เรื่องเล่าของ นินาท บุญโพธิ์ทอง ชายผู้ใช้ชีวิตอย่างเร่ร่อนเพื่อทุ่มเทให้กับละครเวที

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 21 สิงหาคม 63 / อ่าน : 1,645


เรื่องเล่าของ นินาท บุญโพธิ์ทอง ชายผู้ใช้ชีวิตอย่างเร่ร่อนเพื่อทุ่มเทให้กับละครเวที

____________________________________________________

Highlights

  • นินาท บุญโพธิ์ทอง เป็นบุคคลที่อยู่คู่วงการละครมากว่า 20 ปี เป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนบทมือรางวัล ผู้กำกับ และเจ้าของกระบวนการละครเยาวชน โดยไม่เคยจบสายละคร เขาเคยไต่ขึ้นบนจุดสูงสุดในวงการ ก่อนจะเข้าสู่จุดหลงทางในชีวิต
  • สิ่งที่เขาเลือกทำคือละครเวทีที่เล่นฟรี ส่วนคนดูก็ไม่ต้องเสียค่าเข้าชม และไม่ออดิชันนักแสดง แต่เลือกรับผู้เล่นทั้งหมดและเขียนบทขึ้นมาจากคนเหล่านั้นเสียเอง
  • สามารถติดตามผลงานของ ‘จุ๊บ’ – นินาท บุญโพธิ์ทอง ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Ninart Studio และ หน้ากากเปลือย Naked Masks 

____________________________________________________

หากคุณคลุกคลีในวงการละครเวที คุณรู้จักหรือคุ้นเคยกับชื่อของ ‘จุ๊บ’ – นินาท บุญโพธิ์ทอง นักทำละครที่อยู่ในวงการนี้มากว่า 20 ปี เพราะเขาเป็นนักเขียนบทมือรางวัล อาจารย์ด้านการละคร และเจ้าของกระบวนการละครเยาวชน แต่หากคุณยังไม่เคยรู้จักเขามาก่อน เราขอแนะนำว่าจุ๊บเป็นนักสร้างละครที่มักจัดแสดงโดยไม่เสียค่าเข้าชม เขาไม่ใช้วิธีออดิชันเพื่อคัดเลือกนักแสดงตามบทแบบที่เราคุ้นชิน แต่กลับเลือกเขียนบทขึ้นใหม่จากคาแรกเตอร์ของแต่ละคน จนกลายเป็นงานฝีมือแบบ tailor-made ประหนึ่งชุดสูทสั่งตัดให้นักแสดงแต่ละคนได้สวมใส่โดยเฉพาะ


เราเดินทางมาถึงโฮสเทลใจกลางย่านเยาวราช สถานที่ซึ่งจุ๊บเอ่ยปากว่าเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของเขาเอง 

        ‘ชายผู้นี้คือตัวละครที่รับบทโดย จอร์จ คลูนีย์ ในภาพยนตร์เรื่อง Up in the Air’ เราเริ่มนิยามชายวัยกลางคนที่นั่งอยู่ตรงหน้ากับตัวละคร ‘ไรอัน บิงแฮม’ ชายหนุ่มผู้มีกระเป๋าเดินทางเพียงหนึ่งใบเป็นสัมภาระเดียวในชีวิต ก่อนออกเดินทางไปทั่วทุกหนแห่งโดยไม่ลงหลักปักฐานกับสิ่งใดในชีวิต เขามีสีหน้าตกใจและหัวเราะ พลางบอกกับเราแบบทีเล่นทีจริงว่า ในเชิงเทคนิคแล้วเขาเป็น ‘โฮมเลส’ ผู้ไร้บ้าน

        “โศกนาฏกรรมเรื่องแรกคือ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ครอบครัวประสบปัญหาทางธุรกิจจนต้องเสียบ้าน สิ่งนี้จึงกลายเป็นมรดกตกทอดถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ว่าไม่มีใครในตระกูลมีที่ดินเลย” จุ๊บเริ่มเล่าเรื่องให้เราฟัง

