อย่าปล่อยให้เด็กอ้วนกับการเรียนวิถีใหม่ ปลอดภัยด้วย New normal

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 28 สิงหาคม 63 / อ่าน : 1,353


จากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้หลายอย่างถูกบังคับให้เปลี่ยนไป การเรียนการสอนก็เช่นกันที่ต้องมีการเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นั่นเพราะการศึกษาสำคัญการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับความรู้อย่างเหมาะสมวัยอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่หยุดหรือชะลอไม่ได้

  • การเรียนการสอนก็ต้องมี 
  • โรคระบาดก็น่ากลัว

 เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดและเชื้อโรคต่างๆ  โรงเรียน ผู้ปกครองและเด็กๆ ควรพร้อมใจกันในการปรับพฤติกรรมต่างๆ ที่เด็กเคยเป็น ให้มาเป็นแนวทางการเรียนการสอนแบบ New Normal

          ซึ่งการเรียนการสอนแบบ New Normal ของเด็กๆ นั้นเป็นแนวทางการป้องกันการติดเชื้อและดูแลตัวเองของเด็กๆ ที่ไม่แตกต่างกับผู้ใหญ่ เพียงแต่ว่าเด็กๆ อาจยังไม่ได้ตระหนักอย่างจริงจัง อาจต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยสอนและสร้างความคุ้นเคยให้เด็กๆ จนเกิดเป็นวินัย กลายเป็น New Normal หรือแนวทางการใช้ชีวิตใหม่ เพื่อที่จะอยู่ในสังคม โรงเรียน รวมถึงอยู่กับเพื่อนๆ ได้อย่างมีความสุข ปลอดภัยจากโรคร้าย ซึ่งหลักๆ มีแนวทาง ดังนี้

  1. ระยะห่าง social distancing อยู่ห่างจากเพื่อนๆ คุณครู 1 – 2 เมตร เพราะเราไม่รู้ว่าเชื้อโรคต่างๆ อยู่ตรงไหนบ้าง สร้างให้เป็นวิถีชีวิตแบบ Physical distance (ระยะห่างทางกายภาพ)
  2. นั่งห่างกัน ในระหว่างรับประทานอาหาร โต๊ะอาหารของโรงเรียนควรมีฉากกั้น หรือที่เรียกว่า Food shield แนวทางเดียวกับห้างสรรพสินค้า ป้องกันการไอจาม สำลักอาหารใส่เพื่อนๆ
  3. สร้างระยะห่างในการเข้าคิวหรือเข้าแถว
  4. สร้างสุขนิสัย การล้างมือบ่อยๆ
  5. ไม่เอามือมาจับหน้า จับตาหรือเอามือเข้าปาก เพราะเชื้อไวรัสอาจติดอยู่ตามมือโดยไม่รู้ตัว
  6. สอนให้เด็กใส่ mask ในทุกที่ โดยเฉพาะในห้องเรียน เพราะส่วนใหญ่ห้องเรียนเป็นห้องแอร์ มีระบบถ่ายเทอากาศที่ปิด ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคได้
  7. หากมีเพื่อนที่ไม่สบาย เช่น มีไข้สูงเกิน 37.5 องศา น้ำมูก ไอ ให้อยู่ห่างๆ และต้องรีบบอกให้คุณครูทราบ เพื่อที่จะแยกเด็กออกมา และรีบพาไปตรวจที่โรงพยาบาลอย่างละเอียด

      แต่อย่างที่รู้กัน พอเป็นเด็กก็ต้องอยากเล่น ต้องอยากอยู่กับเพื่อนๆ รวมกลุ่มกัน ดังนั้นจึงต้องฝึกให้เด็กเข้าใจวิธีในการป้องกัน แล้วนำไปปรับใช้ในกิจกรรมต่างๆ ด้วย อาทิ การใส่ Mask และ Face shield ในโรงเรียน ซึ่งตามหลักการแล้ว การใส่หน้ากากอนามัย ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากผ้าหรือ Surgical mask จะถือว่ามีประสิทธิภาพที่สุด เพราะการใส่ Face Shield อย่างเดียว อาจยังไม่สามารถป้องกันได้ดีเท่ากับหน้ากากอนามัย เนื่องจากยังมีช่องว่างทางด้านล่างและด้านข้างให้เชื้อหลุดรอดมาได้ ดังนั้นถ้าจะใส่อย่างใดอย่างหนึ่ง แนะนำให้ใส่หน้ากากผ้า หรือ surgical mask ดีที่สุด ส่วนถ้าใครอยากใส่ทั้ง 2 อย่างคู่กันก็จะมิดชิดมากขึ้น และป้องกันการติดเชื้อได้มากขึ้น

