อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)
ทุกวันนี้ เด็กหนึ่งคนจะเติบโตขึ้นมาแล้วมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรงได้นั้นจะต้องมีรูปร่างที่สมส่วน ไม่อ้วน ไม่ผอมจนเกินไป
“อ้วนเกินไป ก็ไม่ได้หมายความว่า “เด็ก” จะมีสุขภาพดี
“ผอมเกินไป ก็ไม่ได้หมายความว่า “เด็ก” จะสมบูรณ์ แข็งแรง
การรณรงค์ปลูกฝัง และเสริมทักษะหลายๆ ด้าน ทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจ เสริมทักษะการเรียนรู้ การแสดงออก การแสดงความคิดเห็น การใช้ชีวิต และทักษะการเล่นอย่างสร้างสรรค์ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้ “ปัญหา” เหล่านี้ลดลง จน หมดไปได้ในอนาคต
รู้ไหม?....
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบ เด็กไทยมีกิจกรรมทางกายทั่วไปในแต่ละวันและพฤติกรรมเนือยนิ่งอยู่ที่ระดับ D-
มีเด็กไทยร้อยละ 23.2 เท่านั้นที่มีกิจกรรมทางกายรวมกันทุกวันอย่างน้อยวันละ 60 นาทีต่อสัปดาห์
ขณะที่มีเด็กไทยร้อยละ 21.8 ที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ... เพราะนี่คือ “เรื่องจริง”
เพราะจากสถานการณ์การใช้ชีวิตของเด็ก พบว่า มีเด็กกว่าร้อยละ 13 มีพฤติกรรมเนือยนิ่งติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนได้มาก ทำให้เด็กไทย 1 ใน 5 ตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเกิดภาวะอ้วนที่เป็นต้นทางสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ที่จะตามมาก่อนวัย
จากการทำงานมาอย่างต่อเนื่องของโครงการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการรณรงค์ลดน้ำหนักในเด็กระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้) ระดับภูมิภาค ปีที่3 เทอม2 ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักโภชนาการสมวัย สำนักงานบริหารแผนงานอาหารและโภชนาการ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เครือข่ายคนไทยไร้พุง และชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย ในปีที่ 3 ที่ได้ลงไปรณรงค์และส่งเสริม สร้างความเข้าใจให้กับเด็กรับรู้และเข้าใจถึงโทษของโรคอ้วน และประโยชน์ที่จะได้รับถ้ารู้จักเลือก ดูแลตัวเองให้สมวัย
ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมานายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า โครงการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการรณรงค์ลดน้ำหนักในเด็กระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้) ระดับภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการใช้สื่อและกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลาย มุ่งใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านสุขภาวะ มีการถ่ายทอดให้เกิดแรงบันดาลใจเพื่อการสื่อสารสุขภาวะ ในหัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” โดยให้ความสำคัญกับครูผู้สอน เด็กนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน ในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning) กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ ได้แก่ ครู และนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
“ซึ่งผลการดำเนินงานโครงการ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)” ปี 3 ที่ผ่านมา พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของนักเรียนจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีการเปลี่ยนแปลงไป คือ หลังดำเนินโครงการฯ คณะกรรมการพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของนักเรียนโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (สมส่วน) เพิ่มขึ้น ท้วมหรืออ้วนสูงลดลงเล็กน้อย ส่วนกลุ่มที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (ผอม) ยังคงมีเท่าเดิม ซึ่งโดยภาพรวมการดำเนินงานเป็นที่น่าพึงพอใจของทุกฝ่าย แต่สำหรับสื่อสร้างสรรค์ที่ใช้ในการรณรงค์ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ที่แต่ละโรงเรียนทำขึ้นนั้น ในหลายโรงเรียนทำได้ดี แต่ควรมีการพัฒนาให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น สามารถมีส่วนร่วมได้หลากหลายขึ้น ตลอดจนสามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสามารถกระตุ้นหรือจูงใจให้เด็กนำไปใช้ บอกต่อไปยังครอบครัว ชุมชน และสังคมรอบข้างต่อไปได้ด้วย” นายดนัย หวังบุญชัย บอก
จากปีที่ 1 เข้าสู่ปีที่2 นายดนัย หวังบุญชัย บอกเพิ่มเติมว่า สำหรับในเทอม2 นี้ได้มีการต่อยอดและขยายผลกิจกรรมและสื่อที่เกิดขึ้นในเทอม 1 ในโรงเรียนที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มทำต่อได้ จากเดิม 25 โรงเรียน เหลือ 22 โรงเรียน จาก 4 ภูมิภาค ให้สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจให้ครอบคลุมนักเรียนในโรงเรียนสามารถรู้เท่าทันโรคอ้วน ซึ่งเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินกิจกรรมของโครงการฯ ในเทอม 2 ของแต่ละโรงเรียนนี้คณะกรรมการจะดูจาก 1.ความต่อเนื่องของแผนจากเทอมแรก (ที่ทำให้เด็กเกิดความตระหนัก) 2.การขยายเครือข่ายในการทำงาน 3.การสร้างผู้นำเด็ก 4.ภาวะโภชนาการและภูมิปัญญาท้องถิ่น 5.กิจกรรมทางกายที่สร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อจากภูมิปัญญาท้องถิ่น 6.การรู้เท่าทันสื่อ และ 7.การบูรณาการกับวิชาต่างๆ ในโรงเรียน ซึ่งในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานใหญ่รวมทั้ง 22 โรงเรียนเกิดขึ้นใจกลางเมือง แต่จะเป็นสถานที่ใดจะมีประกาศไว้ที่ www.artculture4health.com/nofat เร็วๆ นี้ และโรงเรียนใดสามารถทำได้ตามเกณฑ์แล้วมีความโดดเด่นที่สุดจะได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปครอง ซึ่งจะเป็นโรงเรียนไหนนั้นเดือนพฤษภาคมนี้รู้กันแน่นอน...
