลำพู เพื่อให้คนที่เคยมาเดินห้างได้กลับมาเห็นมาเจอหน้ากันอีกครั้ง แทบทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ห้างนิวเวิลด์แห่งนี้ อยากให้ห้างนี้มีชีวิตอีกครั้ง อยากได้มีโอกาสเดินกลับเข้ามาในห้างนี้ เพราะการที่ห้างร้างถูกปิดไว้ มันทำให้บรรยากาศแถวนี้มันดูไม่ค่อยเจริญหูเจริญตา เมื่อห้างร้างถูกเปิดอักครั้งถึงแม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้น แต่มันกลับสร้างแรงกระเพื่อมครั้งยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้น ทำให้พลังเล็กๆ อย่างเด็กบางลำพูในชมรมเกสรลำพูมีไอเดียในการสร้างสรรค์งานออกมาเพิ่มขึ้นอีกอย่างหลากหลาย เพื่อทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ วิสาหกิจชุมชนต่อไปในอนาคต ที่สามารถจ้างงานคนในย่าน มีพื้นที่นิทรรศการของย่าน และในขณะเดียวกันก็หารายได้และเลี้ยงดูพื้นที่ห้างและชุมชนทั้งหมดได้

        ซึ่ง ปานทิพย์ ลิกขะไชย หรือพี่ต้าร์ของเด็กชมรมเกสรลำพู บอกว่า งานนิทรรศการครั้งนี้ เป็นเสมือนการเติมเต็ม ความรู้และเพิ่มเติมความทรงจำให้เด็กๆ เพื่อนำไปต่อยอดสู่การเป็นไกด์ให้กับเด็กๆ และเยาวชนมากขึ้น หลังจากนี้เมื่อมีการนำนักท่องเที่ยวเดินชมพื้นที่ย่านบางลำพูและมาถึงที่หน้าห้างแห่งนี้ เด็กๆ ก็สามารถบอกเล่าความเป็นมาของพื้นที่ได้เพิ่มมากขึ้นด้วยรอยยิ้ม ความจริงใจผสมกับความใสซื่อแต่แน่นไปด้วยข้อมูลที่ต้องการเล่าขานเรื่องราวในบ้านของตัวเองให้ผู้มาเยี่ยมชมได้รับรู้โดยไม่อาศัยการท่องจำ เป็นการเพิ่มเติมเสน่ห์ให้กับ“ไกด์เด็กบางลำพู” ซึ่งจะทำให้พื้นที่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง  เพราะผู้ชมนิทรรศการสามารถเข้าถึงชุมชนได้ไม่ยากผ่านการนำเสนอของเด็กๆ

        “นอกจากนี้หากมีการนำให้สิ่งดีๆ ที่ได้จากการเปิดห้างร้างในครั้งนี้ ไปทำของที่ระลึก ไม่ว่าจะเป็นสติ๊กเกอร์ พวงกุญแจ ตุ๊กตากระดาษ สมุดทำมือ หรืออื่นๆ เพื่อรำลึกให้เห็นภาพห้างและพื้นที่ชัดเจนขึ้นนอกจากจะทำให้ผู้ที่มาที่นี่ได้มีของที่ระลึกติดไม้ติดมือกับไปแล้ว ยังเป็นการหารายได้เข้าชมรม หรือในอนาคตนี่อาจจะเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ทำให้เศรษฐกิจชุมชนกลับมาฟื้นตัวและสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มเติมได้อีกหนึ่งช่องทางก็เป็นได้” ปานทิพย์ ลิกขะไชย บอก

        การเปิดห้างร้างในครั้งนี้เป็นเสมือนภาพแห่งความสุขที่กลับมาของผู้คน ทั้งของคนที่ช่วยกันแต่งเติมความทรงจำ และคนที่จะเป็นส่วนต่อยอดให้พื้นที่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ไม่นานเกินรอเมื่อสถานการณ์โควิด-19 จางหายไป ความหวังเล็กที่จะทำให้เศรษฐกิจของพื้นที่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งก็เห็นจะเป็นรากฐานของชุมชนนี่แหละที่จะดึงคนจากที่ต่างๆ เข้ามา...

        วันนี้ “บางลำพู” มีพื้นที่เพิ่มเติมแล้วที่จะนำมาสร้างงาน สร้างอาชีพ และจะออกมารูปแบบไหน อย่างไร เราต้องจับตามองกันต่อไป “เราเชื่อพลังเล็กๆ ของเด็กบางลำพู” จะทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นมาได้อย่างแน่นอน เพราะพลังเล็กๆ สร้างสิ่งยิ่งใหญ่ให้กับสังคมได้ ..  ...เราเชื่ออย่างนั้น...



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]