        “การเช่าที่อยู่จริงจังจึงเปลืองต้นทุนมากกว่า สำหรับผมแค่มีเตียงเล็กๆ และพื้นที่ทำงานส่วนรวมก็เพียงพอแล้ว” จากนั้นเขาถึงไขข้อสงสัยของเราว่าแล้วข้าวของชิ้นอื่นๆ ของเขานั้นอยู่ไหน คนเราจะมีเพียงกระเป๋าเดินทางใบเดียวได้จริงหรือ เขาจึงอธิบายว่าหากเป็นปัญหาเรื่อง ‘สัมภาระ’ นั้น ได้นำไปไว้ที่ห้องเช่าอีกแห่งสำหรับเป็นพื้นที่เก็บของเรียบร้อยแล้ว ส่วนตัวเขาสามารถอาศัยอยู่ที่ใดก็ได้ ขอแค่มีพื้นที่สำหรับทำงาน

        “ผมเป็นคนมีชีวิตอยู่กับละครเพราะมีเรื่องที่อยากเล่า ตลอดเวลาผมจะหาคำตอบว่าเราเลือกใช้ชีวิตอย่างไรให้เล่าเรื่องราวเหล่านั้นให้ได้ บางคนก็ถามผมว่าใช้ชีวิตแบบนี้คุณอยู่ได้อย่างไร ผมอยู่ได้ก็เพราะกินความสุขจากการได้ทำงานนี่แหละ” จุ๊บเผยรอยยิ้มเล็กๆ ก่อนจะขอตัวสักครู่เพราะมีสายเรียกเข้าโทร.เข้ามา 

        ระหว่างนั้นเรามองไปที่คอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่กับน้ำอัดลมหนึ่งกระป๋องบนโต๊ะยาวด้านหน้า พลันนึกถึงภาพศิลปินสมัยก่อนที่ใช้เวลาเกือบทั้งหมดในชีวิตเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน


ละครที่เกิดจาก ‘แรงบันดาลใจ’

        เมื่อไฟบนเวทีเริ่มฉาย ภาพเบื้องหน้าฉากเผยให้เห็นว่าเขาเป็นนักเขียนบทละครระดับรางวัล ผู้กำกับมือฉมัง อาจารย์ละครและเจ้าของกระบวนการละครเยาวชน แต่ด้านหลังม่าน ชีวิตของชายวัยกลางคนที่นั่งอยู่ตรงหน้ากลับมีเรื่องราวมากมายที่เขาต้องฟันฝ่า เขาเคยเดินทางผ่านหลายจุดในวงการละครเวทีมาแล้วแทบทั้งสิ้น ทั้งการเข้ามาในฐานะเด็กใหม่ที่ไม่เคยเรียนละครมาก่อน ผันตัวมาเป็นดาวรุ่งส่องประกายเจิดจรัส แต่แล้วก็พลัดหลงทาง สูญเสียตัวตน จนได้กลับมาค้นพบใหม่อีกครั้งหนึ่ง

        หากย้อนเวลากลับไปเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ชื่อของนินาท บุญโพธิ์ทอง ยังเป็นเพียงเด็กหนุ่มช่างฝันที่เคยเขียนงานตามแบบนิยายตัวตลกสยองขวัญเรื่อง IT ของ สตีเวน  คิง จนกลายเป็นเรื่อง บ่วง และเติบโตมาในฐานะแฟนตัวยงของ อกาธา คริสตี้ เจ้าแม่นิยายสืบสวนระดับโลก เรื่องราวทั้งหมดล้วนหล่อหลอมให้เขารักในความซับซ้อนของการเล่าเรื่องและในตัวมนุษย์ แต่หากพูดถึงผู้กำกับที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขา คนที่เขาต้องเอ่ยนามขึ้นทุกครั้งคือผู้กำกับสไตล์จัดจ้านแห่งวงการฮอลลีวูด เควนติน แทแรนติโน 

        “ผมชอบเขียนบทสนทนาเยอะ แต่เป็นความเยอะแบบไม่พล่าม เพราะผมโตมาในยุคของ เควนติน แทแรนติโน ซึ่งเควนตินชอบบอกว่าตัวเองเป็นเช็กเสปียร์กลับชาติมาเกิด หากฟังครั้งแรกอาจรู้สึกแปลกใจ แต่เมื่อศึกษาจริงๆ จะพบว่าบทละครของแทแรนติโนกับเช็คเสปียร์ถ่ายทอดแอ็กชันหรือการกระทำในทุกประโยค ซึ่งตีความได้ตั้งแต่แอ็กชันระดับบุคคลไปจนถึงแอ็กชันระดับสังคม แต่บทของเควนตินไม่มีทางเป็นละครได้ เพราะถูกออกแบบให้เป็นภาพยนตร์” เขาเปรียบเทียบแนวทางของผู้กำกับคนโปรดกับละครของตนเอง 

