สินไซโมเดลปี 4 เมืองสามดีสาวะถีวิถีสุขอย่างยั่งยืน
โดย – สุมาลี สุวรรณกร
หากใครเคยอ่านวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานเรื่อง “สินไซ” หรือสังข์ศิลป์ชัยแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ล้ำลึกและน่าสนใจทั้งเนื้อหา คำสอน และการผจญภัยที่แสนตื่นเต้น รวมถึงความรักต่างเผ่าพันธุ์ระหว่างคนกับยักษ์ คนกับกินรี หรืออื่น ๆ อีกมากมาย นักอ่านและผู้รู้หลายคนยกให้วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกเทียบเท่าวรรณกรรมขายดีในยุคสมัยนี้ไม่ว่าจะเป็น “แฮรี่พ็อตเตอร์” แม้เรื่องราวของสินไซจะถูกจดจารเอาไว้กว่า 200 ปีแล้วก็ตาม
เพราะพลังอำนาจของสินไซนี่เอง ที่ทำให้หลายคนได้เข้าไปสืบค้น ศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้ ประยุกต์ใช้ จนนำไปสู่ความสำเร็จมากมาย และในเมืองขอนแก่นเอง เทศบาลนครขอนแก่นได้ประกาศยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมืองโดยยกวรรณกรรมเรื่องนี้มาเป็น “สื่อ” กลางในการปลุกพลังจิตวิญญาณของคนทั้งเมืองในการลุกขึ้นมาร่วมมือกันในการวางหมุดหมายการก้าวเดิน
แต่น่าเสียดายที่ยุทธศาสตร์นี้ถูกพับไปหลังเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ หลงเหลือร่องรอยอยู่บ้างแค่เสาไฟ และป้ายรถเมล์ริมทางเท่านั้น ที่ต่อมากลายเป็นคำถามของผู้มาเยือนว่า “คืออะไร” แต่จิตวิญญาณได้หายไปกับคณะผู้บริหารชุดเก่าทั้งหมด และหากสืบค้นต้นเค้าที่มาของหมุดหมายนี้จะรู้ว่าต้นกำเนิดของวรรณกรรมเรื่องสินไซมาจาก “วัดไชยศรี” ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพราะที่วัดแห่งนี้มีร่องรอยของวรรณกรรมสินไซหลายอย่าง ทั้งฮูปแต้ม หรือ จิตรกรรมฝาผนังที่สิมวัดไชยศรี หมอลำต้นเค้าดั้งเดิมของเมืองขอนแก่นคือ “หมอลำสินไซ” ก็มาจากหมู่บ้านแห่งนี้ รวมไปถึงพลังจิตวิญญาณของเรื่องสินไซ ยังแฝงอยู่ในตัวคนบ้านสาวะถีทุกอณู
ที่ผ่านมามีคนเข้าไปเรียนรู้เรื่องราว ”สินไซ” จากฮูปแต้มของวัดมากมี แต่คนเหล่านั้นศึกษาแล้วก็จากไป นำเอาวิชาความรู้ ไปเพิ่มพูนและก่อเกิดผลงานของตนเอง น้อยคนที่ได้เอาภูมิปัญญา องค์ความรู้ที่ได้ กลับคืนสู่ชุมชนให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้ รับรู้ และตระหนักรู้ในเรื่องราวของตนเองมากนัก ทำให้เป็นที่มาที่เครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้รวมพลังเครือข่ายที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรมในอีสาน เข้าไปปลุกพลังคนในชุมชน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ในชื่อโครงการ “สินไซโมเดล” เพื่อนำเอา ”หัวใจของชุมชน” คือเรื่อง “สินไซในฮูปแต้ม” มาขยายผลเป็นสื่อศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา จนนำมาสู่ผลผลิตที่น่าชื่นชม ทั้งหมอลำสินไซน้อยร้อยปี หนังประโมทัยสินไซ นักสื่อสารสร้างสรรค์มัคคุเทศก์น้อยสินไซ ชมรมมัคคุเทศก์สาวะถี ผลิตภัณฑ์สินไซสาวะถี และเกิดเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในชุมชน พร้อมกับการทำงานแบบบูรณาการเป็นระบบทุกภาคส่วน เพื่อให้คนในชุมชนได้เห็นพลังของตนเอง โดยเฉพาะขุมพลังที่เข้มแข็งของชุมชนผ่านพลังสตรี ที่เคยซ่อนอยู่เบื้องหลัง ได้มีโอกาสมายืนอยู่แถวหน้าและทำงานเพื่อชุมชนอย่างเข้มแข็ง
