ปิดเมือง เปิดความสุข โคกสลุงทำอย่างไรให้กินอิ่ม นอนหลับ แม้ไวรัสระบาด

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 21 เมษายน 63 / อ่าน : 2,796


ราวๆ 1 เดือนแล้วที่ชุมชนไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ประกาศ lockdown ชุมชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

กว่า 2,000 ครัวเรือนใช้ชีวิตกันในหมู่บ้าน งดการสัญจรทางไกล งดการทำกิจกรรมรวมกลุ่ม งดการพบปะเจอหน้าพูดคุยกันอย่างเคย และลดการเสพข่าวสารบนโลกออนไลน์ที่จะสร้างความตื่นตระหนกและสับสน ในบรรยากาศที่ทุกคนต่างหวาดกลัวภัยไวรัส

เป็นการแยกกันอยู่ แต่อีกด้านก็มีการรวมกันทำประโยชน์ ผ่านบทบาทที่ตนเองมีความพร้อม

ชาวบ้าน พระ อาสาสมัครชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ตำรวจ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และคนอีกมากมายในโคกสลุง ร่วมกันเป็นฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนชุมชนให้ดำเนินไปได้ แม้อยู่ในภาวะวิกฤติ

พ่อมืด-ประทีป อ่อนสลุง สถาบันไทยเบิ้ง หนึ่งในแกนนำชุมชนเล่าให้เราฟังถึงความร่วมมือเพื่อจัดการชุมชนอย่างเป็นระบบ แม้จะเกิดโรคระบาดกระทั่งนำมาสู่การปิดชุมชน แต่วันนี้คนที่นี่ยังกินอิ่ม นอนหลับ และปลอดภัย

เป็นการปิดเมือง ฉบับโคกสลุงโมเดล ปิดเมือง - โดยที่ประตูความสุขยังเปิดอยู่

ขั้นที่ 1: ศึกษาข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านและเชื่อถือได้

หลังข่าวคราวเรื่องการแพร่ระบาดมาถึงโคกสลุง สิ่งแรกที่ชุมชนให้ความสำคัญคือการตามหาแหล่งข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ เพื่อศึกษาว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีต้นทางมาจากไหน แพร่ระบาดอย่างไร แล้วคนธรรมดาอย่างเราๆ จะป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเผชิญหน้ากับโคโรนาไวรัสนี้ด้วยวิธีแบบใดบ้าง

“การที่เรารับรู้ข่าวสารที่มากเกินไป และไม่รู้ว่าข่าวมาจากไหนบ้าง มันทำให้เราเกิดวิตกจริตเหมือนกัน แรกๆ ก็เป็นนะ ระแวงไปหมด ยิ่งมีข่าวว่าคนกลุ่มเสี่ยงกลับมาที่ชุมชน โอ้ ปวดหัวเลย เพราะฉะนั้น การรับข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ไม่รับข้อมูลจากโซเชียลมากเกินไป มันก็จะทำให้ความวิตกลดลง”

เพื่อทำความเข้าใจและรับมือกับสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสารที่ชุมชนศึกษาหลักๆ จึงมาจากกระทรวงสาธารณสุข และสำนักระบาดวิทยาของประเทศไทย ไปจนถึงศึกษามาตรการจัดการของแต่ละประเทศ และสถานการณ์ทั่วโลก

 

สิ่งนี้สำคัญอย่างไร พ่อมืดบอกว่า เพื่อให้การจัดการชุมชนเป็นไปอย่างมีระบบ การตัดสินใจใดๆ ต้องยืนอยู่บนข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านและเชื่อถือได้

“เราต้องรับข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และลดการเสพข่าวจาก Facebook ที่เราก็ไม่รู้ว่าใครโพสต์บ้าง เชื่อได้ไหม ดังนั้น เราจึงไปสืบค้นดูแนวทางปฏิบัติ ทิศทาง มาตรการการป้องกัน และการเฝ้าระวัง ซึ่งแน่นอนว่ามาตรการนั้นจะดีขนาดไหน แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติ มันก็ไม่เกิดประโยชน์”

