โรงเรียนบ้านโนนสูง ศรีสะเกษ เปิดตัวโครงการ โฮมพลคนสี่เผ่า ไม่เอาโรคอ้วน
ดึงจุดเด่นของพื้นที่ รณรงค์อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน
(วันที่ 4 เมษายน 2562) โรงเรียนบ้านโนนสูง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ 1 ใน 22 โรงเรียนโรงเรียนต้นแบบ ของโครงการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการรณรงค์ลดน้ำหนักในเด็กระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้) ในภูมิภาค ปีที่3 เทอม2 จัดนิทรรศการโครงการโฮมพลคนสี่เผ่า ไม่เอาโรคอ้วน ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักโภชนาการสมวัย สำนักงานบริหารแผนงานอาหารและโภชนาการ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เครือข่ายคนไทยไร้พุง และชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย หวังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กในโรงเรียนให้เข้าใจและเท่าทันโรคอ้วน
โดยนายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการรณรงค์ลดน้ำหนักในเด็กระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้) ในภูมิภาค ปีที่3 เทอม2 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการใช้สื่อและกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลาย มุ่งใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านสุขภาวะ มีการถ่ายทอดให้เกิดแรงบันดาลใจเพื่อการสื่อสารสุขภาวะ ในหัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” โดยให้ความสำคัญกับครูผู้สอน เด็กนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน ในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning)กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ ได้แก่ ครู และนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
“ทั้งนี้ผลการดำเนินงานโครงการ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)” ปี 3 ที่ผ่านมา พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของนักเรียนจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีการเปลี่ยนแปลงไป คือ หลังดำเนินโครงการฯ คณะกรรมการพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของนักเรียนโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (สมส่วน) เพิ่มขึ้น ท้วมหรืออ้วนสูงลดลงเล็กน้อย ส่วนกลุ่มที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (ผอม) ยังคงมีเท่าเดิม ซึ่งโดยภาพรวมการดำเนินงานเป็นที่น่าพึงพอใจของทุกฝ่าย แต่สำหรับสื่อสร้างสรรค์ที่ใช้ในการรณรงค์ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ที่แต่ละโรงเรียนทำขึ้นนั้น ในหลายโรงเรียนทำได้ดี แต่ควรมีการพัฒนาให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น สามารถมีส่วนร่วมได้หลากหลายขึ้น ตลอดจนสามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสามารถกระตุ้นหรือจูงใจให้เด็กนำไปใช้ บอกต่อไปยังครอบครับ ชุมชน และสังคมรอบข้างต่อไปได้ด้วย” นายมานพ แย้มอุทัย กล่าว
เมื่อเป็นเช่นนี้นายมานพ แย้มอุทัย กล่าวต่อว่า สำหรับในเทอม2 นี้ได้มีการต่อยยอดและขยายผลกิจกรรมและสื่อที่เกิดขึ้นในเทอม 1 ในโรงเรียนที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มทำต่อได้ จากเดิม 25 โรงเรียน เหลือ 22 โรงเรียน จาก 4 ภูมิภาค ให้สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจให้ครอบคลุมนักเรียนในโรงเรียนสามารถเท่าทันโรคอ้วน โรงเรียนบ้านโนนสูง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ก็เป็น 1 ในโรงเรียนต้นแบบครั้งนี้ ซึ่งเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินกิจกรรมของโครงการฯ ในเทอม 2 ของแต่ละโรงเรียนนี้คณะกรรมการจะดูจาก 1.ความต่อเนื่องของแผนจากเทอมแรก (ที่ทำให้เด็กเกิดความตระหนัก) 2.การขยายเครือข่ายในการทำงาน 3.การสร้างผู้นำเด็ก 4.ภาวะโภชนาการและภูมิปัญญาท้องถิ่น 5.กิจกรรมทางกายที่สร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อจากภูมิปัญญาท้องถิ่น 6.การรู้เท่าทันสื่อ และ 7.การบูรณาการกับวิชาต่างๆ ในโรงเรียน ซึ่งในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานใหญ่รวมทั้ง 22 โรงเรียนเกิดขึ้นใจกลางเมือง แต่จะเป็นสถานที่ใดจะมีประกาศไว้ที่ www.artculture4health.com/nofat เร็วๆ นี้ และโรงเรียนใดสามารถทำได้ตามเกณฑ์แล้วมีความโดดเด่นที่สุดจะได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปครอง ซึ่งจะเป็นโรงเรียนไหนนั้นเดือนพฤษภาคมนี้รู้กันแน่นอน...
