บ้านปากลัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ นับว่าเป็นชุมชนมุสลิมที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดนี้เลยก็ว่าได้ จากการค้นพบบันทึกของอิม่ามโต๊ะครูอับบาส บินอับดุรเราะห์มาน(แสงวิมาน) ผู้นำศาสนา ได้เขียนเป็นภาษามลายู บอกเล่าเรื่องราวในยุคอดีต ถึงบรรพบุรุษของบ้านปากลัด ที่ย้ายภูมิลำเนาจากปัตตานีมายังกรุงสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยกล่าวถึง 3 พี่น้อง คือ 1. อิม่ามดอมุฮิ 2. คอเตบดามาลี 3. บิหลั่นยะห์ยา ในบันทึกสายตระกูลว่า “ในการมาครั้งนั้นได้มีผู้ที่มีความรู้เรื่องศาสนาอิสลามติดตามมาด้วยเป็นจำนวนมาก จนมีการตั้งชุมชนและสถาบันที่ถูกจัดตั้งขึ้นพร้อมกับชุมชนคือ มัสยิด นั่นเอง”
กว่า 229 ปีแล้วที่ชุมชนแห่งนี้ปักหลักอยู่โดยมีอัตลักษณ์ของตัวเองที่เด่นชัด และยังรักษาไว้อย่างเข้มแข็ง พร้อมนำมาเผยแพร่ สู่สายตาประชาชนอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการละเล่นท้องถิ่นอย่าง “ลิเกฮูลู” ทางชุมชนมีโครงการร่วมมือกับโรงเรียนในย่านพระประแดง เพื่อบรรจุองค์ความรู้ประวัติศาสตร์บ้านปากลัด ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย เพื่อให้ศึกษาถึงความหลากหลายทางชาติพันธ์ ที่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
ครูอามีนะห์ มูซอ (ครูเจี๊ยบ) เล่าว่า “ลิเกฮูลูแดงเนียม ” เริ่มต้นจาก เมื่อปี พ.ศ.2547 มีผู้ใหญ่ในหน่วยงานของภาครัฐเล็งเห็นว่า พื้นที่นี้เป็นจุดเสี่ยงเกี่ยวกับยาเสพติดและยังเป็นพื้นที่สีแดง ทางหน่วยงานภาครัฐ จึงหารือกับผู้อำนวยการ ของโรงเรียนสอนศาสนาทับทิมแดงเนียมอุปถัมภ์และคณะครู โดยได้ข้อสรุปในทิศทางเดียวกันว่า ให้ทำกิจกรรมขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เยาวชนได้ห่างไกลจากยาเสพติด
ด้วยชุมชนบ้านปากลัดมีเชื้อสายเดิมมาจากลุ่มน้ำปัตตานี ทางคณะครูจึงได้นำวัฒนธรรมของภาคใต้มาแสดงคือ "ลิเกฮูลู" นั่นเอง เริ่มแรกได้เป็นตัวแทนภาคที่ 1 รวม 9 จังหวัด ไปแสดงในงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และ สำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์(สตส.) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอยุธยา นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็มีงานแสดงตามที่ต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน “ลิเกฮูลูแดงเนียม ” ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานกับแผนงานสื่อศิลปวัฒนธํรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ด้วยการนำเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวกับการรณงค์ที่แผนงานนี้ทำอยู่ อย่าง กิจกรรมอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ทาง“ลิเกฮูลูแดงเนียม ” จึงได้คิดบทร้องของลิเกฮูลูให้เป็นการรงรงค์เกี่ยวกับการลดความอ้วนขึ้น หรือแม้แต่การให้กำลังใจกับคนที่ด้อยโอกาสกว่า หรือแม้แต่การสร้างความสุขให้กับคนที่กำลรอรถโดยสารสาธารณะ เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสำคัญๆ ต่างๆ ที่สถานีขนส่งเส้นทาง เหนือ อีสาน และใต้ สถานีรถไฟหัวลำโพง และอื่นๆ ที่สามารถไปได้...