สื่อแบบไหน? ที่เรียกว่า “สื่อสร้างสรรค์”
สื่อ หมายถึง สิ่งใดๆ ก็ตามที่เป็นตัวกลางระหว่างแหล่งกำเนิดของสารกับผู้รับสาร เป็นสิ่งที่นำพาสารจากแหล่งกำเนิดไปยังผู้รับสาร
สื่อ หมายถึง สิ่งที่ทำให้ปรากฏด้วยอักษร เครื่องหมาย ภาพ หรือเสียง ไม่ว่าจะได้จัดทำในรูปแบบของเอกสาร สิ่งพิมพ์ ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี รูปภาพ ภาพโฆษณา รูปถ่าย ภาพยนตร์ วีดีทัศน์ การแสดง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ในระบบคอมพิวเตอร์ หรือได้จัดทำในรูปแบบอื่นใดตามที่กำหนด
สื่อสร้างสรรค์ หมายถึง สื่อที่มีการนำมาเสนอในรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้ง่ายต่อการรับรู้ และเข้าใจ อาจจะนำเสนอด้วยรูปแบบเทคโนโลยีต่างๆ เช่น คลิปวีดีโอ หนังสั้น ภาพ กราฟิก ภาพเคลื่อนไหว เป็นต้น หรือ การนำมาประดิษฐ์ ประกอบ สร้างสื่อขึ้นมาใหม่ ด้วยวิธีการบูรณาการความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันให้ออกมาเพื่อใช้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายสามารถสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ถูกต้องตามวัสดุประสงค์ของการสื่อสารที่ต้องการมากที่สุดนั่นเอง
โรงเรียนต้นแบบที่ผ่านเข้ารอบในเทอมที่ 2 มีจำนวน 22 โรงเรียน จาก 25 โรงเรียนในเทอมนี้เป็นใครบ้าง?
และเขาสร้างสื่อสร้างสรรค์ มารณรงค์ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้) อย่างไร?