          สำหรับโรงเรียนก็เป็นอีกสถานที่ ที่จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัดด้วย อาทิ  1. จัดระยะห่างของการเข้าแถว ไม่ว่าจะเคารพธงชาติ แถวเดินเข้าห้อง 2. มีการรักษาความสะอาดของสถานที่ อุปกรณ์เครื่องใช้ทุกชนิด 3.ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา 4. การจัดแถวโต๊ะเก้าอี้ ในชั้นเรียน ต้องตั้งโต๊ะให้เด็กๆ นั่งในระยะห่าง 1 – 2 เมตร ยกเลิกการจัดโต๊ะเรียนเป็นกลุ่ม เพื่อไม่ให้เด็กหันหน้าเข้าหากัน 5. มีการควบคุมแถวในการซื้ออาหาร ขนม หรือซื้อของในห้องสวัสดิการ ควรทำเครื่องหมายของการเว้นช่วงให้ครอบคลุม 6. ทางโรงเรียนอาจต้องจัดคณะครูเป็นทีมทำงานด้านการสุขอนามัยเป็นพิเศษ เพื่อคอยดูแลและเข้มงวดมาตรการและกฎควบคุมต่างๆ โดยทำป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ในโรงเรียน รวมถึงสื่อสารให้พ่อแม่รับทราบถึงมาตรการความปลอดภัยต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมา และ7. สำหรับในเด็กเล็กหรือเด็กอนุบาล คุณครูต้องจัดเวลาพาเด็กๆ ไปล้างมือ ก่อน-หลังรับประทานอาหาร และหลังทำกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน โดยเฉพาะการรณรงค์ให้เด็กๆ ใส่หน้ากากอนามัยอย่างสม่ำเสมอ

      เฉกเช่นเดียวกับการจัดทำโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ลด หวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ ปีที่ 4 ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างโครงการปิ๊งส์ โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สำนักโภชนาการสมวัย สำนักงานบริหารแผนงานอาหารและโภชนาการ เครือข่ายคนไทยไร้พุง ในปีนี้มีการเน้นในเรื่อง New normal เป็นหลัก โดยจะมุ่งไปปรับพฤติกรรม 3 อ. (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ให้ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในช่วงโควิด-19 อีกทั้งยังมีการประยุกต์การเรียนการสอนแบบวิถีชีวิตใหม่ New Normal ให้เข้ากับ 4 ON ด้วย

  • ON Line
  • ON Air
  • ON Hand
  • ON Site

พฤติกรรม 3 อ. 

       อ. อาหาร >>>  ซึ่งการรับประทานอาหาร แบบ new normal ในยุคโควิด-19 นั้นเป็นสุขบัญญัติอีกข้อหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เด็กๆ ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ โดยนอกจากอาหารเหล่านั้นจะต้องครบ 5 หมู่แล้วจะต้องปรุงสุก หรืออุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานเสมอ ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็มจนเกินไป โดยก่อนรับประทานอาหารนั้นเด็กๆ จะต้องล้างมือทุกครั้ง  และหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกับผู้อื่นด้วยการแยกอาหารคนละชุดโดยไม่ใช้จาน ชาม แก้วน้ำร่วมกัน และควรนั่งห่างกัน 1-2 เมตร และลดการพูดคุย เมื่อรับประทานเสร็จต้องเก็บทิ้งกระดาษชำระลงถังขยะไม่ทิ้งบนโต๊ะ เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