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มรุนแรงขึ้น ชุมชนจึงออกประกาศยกเลิกกิจกรรมจากบุคคลภายนอกที่จะมาดูงานในชุมชน และออกมาตรการปิดชุมชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

“เมื่อสถานการณ์มันเริ่มรุนแรง เราจึงปิดชุมชนตั้งแต่ก่อนรัฐบาลประกาศ เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อและแพร่เชื้อ มีการยกเลิกกลุ่มคนที่จะมาเรียนรู้กิจกรรมในชุมชนไป 2-3 กลุ่ม ปิดพิพิธภัณฑ์ชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติ เรามองว่าที่ทำแบบนี้ก็เพื่อรับผิดชอบต่อสังคมด้วย”

 

ขั้นที่ 2: การสื่อสารที่ไม่สร้างความขัดแย้ง

เมื่อมีข้อมูลที่รอบด้านและเชื่อถือได้อยู่ในมือ ขั้นต่อมาคือการปฏิบัติจริง ด้วยบรรยากาศที่ผู้คนรู้สึกไม่มั่นคง และวิตกง่ายเป็นทุนเดิม โจทย์คือต้องสื่อสารอย่างไรเพื่อให้มาตรการและวิธีการปฏิบัติถูกนำไปใช้โดยไร้ความขัดแย้ง

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสื่อสาร คือเหล่าผู้นำชุมชนที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม ไม่ว่าจะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร รพ.สต. ไปจนถึงเจ้าอาวาส

“เราใช้โครงสร้างใหญ่คือ ผู้นำชุมชนในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เจ้าอาวาส ให้สอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น

“อีกส่วนคือ การสื่อสารด้วยการเอาข้อมูลต่างๆ มาแปลงเป็นภาษาชาวบ้านที่เขาเข้าใจง่าย และรู้สึกสบายหู เพราะปัญหาหนึ่งที่เราเห็นคือ เวลาผู้นำจะสื่อสาร ก็มักออกไปในเชิงของการใช้อำนาจ เราก็เปลี่ยนมาใช้วิธีให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า COVID-19 มันอันตรายอย่างไร เราจะป้องกันได้อย่างไร ต้องทำตัวแบบไหน หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราอย่างไรเพื่อที่จะลดความเสี่ยง ภาวะผู้นำในการสื่อสารนั้นสำคัญมาก”

พ่อมืดยกตัวอย่างเจ้าอาวาสวัดโคกสําราญ พระผู้เป็นที่นับถือในชุมชน เมื่อชุมชนประกาศปิดตัว เจ้าอาวาสได้ประกาศกับญาติโยมและชาวบ้านที่จะมาขายของในวัด โดยออกมาตรการและความร่วมมือกับสาธารณสุขชุมชน กำหนดระเบียบของการขายของบริเวณวัด คือ หนึ่ง แม่ค้าต้องใส่หน้ากากอนามัย และมีเจลล้างมือ สอง แผงร้านต่างๆ ต้องตั้งห่างกัน 2 เมตร สาม ห้ามแม่ค้าพ่อค้าคุยกัน และ สี่ ชาวบ้านที่เข้ามาซื้อของต้องใส่หน้ากากอนามัยด้วย โดยตั้งกฎร่วมกันว่าหากใครฝ่าฝืน จะถูกห้ามขายของในบริเวณวัดตลอดชีวิต

 

 

พ่อมืดบอกว่า มาตรการเหล่านี้ถูกปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ส่วนหนึ่งก็เพราะหลวงพ่อมีภาวะผู้นำที่คนในหมู่บ้านนับถือ เป็นพระที่มีระเบียบและเข้มงวด มีทั้งความอ่อนโยนและความจริงจัง มีการสื่อสารข้อมูลชัดเจน น่าเชื่อถือ และต่อเนื่องทุกวัน