22 โรงเรียนต้นแบบในปีที่ 3 เทอมที่ 2
พื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวน 4 โรงเรียน อาทิ
โรงเรียนอยู่เป็นสุขอนุสรณ์ กรุงเทพมหานคร
โรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์ กรุงเทพมหานคร
โรงเรียนบ้านขุนประเทศ กรุงเทพมหานคร
โรงเรียนพระยามนธาตุราชศรีพิจิตร์ กรุงเทพมหานคร
พื้นที่ภาคกลาง มีจำนวน 5 โรงเรียน อาทิ
โรงเรียนวัดสวนส้ม(สุขประชานุกูล) จังหวัดสมุทรปราการ
โรงเรียนบ้านแก้วเพชรพลอย จังหวัดสระแก้ว
โรงเรียนวัดศรีมหาโพธิ์ จังหวัดนครปฐม
โรงเรียนวัดท่าชุมนุม จังหวัดอ่างทอง
โรงเรียนอนุบาลจอมบึง จังหวัดราชบุรี
พื้นที่ภาคใต้ มีจำนวน 4 โรงเรียน อาทิ
โรงเรียนบ้านลำทับ จังหวัดกระบี่
โรงเรียนบ้านคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา
โรงเรียนเทศบาล3 วัดสมุทราราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โรงเรียนบ้านหนองสองพี่น้อง จังหวัดตรัง
พื้นที่ภาคเหนือ มีจำนวน 5 โรงเรียน อาทิ
โรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยน จังหวัดเชียงใหม่
โรงเรียนเทศบาลวัดหนองผา จังหวัดอุตรดิตถ์
โรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน(บ้านสวนตาล) จังหวัดน่าน
โรงเรียนเทศบาล4 ภูมินทร์ราษฎร์นุกูล จังหวัดพะเยา
โรงเรียนเทศบาล2 วัดดอนมูลชัย จังหวัดตาก
พื้นที่ภาคอีสาน มีจำนวน 4 โรงเรียน อาทิ
โรงเรียนบ้านกุดเรือคำ จังหวัดสกลนคร
โรงเรียนชุมชนวัดรวง จังหวัดนครราชสีมา
โรงเรียนบ้านวังยาววิทยายน จังหวัดมหาสารคาม
โรงเรียนบ้านโนนสูง จังหวัดศรีสะเกษ
ซึ่งทั้ง 22 โรงเรียนที่เข้ารอบในเทอมนี้มีการทำงานอย่างเข้มข้น น่าสนใจ สามารถยกระดับและขยายผลการทำงานไปยังพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างน่าสนใจ อย่างในโรงเรียนบ้านขุนประเทศ โรงเรียนเจ้าของรางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปีที่ผ่านมา ซึ่งนายกันตพัฒน์ มนฑา คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน โรงเรียนบ้านขุนประเทศ บอกเกี่ยวกับกิจกรรมในปีที่ 3 เทอมที่ 2 ว่า นิทรรศการโครงการ Bankhun Healthy Land : Game of Strength ครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา คือ เน้นสร้างความยั่งยืนเพิ่มขึ้น เพราะหลังจากปีแรกกิจกรรมที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่เห็นจุดที่มันสามารถพัฒนาต่อเนื่องได้ แต่ในปีนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ มีการสร้างสื่อต่างๆ ตามหลัก 3 อ. อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย อาทิ อ.อารมณ์ มีการวาดภาพบนกำแพงซึ่งเป็นสื่อที่สามารถใช้ได้ตลอดไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป, อ.อาหาร มีการปรับเปลี่ยนเมนูอาหารในโรงอาหารใหม่ด้วยการเน้นผักที่ปลูกเองและมีผักผลไม้เพิ่มมากขึ้น และ อ.ออกกำลังกาย มีการปรับพื้นที่การออกกำลังกายให้เด็กๆ นอกจากนี้ยังมีการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับคุณครูมากขึ้น จากมีคุณครูเพียงชั้นเรียนเดียวที่รับรู้เรื่องของโครงการนี้ ตอนนี้คุณครูมาร่วมรับรู้และเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งโรงเรียน ที่สำคัญมีการบูรณาการเข้าไปในการเรียนการสอนทุกรายวิชา อาทิ 1.วิทยาศาสตร์, 2.คณิตศาสตร์, 3.ศิลปะ 4.ภาษาไทย 5.ภาษาต่างประเทศ 6.สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 7.การงานอาชีพและเทคโนโลยี และ8.สุขศึกษาและพลศึกษา
“ตอนนี้เราได้มีการเอาฉลากไฟจราจร เขียว เหลือง แดง ไปบูรณาการทำให้เด็กๆ รู้และเข้าใจว่าไฟเขียว ไฟเหลือง ไฟแดง สำคัญอย่างไร? โดยไฟเขียว คือ กลุ่มอาหารสีเขียว เป็นกลุ่มอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน และน้ำตาลระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของไฟจราจรก็คือ ไปได้ ผ่านได้ สามารถทานได้บ่อย ทานได้ทุกวัน ไฟเหลือง คือ กลุ่มอาหารสีเหลือง เป็นกลุ่มอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน และน้ำตาลระดับปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของไฟจราจรก็คือ ชะลอ ระมัดระวัง