         สำหรับอาหารหรือของว่างนักเรียนต้องอ่านฉลากโภชนาการให้เป็น โดยเน้นปริมาณอาหารให้เหมาะสมซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้จากกรอบข้อมูลโภชนาการของอาหารนั้นๆ ได้ โดยปริมาณสารอาหารที่ทางThai Recommended Daily Intakes (Thai RDI) แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับเด็กและเยาวชนหรือคนที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป คิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรีโดยมีเกณฑ์ ดังนี้ ไขมันทั้งหมด น้อยกว่า 65 กรัม, กรดไขมันอิ่มตัว น้อยกว่า 20 กรัม, คอเลสเตอรอล น้อยกว่า 300 มิลลิกรัม, คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 300 กรัม, ใยอาหาร 25 กรัม, โซเดียม น้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัม หรืออาจจะเปรียบเทียบกับสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง ด้วยก็ได้ เช่น


        ไฟแดง (กลุ่มอาหารสีแดง) กลุ่มอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน และ น้ำตาลระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของไฟจราจรก็คือ ต้องหยุด กินไม่บ่อย กินเป็นโอกาสพิเศษบางครั้งคราวเท่านั้น >>> อาหารที่อยู่ในกลุ่มไฟแดง ได้แก่ อาหารที่ทอดด้วยน้ำมัน ปรุงด้วยกะทิเข้มข้น อาหารแปรรูป ไส้กรอก หมูยอ ลูกชิ้น ขนมอบ เค้ก อาหารที่อุดมไปด้วยแป้ง มัน-เนย เบเกอรี่ แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า ข้าวขาหมู ทุเรียน ผัดไทย หอยทอด หมูสามชั้น กุ้ง ไก่ หมู ชุบแป้งทอด แกงกะทิ แกงพะแนง แกงเทโพ น้ำอัดลม น้ำหวาน ชานมไข่มุก


         ไฟเหลือง (กลุ่มอาหารสีเหลือง) กลุ่มอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน และ น้ำตาลระดับปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของไฟจราจรก็คือ ชะลอ ระมัดระวัง สามารถทานได้ แต่ไม่ทุกวัน (ไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์) >>> อาหารที่อยู่ในกลุ่มไฟเหลือง ได้แก่ อาหารที่ปรุงด้วยกะทิไม่เข้มข้น อาหารผัดที่ไม่มันจัด ผัดผัก ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า พะโล้ กระเพราหมู มัน-เผือกต้ม ถั่วต้ม ผลไม้ที่มีรสหวาน เงาะ ละมุด องุ่นแดง ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วงสุก น้อยหน่า กล้วยหอม กล้วยไข่ มะขามหวาน เชอรี่


         ไฟเขียว (กลุ่มอาหารสีเขียว) กลุ่มอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน และ น้ำตาลระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของไฟจราจรก็คือ ไปได้ ผ่านได้ สามารถทานได้บ่อย ทานได้ทุกวัน >>> อาหารที่อยู่ในกลุ่มไฟเขียว ได้แก่ อาหารประเภท ต้ม นึ่ง ย่าง ผัดน้ำมันน้อย เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เนื้อปลา เนื้อไก่ ไข่ไก่ นม โยเกิร์ต อาหารประเภท ยำ สลัดผักน้ำใส ผักต่างๆ นมถั่วเหลืองหวานน้อย ข้าวแป้งไม่ขัดสี ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช ผลไม้ไม่หวานจัด ฝรั่ง แตงโม ส้ม องุ่นเขียว มะละกอดิบ แอปเปิล


 

อ. ออกกำลังกาย >>> วัยเด็กเป็นวัยที่อยู่ในช่วงของการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา  การออกกำลังกายจะช่วยส่งเสริมให้ระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบกระดูก ระบบกล้ามเนื้อ ระบบข้อต่อต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กได้ ซึ่งการออกกำลังกายในวัยเด็กนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่ การวิ่ง การเล่นกีฬาต่างๆ เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส แบดมินตัน ว่ายน้ำ ปิงปอง โดยความหนักของการออกกำลังกายนั้นเน้นให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ระหว่าง 60-80 % ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด ซึ่งความนานของการออกกำลังกายใช้เวลาประมาณ 20-60 นาที เน้น 3-5 วันต่อสัปดาห์ ที่สำคัญการออกกำลังกายในช่วง New Normal นี้ คุณครูจะต้องคัดกรองนักเรียนก่อนทำกิจกรรมทุกครั้ง, ต้องมีการรักษาระยะห่างทางสังคม 1-2 เมตร, ควรสวมหน้ากากอนามัยก่อนเข้าร่วมกิจกรรม, ต้องล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ก่อนและหลังทำกิจกรรม, หลังจากร่วมกิจกรรมแล้วต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ทุกครั้งเพื่อละการระบาดของไวรัส หรือเชื้อโรค


