แต่งฮูปแต้ม เส้นทางออกแบบของดีไซเนอร์ที่ปลุก ฮูปแต้ม กราฟิกโบราณอีสานให้มีชีวิตอีกครั้ง

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 9 ตุลาคม 61 / อ่าน : 2,987


แต่งฮูปแต้ม

เส้นทางออกแบบของดีไซเนอร์ที่ปลุก ‘ฮูปแต้ม’ กราฟิกโบราณอีสานให้มีชีวิตอีกครั้ง

 

เรื่อง ภัทรียา พัวพงศกร

 

          ก่อนเดินทางไปมหาสารคาม ฉันโทรศัพท์ไปหาหลายคนเพื่อหาข้อมูลจังหวัด หมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องได้สีสันท้องถิ่นของเมืองสะดืออีสานมาเขียน

        “มหาสารคามน่ะเหรอ…ไม่ค่อยมีอะไรหรอก” ปลายสายคนแล้วคนเล่าตอบซ้ำๆ เหมือนนัดกันไว้ “เราเป็นเมืองการศึกษา”

          ถ่อมตัว หรือเชื่อแบบนั้นจริงๆ ฉันไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คือไม่เชื่อเป็นอันขาดว่าใจกลางอีสานจะขาดเรื่องราว ตักศิลานครแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือย่อมมีสิ่งดีที่น่าแบ่งปัน

          ในที่สุด ฉันค้นพบคำตอบที่ตามหาที่สถานศึกษา แต่จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มาจากวัดเก่าๆ ที่มี ‘ฮูปแต้ม’ ศิลปะบนผนังสิมหรือโบสถ์อีสาน

          ปุ้ย-สรัญญา ภักดีสุวรรณ อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม หลงรักรูปวาดยึกยือซีดจางในวัดห่างไกล แม้ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์หรือนักโบราณคดี แต่ดีไซเนอร์คนนี้มีวิธีรักษากราฟิกโบราณของท้องถิ่นในแบบของเธอเอง

 

ฮู้จักฮูปแต้ม

          ฮูปแต้มคือจิตกรรมฝาผนังแบบอีสานที่อยู่บนสิม วิหาร หรือหอไตร ภาพวาดส่วนใหญ่บอกเล่าตำนานทางพุทธศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชาวบ้าน และธรรมชาติ สีสันของภาพต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ บริเวณใกล้เวียดนาม เช่น จังหวัดหนองคาย สีจะจัดจ้าน โทนส้มเหลือง ส่วนอีสานกลางมักเป็นสีน้ำเงิน สีฟ้า สีเขียว และสีน้ำตาล โดยช่างท้องถิ่นแต่ละที่จะมีสูตรผสมสีของตัวเอง มีส่วนผสม เช่น คราม ยางต้นรัก หรือสีสังเคราะห์จากเวียดนาม

           “เสน่ห์ของฮูปแต้มคือมันไม่ได้ถูกสร้างจากช่างฝีมือวิจิตรเหมือนภาคกลาง เคยมีคนวิพากษ์วิจารณ์ด้วยทัศนคติด้านเดียวว่ามันไม่สวย ดูเลอะเทอะ แต่พอเราศึกษาเราจะรู้ว่ามันสวยในแบบที่มันเป็น ถ้าเปรียบเทียบกับศิลปะฝรั่ง ฮูปแต้มดูเป็นศิลปะไร้เดียงสา (Naive) เพราะคนวาดเป็นชาวบ้าน เป็นพระ เป็นช่างท้องถิ่น ที่ตั้งใจทำเพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนา มันเป็นศิลปะเล็กๆ ที่เกิดจากความแร้นแค้นของบ้านเรา”

          ปุ้ยอธิบายเพิ่มว่าบางวัดเขียนฮูปแต้มที่ผนังด้านนอก เนื่องจากมีธรรมเนียมไม่ให้ผู้หญิงเข้าโบสถ์หรือวิหาร จึงเปิดโอกาสให้ผู้หญิงศึกษาธรรมะผ่านศิลปะ ปัจจุบันฮูปแต้มทั่วไปที่มีอยู่ทั่วอีสานหลงเหลืออยู่เพียง 20 กว่าที่เท่านั้น ส่วนใหญ่วาดในช่วงรัชกาลที่ 5 และเริ่มผุพังหลังเวลาผ่านไปร้อยกว่าปี

