สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, มูลนิธิสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย, แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ โครงการปิ๊งส์, นิตยสารไทยจ็อคกิ้ง, และแฟนเพจ ThaiRun ฮับความสุขนักวิ่ง ร่วมกันจัดโครงการ "วิ่งสู่ชีวิตใหม่ Run for New Life Story" เพื่อผลักดันให้เกิดกระแสการวิ่งขึ้นในกลุ่มคนที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพ ทั้งน้ำหนักเกิน มีปัญหาทางด้านสุขภาพ ผู้พิการ ผู้มีอาการออฟฟิศซินโดรม เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจมาเปลี่ยนตัวเอง ทั้งนี้โครงการได้คัดเลือก 8 บุคคลต้นแบบ จากผู้สมัครจากทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 80 คน มานำเสนอเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วไป และงานนี้เพื่อเป็นการส่งต่อเรื่องราวดีๆ นี้สู่สังคม จึงได้มีการดึงเยาวชนให้ได้มีส่วนร่วมในการผลิตสื่อเผยแพร่ออกไปในรูปแบบสารคดีกึ่งเรียลลิตี้ ของ 8 ชีวิตบุคคลต้นแบบดังกล่าว โดยผลงานที่นำเสนอได้ยอดเยี่ยมที่สุดจะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปครอง
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากสถิติการเก็บข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมการวิ่ง และจำนวนนักวิ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 15 ล้านคน ทั้งยังมีกิจกรรมงานวิ่งกว่า 1,000 งานต่อปี หรือสัปดาห์ละ 20 – 30 งาน แต่จากจำนวนตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำนวนตัวเลขของผู้ที่มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยังคงเป็นตัวเลขที่น้อยเมื่อเทียบกับอัตราประชากรในประเทศไทย และด้วยอัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากปัญหาทางด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งสำคัญและริเริ่มให้เกิดโครงการวิ่งสู่ชีวิตใหม่ Run for New Life Story ขึ้น โดยมีการเปิดรับและการคัดเลือกบุคคล ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพ น้ำหนักเกิน เป็นผู้พิการ ออฟฟิศซินโดรม และมีความฝันที่อยากจะเปลี่ยนตัวเองให้มีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น มาเป็นแบบอย่างของการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายให้สมบูรณ์แข็งแรง สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการวิ่ง และเป็นแบบอย่างของการก้าวไปสู่สิ่งใหม่ๆ ของชีวิต เกิดการตื่นตัวเรื่องสุขภาพและกิจกรรมทางกายขึ้น
โดยนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า โครงการได้คัดเลือก 8 บุคคลต้นแบบ จากผู้สมัครจากทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 80 คน และนำเสนอผ่านการสื่อสารในรูปแบบ กึ่งคดีเรียลลิตี้ เพื่อให้เกิดการสร้างแรงบันดาล กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเรื่องสุขภาพและกิจกรรมทางกาย และจากการผลิตสารคดีกึ่งเรียลลิตี้ให้กับทั้ง 8 บุคคลต้นแบบของเด็กและเยาวชนที่สมัครเข้ามานั้น ทางโครงการฯ ได้มีถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มอบให้กับทีมที่สามารถผลิตผลงานออกมาได้ยอดเยี่ยมด้วย ซึ่งจากการตัดสินจากคณะกรรมการของโครงการซึ่งถือเป็นที่สิ้นสุดผลปรากฏว่า ทีมที่สามารถคว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากการผลิตสื่อสร้างสรรค์สารคดีกึ่งเรียลลิตี้ไปครอง พร้อมทุนสนับสนุนต่อยอดการทำงาน 30,000 บาท ได้แก่ ทีมMDIC ทีมที่ตามติดชีวิต THR7 นายเพาซี ยะซิง ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 รับประกาศนียบัตรพร้อมทุนสนับสนุนต่อยอดการทำงาน 20,000 บาท คือ ทีมหรรษา ทีมที่ตามติดชีวิต THR3 นางสาวยุวดี พันธ์นิคม และสุดท้ายรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 รับประกาศนียบัตรพร้อมทุนสนับสนุนต่อยอดการทำงาน 10,000 บาท คือ ทีมวันนี้แม่ทำอะไรให้กิน ทีมที่ตามติดชีวิต THR5 นางสาวจรุงศรี ยินไธสง
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]