อ. อารมณ์ >>>  ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เด็กๆในทุกช่วงวัยต่างกำลังตกอยู่ในสภาวะทางอารมณ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล ความเครียด และความไม่สบายใจ องค์การยูนิเซฟจึงแนะนำให้สร้างความมั่นใจให้กับเด็กและเยาวชนด้วยการสอนให้ไม่ตื่นตระหนก สอนให้พวกเขารู้ถึงบทบาทสำคัญในการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค เช่น การล้างมือเป็นประจำ ไม่สัมผัสใบหน้า และเว้นระยะห่างระหว่างกัน อีกสิ่งหนึ่งที่เราสามารถสอนพวกเขา รู้จักกับการใส่ใจคนรอบข้าง จากนั้นสร้างแผนหรือตารางกิจกรรม เพื่อให้สะท้อนสิ่งเหล่านั้นออกมาจะทำให้เด็กๆรู้สึกสบายใจและเห็นภาพในแต่ละวันของตัวเอง ทำให้พวกเขาได้รู้ว่าจะต้องเรียนตอนไหนและจะได้เล่นตอนไหน, สอนให้เด็กและเยาวชนมีทักษะในการจัดการกับปัญหา สามารถจัดการกับความขัดแย้งต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม สร้างวินัย, สร้างความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นทั้งในตนเอง และคนอื่นๆ ในสังคมด้วย

        ซึ่งสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ออกแบบการจัดการเรียนรู้แบบ 4 on ครอบคลุมทุกกลุ่ม ประกอบด้วย ON Line, ON Air, ON Hand, ON Site โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังขึ้น ซึ่งในโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ลด หวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ ปีที่ 4 นี้ได้นำเรื่องนี้มาใช้งานด้วย โดยครูผู้สอนสามารถออกแบบกิจกรรมผ่านการเรียนรู้แบบ 4 on อาทิ

1.On Line อาทิ ครูสามารถผลิตสื่อการเรียนการสอนด้านอาหาร โภชนาการ และการออกกำลังกาย จัดกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เช่น Facebook, Line มีการสื่อสารกับผู้ปกครองโดยการบันทึกวีดีโอการประชุมสื่อสารกับผู้ปกครอง ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต แอปพลิเคชั่นต่างๆ เช่น Facebook, Line

2.On Air ได้แก่ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนผ่าน DLTV ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับโครงการจะมีการออกอากาศซ้ำ ถ้ามีรายวิชาที่เกี่ยวข้องครูสามารถแนะนำให้เด็กดูเพิ่มเติมได้

3.On Hand ได้แก่ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยส่งหนังสือแบบเรียนและสื่อการเรียนการสอนถึงบ้าน ผลิตใบงานในสาระการเรียนรู้โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม เช่น การประกอบอาหาร การอ่านฉลากโภชนาการ การปลูกพืชผักสวนครัว การออกกำลังกาย การผลิตสื่อการออกกำลังกาย หรือมีสมุดสุขภาพส่งให้นักเรียนถึงบ้านหรือนำไปสื่อสารกับผู้ปกครองด้วย เป็นต้น

4.On site ได้แก่ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียนกลุ่มเล็กที่โรงเรียนในกรณีที่จำเป็นต้องจัดกิจกรรมให้สำเร็จตามโครงการเพื่อสรุปรายงานหรือจัดเป็นกลุ่มย่อยเพื่อวัดผลประเมินผลตามกิจกรรมในโครงการได้