           “เราจบนิเทศศิลป์ ทำงานเขียนภาพประกอบกับออกแบบลวยลาย พอได้เห็นฮูปแต้มก็ เฮ้ย นี่ตัวการ์ตูนนี่นา ไปกี่ครั้งก็นั่งดูไปทีละภาพได้ทั้งวัน เราหลงรักฟอร์ม หลงรักรูปร่างรูปทรง มันน่ารักมาก อย่างผนังสิมวัดบ้านยาง (วัดยางทวงวราราม) วาดชูชกสามสี่ตัวเรียงกันอยู่ เอ้า นี่ก็แอนิเมชัน มีคาแรกเตอร์ มีเรื่องราวครบหมด แล้วทำยังไงดี สิ่งที่ปรากฏมีทั้งความชอบและสิ่งที่น่าเป็นห่วง บางวัดเอาสีทองไปทาทับฮูปแต้ม เราปวดใจมาก พูดแล้วยังขนลุก เขาเข้าใจว่าสีทองคือความสวย ก็ทาหมดเลย เหลือแค่รูปฟอร์มของฮูปแต้ม ซึ่งยังไงมันก็ผิดเพี้ยน”

          อาจารย์ศิลปะเปรียบฮูปแต้มว่าเป็นทุกขลาภ เป็นของดีที่ชาวบ้านไม่รู้จะดูแลอย่างไร ยิ่งกรมศิลปากรออกกฎไม่ให้จับผนังเพื่ออนุรักษ์โบราณสถาน คนส่วนใหญ่ยิ่งเกร็ง ไม่กล้าเข้าใกล้ ฮูปแต้มเป็นของมีค่าที่ห่างไกลจากชีวิตผู้คนทั่วไปมากขึ้นทุกที

           “ฮูปแต้มเหมือนเพชรที่ไม่ได้เจียระไน เป็นก้อนหินก้อนนึงที่คนกลุ่มเล็กๆ อย่างแวดวงศิลปกรรมรู้จัก แต่จะทำยังไงให้คนทั่วไปเห็นคุณค่า เราห้ามไม่ให้มันผุพังไม่ได้ แต่ในขณะที่มันอยู่จะรักษามันไว้ยังไงให้มันนานที่สุด ถ้ามีใจจะดูแล มันก็จะเกิดอะไรสักอย่าง”

ฮูปของเด็ก

           “ก่อนหน้านี้เราปวารณาตัวเองว่าจะทำศิลปะเด็กปีละครั้ง ก่อนหน้านั้นก็ทำทีมศิลปะเด็กอีสาน พอมาเจอเรื่องนี้ ก็อยากทำให้เด็กในเมืองที่ไม่รู้จักฮูปแต้มได้รู้จักศิลปะนี้”

          ปุ้ยลงมือศึกษาเรื่องฮูปแต้มอย่างจริงจัง และขอทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาทำสื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชน เช่น จัดค่ายพาเด็กมัธยมจากโรงเรียนต่างๆ ไปดูลวดลายฮูปแต้มที่วัดแล้วคัดลอกลายออกมา ให้ผู้เฒ่าผู้แก่มาเล่าความหมายให้ฟัง หรือร่วมมือกับศิลปินท้องถิ่น หยิบคาแรกเตอร์ฮูปแต้มมาทำเป็นละครหนังบักตื้อ (หนังตะลุงอีสาน)

           “เราไม่ได้ไปแตะไปจับผนังเลย แต่ดึงลวดลายออกมาสู่บริบทใหม่ กลายเป็นแรงบันดาลใจที่เราให้สร้างสรรค์ได้อีกเยอะ ตัวการ์ตูนตัวเดียว แค่จัดวางใหม่ แล้วให้เด็กมอง 10 คนมองก็มองไม่เหมือนกันแล้ว มันเป็นขุมสมบัติมหาศาล”

          ปีต่อปี ปุ้ยพลิกแพลงต่อยอดศิลปะและกิจกรรมจากต้นทุนทางวัฒนธรรมของมหาสารคาม สารพัดคาแรกเตอร์บนสิมได้รับการปลุกให้มีชีวิตอยู่ในบริบทใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพราหมณ์ที่ไปขอช้างขอม้าของพระเวสสันดรตอนเข้าป่า ชูชก นางอมิตดา ไปจนถึงเรื่องราวพื้นบ้านอย่างนายฮ้อย ที่มีตาชั่งสำหรับซื้อวัวควาย สาวเก็บเห็ด สาวหาปูปลา ชาวเวียดนามที่เข้ามาค้าขาย นกฮูก จระเข้ และรวงผึ้งยักษ์บนต้นยาง

