สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม
เมื่อยุคสมัยของสื่อเปลี่ยนไป ...หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ไม่ได้เป็นสื่อที่ทำหน้าที่นำเสนอสื่อได้เพียงฝ่ายเดียว
.... แต่ทุกๆ คนสามารถนำเสนอและเป็นสื่อได้ด้วยตัวเอง
.... การเรียนรู้เรื่องสื่อ หรือ การเสนอเรื่องราวผ่านสื่อจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ทุกคนต้องรู้และเข้าใจ
“การเล่าเรื่อง” เป็นสิ่งสำคัญ เพราะทุกคนเกิดมาเล่าเรื่องเป็นหมด แต่การเล่าเรื่องที่มีศิลปะ มีชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง และการนำเสนอจะถูกยกระดับเป็นการสื่อสารอีกระดับหนึ่งได้นั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อพร้อมในการสื่อสารออกไป
เพราะสถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนรวมถึงเด็ก–เยาวชนอย่างมาก เมื่อระบบการเรียนรู้แบบในอดีตสั่นคลอน ระบบครอบครัว ระบบการศึกษาไม่สามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดช่องว่างของการถ่ายทอดการเรียนรู้ เด็ก–เยาวชนรู้สึกห่างไกลจากชีวิตในอนาคตของพวกเขา เด็กเยาวชนใช้เวลาอยู่กับสื่อมากกว่าอยู่ในห้องเรียน ธุรกิจอุตสาหกรรมการสื่อสารเติบโตอย่างรวดเร็วและมุ่งแข่งขันเพื่อกำไร ทำให้สื่อบางเรื่องมีเนื้อหาไม่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของประชาชน สื่อใหม่มีความยากต่อการควบคุมดูแล ในขณะที่หน่วยงานของรัฐและระบบสังคมที่จะกำกับดูแลยังไม่เข้มแข็งและก้าวตามไม่ทัน ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้ และนำมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน สังคมได้อย่างที่ควรจะเป็น
ในขณะที่ระบบการศึกษาของไทยก็ปรับตัวไม่ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง เด็กเยาวชน ใช้เวลากับการเสพย์สื่อมากขึ้น เป็นผู้สื่อสารมากขึ้น แต่ขาดพื้นฐานความรู้ความเข้าใจและไม่เท่าทัน
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กระบวนการสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างพลเมืองเด็กที่มีจิตสำนึก ในการเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น มีทักษะชีวิต ที่เท่าทันตนเอง เท่าทันสื่อ เท่าทันสังคม รู้จักสิทธิและหน้าที่ มีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม
โครงการผลิตสื่อสร้างสรรค์ หัวข้อ สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม โครงการที่เกิดขึ้นเพื่อให้คนในสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนรู้เท่าทันกลยุทธ์และสื่อที่รายล้อมอยู่รอบๆ ตัว ซึ่งมีการแบ่งประเด็นให้มีความหลากหลายในการสร้างสรรค์ออกเป็น 6 ประเด็น คือ ประเด็นรู้เท่าทันสื่อ, ประเด็นสิ่งแวดล้อม, ประเด็นสุขภาวะในชุมชน,ประเด็นความรุนแรง, ประเด็นกลุ่มอ่อนไหวและเปราะบาง (เด็กพิเศษ, คนพิการ, คนยากไร้, ผู้ถูกกระทำ, ผู้กระทำความผิด) และประเด็นรู้เท่าทันสื่อการพนันฟุตบอลออนไลน์ จากการเปิดรับสมัครมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 