ซึ่งนางสาวดนตรี บุญลี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโนนสูง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทย โรคอ้วนในเด็กมีจำนวนมากขึ้น จากการศึกษาของกรมอนามัยในช่วงระยะเวลา 5 ปีย้อนหลัง พบว่าเด็กในวัยเรียนอายุ 6–13 ปี อ้วนเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 15.5 เด็กที่อ้วนและมีน้ำหนักเกินส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำงานเชื่องช้าไม่ชอบออกกำลังกาย จากการศึกษาการเจริญเติบโตของเด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านโนนสูงในปีการศึกษา 2560 มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 129 คน พบว่ามีเด็กอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานคิดเป็นร้อยละ 6.72 และเด็กกำลัง จะอ้วนคิดเป็นร้อยละ 2.52 จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กอ้วนเหล่านี้น่าจะมาจากนิสัยการกินอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ชอบรับประทานน้ำหวาน ขนมกรุบกรอบ และการดำเนินชีวิตที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อได้รับพลังงานจากอาหารเสริมมากกว่าที่ร่างกายนำไปใช้จึงส่งผลให้เด็กอ้วน ที่สำคัญเด็กที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมักมีความเสี่ยงของโรคหัวใจ มีคลอเลสเตอรอลสูง ระดับอินซูลินสูง และมีความดันโลหิตสูง นอกจะเกิดปัญหาทางกายแล้ว เด็กที่อ้วนอาจจะเจอกับภาวะทางจิตใจด้วย เช่น เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่กล้าแสดงออก ถูกเพื่อนล้อเลียนและแกล้ง ชอบแยกตนออกจากกลุ่มเพื่อนฝูง บุคลิกภาพไม่ดี ความสัมพันธ์ทางสังคมไม่ดี ส่งผลต่อการเรียนรู้ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ จากการดำเนินโครงการส่งเสริมการรับประทานผักและผลไม้ ลดหวานมันเค็ม และสร้างความตระหนักแก่ผู้ปกครอง ทำให้ครู ผู้ปกครองเริ่มให้ความสนใจหันมาพัฒนาอาหารและสุขภาพของตนเองและลูกหลาน ส่วนครูและนักเรียนเริ่มหันมาดูแลเรื่องสุภาพ และเด็กก็ได้เรียนรู้วิธีดูแลสุภาพมากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาสุขภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อันจะส่งผลให้ภาวะโรคอ้วนในเด็กนักเรียนลดลง โรงเรียนบ้านโนนสูง จึงได้ทำโครงการที่มีชื่อว่า “โฮมพลคนสี่เผ่าไม่เอาโรคอ้วน” ขึ้น
“คำว่า “โฮม” เป็นภาษาอิสานแปลว่ารวมคน คำว่า “คนสี่เผ่า” เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ ดั้งเดิมซึ่งประกอบด้วย เผ่าลาว เผ่าเขมร เผ่าส่วย และเผ่าเยอ ซึ่งใช้การแต่งกายและภาษาเป็นสื่อ ในปัจจุบันบ้านโนนสูงมีคนเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่ทั้ง 4 เผ่า ซึ่งในโครงการโฮมพลคนสี่เผ่า ไม่เอาโรคอ้วน นี้ ได้มีการนำการแสดงของสี่เผ่ามารวมกันผ่านกิจกรรม “สี่เผ่า เร้าอารมณ์” ในชุด รำสี่เผ่าไทย โดยเผ่าเขมร มีการแสดงในเพลงกะโน๊บติงตอง, เผ่าลาวมีการแสดงในเพลง มาม่วนเมืองขุนหาญ, เผ่าส่วยมีการแสดงในเพลง รำแม่มด และเผ่าเยอมีการแสดงในเพลง เซิ้งสะไน ขึ้นเป็นการปลูกฝังให้เด็กกล้าแสดงออก และมีสุขภาพดีทางด้านอารมณ์ด้วย สำหรับความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริโภคอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ และการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เหมาะสมนั้นมีการบูรณาการโดยให้ครู บุคลากร ผู้ปกครอง และภาคีเครือข่ายในชุมชนมีส่วนร่วมในการสื่อสารและรณรงค์ร่วมกันผ่านหนังสือเล่มเล็ก. จดหมาย สารประชาสัมพันธ์, ตราสัญลักษณ์ผ่านเสื้อ หรือแม้แต่หนังสั้นรู้เท่าทันสื่อที่จัดทำขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยผลที่เกิดขึ้นจากโครงการในเทอมที่1 คือ ของนักเรียนรัอยละ 50 ที่มีภาวะทุพโภชนาการและจำนวนเด็กอ้วนในเด็กวัยเรียนลดลง, ครู นักเรียน มีพฤติกรรมรักการออกกำลังกายสูงขึ้นร้อยละ 80, ครู นักเรียนร้อยละ 80 มีสุขนิสัยในการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ขึ้น และที่สำคัญ ร้อยละ 80 ของผู้ปกครองและชุมชนที่ให้ความร่วมมือและมีความตระหนักในการพัฒนาสุขภาพมากขึ้น”นางสาวดนตรี บุญลี กล่าว
สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ นางสาวดนตรี บุญลี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกิจกรรมนอกจากมีการแสดงรำสี่เผ่าไทยแล้วยังมีนิทรรศการ “โฮมพลคนสี่เผ่า ไม่เอาโรคอ้วน” และกิจกรรม “สี่เผ่าไทย หัวใจแกร่ง” ซึ่งแบ่งเป็น 6 ฐานการเรียนรู้ดังนี้ ฐานที่1 ปั่นพอเพียง,ฐานที่2 สะพานล้อ, ฐานที่3 กบหรรษา, ฐานที่4 ลดแลกพลัง, ฐานที่5 การละเล่นพื้นบ้าน และฐานที่6 สัญญาณไฟจราจร โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ต้องการให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญของการมีโภชนาการที่ดีและปฏิบัติได้อย่างจริงจังและยั่งยืน สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติในการรับประทานอาหารไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม และเพิ่มผักผลไม้ ในทุกๆ มื้ออาหาร และชวนออกกำลังกายเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติให้มีใจรักการออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพ ที่สมบูรณ์แข็งแรง ที่สำคัญเมื่อเด็กเรียนรู้แล้ว สามารถขยายความรู้และถ่ายทอดไปยังบุคคลอื่นๆ ให้และเข้าใจในแบบเดียวกัน เชื่อว่าจะสามารถลดปัญหา “โรคอ้วน” ในสังคมลงได้
ซึ่งผู้ที่สนใจ และต้องการติดตามการทำงาน ความเคลื่อนไหวของ) โรงเรียนบ้านโนนสูง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ และโรงเรียนอื่นๆ ทั้ง 22 โรงเรียนได้ที่ www.artculture4health.com
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]