        “ลายเซ็นของผมมักนำเสนอมุมที่มืดหม่นแต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง เช่นเดียวกับการดูภาพยนตร์ของแทแรนติโน ในท้ายที่สุดเมื่อภาพยนตร์จบ ผู้คนจะยังรู้สึกถึงความหวัง แต่ความหวังในแบบของแทแรนติโนมักจะเป็นความรัก อย่างในภาพยนตร์เรื่องล่าสุด Once Upon a Time in Hollywood เราจะเห็นได้เลยว่าแพสชันของแทแรนติโนสวยงามมาก นั่นคือสิ่งดีๆ ที่เรารู้สึกว่าช่างเป็นแรงบันดาลใจให้เราเหลือเกิน แล้วเราก็เติบโตขึ้นในแบบของเขา”


ละครเกิดจาก ‘ตัวตน’

        ย้อนกลับไปราวยี่สิบปีก่อน เขาคือนักศึกษาที่ซิ่วมาจากคณะนิติศาสตร์และจบที่คณะเศรษฐศาสตร์ จนได้เข้าร่วมคณะละครกับ ‘ครูช่าง’ – ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ด้วยความบังเอิญ หลังจบปริญญา เขาตัดสินใจลาออกจากงานธนาคารและมุ่งมั่นว่าจะทำงานด้านละครอย่างเต็มตัว ในเส้นทางที่เขาพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงเกือบตลอดเวลา ชายคนนี้เผยความรู้สึกที่อยู่เบื้องลึกในจิตใจซึ่งขัดกับท่าทีสบายๆ จากภายนอกที่เราเห็น

        “ณ ตอนนั้นและตอนนี้ ไม่ใช่ว่าผมไม่กลัวความไม่แน่นอนเลย อันที่จริงผมกลัวมากเสียด้วยซ้ำ” เขายอมรับว่าในอดีตความรู้ของตนเองยังน้อยนิดในสายงานนี้ 

        “เมื่อตอนผมอยู่กับครูช่าง ความกดดันของผมนั้นมีมากถึงขั้นว่าผมวางกระเป๋าไว้หน้าโรงละคร เพราะพร้อมหยิบกระเป๋ากลับบ้านแทบทุกเมื่อ” จุ๊บตอบปนหัวเราะเมื่อนึกถึงประสบการณ์การทำงานจริงโดยไม่เคยเรียนรู้มาก่อน 

        “ใจจริงผมชื่นชมคนที่เลือกความมั่นคงแต่ไม่ได้ทำในสิ่งที่รักทั้งหมด เพราะตัวผมไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ผมเลือกทำในสิ่งที่อยากทำ แต่เป็นที่แน่นอนแล้วว่าไม่มีความมั่นคงเลย นั่นจึงเป็นผลกระทบที่ทั้งสองฝ่ายต้องหาวิธีจัดการ” เขากำลังพูดถึงซีรีส์เอาชีวิตรอดหลังยุคโลกล่มสลายเรื่อง The 100 โดยเปรียบเทียบกับธีมหลักของเรื่องที่ว่า ‘ไม่ใช่แค่เอาชีวิตรอด แต่จงเป็นมนุษย์’ 

        “คำถามคือมนุษยชาติต้องฝืนความเป็นมนุษย์ขนาดไหนเพื่อให้อยู่รอด ความรู้สึกของผมจึงเป็นเช่นเดียวกับข้อความนั้น ว่าชีวิตไม่ใช่แค่การอยู่รอด แต่เป็นการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขด้วยต่างหาก”


ละครเกิดจาก ‘ผู้ชม’

        หลังจากตัดสินใจเลือกเส้นทางสายละคร เขาจึงต้องเรียนรู้และทดลองทำงานจริงกับครูช่างเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี จนถึงวัยที่เขาเริ่มเติบโตและโผบินออกจากรังเพื่อเริ่มทำละครในแบบของตัวเอง แต่จากคำบอกเล่าของชายวัยกลางคนที่นั่งอยู่ตรงหน้า เขามองว่าจุดที่เริ่มประสบความสำเร็จกลับเป็นจุดที่น่ากลัวที่สุด