มีผลงานทั้งงานเรื่องสั้น,งานเขียน, บทความพร้อมภาพประกอบในสื่อออนไลน์และคลิปวิดีโอสั้นที่เด็กและเยาวชนผู้ผ่านเข้ารอบได้สร้างสรรค์ขึ้นมาแบ่งเป็น เรื่องสั้น,งานเขียน, บทความพร้อมภาพประกอบในสื่อออนไลน์ ทั้งสิ้น 46 เรื่อง และมีคลิปวิดีโอสั้นทั้งสิ้น 33 เรื่อง โดยก่อนที่ผลงานทั้งหมดนี้จะสมบูรณ์นั้น เจ้าของผลงานอย่างเด็กและเยาวชนทั้งหมด ได้ถูกอบรม บ่มเพาะ และเรียนรู้ทั้งการรู้เท่าทันสื่อและหลักการทำงานแบบมืออาชีพจาก วิทยากร และพี่เลี้ยงที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน อย่างด้านงานเขียนจากทั้ง ศิลปินแห่งชาติ รางวัลซีไรต์ นักเขียนมืออาชีพ ผู้กำกับมืออาชีพ และนักวิชาการต่างๆ อาทิ อาจารย์ชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557, นายประชาคม ลุนาชัย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, นายธารา ศรีอนุรักษ์ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, นายเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ นักเขียนและกวีซีไรต์, นายพัฒนะ จิระวงศ์ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, นายสาธิต สมสุข อดีตช่างภาพรายการกบนอกกะลา ปัจจุบันเป็นช่างภาพฟรีแลนช์ ถ่ายทั้งพรีเซนต์ สารคดี, นายสืบพงษ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กลุ่มพลังแห่งต้นกล้า และวิทยากรมืออาชีพมากมาย
ซึ่งความรู้ที่เด็กและเยาวชนได้รับนั้นเป็นเสมือนหัวใจสำคัญของการทำงานในทั้ง 2 ประเภท ซึ่งนายประชาคม ลุนาชัย จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย บอกว่า เมื่อยุคสมัยของการนำเสนอข่าวสารเปลี่ยนแปลงไป ทุกๆ คนสามารถเป็นคนนำเสนอข่าวสารได้ด้วยตัวเอง ฉะนั้นผู้ที่จะนำเสนอข่าวสารนั้นต้องคำนึงถึงความถูกต้องของข้อมูลเป็นสำคัญ โดยหัวใจสำคัญของการนำเสนอข้อมูลนั้นประกอบไปด้วย รู้จักวิเคราะห์, รู้จักสังเคราะห์, รู้จักนำเอาสิ่งที่เป็นความรู้มาใช้ประโยชน์ เพื่อให้คนที่รับเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างที่ต้องการนำเสนอไป
“ต้องคำนึงว่า เนื้อหานั้น ข้อมูลนั้นต้องเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ ได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นเรื่องจริง เป็นข้อมูลจริง”
นายประชาคม ลุนาชัย บอกต่อว่า เมื่อเรานำเสนอข้อมูลที่คิดว่าถูกต้องเหมาะสมออกไปแล้วนั้น สิ่งสำคัญที่ตามมานั่นก็คือ เราต้องมีความรับผิดชอบต่องานที่ผลิตออกมา เพราะเมื่อเราใช้เครื่องมือเป็นแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าคือเนื้อหา ให้คำนึงเสมอว่า เรากำลังจะให้อะไรต่อสังคม สิ่งนั้นมีประโยชน์ต่อสังคมไหม สังคมจะได้อะไรจากการนำเสนอเรื่องนั้นๆ และเพื่อให้สื่อที่นำเสนอไปนั้นกลายเป็น “สื่อ” ที่ “เป็นโรงเรียนของสังคม” คือ สื่อเป็นแหล่งความรู้ สื่อเป็นวิชาเพื่อสร้างสติปัญญา การนำเสนอจึงเป็นภารกิจที่สำคัญ ที่ต้องการการพัฒนาเยาวชนขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้เขากลายเป็นผู้ที่สามารถพัฒนาสื่อได้ในอนาคต
