...ขอมอบดอกไม้ในสวน นี้เพื่อมวลประชา
จะอยู่แห่งไหน จะใกล้จะไกล จนสุดขอบฟ้า
ขอมอบ ความหวัง ดั่งดอกไม้ผลิ สดไสวงามตา
เป็นกำลังใจให้คุณ เป็นกำลังใจให้เธอ เป็นสิ่งเสนอให้มา....
นี่คือหนึ่งในท่อนเพลงที่นำมาเป็นหลักสูตรดนตรีพัฒนาคุณภาพชีวิต โครงการ “ลมหายใจ... ดนตรี... ชีวิต” ของอาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีและสรีระวิทยา
.... เมื่อฟังเพลง เพลงนี้แล้วคุณจะคิดถึงอะไร?
.... ถ้าเป็นฉัน ฉันคงคิดถึงความสุขในฐานะที่เป็นผู้รับ แม้กระทั่งการเป็นผู้ให้ก็คงมีความสุขเช่นกัน
สังคมเมืองปัจจุบันเต็มไปด้วยความเครียด ไม่ว่าจะเป็นเครียดเรื่องงาน เครียดเรื่องครอบครัว เครียดเรื่องความรัก หรือแม้แต่ปัญหาสุขภาพ ก็เป็นสิ่งเร้าอยู่ไม่ใช่น้อย หลายคนอาจหันหน้าเข้าหาวัด ปฏิบัติธรรม เพื่อสงบจิตสงบใจ แต่วันนี้หลักสูตรดนตรีพัฒนาคุณภาพชีวิตในโครงการลมหายใจ...ดนตรี...ชีวิต.. ถือเป็นวิธีผ่อนคลายอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสมจะนำมาใช้เพื่อปรับคุณภาพชีวิตของเราให้สดใสขึ้นได้
ลมหายใจ...ดนตรี...ชีวิต...โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ในครั้งนี้นั้นมีจุดเด่นตรงที่ทุกๆ กิจกรรมต้องฟังอย่างเลือกสรรและสร้างสรรค์ จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี ตามเหตุและผลที่ว่า...
...ทำไมถึงต้องนำดนตรีมากำหนดลมหายใจ ดนตรีมีประโยชน์อย่างไร?
นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง ชี้ให้เห็นว่าดนตรีใช่เพียงแต่จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกผ่อนคลาย หากยังมีประโยชน์ต่อสมอง และนำมาใช้ในการรักษาโรคทางระบบประสาทได้ ในช่วงที่เราฟังดนตรีอยู่นั้นเสียงจะถูกแปลงเป็นกระแสประสาทแล้วถูกส่งไปแปลผลยังสมอง จากนั้นจะมีการติดต่อประสานงานกันของสมองหลายส่วน ซึ่งควบคุมระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ อารมณ์ ความทรงจำ การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ระบบการหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงส่วนเล็กๆ ของร่างกาย เช่น รูขุมขนและต่อมเหงื่อ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ดนตรีที่เราได้ยินมีอิทธิพลต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกายอย่างมาก
ซึ่งอาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ เจ้าของโครงการลมหายใจ...ดนตรี...ชีวิต... เล่าว่า โครงการนี้จัดมาแล้วมากกว่า 20 ปี เพื่อใช้ปรับคุณภาพชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตแย่ลงทุกปี โดยกิจกรรมนี้จะแตกต่างจากการปฏิบัติธรรมอย่างเห็นได้ชัด คือ การนำเสียงดนตรีมาเป็นเครื่องนำทางไปสู่สมาธิและปัญญา การออกท่าทางเคลื่อนไหวร่างกาย อย่างช้าๆ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือแม้กระทั่งการฝึกเปล่งสียงอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในร่างกาย ล้วนแต่มีส่วนช่วยในการผ่อนคลายจิตใจทั้งสิ้น
แต่เอ๊ะ!!! มันดีจริงหรือ? มันอะไร? ยังไง? น๊ะ...