        “ช่วงที่ไม่มีสติคือตอนที่กำลังประสบความสำเร็จนี่แหละ” เขาเปรียบเทียบตัวตนในอดีตว่าตัวเองเคยเป็น ปีเตอร์ บ็อกดาโนวิช ผู้กำกับดาวรุ่งในวงการที่ผู้คนต่างพูดถึง แต่ตำแหน่งนี้ก็มาพร้อมความคาดหวังที่มากขึ้นตามมา 

        “ละครที่ทำให้คนรู้จักผมคือเรื่อง แฮมเบอร์เกอร์ม็อบ ละครการเมืองแนวโรแมนติก ซึ่งตอนนั้นมีอาจารย์สองท่านเขียนวิจารณ์ละครในหนังสือพิมพ์เต็มหน้ากระดาษ จนผมรู้สึกทึ่งว่านี่คืองานของคนตัวเล็กที่ไม่มีใครรู้จัก แต่มีนักวิจารณ์มาเขียนถึง จนทำให้ผู้ชมแน่นขนัดในสิบรอบสุดท้าย ผมเกิดมาจากจุดนั้น” แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ยอมรับว่าในช่วงเวลานับจากนั้น ตนเองเริ่มมีแรงกดดันจากคำวิจารณ์สูงขึ้นมาก 

        “หลังจากงานนั้น เส้นทางของผมเป๋ไปประมาน 3 ปี เมื่องานถัดไปไม่เป็นไปอย่างที่หลายคนคาดหวังไว้ งานของผมยิ่งทำก็ยิ่งหลงทาง เพราะถึงจุดหนึ่งเมื่อผมเริ่มฟังผู้ชมและนักวิจารณ์ จนตัวเองเริ่มหลงลืมไปว่าสิ่งที่เราเป็นคืออะไรกันแน่ เรายังมีวิธีเล่าอย่างไร และคนที่เราอยากให้ฟังเรื่องราวนี้ยังรู้สึกอย่างที่เราอยากให้รู้สึกหรือไม่ สิ่งที่ละครกับผมทำได้จึงเป็นการเช็กกับผู้ชมอย่างจริงใจที่สุดในแบบที่มนุษย์คนหนึ่งรู้สึก”

        เมื่อหลงทางไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง เขาเริ่มค้นหาแนวทางของตนเองใหม่อีกครั้ง แม้จะไม่ได้เรียนจบสายละครโดยตรง แต่เขาก็ใช้วิธีศึกษาค้นคว้าในเชิงทฤษฎีอย่างมาก ซึ่งตรงข้ามกับแนวทางของครูช่างที่ส่งเสริมให้ลงมือทำ นั่นคือวิธีการทำงานของตัวเองที่เป็นส่วนผสมระหว่าง ‘สัญชาตญาน’ ในภาคปฏิบัติ กับ ‘เทคนิค’ ภาคทฤษฎี จนเมื่อเข้าสู่กระบวนการทดลองและค้นหาเป็นระยะเวลากว่าสิบปี ความนิ่งในผลงานก็เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาพร้อมกับความบังเอิญที่เกิดขึ้นเมื่อห้าปีที่แล้ว ตอนที่เขาเปลี่ยนสถานะจาก ‘นักทำละคร’ เป็น ‘ที่ปรึกษา’ ให้กับเยาวชนในรุ่นมัธยมและมหาวิทยาลัย 

        “สาเหตุที่ฝีมือผมเริ่มนิ่งขึ้นได้ เพราะผมไม่ได้ทำละครของตัวเองอย่างเดียวอีกต่อไป เมื่อได้ถอยตัวเองออกมาเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ช่วย ทำให้ผมเริ่มเห็นภาพในมุมมองที่กว้างมากขึ้น เห็นว่าอะไรที่ทำแล้วเวิร์กหรือไม่เวิร์ก เห็นการเปลี่ยนแปลงของคนทำ คนดู บริบททางสังคม และรสนิยมที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน”