“การเรียนรู้เรื่องสื่อ หรือ การเสนอเรื่องราวผ่านสื่อจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ “การเล่าเรื่อง” เป็นสิ่งสำคัญ เพราะทุกคนเกิดมาเล่าเรื่องเป็นหมด แต่การเล่าเรื่องที่มีศิลปะ มีชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง และการนำเสนอจะถูกยกระดับเป็นการสื่อสารอีกระดับหนึ่งได้นั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อพร้อมในการสื่อสารออกไป ซึ่งก่อนที่จะเล่าเรื่องเราต้องมีเรื่องที่จะเล่าก่อน ซึ่งเรื่องที่จะเล่านั้นจะต้องมาจาก 1.จินตนาการ 2.ข้อมูล ข้อเท็จจริง และสำคัญมากคือต้องอาศัย 3.ประสบการณ์ และ 4.สังเกตการณ์ จากนั้นต้องอาศัยหลักการเขียน การเล่าเรื่อง ซึ่งต้องมองให้กว้าง คิดให้ลึก ศึกษาให้ละเอียด บีบให้แคบ โดยการมองให้กว้าง = มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นภูเขา เห็นโลกกว้าง เห็นข้อมูล, คิดให้ลึก = ศึกษาข้อมูลนั้นๆ ศึกษาให้คิด, ศึกษาให้ละเอียด = รู้เท่าทัน สิ่งที่ต้องการนำเสนอ และบีบให้แคบ = ให้เหลือเพียงประเด็นเดียวที่ต้องการนำเสนอ แค่นี้เราก็จะได้เรื่องที่จะเล่าและเป็นเรื่องที่น่าสนใจได้แล้ว” นายประชาคม ลุนาชัย บอก
“การมองให้กว้าง = มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นภูเขา เห็นแม่น้ำ เห็นโลกกว้าง เห็นข้อมูล
คิดให้ลึก = ศึกษาข้อมูลนั้นๆ ศึกษาให้คิด
ศึกษาให้ละเอียด = รู้เท่าทัน สิ่งที่ต้องการนำเสนอ
บีบให้แคบ = ให้เหลือเพียงประเด็นเดียวที่ต้องการนำเสนอ”
...ซึ่งถ้าต้องเขียนถึงภูเขาสักที่หนึ่งมันจะเป็นเรื่อง เป็นประเด็นที่กว้างมาก
...แต่ถ้าจะเขียนถึงต้นไม้สักต้นหนึ่งบนภูเขาแห่งนั้น เลือกเอาต้นไม้ที่เรารู้จักที่สุด เห็นความงดงามของต้นไม้ต้นนั้นมากที่สุดมาเขียน
...เราก็จะได้เนื้อหา และงานเขียนที่น่าสนใจได้
โดยหลักการของการเขียนนั้นนายประชาคม ลุนาชัย บอกต่อว่า ในหลักการเขียนข่าวนั้นเราต้องมี 5W1H คือใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร แต่ในการเขียนเรื่องสั้น สารคดี นวนิยาย และการทำคลิปนั้น จะมีหลักการเขียนที่แตกต่างออกไป คือ เกิดอะไรขึ้น ใครทำให้เกิด ผลของการเกิดเป็นอย่างไร...
เกิดอะไรขึ้น คือ เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น
ใครทำให้เกิด คือ ตัวละครที่อยู่ในเรื่องนั้น
ผลของการเกิดเป็นอย่างไร คือ เมื่อเกิดขึ้นแล้วส่งผลอย่างไร?
...แล้วเราจะนำเรื่องราวเหล่านั้นมาเรียงร้อยได้อย่างไร? นายประชาคม ลุนาชัย บอกว่า หลักการเขียนที่ดีที่จะทำให้ใครต่อใครอยากอ่านงานเขียนของเรานั้น คือ ต้องเปิดเรื่องให้เป็น (เพราะถ้าเราเปิดเรื่องไม่น่าสนใจ คนอ่านก็ไม่อยากอ่านต่อ โดยอาจจะเล่าตามเข็มนาฬิกา หรือ ทวนเข็มนาฬิกาก็ได้แล้วแต่ความถนัด วิธีการ และเทคนิคของแต่ละคน) จากนั้นเนื้อในต้องคมชัด ทุกบรรทัดต้องทำงาน อวสานต้องซาบซึ้งและตรึงใจ ทำได้เท่านี้งานเขียน หรือการเล่าเรื่องของเราก็จะน่าสนใจและถูกหยิบขึ้นมาอ่านแล้วอ่านอีกได้อย่างแน่นอน...