“อีกส่วนคืองานเชิงรุก โดยสถานีอนามัยที่โคกสลุง ก็จะมีทั้งการทำกิจกรรมกับผู้นำชุมชนในตำบลต่างๆ หรือมีงานศพ อนามัยก็จะมาแนะนำเจ้าของงานเรื่องของการจัดสถานที่ จัดที่นั่ง ระยะห่าง โดยทำงานร่วมกับหลวงพ่อในวัดในการกระจายข่าวสารและมาตรการต่างๆ ให้ชาวบ้านได้รับรู้”

ขั้นที่ 3: ในน้ำมีปลา ในยุ้งมีข้าว ในสวนมีผัก

แน่นอนว่า การมาของ COVID-19 มิได้ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์เท่านั้น แต่สะเทือนไปถึงระบบเศรษฐกิจไม่ว่าในระดับประเทศหรือชุมชน เรากลัวโรคระบาดนั่นก็ใช่ แต่อีกด้านเราก็วิตกไม่น้อยกับปัญหาปากท้อง

คำถามสำคัญคือ ชาวบ้านยังกินอิ่มนอนหลับไหม เมื่อโคกสลุงประกาศปิดชุมชน

“ถ้าเป็นบ้านนอกอย่างเราก็จะไม่รุนแรงเท่ากับในเมือง โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ในชุมชนที่อยู่ในหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เขามีข้าวอยู่ในยุ้ง มีผักอยู่ในสวน หรือแค่ไปแถวเขื่อนก็มีปลากิน คนที่อยู่ในโครงการผักพื้นบ้านอินทรีย์ที่ปลูกไว้ ตอนนี้ก็ออกดอกออกผลไม่รู้เท่าไหร่ เราไม่ได้ปลูกเพื่อขาย เราปลูกเอาไว้กิน แบ่งญาติพี่น้องและเครือข่าย”

เมื่อปีที่แล้ว กลุ่มสถาบันไทยเบิ้งอันมีพ่อมืดเป็นหนึ่งในแกนนำ ได้เริ่มทำโครงการ ผักพื้นบ้านอินทรีย์ ที่มีเป้าหมายคือการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ไปจนถึงการอนุรักษ์อาหารพื้นบ้าน ซึ่งมีทั้งการให้ความรู้ตั้งแต่การปลูก การดูแล และการทำธนาคารเมล็ดพันธุ์เพื่อชาวบ้านและพี่น้องเกษตรกรในเครือข่าย

 

 

 

เหล่านี้คือความมั่นคงทางอาหาร ประจวบกับการเกิดขึ้นของภาวะวิกฤติ COVID-19 ชุมชนจึงยังท้องอิ่ม นอนหลับ และปลอดภัยแม้รายได้หดหาย และเงื่อนไขในการใช้ชีวิตมีมากขึ้นก็ตาม

พวกเขากล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘เรื่องของสุขภาพและการมีชีวิตอยู่นั้นสำคัญกว่า ถ้ายังไม่ตายเราก็ยังหาเงินได้’

“ปีที่แล้วเราได้ทำโครงการผักพื้นบ้านอินทรีย์และขอพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักจากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ พอได้มาเราก็เอามาปลูก พอเกิดวิกฤติ COVID-19 ขึ้นมา เราก็เพาะเมล็ดพันธุ์และแจกให้กับสมาชิก ให้กับหน่วยงานที่เขาต้องทำงานกับชุมชน คืออย่างน้อย คนในโคกสลุงที่อยู่ในโครงการนี้เขาก็มีอาหารกิน มีผักที่เขาปลูกเอง และปลอดภัยเพราะไม่ใช้สารเคมี”