 


           “เราบูรณาการฮูปแต้มให้เข้ากับนักศึกษาด้วย ช่วงที่เราเป็นหัวหน้าสาขาเราเจอปัญหาว่าเด็กศิลปะส่วนใหญ่ชอบอยู่กับตัวเอง ไม่ค่อยเข้ามาคณะ เราเลยหาวิธีให้พวกเขาได้ทำงานด้วยกัน ออกแบบภาพประกอบในวิชาเรียนแล้วก็เอามาทำละคร ครูเซียง-ปรีชา การุณ นักการละครหุ่นมาสอนเขียนบท อาจารย์นาฏศิลป์มาสอนตีกลอง เด็กต้องออกแบบภาพประกอบ ออกแบบฉาก ทำคอมพิวเตอร์กราฟิก แล้วเล่นหุ่นเงาเองด้วย เขาเลือกนิทานพื้นบ้านที่อยู่บนผนังเรื่องท้าวปาจิตกับนางอรพิมมาแสดงตามงานมหา’ลัยหรืองานกาชาด

           “ผลสัมฤทธิ์มันไม่ได้วัดที่เล่นใหญ่ แต่ดูว่ารักกันมากขึ้นมั้ย รู้จักกันมากขึ้นมั้ย ภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้นมั้ย กล้าแสดงออกมั้ย ตลอดทางเขาทะเลาะกันบ้าง เกเรบ้าง แต่เราก็ได้เรียนรู้กัน ท้ายที่สุดแล้วเราไม่ได้โชว์ว่าอัตตาเรามีเท่าไหร่ แต่โชว์เพื่อลดอัตตาตัวเอง

           “เรายึดฮูปแต้มเป็นหลัก แล้วแต่ว่าจะเปลี่ยนผ่านไปอยู่ในบริบทไหน กาย ใจ หรือสังคม”

 

ฮูปบ้านเฮา

          ฮูปแต้มเดินทางออกจากวัด สู่กิจกรรมในหมู่เด็กและเยาวชน และเริ่มออกเดินทางไปหาชุมชนด้วยการแปลงร่างเป็นสารพัดของใช้ที่สวยดึงดูดใจ

           “เรารู้สึกว่ามีจิตรกรรมอย่างเดียวไม่ได้ น่าจะมีงานออกแบบสินค้าที่เขียนลายง่ายๆ เบื้องต้นเรานึกถึงผ้าบาติกเพราะว่ามันคอนทัวร์เหมือนกัน เข้าสู่กระบวนการออกแบบลวดลายที่ทำซ้ำได้ กระจายแล้วดู Seamless เลยหาแม่ลายจากฮูปแต้มมาต่อยอดเป็นการออกแบบที่ลึกขึ้น พอทำผ้าบาติกได้ก็ลองบูรณาการกับวิชาอื่น ทำซิลก์สกรีน ออกแบบเครื่องแต่งกาย ออกแบบตัวอักษร แล้วก็ร่วมมือกับวิสาหกิจในท้องถิ่นทำกระเป๋าพิมพ์ลายฮูปแต้ม”

          ปัจจุบัน สิ่งที่นักออกแบบชาวมหาสารคามสนใจคือการทำผ้าบาติกลายฮูปแต้มย้อมคราม ซึ่งเป็นกระบวนการที่เธอหลงใหลมากที่สุด ถึงขั้นปลูกต้นครามและก่อหม้อครามที่คณะให้นักศึกษามาเรียน

           “พอทำผ้าบาติกแล้วต้องย้อมสี เราเรียนรู้เรื่องครามแล้วหลงเสน่ห์มาก ตอนแรกที่เริ่มทำที่คณะ อาจารย์แถวนี้เขาร้องเรียนกันว่าครามเหม็นมาก เพราะเราก่อหม้อไม่เป็นไงคะ ด้วยความฮึกเหิม ฉันเป็นอาจารย์ ฉันเรียนรู้เองได้ เราไปขลุกกับหนังสือเป็นปี พอไปเจอผู้รู้ วันเดียวได้สูตรเลย ครามสอนให้เราเรียนรู้การนอบน้อมต่อภูมิปัญญาของคน”

