สาวพิการสู่นักวิ่งมาราธอนขาเหล็ก ‘ออย ยุวดี’ posttoday

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 19 พฤศจิกายน 62 / อ่าน : 2,045


คุยประสบการณ์กว่า 20 ปี หญิงสาวผู้เสียความปกติให้กับโรคมะเร็งกระดูกตั้งแต่วัย 14 แต่ชีวิตที่ขาดกลับเต็มเปี่ยมความสุขได้หลังจากคำบอกรักตัวเองและหันมาวิ่งมาราธอน

โดย…รัชพล ธนศุทธิสกุล

“ออย ยุวดี พันธ์นิคม” ป่วยโรคมะเร็งกระดูกต้องเสียขาและปอด 1 ข้าง กลายเป็นผู้พิการตั้งแต่เด็กอายุ 14 ปี   

กว่า 20 ปี ใช้ชีวิตแบบไม่เต็มร้อย ใครถามก็บอกตรงๆ ใครไม่รู้ก็ไม่เฉลยว่าใส่ขาเทียม กระทั่งลุกขึ้นมาบอกรักตัวเองและหันมาวิ่งออกกำลังกาย ขาเหล็กกับใจที่แกร่งกลายเป็นภาพที่ทุกๆ คนต่างชื่นชมในโลกออนไลน์ ซึ่งแม้การเปลี่ยนไม่ยิ่งใหญ่ถึงขนาดเปลี่ยนโลก แต่การพาตัวเองก้าวขึ้นอีกหนึ่งสเต็ปหลังสิ่งร้ายๆ มันก็มากพอที่จะรู้จักเธอ

เป็นคนปกติแค่ 14 ปี

สาววัย 35 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลบริษัทก่อสร้างในกรุงเทพฯ ย้อนถึงสัญญาณแรกคิดว่าอาการปวดขาในตอนรุ่งเช้าทุกๆ วัน นาน 2-3 เดือน เป็นผลจากการเล่นกระโดดยาง วิ่งไล่จับ ปิดแอบ กระทั่งทนอาการเจ็บไม่ไหว เข้าตรวจที่โรงพยาบาลทำให้พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งกระดูก ซึ่งในตอนนั้นอายุเพียง 14 ขวบ ต้องตัดขาและให้เคมีบำบัดรักษาก้อนเนื้อมะเร็งที่ปอด

“สมัยนั้นการยับยั้งมะเร็งต้องตัดที่จุดกำเนิด เราเป็นที่ขาและลามมาที่ปอด ก็ตัดขาและให้คีโมรักษา หวังให้ก้อนเนื้อมะเร็งที่ปอด 3 ก้อนยุบ” ออยเล่าพลางเบือนหน้าขึ้นมองฟ้า นั้นเพราะไม่เพียงเธอคิดว่าโชคร้ายนี้ทำไมต้องเกิดขึ้นกับตัวเอง

หลังแอดมิดวันนั้นในวันรุ่งขึ้น 08.00 น. ขาข้างซ้ายเธอก็ถูกตัดทันที และในเวลาต่อมาอีกครึ่งปีปอดอีก 1 ข้างที่ผลของการรักษาดังกล่าวครั้งที่ 8 ส่งผลข้างเคียงจนเลือดออกนัยน์ตา

“ขอหมอไปทะเล ไปภูเขา ก็ไม่ได้หมอกลัวไม่กลับมารักษา” เธอเล่าต่อว่า ความคิดในตอนนั้น มันไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้ ความรู้ของเรื่องมะเร็ง ณ ตอนนั้นคือ เท่ากับตาย ยิ่งหมอบอกว่าถ้าไม่ตัดอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี จะตาย จึงปล่อยทุกอย่างให้เป็นหน้าที่แพทย์

“เราเพิ่งเกิดมาแค่ 14 ปี เรายังไม่อยากตาย ร้องไห้ฟูมฟายแต่พอหันไปมองหน้าพ่อ น้ำตาคลอๆ เราก็เลยมีความคิดว่าเรายังไม่ได้ทดแทนบุญคุณพ่อเลย เราจะรีบตายไปไหน”

นอกจากบุพการีทำให้ลุกสู้ กำลังใจจากเพื่อนที่มาเยี่ยมบรรเทาความเศร้าและช่วยให้เธอลุกขึ้นใช้ชีวิตผ่านพ้นแม้ในวันที่เหลือขา 1 ข้าง แบบวิธีกระโดดบ้าง ใช้ไม้เท้ายันบ้าง กระทั่งได้ขาเทียมก็ค่อยๆ ปรับมาใช้โดยไม่ท้อ ถึงต่อให้เจ็บเดินได้เพียงไม่กี่ก้าว ซ้ำเกิดเป็นแผลถลอกหรือพองจากการกดทับและเสียดสีแต่ก็หัดเดินจนคล่องในที่สุด