สามารถทานได้ แต่ไม่ทุกวัน (ไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์) ส่วน ไฟแดง คือ กลุ่มอาหารสีแดง กลุ่มอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน และน้ำตาลระดับสูง ต้องหยุด กินไม่บ่อย กินเป็นโอกาสพิเศษบางครั้งคราวเท่านั้น ซึ่งตอนนี้เด็กสามารถตอบได้ ก็เลยตอบโจทย์ว่าเรามีการบูรณาการ สร้างการมีส่วนร่วม แล้วก็ต่อยอดองค์ความรู้ให้กับคนทั้งโรงเรียน เด็กรับรู้และเข้าใจได้เป็นอย่างดี อยากเชิญชวนโรงเรียนอื่นๆ เอาจริงจังและสนับสนุนเด็กๆ แบบนี้ทุกโรงเรียน อนาคตเด็กๆ จะรักสุขภาพและห่างไกล “โรคอ้วน” ได้แน่ๆ” นายกันตพัฒน์ มนฑา บอก
ด้านนายณัฐพล แสงอรุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยน ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 1 ใน 22 โรงเรียนโรงเรียนต้นแบบอีกหนึ่งโรงเรียนในปีที่ 3 เทอมที่ 2 บอกว่า ที่โรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยนมีนักเรียนหลากหลายชาติพันธุ์ซึ่งประกอบด้วยชาติพันธุ์จีน ชาติพันธุ์ไทใหญ่ ชาติพันธุ์ลาหู่ (มูเซอ) คนพื้นเมือง ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ประสบปัญหาเด็กที่มีภาวะโภชนาการไม่สมวัย คือ เด็กผอมมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารประเภทต่างๆ อาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูป อาหารที่มีไขมันสูง ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆรวมทั้งการติดเกมส์ การติดสื่อสาธารณะทำให้เด็กนักเรียนมีการเคลื่อนไหวและออกกำลังกายน้อยลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักเรียนมีภาวะโภชนาการไม่สมวัยและเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอ้วนซึ่งสามารถเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้มากกว่าปกติ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ข้ออักเสบ ขาโก่ง รวมทั้งสมาธิสั้น ทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน โรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการมีภาวะโภชนาการที่ดี ได้รับอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการและออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ส่งผลดีต่อการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข
“โครงการสุขภาพดีตามวิถีเผ่าฉัน (THEME : HEALTHY TRIBES) จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ความรู้ในเรื่องของการรักษาสุขภาวะโภชนาการที่ดีด้วยนวัตกรรมการส่งเสริมสุขภาพ TRIBES MODEL คือ การนำตัวอักษรภาษาอังกฤษแต่ละตัวมาให้คำจำกัดความที่สอดคล้องกับกิจกรรมดังนี้ T = Talent of tribes พรสวรรค์ของชนเผ่า(วิถีการรักษาสุขภาพตามภูมิปัญญาของชนเผ่า) R = Remix กิจกรรมบูรณาการสร้างเสริมสุขภาพของชนเผ่า I = Innovation นวัตกรรมการส่งเสริมสุขภาพ การจัดทำสื่อส่งเสริมโภชนาการสมวัย B = Beware การส่งเสริมสุขภาพโดยการเฝ้าระวัง การติดตามภาวะสุขภาพของนักเรียนรายบุคคล และการจัดกิจกรรมทดสอบสมรรถภาพนักเรียน E = Explanation การนำความรู้ทางด้านสุขภาพไปเผยแพร่สู่ชุมชน ภาคีเครือข่าย และ S = Social awareness การรู้เท่าทันสื่อโดยแกนนำนักสื่อสารสุขภาวะ ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาส่งผลให้นักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยนมีพฤติกรรมสุขภาพ 3 อ. อารมณ์ อาหาร ออกกำลังกายที่เหมาะสม และมีภาวะโภชนาการที่สมวัย นอกจากนี้ยังมีการขยายโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มันเค็ม เพิ่มผักและผลไม้) สู่ชุมชน โรงเรียนเครือข่ายและภาคีเครือข่ายในเทอมนี้ด้วย เพื่อการส่งเสริมสุขภาพให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” นายณัฐพล แสงอรุณ บอก