          ฉันก้มดูมือสีน้ำเงินจากการย้อมครามของดีไซเนอร์ท้องถิ่น ปุ้ยเอ่ยตามตรงว่าการสร้างสรรค์ของเธอยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังมีช่องว่างอีกมากที่เธอและชาวบ้านจะต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาสินค้าฮูปแต้มไปด้วยกัน

           “ด้วยมุมมองนิเทศศิลป์ ก่อนหน้านี้เราสนใจสื่อสมัยใหม่ แอนิเมชัน พอมาจับสื่อพื้นบ้าน มันสอนให้เรานอบน้อมกับตัวตนของแต่ละที่มากขึ้น เราจะไม่มองว่าอันนี้เชย อันนี้ไม่เชย แม่ห้ามทำอย่างนี้ ต้องทำอย่างนั้น เราต้องไปรู้ก่อน แม่ทำอย่างนี้เพราะอะไร และเราจะเชื่อมโยงความเป็นเรายังไง

           “สิ่งที่เราต้องต่อสู้คือความคุ้นชิน หลายคนยังคิดว่าบาติกเป็นของภาคใต้ ครามเป็นของสกลนคร มหาสารคามต้องมัดหมี่ เราบอกเลยว่าวัฒนธรรมเป็นของโลกนี้ค่ะ ใครๆ ก็เรียนรู้ร่วมกันได้ บางทีถ้าเราไปยึดติด โลกของเราจะไม่เปิดกว้าง ครามเป็นภูมิปัญญาของโลกมา 6,000 ปีแล้ว ไม่ใช่ของไทยอย่างเดียว ประเทศอื่นๆ ก็มี เพราะฉะนั้น ลองเปิดใจเรียนรู้ก่อน ถ้ามันดีก็คือดี เหมือนส้มตำยังเป็นส้มตำทอดได้เลย

           “ภูมิปัญญาคือสิ่งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นแล้วเหมาะสมที่จะส่งมอบจากรุ่นสู่รุ่นไปได้ ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรมันก็ด้นไปตามความร่วมสมัยที่จะเกิดขึ้น เราก็เลยไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปบ้าง แต่ถ้ารากแก้วมั่นคงแล้วก็อย่าไปคิดเผื่อเลยว่ามันจะไม่ดี มันต้องดีสิ ในเมื่อเราปลูกต้นที่ดีไว้แล้ว กิ่ง ดอก ผล จะต้องดี”

          ปุ้ยเอ่ยอย่างมั่นใจ ความสนใจสินค้าฮูปแต้มที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เธอคิดว่าอนาคตอยากสร้างแบรนด์เพื่อกระจายงานให้ชุมชน เช่น ชุมชนนี้ปลูกครามให้ ชุมชนนี้ทอผ้าพื้นให้ ให้นักศึกษาร่วมเขียนเทียนวาดลวดลาย แล้วเธอจะทำการตลาด ให้ทุกคนได้แบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ยังมีผลิตภัณฑ์สนุกๆ อีกมากที่ทำได้ในอนาคต เช่น เซรามิก แก้วมัค ไปจนถึงกระเบื้อง และสารพัดข้าวของ

เฮ็ดมือ

          กลิ่นขี้ผึ้งผสมพาราฟินร้อนๆ ลอยมาจากหน้าคณะศิลปกรรม เก่ง-ธรรมนูญ พัดมะนา อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปกรรมอีกคนมาช่วยเตรียมอุปกรณ์กับนักศึกษา ปุ้ยลุกขึ้นยืนแล้วกล่าวว่าเธออยากให้ผ้าบาติกย้อมครามเป็นของขวัญ โดยมีข้อแม้ว่าฉันต้องลงมือทำเอง

           โต๊ะเขียนแบบเก่าๆ ที่พังแล้วถูกบุด้วยฟองน้ำ กลายร่างเป็นโต๊ะร่างผ้าบาติก ปุ้ยหยิบปากกาเดินเทียนมาวาดนกฮูกตาโตและสุนัขตัวลายให้ดูเป็นตัวอย่าง ฉันจับปากกามือไม้สั่น เทียนหกลงเป็นด่างดวงบนผ้า งานนี้ยากกว่าที่คิดมากทีเดียว