        ขณะเดียวกัน มุมมองของเขาต่อนักวิจารณ์ ซึ่งเราเชื่อว่าน่าจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับผู้สร้างสรรค์งานกลับเป็นไปในเชิงบวก “เรามีคนดูประจำที่ไม่ได้โจมตี แต่ถูกกระตุ้นทุกครั้งที่ดู ถึงแม้คำวิจารณ์จะโหด แต่เราก็รู้ว่าเขาหวังดีมาก” 

        เขากล่าวด้วยน้ำเสียงจริงใจ และเสริมว่าความโชคดีหนึ่งเมื่อก้าวเท้าเข้ามาสู่เส้นทางนี้ คือการได้พบกับผู้คนดีๆ ที่หยิบยื่นโอกาสมาให้  

        “นอกจากครูช่างที่ให้โอกาสเราถึงที่สุด ผมได้พบผู้ชมที่ให้โอกาสเพราะชื่นชอบผลงานของเรา ทั้งที่จ่ายเงินเพื่อมาดูละคร หรือช่วยให้เรามีงานต่อ ทั้งหมดล้วนชี้นำและชักพาผมไปสู่โอกาสใหม่ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมเห็นแล้วว่า สุดท้ายคนทำงานสายนี้ยังอยู่ได้เพราะผู้ชมจริงๆ”


ละครเกิดจาก ‘ชุมชน’

        แม้เขาจะมองตัวเองว่าจุ๊บเป็นผู้ชายสุดเนิร์ดคนหนึ่งที่รักในการชมผลงานภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์และละครเวทีมามากมาย แต่ถ้าให้พูดถึงตัวเองอย่างจริงจัง เขาเลือกนิยามตัวเองว่าเป็นคนที่ใกล้เคียงกับผู้กำกับอย่าง วู้ดดี้ อัลเลน มากที่สุด โดยมองว่าสิ่งแวดล้อมเองก็ส่งผลถึงเรื่องราวที่ถูกเล่าออกมา

        “ผมเป็น วู้ดดี้ อัลเลน เป็นวันนาบีที่อยากเป็นชาวนิวยอร์กครับ (หัวเราะ) ผมสนุกที่ได้อยู่ในเมือง และถ่ายทอดเรื่องราวและความสัมพันธ์ของคนเมือง คำหนึ่งที่ผมติดมาจากครูช่าง คือ ‘Publicly Personal’ เมื่อเราเล่าเรื่องส่วนตัว แต่ดันไปแตะเหตุการณ์ของสังคมหรือการเมือง เช่น ภาพยนตร์เพลงเรื่อง Everyone Says I Love You เมื่อตัวละครลูกเปลี่ยนไปเข้าข้างพรรคเป็นเดโมแครต ในขณะที่พ่ออยู่ฝั่งพรรครีพับลิกัน จนถึงจุดหนึ่งที่พ่อเครียดมากเพราะลูกต่อต้านทุกสิ่งที่พ่อทำ แต่ตอนท้ายกลับเฉลยแบบฮาๆ ว่าลูกเกิดอาการประหลาดทางร่างกาย จนทำให้ความคิดทางการเมืองเปลี่ยนไป ผมชื่นชอบมุกแบบนี้”

        นอกจากนั้นเขายังเปรียบเทียบชุมชนงานสร้างสรรค์ให้เราเห็นภาพ ด้วยโมเดลของภาพยนตร์โรแมนติกชุดไตรภาคอย่าง Before Sunrise, Before Sunset และ Before Midnight ซึ่งเนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นบทสนทนาบนถนนตัดกับภาพทิวทัศน์ที่สวยงามของยุโรป โดยเขาบอกว่า ริชาร์ด ลินเคลเตอร์ ผู้กำกับ ก็เป็นหนึ่งใน Texas Filmaker ที่มีเครือข่ายกับนักสร้างหนังที่เทกซัส ซึ่งชี้ให้เห็นเทรนด์ของ Local Filmaker หรือนักทำหนังในระดับท้องถิ่น

        “ภาพยนตร์เรื่อง Moonlight (ภาพยนตร์ LGBTQ+ ดีกรีรางวัลออสการ์) ก็มาจากเครือข่ายคนทำหนังในไมอามี ส่วน La La Land ก็มาจากเครือข่ายที่แอลเอ ดังนั้นเมื่อ La La Land กับ Moonlight สู้กันบนเวที จึงเป็นหนังจากสองเมือง สองชุมชนที่มาขับเคี่ยวกัน ดังนั้น ภาพยนตร์จึงแฝงเรื่องราวในชุมชนนั้น” เขากล่าวด้วยความหวัง ว่านี่คือสิ่งที่เขาพยายามผลักดันในให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมดจึงทำให้เขาเริ่มทำสิ่งที่เรียกว่า ‘ชุมชนละคร’ เมื่อห้าปีที่ผ่านมา 