ทำไมต้องเป็น ลมหาย ดนตรี ชีวิต อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ บอกว่า เมื่อครั้งหนึ่งได้เคยไปจัดอบรมที่เสถียรธรรมสถาน แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ท่านได้มีโอกาศเข้ารับการอบรมด้วย หลังจากเข้ารับการอบรมท่านเล็งเห็นว่า 3 สิ่งนี้สัมพันธ์กัน ท่านจึงเป็นคนตั้งชื่อนี้ให้ หลังจากนั้นก็ใช้เป็นชื่อโครงการมาโดยตลอด มีหลายคนถามว่าจะได้อะไรกลับไปเมื่อเข้ารับการอบรม
เรื่องนี้ตอบได้เลยว่า อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่ท่านจะได้ คือ จิตใจที่ดีขึ้นแน่นอน เพราะ “สังคมจะดีขึ้น ถ้าทุกคนรู้จักธรรมะ” หรืออีกนัยย์หนึ่งคือต้องรู้จักตัวเองนั่นเอง การปฏิบัติเหล่านี้ล้วนแฝงไปด้วยหลักธรรมล้วนๆ โดยที่ผู้เข้ารับการอบรมจะซึมซับเองโดยไม่รู้ตัว ด้วยการคัดสรรเครื่องเล่นดนตรีและบทเพลงมาเป็นอย่างดี เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้ฟัง ซึ่งจะประกอบเสียงจากธรรมชาติและเครื่องดนตรีผสมผสานกัน
โดย อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ บอกต่อว่า เสียงจากธรรมชาตินี้ประกอบไปด้วย เสียงฝนตก เสียงคลื่นในทะเล เสียงน้ำในลำธาร เสียงนกร้อง เสียงไก่ขัน เสียงสุนัขเห่าฯลฯ ผสมผสานกับเสียงจากเครื่องดนตรีประเภทดีด เช่น เปียโน พิณ ระนาด ฯลฯ ประเภทสี เช่น ไวโอลิน เชลโล่ ประเภทเป่า เช่น ฟลุท โอโบ คาริแน็ตฯลฯ โดยหลีกเลี่ยงเสียงร้องของมนุษย์ ทั้งหมดนี้จะเน้นการฟังประกอบกับการนั่งหรือนอนอย่างมีสมาธิ พร้อมกับท่าทางต่างๆ เพื่อการผ่อนคลาย แต่ยังคงยึดหลักการฝึกเกร็งกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่อเกร็งแล้วจึงจะผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้อย่างเต็มที่ซึ่งการปฏิบัติทุกๆ แบบฝึกหัดประกอบการหายใจที่แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนหายใจเข้า ทางจมูกและปาก (เน้นจมูก) เปรียบเสมือน ความรักการกลั้นหายใจ ให้หยุดคิดชั่วขณะ และการหายใจออก (บางครั้งเปล่งเสียง ZZZZZZ) เปรียบเสมือน การให้ ตามแบบฉบับของหลักสูตรดนตรีพัฒนาคุณภาพชีวิต “ลมหายใจ...ดนตรี...ชีวิต” การฟังดนตรีเพื่อการผ่อนคลาย นั่นเอง
หลังจบกิจกรรม....
“รู้สึกสดชื่น กระปี้ประเป่า เหมือนได้ไปพักท่ามกลางธรรมชาติ”
นี่คือเสียงร่ำลือ! ของคนที่ได้เข้าร่วมการอบรมมาแล้ว
หายใจเข้าพุงป่อง...
หายใจออกพุงยุบ...
หายใจเข้าพุงป่อง...
หายใจออกพุงยุบ...
(เคล็ดลับการกำหนดลมหายใจ ตามแบบฉบับอาจารย์ดุษฎี พนมยงค์)
คุณก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ลองเถอะเพียงแค่กำหนดลมหายใจ ไปตามจังหวะดนตรี และเสียงเพลงจากธรรมชาติ รับรองจิตใจจะโล่ง โปร่ง สดใสแน่นอน...
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]