        และก่อนที่จะมีการเปิดตัวโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ลด หวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ ปีที่ 4 อย่างเป็นทางการได้มีการลงพื้นทีเพื่อศึกษาดูการเรียนการสอนแบบ New Normal ที่โรงเรียนต้นแบบของปีที่ผ่านมา นำโดยอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัยและอุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย, อาจารย์มานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.), คุณชูเกียรติ ครูทรงธรรม, อาจารย์จุรี สุวรรณศิลป์ และคณะร่วมเดินทางไปครั้งนี้ด้วย เริ่มกันที่โรงเรียนวัดทองสัมฤทธ์ โดยนางสาวศิรภัสสร ฮั้งสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์ บอกว่า ที่โรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึง ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวนนักเรียนกว่า 400 คน เมื่อมีการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 แต่เราต้องมีการเรียนการสอนตามปกติแต่ต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal นักเรียนต้องมาเรียนทุกวัน แม้มีการสลับกันเรียนวันเว้นวันแล้ว ทางโรงเรียนได้ดำเนินการตรวจวัดอุณหภูมินักเรียนก่อนเข้าโรงเรียน ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย และเฟสชิล เว้นระยะห่างในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งในเวลาเรียน, ในระหว่างรับประทานอาหาร โต๊ะอาหารของโรงเรียนได้มีฉากกั้น 1–2 เมตร เพราะเราไม่รู้ว่าเชื้อโรคต่างๆ อยู่ตรงไหนบ้าง มีการสร้างระยะห่างในการเข้าคิวหรือเข้าแถว และการสร้างสุขนิสัยการล้างมือบ่อยๆ มีเจลล้างมือวางไว้ให้ใช้ได้อย่างต่อเนื่อง, สอนให้เด็กใส่ mask ในทุกที่ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ไม่เอามือมาจับหน้า จับตาหรือเอามือเข้าปาก เพราะเชื้อไวรัสอาจติดอยู่ตามมือโดยไม่รู้ตัว จึงสามารถมั่นใจได้ว่าเด็กทุกคนจะปลอดภัยเมื่อมาโรงเรียนและเข้าเรียนในรายวิชาที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกัน...  

ด้านโรงเรียนอยู่เป็นสุขอนุสรณ์ อีกหนึ่งโรงเรียนต้นแบบที่เคยเข้าร่วมโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ลด หวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ ปีที่ผ่านๆ มาได้มีการจัดกิจกรรมทางกายในกลุ่มสาระพลศึกษา โดยนำตาราง 9 ช่องมาปรับใช้เพื่อให้นักเรียนได้ออกกำลังกายแบบวิถีใหม่ New Normal ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งนายมนต์ชัย ขาวศรี ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่า ในช่วงที่ต้องจัดการเรียนการสอนในภาวะวิกฤติที่มีโรคระบาดแบบนี้ทางโรงเรียนได้เตรียมมาตรการเพื่อป้องกัน และลดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 เอาไว้มากมาย อาทิ มีการตั้งจุดคัดกรองในจุดต่างๆ รณรงค์ให้มีการสวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือ วัดไข้ และเว้นระยะห้าง 1-2 เมตร ในทุกๆ กิจกรรม ทุกๆ การเรียนการสอน ไม่เว้นแต่วิชาพลศึกษา ซึ่งทำให้มั่นใจว่าเด็กๆ จะปลอดภัยและไม่อ้วน มีกิจกรรมทางการทำได้อย่างต่อเนื่องและเหมาะสมได้เมื่ออยู่ที่โรงเรียน

       ซึ่งรูปแบบของการจัดกิจกรรมต่างๆ แบบ New Normal ของทั้ง 2 โรงเรียนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ และเป็นกิจกรรมที่ดีที่จะเป็นเกราะป้องกันเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี แต่รูปแบบที่เกิดขึ้นนั้นจะกลายมาเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ลด หวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ ปีที่ 4 นี้หรือไม่ และโรงเรียนใดบ้างจะมีโอกาสเป็น 1 ใน 30 โรงเรียนต้นแบบ New Normal ในปีนี้ สามารถติดตามได้ที่ เว็บไซต์ :  www.artculture4health.com/nofat และที่ www.facebook.com/artculture4h




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]