ด้านนายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อ บอกว่า สำหรับนักเล่าเรื่องนักสร้างสรรค์สื่อ หรือ หากว่าเราต้องการสื่อสารอะไรสักอย่างหัวใจสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ หลัก 3 ไอ (3i) เพื่อให้คนที่เราสื่อสารไปนั้นเข้าใจสิ่งที่เราต้องการสื่อ คือ 1.inside (อินไซด์) คือ เรื่องที่เป็นข้อมูล เรื่องราวจริงๆ ของคนที่เป็นคนต้นเรื่อง ประสบการณ์ โลกทัศน์ ค่านิยม วิถีชีวิต เรื่องราวดีๆ ซึ่งเราเรียกองค์ประกอบส่วนนี้ว่า “อารมณ์” โดยในทุกๆ เรื่องที่เราต้องการนำเสนอทั้ง บทความ ข่าว สารคดี หนังสั้น เรื่องสั้น อินโฟกราฟิก อื่นๆ ที่เราต้องการทำทั้งหมดนี้ต้องหาอินไซด์ให้เจอ เพราะอินไซด์นั้นเปรียบเสมือนข้อมูลภายใน ที่เป็นเส้นเรื่องที่นำความน่าสนใจให้กับงานของเรา เพราะทันทีที่หาเจอนั้นคนดูก็สนใจและอยากดูงานของเรา 2.Information (อินฟอร์เมชั่น) คุณสมบัติหลักที่เด็กและเยาวชนทุกคนต้องมี คือ การเป็นคนที่ชอบศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล การมีข้อมูลพวก กราฟ สถิติ ตัวเลข แนวโน้ม หรือข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเพื่อมาเสริม เพิ่ม ให้เรื่องราวที่เราต้องการนำเสนอนั้นมีน้ำหนัก มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น มีหลัก มีเหตุ มีผลมากขึ้น เวลาที่มีคนมาดูผลงานก็จะให้เขาได้ข้อมูลได้ความรู้ไปด้วย และ3.interest (อินเทอเรส) ความน่าสนใจของเรื่องราวที่เราต้องทำให้เรื่องนั้นๆ เชื่อมโยงไปถึงคนดู คนฟัง คนอ่านปลายทางนั้นๆ ให้ได้ ทำให้เขาเอ๊ะ!! ว่าเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนรวม เรื่องใกล้ตัว ใกล้ชีวิตของเขาอย่างไร?.. เพราะฉะนั้นเรื่องที่ดีต้องสามารถนำไปสู่การเรียกร้องให้นำไปสู่การกระทำ หรือการเปลี่ยนแปลงได้ในฮุกสุดท้ายของเรื่องได้ นี่แหละจะถือได้ว่าเราประสบความสำเร็จในการทำงานแล้ว
“เมื่อเราหาเรื่องที่ดีจากคนจริงๆ ที่พบได้ จากนั้นก็ทำการสืบค้นข้อมูลที่ดี ที่มีน้ำหนัก มีความน่าเชื่อถือ แล้วผูกเรื่องให้เข้ากับเรื่องสาธารณะ เรื่องใกล้ตัว เรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนจริงๆ ให้ได้ เมื่อหาได้เรื่องพวกนี้จะทำให้งานหรือสิ่งที่เราเสนอมีพลังมากขึ้นได้ ...แค่เวลาเพียง 3 นาทีสั้นๆ แต่สามารถนำไปเปลี่ยนแปลงชีวิต นำไปสร้างแรงบันดาลใจ หรือสามารถแก้ไขปัญหา และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ นี่แหละจะถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักของการทำงานและหาความน่าสนใจให้กับงานของเรา” นายธาม เชื้อสถาปนศิริ บอก
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ บอกเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ ว่า การรู้เท่าทันสื่อก็เหมือนกับการฉีดวัคซีน แต่เป็นวัคซีนที่ฉีดแล้วมันเข้าไปอยู่ที่ “ตา” ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นเหมือนกับการเบิกเนตร เพราะทันที่ที่คนเราสวมแว่นตาการรู้เท่าทันสื่อ ไม่จำเป็นว่าเราจะสายตาสั้น หรือสายตายาว แต่การรู้เท่าทันสื่อก็เหมือนการเปิดโลกทัศน์ที่ทำให้คนเกิดการตั้งคำถาม Why (ทำไม) ขึ้นมา เกิดการตั้งคำถามเชิงย้อนแย้ง หรือCritical Thinking คือทักษะการคิดเกี่ยวกับความตั้งใจที่จะพิจารณาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยการไม่เห็นคล้อยตามข้ออ้างต่างๆ แต่ตั้งคำถามท้าทาย หรือโต้แย้งข้ออ้างนั้นเพื่อเปิดแนวทางความคิดออกสู่ทางที่แตกต่าง อันนำไปสู่การแสวงหาคำตอบที่สมเหตุสมผลนั่นเอง ซึ่งถ้าเราเสพสื่อแล้วเรามีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ จากที่เรามองสิ่งต่างๆ ในมุมมองที่ไม่เหมือนเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไป เมื่อสายตาและมุมมองเราเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เมื่อเราก้าวมาทำงานสร้างสรรค์หรือสร้างสื่อต่างๆ สายตา ข้อมูล มุมมอง โลกทัศน์ ค่านิยมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงนั้นจะทำงานและเข้าไปเปลี่ยนแปลงความคิด มายาคติของคนอื่นไปด้วยในตัวได้เช่นกัน เราอยู่ในสังคมที่ข้อมูลข่าวสารที่มันเยอะมาก ความแตกต่างในการสร้างสรรค์งานนั้นจึงได้ขึ้นอยู่กับ “การมองสิ่งนั้นในสายตาที่แตกต่างออกไป” งานนั้นจึงจะน่าสนใจและเข้าไปเปลี่ยนสายตาในการมองให้คนอื่นๆ ให้เห็นแตกต่างและรู้เท่าทันสื่อได้....