“แรกๆ คิดเสมอทำไมต้องเป็นฉัน คิดว่าตัวเองเป็นคนที่โชคร้ายที่สุดในโลก อายุ10 กว่าเอง”

ออยคิดอยู่อย่างนั้นจนตัวเองได้เข้าไปเรียนในมูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการเพื่อเรียนคอมพิวเตอร์และกศน.ต่อ โลกใบน้อยของจึงเปิดให้ได้รู้ว่ามีผู้อื่นที่สาหัสหนักกว่าอีกหลายเท่านัก แต่เขาก็เลือกสู้และยืนหยัดที่จะมีชีวิต

“เห็นคนที่หนักกว่าเรา นั่งวีลแชร์ มีแค่มือข้างเดียวใช้ได้ เราต้องเป็นคนที่ช่วยดูแล แล้วเราจะมาท้อทำไม ต้องมองว่าตัวเองเป็นคนที่โชคดีมากๆ ที่เป็นแค่นี้ที่เกิดขึ้น เราก็ต้องอยู่ไปให้ได้”

จะ ‘ปล่อย’ หรือ ‘เปลี่ยน’

“ช่วงกำลังเป็นสาวมันก็อายในการใช้ชีวิต ที่คนอื่นๆ มองเราว่าเราเป็นคนพิการ แต่ใครถามว่าทำไมเดินแปลกๆ ก็บอกตรงๆ แต่ถ้าไม่รู้จักกันก็จะพยายามนั่งไม่เดินให้เขามอง ความมั่นใจไม่ในการใช้ชีวิตอยู่ที่ 60-70 %” ออยเปิดอกพูด เพราะชีวิตเมื่อผ่านและยอมรับก็ปรับเปลี่ยนจนรู้ว่าชีวิตเกิดมาแล้วแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับมันอย่างมีความสุขในชีวิตที่ไม่เต็ม 100 %

“กำลังใจเราดีมาก คิดว่าให้ทุกๆ วันมันเป็นวันที่มีความสุข ไม่ชอบมานั่งทุกข์ เรื่องเครียดมันก็มีเล็กๆ น้อยๆ แต่เราตื่นนอนมันก็หาย”

ชีวิตจึงค่อยๆ พัฒนาไปตามช่วงอายุและหลังจากนั้นเธอไม่พบปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ  ทั้งเรื่องเรียนจบปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ เอกสารสนเทศทั่วไป มหาวิทยาลัยสุโขทัย มีความรักพบกับคู่ชีวิตและสร้างครอบครัวกันอย่างมีความสุข

“คนพิการชอบคิดว่าจะต้องนั่งอยู่กับบ้าน ทำอะไรมากไม่ได้ แต่จริงๆ แล้ว เราสามารถทำได้เทียบเท่าคนปกติ”

ออยบอกว่าความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงจะรับปริญญา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเลือกที่ตัวเองเป็นอีกคนที่ดีกว่าและลุกขึ้นมาดูแลใส่ใจสุขภาพ โดยเริ่มจากกินคลีน

“พอไม่ออกกำลังกายเราก็อ้วน น้ำหนัก 70 กิโลกรัม แต่การทานอาหารคลีนมันผอมลงเหลือ 60 หน่อยๆ รู้สึกสวยขึ้น (ยิ้ม) แต่กล้ามเนื้อไม่ได้กระชับอะไรมากมาย มีปัญหาหน้าเหี่ยว”

ความสวยกับผู้หญิงเป็นของคู่กัน ขั้นต่อมาถึงต่อให้ความคิดไม่มีคำว่าออกกำลังกายในพจนานุกรมีชีวิต แต่เธอก็เลือกทำเบาๆ อย่างการยกดัมเบล แพลงกิ้งและสควอชกับซิทอัพ 20 นาที ต่อวัน

“ถ้าเราเปลี่ยนความคิดจากที่เราคิดว่าเราเป็นคนพิการ มีข้อจำกัดในชีวิต เริ่มจากตัวเรา ช่วยตัวเองก่อน ถ้าได้ลองทำ เราก็จะชอบในผลลัพธ์ที่ได้ ออยทานคลีนและออกกำลังกายเบาๆ ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น แต่ก็ยังไม่พอ เพราะเป็นไข้หวัดทีก็จะหนักกว่าคนอื่น มือเท้าจะชาและเกร็ง ต้องนอนโรงพยาบาล 2 ครั้ง ทุกปี”