ขั้นที่ 4: พลิก COVID-19 ให้เป็นโอกาสในการเติบโตของเยาวชน

พิพิธภัณฑ์ไทยเบิ้งโคกสลุงตั้งอยู่ใจกลางชุมชน ที่นี่เป็นจุดรวมตัวกันของชาวบ้าน เด็ก และเยาวชนในการทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเล่น ร้องรำทำเพลง ทำอาหาร หรือเรียนรู้ศิลปะชุมชนจากผู้เฒ่าสู่เด็กน้อย ไปจนถึงเป็นสถานที่รับแขกผู้ที่มาเยี่ยมเยียนเรียนรู้ชุมชน

‘เมล็ดข้าวเปลือกไทยเบิ้ง’ คือชื่อกลุ่มเยาวชนที่ทำงานร่วมกับพ่อมืดในการขับเคลื่อนงานทางวัฒนธรรมของโคกสลุง หากไม่เกิดวิกฤติ COVID-19 เวลานี้พวกเขาคงง่วนอยู่กับการทำกิจกรรมและโครงการมากมายเป็นแน่

 

พ่อมืดเล่าว่า เมื่อยกเลิกกิจกรรมและปฏิเสธกลุ่มคนที่นัดหมายเดินทางมาเรียนรู้ชุมชน เขาจึงเกิดไอเดียโดยอาศัยช่วงวิกฤติเพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ บนแนวคิดที่ว่า ‘พวกเขาจะเติบโตก็ในช่วงวิกฤตินี่แหละ ถ้าสบายๆ จะไปเรียนรู้อะไร’

“ตอนนี้เด็กๆ เยาวชนก็มาช่วยกันปลูกผัก และจะมีการทำมินิโปรเจ็คต์ คือเราจะมีงบของสถาบันไทยเบิ้งให้คนละ 5,000 บาท ให้เขากลับไปคิดโปรเจ็คต์ในหัวข้อ ‘เราจะมีชีวิตในช่วงวิกฤติ COVID-19 อย่างไร’

“ตอนนี้พวกเขากำลังกลับไปพัฒนาโครงการนี้อยู่ เช่น เยาวชนในกลุ่มคนหนึ่งกลับไปสร้างกิจกรรมปลูกผักที่บ้าน พาน้อง พาแม่ พาพ่อใหญ่ พาใครต่อใครมาทำสวนผัก และใช้กระบวนการพูดคุยในกิจกรรม สิ่งที่ได้มากกว่าผักคือ ความสัมพันธ์ของพี่น้อง ครอบครัวที่ไม่เคยได้พูดคุยกัน ก็ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน”

พ่อมืดยังบอกอีกว่า อีกไม่นานจะมีการจัดพรีเซนต์โปรเจ็คต์ผ่านทางวิดีโอคอล ซึ่งเด็กและเยาวชนคงได้เรียนรู้อะไรมากมายจากสิ่งที่ตนไปคิด ทำ และนำมาบอกเล่า - เราเองก็เชื่อเช่นนั้น

ด้วยความที่โคกสลุงคือชุมชนชาติพันธุ์ไทยเบิ้งที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายทศวรรษ กับการทำงานขับเคลื่อนชุมชนเชิงวัฒนธรรมเพื่อต้านทานอำนาจทุนใหญ่ที่กำลังรุกคืบ ไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใดเมื่อถึงคราววิกฤติ ชุมชนโคกสลุงจึงมีคนทำงานที่แข็งแรง มีกลุ่มผู้นำในหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันอย่างมีสติ มีภาคประชาชนที่เตรียมพร้อมที่จะร่วมมือ มีกลุ่มเยาวชนที่เป็นเหมือนพลังเสริมคอยพร้อมรับทุกสถานการณ์ เพื่อก้าวข้ามภัยพิบัติครั้งนี้ไปด้วยกัน

“มันได้เห็นความร่วมมือในเวลายากลำบากนะ” พ่อมืดว่า

 

 

 

ที่มาจาก : ผู้นำแห่งอนาคต • 2020.04.20  เว็บไซต์ leadershipforfuture.com  



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]