ด้านพี่มาร์ อุมาพร ตันติยาทร อดีตพิธีกรภาคสนาม รายการกบนอกกะลา บอกว่า สำหรับเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมในโครงการผลิตสื่อสร้างสรรค์ หัวข้อ สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมนี้ ถือว่า เป็นมือใหม่หัดทำสื่อสร้างสรรค์ แต่การที่เขาเป็นคนรุ่นใหม่การทำสื่อจึงออกมาในมุมมองใหม่และแตกต่างจากที่นักทำสื่อมืออาชีพทำ เพราะนักทำสื่อรุ่นเก่าบางครั้งการเป็นคนรุ่นเก่า วิธีการเล่า หรือภาษาในการเล่าอาจจะเป็นอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่สมัยใหม่เท่าเยาวชนที่เติบโตมาในยุคเทคโนโลยีเฟื่องฟูที่มักจะมีความครีเอทีฟในการเล่ามากขึ้น เรื่องที่เขาคิดมานอกจากจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นเรื่องใกล้ตัวอย่าง สิ่งแวดล้อม หรือการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเมื่อเขาคิดได้แล้วจะค่อยๆ เพิ่มเติมและต่อยอดในเรื่องของการทำงานแบบมืออาชีพใส่เข้าไปจนเขาสามารถทำงานออกมาเป็นงานที่ดีและมีส่วนในการรับใช้สังคม สามารถสร้างความภาคภูมิในให้กับคนทำสื่อได้ เพราะการทำสื่อสร้างสรรค์เมื่อได้เผยแพร่สู่สังคมแล้ว เราจะรู้ได้ทันทีเลยว่า สื่อชิ้นนั้นมีค่ากับสังคมจริงๆ อย่างไร?... อยากรู้ว่าผลงานที่น้องๆ เยาวชนเหล่านี้สร้างสรรค์ออกมานั้นเป็นอย่างไรสามารถติดตามผลงานทั้งหมดได้ที่ http://artculture4health.com/mass หรือที่ www.facebook.com/MediaAsSocialSchool
อย่างคลิปสั้นเรื่องไก่ ไอ้ น้อง ผลงานการกำกับของครูปณิธาน รัตนธรรม, เด็กชายอภิรัตน์ แซ่ม้า จากทีมบ้านหลวงสคูลฟิล์ม โรงเรียนบ้านหลวง ดอยอ่างขาง อำเภอฝาง เชียงใหม่ โดยเจ้าของผลงาน บอกว่า คลิปสั้นนี้ต้องการทำมาเพื่อสะท้อนมุมมองในประเด็น “ความรุนแรง” ที่หลายๆ คนอาจจะมองว่าเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง จนผู้คนรอบตัวต่างรังเกียจ แต่ทว่าแท้ที่จริงแล้วความรุนแรงนั้นมีสาเหตุที่น่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูจากทางบ้าน ประสบการณ์จากเพื่อนที่โรงเรียน และสื่อที่เสพ อยากให้ทุกคนได้ดูทั้งเรื่องราว และวิธีการนำเสนอซึ่งเชื่อว่าหลายๆ พื้นที่ หลายๆชุมชน มีเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงแต่เรากลับมองข้าม ถ้าเรารู้ถึงปัญหา แล้วหาทางแก้อย่างถูกวิธีสักวันปัญหาเรื่องนี้ก็จะลดลงและหมดไปได้อย่างแน่นอน