        “หลายครั้งผมไม่ได้ทำละครเพื่อค้ากำไร แต่ตั้งใจให้พื้นที่อยู่ต่อ ดังนั้น ถ้าใครสนใจงานด้านนี้ ก็จะมีโอกาสเข้ามาหาเขาเรื่อยๆ” 

        เช่นเดียวกับการเปิดรับนักแสดงส่วนใหญ่ทั้งหมดโดยไม่ผ่านการออดิชัน หรือการประสานหน่วยงานเพื่อมอบทุนละคร ทั้งหมดทำให้เราเชื่อว่าเขาเองต้องการสร้างชุมชนเพื่อสร้างโอกาสสำหรับทุกคน เช่นเดียวกับโอกาสที่ตัวเองเคยได้รับในอดีต 

ละครเกิดจาก ‘มนุษย์’

        ในฐานะผู้ชม เรามักเห็นพล็อตยอดนิยมที่ได้รับการ ‘ผลิตซ้ำ’ อยู่เสมอ เช่น ละครไทยกับเรื่องราวความรักใคร่ เช่นเรื่องของสามีที่นอกใจภรรยาไปมีคนอื่นเกิดเป็นเรื่องราวดราม่าถูกใจคนดู หรือภาพยนตร์ฝั่งตะวันตกที่มักสะท้อนการเติบโตของตัวละคร เมื่อเรียนรู้และฝ่าฟัน จึงเติบโตเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ในฐานะนักเล่าเรื่องเขากลับมองว่า ‘เรื่องราว’ ของ ‘มนุษย์’ ไม่มีวันซ้ำ เพราะ ‘ละคร’ สามารถเล่าได้ไม่รู้จบ

        “สิ่งที่ไม่ทำให้เรื่องซ้ำคือแอ็กชันของชีวิต” 

        “พล็อตเป็นเพียงกลไกหนึ่งในการสร้างเรื่อง เพราะส่วนที่แท้จริงวัดกันที่แอ็กชัน นั่นคือการตัดสินใจและลงมือทำ ต่อให้เป็นพล็อตแย่งสามีภรรยา สำหรับผมมองว่านี่เป็นแอ็กชันใหม่เสมอ หากสมมติว่าคนที่นอกใจเป็นคนที่ขาดอะไรบางอย่างมาตั้งแต่เด็กและไม่เคยรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรเลย จนกระทั่งรับรู้ได้ในตอนนี้ แต่ความต้องการที่ว่ากลับมาจากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สามีหรือภรรยาของตนเอง เรื่องราวนี้จะกลายเป็นเรื่องของคนคนหนึ่งที่ถูกเลี้ยงดูให้ปิดกั้นความรู้สึกของตัวเอง จนมาค้นพบความต้องการที่แท้จริงเมื่อสายไป ในขณะเดียวกัน การนอกใจอาจเป็นเรื่องของบุคคคลที่เคยได้ทุกอย่างตามต้องการตลอด จนไม่รู้คุณค่าของสิ่งที่มีอยู่เลยก็ได้ เรื่องของการนอกใจจึงกลายเป็นสองกรณี เป็นคนละแอ็กชัน แต่มาจากพล็อตเดียวกัน ดังนั้น ในการเขียนบท พล็อตอาจดึงดูดให้คนเข้ามาดู แต่เมื่อดูจบแล้ว สิ่งที่ผู้ชมรับรู้คือแอคชันที่อยู่ด้านใน