           “ระยะนี้เรียกว่า ‘ยาขม’ มันต้องใช้ฝีมือสักหน่อยเลยยาก แต่ถ้าตั้งใจ แค่วันเดียวก็ทำได้ครับ” ลูกศิษย์อาจารย์ปุ้ยที่กลายมาเป็นอาจารย์เหมือนกันกล่าวยืนยัน “เราเลยทำบล็อกไม้ให้ปั๊มง่ายๆ มาแก้ปัญหาให้ชาวบ้านหันมาสนใจทำบาติกมากขึ้น”

          จริงอย่างที่อาจารย์สอนถ่ายภาพว่า การจุ่มบล็อกไม้ลงในเทียนแล้วปั๊มบนผ้าง่ายกว่าหลายเท่า เมื่อลายสีเหลืองแผ่กระจายเต็มผืนผ้าขาว เรารอให้ลายเทียนร้อนๆ แห้งสนิทก่อนคว้าผ้าไปที่กระต๊อบเก็บครามหน้าสนามคณะศิลปกรรม

          หม้อครามข้นคลั่กหลายสิบหม้อเรียงรายอยู่ในเพิงเรียบง่าย กลิ่นครามฉุนกึกลอยมาปะทะจมูก ปุ้ยเล่าติดตลกว่าจากที่ตอนแรกใครต่อใครไม่ชอบใจกลิ่นนี้ แต่ระยะหลังการย้อมครามป๊อปมากจนเนื้อครามหายไปเป็นถังๆ

          ฉันกำผ้าลายเทียนผืนใหญ่ จุ่มลงไปในหม้อครามแล้วบีบซ้ำๆ ผ้าขาวดูดสีอย่างว่องไว ยิ่งจุ่มลงในหม้อถัดไปเพื่อย้อมซ้ำ โทนน้ำเงินก็เข้มขึ้นตามลำดับ

           “ถ้าถอดบทเรียนฮูปแต้ม แต่ละช่วงเอาไปเป็นหลักสูตรในท้องถิ่นได้ทุกรายวิชาเลย”

          อาจารย์นิเทศศิลป์เอ่ยเบาๆ ขณะฉันคลี่ผ้าสีน้ำเงินแสนสวยบนสนามหญ้า รอยฮูปแต้มเขียนเทียนเด่นชัดบนผ้าคราม

           “มันอาจเริ่มต้นที่ศิลปะ แต่ฮูปแต้มสอนให้รู้จักสังคม รู้จักวัฒนธรรม รู้จักการอยู่ร่วมกัน ในครามมีวิทยาศาสตร์ มีศิลปะ มีความดี ความงาม มีประวัติศาสตร์อยู่ข้างใน ศิลปะบูรณาการได้กับทุกสิ่งทุกอย่าง มันทำให้เรารู้จักผู้คน และเราก็พาเขาออกไปให้คนอื่นรู้จัก

           “ตอนไปแสดงงานกระเป๋าฮูปแต้ม เราเจอคนที่ไม่รู้จักจังหวัดมหาสารคาม มีอยู่บนแผนที่ประเทศไทยด้วยเหรอ เดี๋ยวผมตามไปดูฮูปแต้ม ที่สุดแล้ว กระเป๋าพาคนเข้ามาในท้องที่เพื่อจะได้เห็นว่าฮูปแต้มคืออะไร เขาจะได้เห็นศักดิ์ศรีของเรา เห็นความเป็นคนท้องถิ่นอีสาน เราอยากให้สิ่งเหล่านี้มันยังอยู่ในวิถีชีวิตนะ ไม่ต้องไปดวงจันทร์ ไม่ต้องไปไหนก็ได้ อยู่บนโลกนี้ง่ายๆ งามๆ ของเรานี่แหละ”

          ฉันหันไปสบตานักออกแบบผู้หลงรักภาพวาดเก่าซีดจาง แม้ฮูปแต้มสีสันสดใสในวัดต่างๆ ของมหาสารคามเริ่มหลุดลอก แต่สปิริตเข้มข้นของคนรักศิลปะเจิมชีวิตให้ภาพเหล่านั้นอีกครั้ง

           ‘ไหนใครบอกว่ามหาสารคามไม่ค่อยมีอะไรไง’ ฉันคิดในใจ

           ‘เมืองที่ไม่มีอะไร ไม่มีหัวใจแบบนี้หรอก’

 

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]