‘บอกรักตัวเอง’ ส่งใจข้ามทุกอุปสรรค

“เราเสียขาไป เรามีความเชื่อว่าการเดินมันไม่ใช่การออกกำลังกาย ทุกๆ คนเกิดมาก็เดินได้แล้ว เดินธรรมดาไม่ใช่การออกกำลงกาย ความคิดในตอนนั้นการออกกำลังกายสำหรับเราคือการวิ่ง เล่นกีฬาได้เหงื่อชุ่มๆ แต่นี้ใส่ขาเทียมเดินนิดเดียวก็เจ็บแล้ว มันไม่ใช่อะไรที่เหมาะกับเรา” นักวิ่งสาวแกร่งแจกแจงความรู้สึก

“แต่พอเดือน พฤศจิกายน 2561 ปีที่แล้ว จู่ๆ พอทุกอย่างมันจะขยับขึ้น ก็มีความรู้สึกว่าเราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้” เธอว่าด้วยรอยยิ้มสดใส เช่นเดียวกับชีวิตต่อจากนี้ที่เธอเองก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะกลับมาวิ่งให้สายลมปะทะหน้าได้อีกครั้งในชีวิตนี้

“บอกรักตัวเองก่อนปีใหม่ คิดว่าอยากทำ 2 เดือนนี้ให้มันดีที่สุด ก็เลยมาที่สวนสาธารณะศาลากลางจังหวัดนนทบุรี และเริ่มเดินออกกำลังกาย จากที่ 300-400 เมตร จะเกิดอาการเจ็บขาแล้ว แต่ด้วยความที่ตัดสินใจไปแล้วว่าจะลองทำออกกกำลังกายปลุกให้ฝืนสู้”

อาทิตย์ผ่านไปได้ 1 กิโลเมตร ผ่านไปอีกได้ 2 กิโลเมตร และมีพัฒนาการไปเรื่อยๆ ทำให้รู้สึกว่าผลตอบรับมันดีปรับให้เกิดความชอบ และจากที่มักป่วยเข้าโรงพยาบาลยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ “รู้สึกว่าร่างกายเรามีพัฒนา และถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ น่าจะไปที่ 5-6 กิโลเมตร ก็ได้นะ”

จริงของเธอคิดเพราะไม่เพียงแค่เดินได้ตามเป้า หลังจากเพียงแค่ 8 เดือน เธอยังสามารถวิ่งได้เป็น 10 กิโลเมตร ด้วยเวลาเพียง 2 ชั่วโมง 9 วินาที พิชิตมาราธอนแรกได้เหรียญรางวัลและโล่สำเร็จอีกด้วย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา

“จากเคยคิดว่าแค่ใจมันไม่พอ เราเป็นคนพิการต่อให้ใจมาเต็มแค่ไหนยังไงก็ไม่มีทางจบ 10 กิโลเมตรได้ แต่เราทำและพิสูจน์กับตัวเองแล้วว่าถ้าใจมันมา ไม่ว่าอุปสรรคอะไรมันก็ก้าวข้ามไปได้หมด แค่เราไปพัฒนาตัวเอง

“ก็ขอขอบคุณโครง ‘Run for new life story’ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พี่โค้ช นักโภชนาการ อาจารย์ที่ดูแล โดยเฉพาะพี่ทนง (ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์) ที่สอนวิ่งที่เหมาะสมจนเราวิ่งได้ ได้กลับมาเดินไปข้างๆ สามีและลูก โดยที่เรานั่งรอเขาแล้วให้เขาเดินกันไป ตอนนี้เราสามารถเดินไปข้างๆ เขาได้แล้ว ชีวิตมีความสุขมากแค่พลิกความคิดให้ใจมา มองตัวเองมีคุณค่า มันไปได้หมดจริงๆ”


ขอขอบคุณข้อมูลข่าวสารจาก : posttoday https://www.posttoday.com/social/goodstory/606253



 

 

ติดตามข่าวสารได้ที่ 

Fanpage : RunfornewlifeStory 

Fanpage : pingsproject 

Fanpage : Thai Jogging Magazine 

Website : Runfornewlifestory

Youtube : วิ่งสู่ชีวิตใหม่ RunForNewLife Story




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]