และเมื่อมีโอกาสได้เชื่อมโยง ผู้รักผู้สนใจและศึกษาเรื่องสินไซแล้วพบว่า ไม่ใช่แค่เครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสานเท่านั้นที่ได้หยิบยกเอาเรื่องราวของสินไซมาใช้ในการปลุกพลังชุมชนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาด้านสื่อศิลปวัฒนธรรม แต่ยังมีบุคคลอื่นที่เข้ามาเยี่ยมชมวัดไชยศรีและฮูปแต้มที่มีอยู่ แล้วนำไปต่อยอดเพื่อก่อเกิดการทำงานที่สัมฤทธิ์ผล และเป็นที่รู้จักมีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศ ทั้งในรูปแบบสื่อศิลปวัฒนธรรม หนังสือวรรณกรรม หลักสูตรการเรียนการสอน และการพัฒนางานด้านศิลปะ
หากจะมองภาพโดยรวมแล้ว นี่อาจจะเรียกได้ว่า “พลังอำนาจของวรรณกรรมเรื่องสินไซ” ที่เชื่อมโยงทุกหัวใจเข้าหากัน จนเกิดพลังสร้างสรรค์อย่างยิ่งใหญ่ ที่ส่งต่อให้หัวใจคนทำงานได้มีพลังเชื่อมร้อยและเกิดเป็นเครือข่าย “คนรักสินไซ” ไม่รู้สิ้น ในรูปแบบรวมที่พอจะสรุปว่ามันคือ “สินไซโมเดล” โมเดลต้นแบบ ในการนำไปใช้ตามแบบฉบับและความถนัดของตนเอง เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะในแขนงต่าง ๆ ที่ยังคงใช้สื่อวรรณกรรมเรื่องสินไซเป็นเครื่องมือ
โครงการสินไซโมเดลปีที่ 4 เป็นการต่อยอดจากโครงการสินไซโมเดลในแต่ละขวบปี เพื่อพัฒนาให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นสุขตามเป้าหมาย สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี สินไซโมเดลปีนี้เน้นพัฒนาศักยภาพนักสื่อสารสร้างสรรค์ เน้นการใช้ภาษาสากลอย่างภาษาอังกฤษเข้ามาเสริมในการสื่อสารสื่อสร้างสรรค์อย่างสินไซในทุกรูปแบบสื่อมากยิ่งขึ้น พร้อมกับสร้างมาตรฐานในการสื่อสารอย่างมืออาชีพมากกว่าเดิม
โดยขณะนี้ชุมชนสาวะถีแห่งนี้กลายเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการท่องเที่ยวตามวิถีวัฒนธรรม ที่สามารถนำเอาสถานที่สำคัญในชุมชนที่มีอยู่เดิมมาจัดการท่องเที่ยวได้ เอาอาหารพื้นถิ่นที่มีอยู่เดิมมาจัดบริการแก่นักท่องเที่ยวได้ มีมัคคุเทศก์คนในชุมชนเป็นผู้นำเที่ยวได้ รวมถึงมีผลิตจภัณฑ์และการแสดงของชุมชนที่สามารถต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองได้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นโดยมีชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อนแล้ว คือ บ้าน วัด และโรงเรียนเป็นเครือข่ายในการทำงานที่เข้มแข็งและนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนแท้จริง.