“เด็กในช่วง 0-5 ขวบ ทุกคนต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมตามวัย”
“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คือ องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในพัฒนาการดังกล่าว”
แต่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนั้นๆ ต้องมีคุณภาพ และต้องมีสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูที่ได้รับความคุ้มครองจากครอบครัวด้วย
จากข้อมูลการศึกษาวิจัย พบว่า ช่วงปฐมวัยหรือช่วงขวบปีแรกๆ ของชีวิต เป็นช่วงเวลาของการพัฒนาที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเด็ก ซึ่งเด็กจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วทั้งทางสมอง การใช้ภาษา ทักษะทางสังคม ทางอารมณ์ และการเคลื่อนไหว หากดูแลดี ถูกต้องสมวัย เขาจะมีพัฒนาการที่มีคุณภาพได้ 7 เท่า รวมถึงการเจ็บป่วยที่ลดลงเมื่อสูงวัยอีกด้วย
โดยช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยสำคัญของการสร้างรากฐานสำหรับการเติบโตและการเรียนรู้ต่อไปในชีวิต ดังนั้น การพัฒนาและการลงทุนในเด็กปฐมวัย จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของทุกครอบครัวและประเทศชาติ เพราะเป็นโอกาสทองครั้งเดียวในชีวิตเด็ก การนำภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือของที่มีอยู่ใกล้ตัวเด็กมาใช้ในการพัฒนาทั้งทางด้านสมองและร่างกาย
โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปี 5 เป็นอีกหนึ่งปีที่ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเป็นอีกหนึ่งบทเรียนในการสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กๆ ในช่วงวัยนี้ ด้วยการนำมาสาธิตและส่งต่อไปยังคุณครูปฐมวัย เพื่อนำไปประยุกต์กับศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้บริบทพื้นที่ เพราะเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิดไปจน 3-6 ปีจะเป็นวัยที่เริ่มมีการจดจำอะไรได้ไว มีพัฒนาการที่ดี ง่ายต่อการสอนและการเรียนรู้ การให้ความสำคัญกับเด็กวัยนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะมันคือวัยเริ่มต้นของเด็กที่มีพัฒนาการที่ดีไปสู่ผู้ใหญ่ที่มีพัฒนาการที่ดีในวันข้างหน้า
“เด็กวัย 3-6 ปี” เป็นช่วงที่เริ่มเข้าเรียนในชั้นอนุบาลพอดี ซึ่งหากทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือทางโรงเรียนมีการกระตุ้นพัฒนาการเด็กๆ ด้วยการจัดรูปแบบการเรียนการสอน โดยการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการจัดการศึกษาถือเป็นเรื่องดี เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กๆ ภายใต้องค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านและครูภูมิปัญญานั้น เป็นการส่งเสริมการพัฒนาการเด็กให้เหมาะสมตามวัย ครบทั้ง 4 ด้านคือ ด้านร่างการ ด้านสติปัญญา ด้านอารมณ์และจิตใจ และด้านสังคมตลอดจนปลูกฝังให้เด็กรักและเห็นคุณค่าความเป็นตัวตนและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง
“ดิน” ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สามารถใช้ในการฝึกพัฒนาการของเด็กๆได้ ซึ่งนายปริพนธ์ วัฒนขำ กลุ่มหน่อไม้หวาน บอกว่า “ดิน” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถช่วยในการสร้างพัฒนาการของเด็กได้ เช่น การปั้นดินเป็นรูปทรงต่างๆ ตามจินตนาการของผู้ปั้น เป็นการส่งเสริมทักษะ และช่วยให้กล้ามเนื้อที่ผ่านการใช้ดินเหนียวหรือดินอื่นๆ มีการพัฒนาให้แข็งแรงขึ้นได้ด้วย เพราะเมื่อเด็กได้สัมผัสดินเด็กจะมีการคิดตามสมองก็ได้พัฒนา ทำให้เด็กเกิดความสนุกสนาน ช่วยฝึกสมาธิ ทำให้เด็กซนสามารถนั่งและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้นานขึ้น อีกทั้งในขณะที่เด็กได้ฝึกหัดขยำ จับ กดและปั้นของ ก็จะใช้จินตนาการตามความคิดของตนเองถ่ายทอดออกมาเป็นผลงาน นอกจากนี้ยังจะช่วยในเรื่องของมิติสัมพันธ์ ทำให้เด็กสามารถมองภาพที่เป็น 3 มิติได้ดีขึ้น “จิตใจ” ก็จะเบิกบาน ส่วนร่างกายนั้นจะได้ฝึกพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อตั้งแต่บริเวณข้อมือ บริเวณฝ่ามือ ตลอดจนถึงนิ้วแต่ละนิ้ว กล้ามเนื้อส่วนนี้ใช้ในการออกแรงขณะนวดหรือปั้นดิน รวมไปถึงกล้ามเนื้อมัดใหญ่ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อบริเวณลำตัว แขน ขา รวมไปถึงความสัมพันธ์กันของอวัยวะต่างๆ ทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่จะช่วยให้เด็กๆ รู้จักการทรงตัว และความสัมพันธ์การขยับของแขนและขา แม้กระทั่งการเดินเพื่อเล่นกับดิน หรือแสดงเรื่องราวประกอบกับดินที่ปั้นได้ ก็เป็นทักษะหนึ่งที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ในการใช้กล้ามเนื้อเพื่อทำกิจกรรมและสร้างสรรค์จินตนาการได้อย่างไม่รู้จบในขณะปั้นดินด้วย
ซึ่งเมื่อมองถึงพัฒนาการแล้ว สามารถแบ่งออกได้ดังนี้ ใน 1-2 ปีเด็กจะสามารถหยิบ ขยำ กด ทุบให้แผ่ออก มีลักษณะการใช้มือแบบกำทั้ง 5 นิ้วได้ ใน 2-3 ปี :เด็กจะดึงดินออกจากกันเป็นก้อนๆ มีลักษณะการกำหรือใช้นิ้ว และตัดด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ได้ ใน 3-4 ปี เด็กจะปั้นดินและคลึงเป็นเส้นยาว คลึงเป็นลูกบอล และกดเป็นแผ่นแบนกลมด้วยฝ่ามือได้ ใน 4-5 ปี เด็กจะปั้นดินเป็นรูปร่าง ที่เด็กอาจจะเข้าใจความหมายได้คนเดียว และใน 5 ปีขึ้นไป เด็กจะปั้นดินเป็นรูปร่างที่มีรายละเอียด ผู้อื่นเข้าใจความได้ มีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ช่วยในการปั้น
แล้วลูกๆ หลานๆ เด็กๆ ที่อยู่ในการดูแลของคุณได้ฝึกพัฒนาการสมวัยตามนี้หรือไม่ ถ้าไม่ต้องมองหาดินมาช่วยในการฝึกพัฒนาการให้เด็กๆ และในขณะปั้นนั้นเรายังสามารถสอดแทรกคุณค่าของวิถีถิ่น วิถีชีวิต และวิถีวัฒนธรรม ให้เด็กๆ เพิ่มเติมเพื่อให้เด็กรู้จักคุณค่าของดิน รู้จักคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นไปในตัวได้ด้วย
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะ “ดิน”
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะ “สองมือ”
เป็นมหัศจรรย์ที่สร้างสรรค์ได้ด้วย “ตัวเอง” เป็น “มหัศจรรย์มือฉันมือเธอ”
เพลง “มหัศจรรย์มือฉันมือเธอ”
มือน้อยที่สร้างสรรค์
มือแบ่งปัน มือฉันมือเธอ
โลกจะสวยเลิศเลอ
ด้วยสองมือของเธอและฉัน
มือส่งมอบความรัก
มือทอถัก มือนี้บันดาล
มือน้อยร่วมรังสรรค์
สร้างสิ่งงามให้โลกสวยงาม
โดยปริพนธ์ วัฒนขำ
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]