นอกจากคลิปสั้นเรื่องไก่ ไอ้ น้อง แล้ว คลิปสั้นเรื่องโลกเสพสื่อ ของทีมบางกุ้งฟิล์ม โรงเรียนวัดโพธิ์นิมิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็เป็นอีกเรื่องที่นำเสนอในประเด็น “ความรุนแรง” ผลงานโดยนางสาวมนรดา เสนลิ้ม, นางสาวจุฬารัตน์ คุ้มเขต, ด.ช.อุเทนร์ เหง้าพรหมมินทร์ และอาจารย์วันชนะ คชฤทธิ์ ซึ่งเจ้าของผลงานบอกว่า สร้างสรรค์ผลงานคลิปสั้นเรื่องนี้มาก็เพราะเห็นถึงปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนที่ยังแก้ไขไม่ได้ ซึ่งต้นเหตุของเรื่องนี้อาจมาจากสื่อเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะสื่อที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ภาพคลิปวิดีโอเด็กชกต่อย ทะเลาะวิวาท นักศึกษาต่างสถาบันยกพวกตีกัน จึงต้องการนำเสนอขึ้นมาเพื่อเป็นอุทาหรณ์ เพราะเมื่อดูวิดีโอนี้จบคนดูจะรู้ถึงสาเหตุของปัญหาความรุนแรงและช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ให้สังคมดีขึ้นต่อไป
เรื่องสั้นเรื่องแกงจืดเต้าหู้หมูสับ ผลงานการเขียนจากนางสาวชิดชนก ชูช่วย ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่นำเสนอมุมมองในประเด็น "สุขภาวะในชุมชน" ออกมาได้อย่างน่ารัก น่าสนใจ สามารถดึงดูดให้อยากอ่านได้ตั้งแต่เริ่มเรื่องจนจบ เป็นเมนู "แกงจืดเต้าหู้หมูสับ" ที่อ่านแค่ชื่อเรื่องก็คิดว่าเป็นเพียงเมนูอาหารธรรมดา แต่ใครจะรู้ว่าเมนูโปรดของใครหลายคน... บางครั้งอาจจะเป็นเมนูที่ไม่น่าหลงใหลเลยสำหรับคนที่ไม่ชอบกินผัก แต่ผู้เขียนก็ยังชักจูงใจให้เห็นได้ชัดด้วยภาษาที่น่าหลงใหล และอยากหาคำตอบต่อไปว่า “ทำไมแกงจืดถ้วยนี้แม้จะไม่ช่วยให้แกงจืดที่โรงเรียนเปลี่ยนไป แต่ก็เป็นแกงจืดถ้วยที่ทำให้เด็กคนหนึ่งรู้สึกว่าเมนูผักน่ากินขึ้นมาได้” เฉกเช่นเดียวกับเรื่อง "ฝันถึงโรงนา" ผลงานสร้างสรรค์ที่จะสะท้อนให้คุณเห็นถึงคุณค่าของวัฒนธรรมของท้องถิ่น ของนางสาวมัณฑนา ธราพรสกุลวงศ์ บทความในประเด็น "สุขภาวะในชุมชน" ที่มองว่าโรงนาเป็นเสมือนฐานบัญชาการของการฟื้นฟูรากฐานทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นอันเป็นวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและใกล้จะสูญหายไป ด้วยภาษาและการเล่าเรื่องที่มีศิลปะ มีชั้นเชิงในการเล่าเรื่องทำให้คนที่ได้อ่านเรื่องสั้นเรื่องมองภาพของคำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ออกมาได้ชัดเจน
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของเรื่องสั้น,งานเขียน, บทความพร้อมภาพประกอบในสื่อออนไลน์ 46 เรื่อง และคลิปวิดีโอสั้น 33 เรื่องเท่านั้น ซึ่งเราจะนำมาให้ติดตามกันในฉบับถัดๆ ไป เพื่อให้สังคมรู้เท่าทันกลยุทธ์และสื่อที่รายล้อมอยู่รอบๆ ตัวหลากหลายรูปแบบ สามารถติดตามได้เร็วๆ นี้
เพราะความคิดเล็กๆ สามารถสร้างสิ่งยิ่งใหญ่ให้สังคมได้...
ข้อมูลจาก จุลสารศิลป์สร้างสุขฉบับที่ 40 ปี 2561
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]