“ข้าวแลกปลา” ชาวเล ชาวดอย สู้ภัยโควิด-19 | กลุ่มชาติพันธุ์เหนือ-ใต้ จัดตั้งโครงการข้าวแลกปลา ชาวเลชาวดอย สู้ภัยโควิด-19 เชื่อ เศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมจะทำให้อยู่รอดได้

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 16 เมษายน 63 / อ่าน : 890


“ข้าวแลกปลา” ชาวเล ชาวดอย สู้ภัยโควิด-19 | กลุ่มชาติพันธุ์เหนือ-ใต้ จัดตั้งโครงการข้าวแลกปลา ชาวเลชาวดอย สู้ภัยโควิด-19 เชื่อ เศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมจะทำให้อยู่รอดได้


ขณะที่ไฟป่าภาคเหนือยังไม่มีวี่แววจะมอดดับ ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวภาคใต้ ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดตั้งโครงการข้าวแลกปลา ชาวเลชาวดอยสู้ภัยโควิด-19 นับเป็นการช่วยเหลือกันเองในยามวิกฤต เพราะประชาชนบางกลุ่มอาจเข้าไม่ถึงสิทธิตามมาตรการเยียวยาของภาครัฐ

.

1 ภาคเหนือ บนดอยสูง ยังคงประสบปัญหาไฟป่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์หลายชุมชน ต้องพากันออกจากหมู่บ้านมาดับไฟ ทำให้วัตถุดิบปรุงอาหารอย่างผักสดผลไม้ขาดแคลน เพราะขาดกำลังคนที่จะไปเก็บเกี่ยว พวกเขากินอยู่โดยอาศัยผลผลิตทางการเกษตรที่กักตุนไว้ หรือหากจะหาได้เพิ่มเติมในแต่ละวัน ก็มีเพียงเล็กน้อย แต่ก็ยังพอมีข้าวไร่ซึ่งปลูกไว้ก่อนหน้านี้ และมากพอจะเก็บไว้กินได้อีกนาน นอกจากนี้ ยังมีเหลือสำหรับนำไปขายแลกอาหารแห้งจากในเมือง แต่งานดับไฟก็กินกำลัง รวมถึงมาตรการรจำกัดการทำกิจกรรมของรัฐ ก็เป็นอุปสรรคทางการค้า

.

ส่วนภาคใต้ หลายพื้นที่เคยมีรายได้จากการท่องเที่ยว แต่สถานการณ์โรคระบาดทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก แม้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย ที่หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ยังคงสามารถออกเรือหาปลาได้ แต่พวกเขาก็ขาดพื้นที่ทางการค้า จากการปิดให้บริการของแหล่งท่องเที่ยว และกลุ่มลูกค้าที่เคยเป็นนักท่องเที่ยวก็หายไป ทำให้ขาดรายได้ และตกที่นั่งลำบาก ชาวเลหลายครอบครัวมีเงินสำหรับซื้อข้าวกินได้แค่มื้อต่อมื้อเท่านั้น ซึ่งเดิมทีคนกลุ่มนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นคนกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการด้านต่าง ๆ ของรัฐ เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ก็ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่าเดิม

.

2 ภายใต้การทำงานของ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย พวกเขาระดมความคิดแก้ปัญหา ด้วยต้นทุนที่มีอยู่ของชาวดอยและชาวเล จึงเกิดเป็น "โครงการข้าวแลกปลา ชาวเลชาวดอยสู้ภัยโควิด-19” ผู้ก่อตั้งเรียกตัวเองว่า Artivist - มีที่มาจาก artist (ศิลปิน) และ activist (นักเคลื่อนไหวทางสังคม) รวมกัน อันบ่งบอกถึงสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มนี้เอง พวกเขาตั้งใจเป็นสายพานที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกครั้ง ไม่ใช่ในระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก แต่เป็น “เศรษฐศาสตร์เชิงวัฒนธรรม ด้วยการนำทรัพยากรที่มี “มาแลกกัน”

.

ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศูนย์การจัดการภูมิวัฒนธรรม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ก่อตั้งโครงการฯ บอกว่า พี่น้องชาวกะเหรี่ยงชาวดอยมีข้าว ส่วนพี่น้องชาวเลมีปลา และที่มีเหมือนกันคือความเดือดร้อน เราจึงจะเอาข้าวไปแลกปลา เราจะส่งข้าวไร่บนดอยไปให้ชาวเลที่ภูเก็ต แน่นอนมันง่ายกว่าอยู่แล้ว ถ้าจะมีคนเอาเงินไปบริจาคให้ชาวเลไปซื้อข้าว และเอาเงินมาให้ชาวดอยซื้ออาหารแห้ง แต่มันจะเป็นกระบวนการสงเคราะห์ช่วยเหลือชั่วคราว

.

“สิ่งที่เราทำคือหลักเศรษฐศาสตร์เชิงวัฒนธรรม เราจะได้กินอย่างรู้ที่มา เราได้กินปลาจากเจ้าของปลา และชาวเลที่เอาข้าวของเราไป ก็จะได้กินข้าวจากคนที่กินปลาของเขา เรียกว่า หลัก P2P - People to People และ Producer to Producer สิ่งที่ได้คือแก้ปัญหาปากท้อง อย่างที่สองคือ จะได้เห็นว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทำให้เราอยู่รอดแม้ในภาวะวิกฤต สังคมเองก็จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้"
.

โดยขณะนี้กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งกะเหรี่ยง ลีซู ม้ง อาข่า จาก จ.ตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ กำลังรวบรวมข้าวไร่ ข้าวดอย จากไร่หมุนเวียนของพวกเขา ซึ่งคาดว่าจะมีข้าวกว่า 4,000 กิโลกรัม หรือ 400 ถัง สำหรับการนำไปแลกปลาของชาวเล
.

ส่วน ‘ไมตรี จงไกรจักร’ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการฯ ในพื้นที่ภาคใต้ บอกว่า “ขณะนี้ชาวเลราไวย์กว่า 20 ครอบครัว กำลังระดมคนออกทะเลไปหาปลาเช่นกัน วันนี้ (13 เม.ย.) หาได้ 100 กิโลกรัม และเตรียมที่จะออกเรือไปหาเพิ่มอีก 400 กิโลกรัม ซึ่งคาดว่าในส่วนการลำเลียงครั้งแรกน่าจะได้ปลาราว 500 กิโลกรัม ภายใน 1 สัปดาห์ โดยเน้นที่ปลาพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก เช่น ปลาทูแดง ปลาทูแขก ปลาข้างเหลือง เพื่อนำไปทำเป็นปลาเค็มตากแห้ง ถนอมอาหารให้อยู่ได้นาน และให้ชาวดอยเก็บไว้กินจนกว่าจะดับไฟป่าได้ หรือจนกว่าจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ”

.

“แต่ปัญหาติดอยู่ที่การขนส่งเนื่องจากเป็นระยะทางที่ไกล และมีน้ำหนักมาก ทั้งข้าวและปลา จึงต้องการความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านเงินทุน หรือกำลัง เช่น หากได้รถสิบล้อมาขนข้าวก็คงจะดี”

.

โครงการฯ ตั้งใจขนส่งให้ปลาถึงมือชาวดอยและข้าวถึงมือชาวเลภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อบรรเทาความลำบากของพี่น้องให้เร็วที่สุด สำหรับผู้ที่ต้องการร่วมช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิชุมชนไท ที่อยู่ 11 ถนนกรุงเทพกรีฑา ซอยบ้านสีส้ม แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม. หรือโทรศัพท์ 02-379-5386

.

3 แนวคิดดั้งเดิมอย่าง “การเอาข้าวเอาปลามาแลกกัน” เกิดขึ้นแล้วในช่วงวิกฤตโรคระบาด และอาจเรียกว่าเป็นวิถีแห่งความเกื้อกูล ที่ทำให้เห็นว่าแม้จะมีความเดือดร้อนในทุกหย่อมหญ้า แต่น้ำใจยังไม่เหือดแห้งไปจากผืนแผ่นดินไทย

.

ที่สำคัญนี่อาจจะเป็นวิธีการใหม่ ๆ ในการเอาตัวรอดจากภาวะโรคระบาดครั้งนี้ ที่เอาไปปรับใช้ได้ง่าย ๆ หากใครลองแลกเปลี่ยนผักริมรั้วกับคนข้างบ้านแล้ว สามารถแชร์เรื่องราวมาแบ่งปันกับ The Active ได้นะคะ

.

Author : “พรีน - พิชญาพร โพธิ์สง่า” นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]