สำหรับการสอนและหึความรู้กำเด็กๆ เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้ ครูเจี๊ยบ เล่าว่า ที่นี่จะสอนจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการร่วมกิจกรรมนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ผู้ปกครองก็ให้ความสนใจมากขึ้นเช่นกัน ส่วนเรื่องของการรณรงค์ด้านยาเสพติดได้ผลถึง 80 % ส่วนใหญ่เด็กที่ร่วมกิจกรรม จะออกห่างจากเรื่องนั้นไปเลย เด็กบางรายผู้ปกครองเป็นคนค้ายา เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถึงขั้นเลิกค้ายาไปเลยก็มี กิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาคใต้ เช่น ลิเกฮูลู ตาลีกีปัส รองเง็ง ตอนนี้มีสมาชิกทั้งหมด ร่วม 50-60 คน ในคณะจะเป็นชาวอิสลามเกือบทั้งหมด มีหลายคนที่ไม่ใช่คนอิสลามแล้วอยากมาเข้าร่วมกิจกรรม เราก็บอกว่ามาเข้าร่วมได้ เพราะที่นี่เราไม่จำกัดว่าเป็นชนชาติใดนับถือศาสนาอะไร แต่เราต้องบอกนโยบายหรือจุดยืนก่อนว่า บางงานเราไม่มีค่าตัวให้กับเด็กนะ แต่ว่าถ้าใครมาที่บ้านเรา เรามีที่พักและอาหารให้ไม่จำกัด
เกี่ยวกับการเข้าร่วมกิจกรรม น้องญาสิมีน น.ส.บุญธิดา เกียรติศิลปิน อายุ 15 ปี บอกว่า เริ่มแรกเรียนที่โรงเรียนสอนศาสนาทับทิมแดงเนียมอุปถัมภ์ ที่โรงเรียนมีกิจกรรมให้เยาวชนห่างไกลยาเสพติด และอนุรักษ์วัฒนธรรมภาคใต้ จึงตัดสินใจมาอยู่กับครุเจี๊ยบ เพราะเห็นชุดที่ใช้ในการแสดงสวย เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมก็ได้อะไรหลายๆ อย่าง เช่น สอนให้เรากล้าแสดงออกและเป็นผู้นำ อีกทั้งยังได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของคนอื่นด้วย จากที่ทำอะไรไม่เป็น ก็ได้เริ่มเรียนรู้ มีความรับผิดชอบ รู้จักการอยู่ร่วมกับคนอื่น กล้าแสดงออกมากขึ้น และเมื่อมีแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. มาสนับสนุนเพิ่ม ทำให้ตนรักในศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้มากขึ้นเพราะนอกจากเราจะได้สืบสานสืบทอดต่อแล้วในกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นการมอบความสุขให้กับคนอื่น สร้างความภาคภูมิใจให้ตนเอง ซึ่งนี่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่มีองค์กรนี้มาสนับสนุน
น้องญาสมีน ยังอยากฝากถึงเยาวชนอีกว่า ให้หากิจกรรมที่เกิดประโยชน์ทำ หรือมาร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรม ทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคมและตัวเราไปในตัวด้วย...
ด้านน้องเฟิส ด.ญ.ศรุตา บุญธรรม อายุ 12 ปี บอกว่า รู้สึกภูมิใจ ที่ได้มาร่วมงานกับ “แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.”เพราะกิจกรรมในแต่ละที่ที่เกิดขึ้นนั้นตนได้ทั้งความสุข สนุกสนาน ได้เปลี่ยนแปลงนิสัยหลายอย่าง รู้จักแบ่งปันมากขึ้น ไม่เอาเปรียบเพื่อน ไม่โยนความผิดให้กัน ที่สำคัญได้ห่างไกลจากยาเสพติดด้วย รวมถึงได้การอนุรักษ์วัฒนธรรมของคนใต้ ที่ตนมีเชื้อสาย และเชื่อว่าการทำงานเป็นทีม จะได้ทั้งความสามัคคีและได้เพื่อนร่วมงานที่ดี
นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมและหนึ่งกลุ่มที่แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. สนับสนุน เพราะเราเชื่อว่าไม่ว่าจะศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบอย่างไร? จะอยู่ภูมิภาคไหน? จะนับถือศาสนาใด? หรือต้นกำเนิดมาจากไหน? เมื่อมาอยู่ใต้ร่มฟ้าเดียวกัน สามารถสานสัมพันธ์กันฉันท์พี่น้อง และสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้ อย่างการละเล่นพื้นบ้านด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของเยาวชนกลุ่มนี้ “ลิเกฮูลูแดงเนียม ” ที่เมื่อได้ส่งมอบให้สังคมได้ดู ...ด้วยจังหวะที่ครึกครื้น ด้วยสีหน้า รอยยิ้มและชุดการแสดงที่สวยงามของน้องๆ เยาวชนกลุ่มนี้ ความสุขก็สามารถเกิดขึ้นได้ทันที....
ทุกที่สร้างสุขภาวะ สร้างสุขให้เกิดขึ้นกับสังคมได้... สนใจกิจกรรมอื่นๆ ที่แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. สนับสนุน ดูได้ที่นี่ www.artculture4health.com ไม่แน่คุณอาจเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะสร้างรอยยิ้ม และสืบสานวัฒนธรรมบ้านเกิดให้คงอยู่ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้สืบไป...
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]