        “ผมตีความคำว่าละคร ในภาษาอังกฤษคือคำว่า Drama ซึ่งหมายถึงแอ็กชัน ดังนั้น แอ็กชันจึงมีอยู่ทุกหนแห่ง เรื่องส่วนตัวมีอยู่ทุกที่ ยิ่งมนุษย์บนโลกนี้มีจำนวนมากเท่าไหร่ แอ็กชันก็ยิ่งมีจำนวนมากเท่านั้น แอ็กชันในเรื่องเล่าจึงไม่เคยซ้ำ มีเพียงแค่พล็อตที่ซ้ำ สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นกับดักของนักเล่าเรื่อง เมื่อมีพล็อตมาหุ้มมากเกินไป แต่แอ็กชันภายในไม่ดี ตัวละครจึงไม่มีพัฒนาการ เรื่องจึงไม่มีใจความหลัก กลายเป็นการเล่าแค่ ‘เรื่อง’ ให้ฟังแทน”

        แม้กระทั่งในช่วงกักตัวจากโควิด-19  เขาก็ยังผลิตผลงาน ‘ละครออนไลน์’ อย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าสถานการณ์เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เขาได้คิดใหม่ว่า ‘ละคร’ ที่แท้จริงคืออะไร เมื่ออดีตเขาเคยเชื่อว่าละครต้องแชร์สเปซ แต่หากไม่สามารถใช้พื้นที่ เรายังสามารถแชร์ ‘ความรู้สึก’ ถึงกันได้หรือไม่ 

        “ถ้าเราเข้าใจเนื้อในของสิ่งที่ทำ การแชร์ผ่านออนไลน์เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่หากตั้งนิยามของละครต่างออกไป ก็จะสามารถมองว่านี่เป็นอุปสรรคได้เช่นเดียวกัน ผมเข้าใจว่าละครออนไลน์อาจเป็นอุปสรรคต่อผู้ชมด้วย จึงได้แต่หวังว่าฝั่งผู้ทำและผู้ชมจะเจอความสนุกบางอย่างในกระบวนการนั้นแทน” 

        เมื่อชีวิตของนักเล่ายังคงดำเนินไปเพราะมีเรื่องราว เราจึงถามต่อว่าแล้วเรื่องเล่าแบบไหนที่เขากำลังมีชีวิตอยู่เพื่อเล่ามัน

        “ช่วงนี้ผมกำลังรู้สึกกับประเด็นความคิดต่างระหว่างเจเนอเรชัน” เขากล่าวในฐานะคนวัยผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานกับเด็กวัยรุ่น


“ผมเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เราเคยชอบ เคยรักหรือมีความสุขด้วย อาจกลายเป็นสาเหตุที่คนอีกรุ่นหนึ่งมองว่านี่คือความเหลื่อมล้ำในสังคม เมื่อพระเอกชักปืนยิงชาวอาหรับในภาพยนตร์เรื่อง Indiana Jones ผู้คนเคยมองว่าตลก แต่ตอนนี้อาจไม่ตลกอีกต่อไป เมื่อเรื่องราวแฮปปี้เอนดิ้งยุค 80s อาจกลายเป็นโศฎนาฏกรรมของอีกเรื่อง แล้วคนรุ่นเก่าที่เติบโตและยังรักในสิ่งเก่าจะสามารถเติบโตพร้อมกับคนรุ่นใหม่อย่างไรให้มีความสุข ในเมื่อมีความสุขกับรุ่นเก่าก็ไม่ได้ มีความสุขกับรุ่นใหม่ก็ไม่ชิน นี่จึงเป็นประเด็นปัญหาที่ผมยังมีชีวิตรอดเพื่อถ่ายทอดต่อไป ตราบใดที่ผมยังมีสมองและสติ” เขาหัวเราะร่า 

        “ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะเริ่มร่อยหรอไป ผมจึงต้องเรียนรู้และเตรียมการเพื่อจะลงหลักปักฐานด้วย”

        ท่ามกลางเรื่องราวนับไม่ถ้วนที่ได้รับการประดิษฐ์ คิดค้น จนได้นำมาฉายชัดอยู่บนเวที ในจอแก้ว หรือฉายที่โรงภาพยนตร์ เรื่องราวเหล่านี้ล้วนมีขึ้นเพื่อถ่ายทอดชีวิต สะท้อนสังคม และบอกเล่าเรื่องราวบางอย่างให้ผู้คนได้รับรู้ นิยามของ ‘ดรามา’ หรือ ‘ละคร’ จึงไม่ผิดแผกไปจากคำกล่าวของครูช่างมากนักที่บอกว่า…

        ‘ละครคือชีวิต ชีวิตก็คือละคร’

พิกัด :  https://bit.ly/3l6jul9



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]