สำหรับนิทรรศการสุขภาพดีวิถีชนเผ่าที่เกิดขึ้นมีการแบ่งองก์นิทรรศการ ออกเป็นองก์ที่ 1 รู้จักตัวตนชนชาติพันธุ์ องก์ที่ 2 ต๊ะต่อนยอนสุขสันต์ประกอบเพลงออกกำลังกาย องก์ที่ 3 จับมือไว้เพื่อเป้าหมายสุขภาพเด็กไทยดี ซึ่งกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นมีมากมาย อาทิ กิจกรรมกาดหมั้วที่เป็นอาหารชนเผ่าลดพุง ลดโรค ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ (ชาติพันธุ์จีน/ชาติพันธุ์ลาหู่/ ชาติพันธุ์ไทใหญ่), นิทรรศการแสดงผลงานเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นสื่อส่งเสริมสุขภาพ ที่เป็นแบบบันทึกสุขภาพ การทำอุปกรณ์ออกกำลังกายด้วยวัสดุจากชุมชน, กิจกรรมการเรียนรู้อาหารชนเผ่าเพื่อสุขภาพบูรณาการกิจกรรมการเรียน การสอน 8 กลุ่มสาระ, นิทรรศการการขยายเครือข่ายโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนสู่ชุมชนและโรงเรียน เครือข่าย, กิจกรรมสื่อส่งเสริมสุขภาพ รถฟอร์มูล่า พาสุขภาพดี วิถีชนเผ่า ตามด้วยสถานีการเผาผลาญพลังงาน ซึ่งเป็นฐานกิจกรรมพลศึกษา และกิจกรรมการออกกำลังกาย ร้อง เล่น เต้น ลดพุง ต๊ะต่อนยอนฟิตฟอร์เฟิร์ม
“กิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดเหล่านี้ นอกจากเป็นการต่อเนื่องจากเทอมที่ 1 ซึ่งเราได้นำมาบูรณาการ สร้างการมีส่วนร่วม แล้วก็ต่อยอดองค์ความรู้ต่อเนื่อง จากที่เด็กในโรงเรียนไม่ค่อยได้ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ตอนนี้เด็กได้รับรู้และเข้าใจมากขึ้น มีส่วนร่วมกับกิจกรรมมากขึ้น สร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น อยากเชิญชวนโรงเรียนอื่นๆ เอาจริงจังและสนับสนุนเด็กๆ แบบนี้ทุกโรงเรียน อนาคตเด็กๆ จะรักสุขภาพและห่างไกลโรคอ้วนได้แน่ๆ” นายณัฐพล แสงอรุณ บอก
สำหรับเด็กหญิงนาหวะ จะกอ อายุ 13 ปี, เด็กหญิงมิ้น หลวงใจ อายุ 14 ปี, นางสาวน้ำผึ้ง หลวงใจ อายุ 15 ปี และเด็กหญิงขวัญฤดี นาปาน อายุ 13 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยน ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า เมื่อก่อนพวกเขาไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าโรคอ้วน ทำให้คนที่เป็นมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ อีกหลายโรค อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ข้อเข่าเสื่อม โรคตับ นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง มีปัญหาในการหายใจ มักเป็นโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลายโรค เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งกระเพาะอาหาร ดูๆ แล้วมันร้ายแรงมากๆ เลย และการที่เราจะรู้ว่าเราอ้วนหรือไม่นั้น เราสามารถคิดจากสูตรคำนวณดัชนีมวลกาย [BMI = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง] ได้เลย
“ซึ่งค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะสมคือ 18.50-22.99 หากอยู่ระหว่าง 23.00-24.90 จัดว่าเป็นคนท้วม และหากเกิน 25 ขึ้นไปก็จัดว่าเป็นคนอ้วน และจากการสำรวจข้อมูลพบว่ามีคนอ้วนเป็นจำนวนมากถึง 16 ล้านคน เป็นหญิงมากกว่าชายถึง 2 เท่าตัวด้วย โดยสาเหตุของการอ้วนนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการการกินอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดการสะสมพลังงาน มีไขมันสูงตามร่างกาย ทั้งในเส้นเลือด ช่องท้อง ยิ่งไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว หรือออกกำลังกายกินแล้วนอน ยิ่งทำให้อ้วน ในโครงการนี้พวกเราได้ทั้งออกกำลังกาย ได้ทั้งการทำอาหารที่มีประโยชน์ทานเอง และที่สำคัญได้ทำกิจกรรมมากมายนอกจากจะทำให้ไม่อ้วนแล้ว ยังทำให้พวกเรากล้าแสดงออกอีกด้วย” นักเรียนบอก
ไม่เพียงแค่ 2 โรงเรียนนี้เท่านั้นทีได้ทำกิจกรรมไปแล้วยังมีอีก 20 โรงเรียนที่ได้สร้างสื่อสร้างสรรค์รณรงค์ไปแล้ว ซึ่งเราจะนำมาบอกกล่าวกันในฉบับถัดๆ ไป จะน่าสนใจและเป็นแบบไหน มีสื่ออะไรดีๆ ออกมาบ้างสามารถติดตามได้ที่นี่ และที่ http://www.artculture4health.com/nofat ได้
มาร่วมมือและช่วยกันรณรงค์ลดน้ำหนักในเด็กกับเราสิ แล้วลูกหลานของเราจะมีสุขภาพที่สมบูรณ์สมวัย พร้อมจะเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติต่อไป...
“อย่าปล่อย .. อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน”
....................................................
เรื่องโดย ฤทัยรัตน์ ไกรรอด (ปากกาแก้ว)
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]