แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จะพาไปรู้จัก ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา สู่วิสาหกิจชุมชน ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ หนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือที่เข้าร่วมโครงการการพัฒนาต้นแบบวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม (Social Enterprise) 4 ภูมิภาค ปี 2562
ลักษณะพื้นที่ของชุมชนคนม่อนปิ่น จ.เชียงใหม่
ชุมชนม่อนปิ่นมีพื้นที่เป็นที่ราบสลับเนินเขา อยู่ติดกับป่าไม้เขตวนอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก สภาพดินเป็นดินเหนียวและร่วนปนทราย มีลำน้ำมาวเป็นแม่น้ำสายหลัก ไหลผ่านกลางพื้นที่ของตำบลตลอดทั้งปี ซึ่งพื้นที่ในม่อนปิ่นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม เช่น สวนส้ม สวนลิ้นจี่ ทำนา ปลูกหัวหอม และพืชอื่น ๆ ตามฤดูกาล โดยตำบลม่อนปิ่นแบ่งการปกครองเป็น 15 หมู่บ้าน มี 4 กลุ่มชาติพันธุ์ มีประชากรทั้งหมด 19,654 คน โดยแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน เช่น กลุ่มชาติพันธุ์คนพื้นเมืองล้านนา กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่หรือมูเซอ
จุดแข็งด้านพื้นที่ของชุมชนคนม่อนปิ่น จ.เชียงใหม่
สำหรับพื้นที่ในชุมชนม่อนปิ่นจะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประเพณี มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงาม และการมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายทำให้มีแหล่งเรียนรู้ องค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ก็มีการส่งออกขายทั่วประเทศ โดยมีการทำงานเชิงบูรณาการในชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน มีการรวมตัวของกลุ่มผู้สูงอายุและสภาเด็กและเยาวชนกันอย่างเหนียวแน่น และคนในพื้นที่ก็มีความตระหนัก ให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนร่วมกัน
นอกจากคนในชุมชนจะมีความพร้อมในการทำงานร่วมกันแล้ว จุดแข็งที่สำคัญของชุมชนม่อนปิ่นเลยก็คือ การที่มีคณะทำงานที่มีประสบการณ์มาช่วยพัฒนาชุมชน พัฒนาการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม เช่น ผู้นำท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา ที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้คนในชุมชนสามารถร่วมมือกันทำงานในงานด้านต่าง ๆ
จุดแข็งด้านผลิตภัณฑ์ของชุมชนคนม่อนปิ่น จ.เชียงใหม่
สำหรับสิ่งที่เป็นจุดแข็งของม่อนปิ่นก็คือ “หญ้าอิบุแค” เป็นหญ้าที่ขึ้นอยู่บนที่สูงของดอยอ่างขาง คุณสมบัติของหญ้าชนิดนี้คือ มีความเหนียว คงทน และสามารถมีอายุได้นานถึง 10 ปี สามารถนำไปย้อมสีธรรมชาติและสีผสมอาหารได้ โดย 1 ปีจะสามารถเก็บได้ 1 ครั้ง สีธรรมชาติที่มีการทดลองร่วมกับเด็กนักเรียนที่ร่วมโครงการ เช่น สีซากุระ
สีหยวกกล้วยไม้ป่า วัตถุประสงค์เพื่อเลี่ยงการใช้สารเคมีและหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ชาวลาหู่ยังเชื่ออีกว่าหญ้าอิบุแคเป็นสัญลักษณ์ของมิตรไมตรี และความโชคดี ชุมชนคนม่อนปิ่นจึงได้นำหญ้าอิบุแคมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายด้วยฝีมือการออกแบบของเด็กนักเรียนในชุมชน เช่น ตุ้มหูลายปีกผีเสื้อ และชิ้นงานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโคมล้านนาหรือโคมยี่เป็งของภาคเหนือ
หญ้าอิบุแค
ผลิตภัณฑ์จากการออกแบบของเด็กในชุมชนม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
จุดมุ่งหมายของชุมชนคนม่อนปิ่น จ.เชียงใหม่ ที่เข้าร่วมโครงการกับแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
จุดมุ่งหมายของชุมชนม่อนปิ่น คือ อยากเห็นการรวมกลุ่มกันของคนในชุมชนในทุกเพศ ทุกวัย ให้มีการทำงานกันอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการทำผลิตภัณฑ์ของชุมชน ให้มีความเป็นมืออาชีพแล้วสามารถสร้างรายได้เพิ่มในชุมชนได้ ด้วยระบบการทำงานในเชิงธุรกิจแบบยั่งยืนด้วยวิสาหกิจชุมชน สามารถเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นหลาย ๆ อย่าง เพื่อสนองความเป็นอยู่ทางสังคมและเศรษฐกิจยุคปัจจุบันให้กับคนในชุมชนอีกด้วย
ดังนั้น จุดแข็งที่หลากหลายของม่อนปิ่นจะสามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือ Social Enterprise ได้
ข้อมูลจาก: กลุ่มสภาเด็กและเยาวชนตำบลม่อนปิ่น
ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊คแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. : www.facebook.com/artculture4h
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้บนเว็บไซต์: www.artculture4health.com
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]