มีเรื่องราวดีๆ มาบอก : สำนักข่าวเนชั่น นำเสนอข่าว
ครูเซียง จากคณะหมอลำหุ่นเด็กเทวดา ใช้"หนังบักตื้อ"สื่อสารปลุกพลังชาวตำบลหนองแคน รักษาป่าดอนหนองโจน
เนื้อหาข่าวมีดังนี้ ===>>>
ร้อยเอ็ด-ปรีชา การุณ ศิลปินอิสระและนักสื่อสารสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรม ใช้หนังบักตื้อหรือหนังประโมทัยแบบอีสาน ผสานเสียงหมอลำปลุกใจ ปลุกพลังชาวบ้านสำราญและขาวบ้านหนองบาก ตำบลหนองแคน ปทุมรัตน์ร้อยเอ็ด ให้หันมาใส่ใจผืนป่าชุมชนผืนสุดท้ายในพื้นที่ หลังมีคนแอบนำขยะมาทิ้งและมีคนแอบมาตัดฟันทำลาย
ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายชุมชนกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะที่ป่าชุมชนดอนหนองโจน ตำบลหนองแคน อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ผืนป่าขนาด 700 ไร่ กำลังถูกคุกคามจากการรุกที่ป่าเพื่อทำที่ทำกิน มอดไม้กำลังจ้องมองต้นไม้มีค่าหลายต้นในที่นี้ รวมไปถึงการรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความมักง่ายของชุมชนที่เอาขยะมาทิ้ง และทิ้งสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับป่าโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว
จนกระทั่งกลุ่มพลังเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งในนาม มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท ได้ร่วมกับชาวชุมชนบ้านสำราญ บ้านหนองบาก ตำบลหนองแคน ซึ่งเป็นพื้นที่หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ป่าชุมชนแห่งนี้ ได้ปลุกพลังคนในชุมชนให้หันมาดูแล รักษา และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่เอาไว้ ตอนแรกในการดำเนินการโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมทั้งการ ฟื้นฟู ปลูกฝัง ถอดองค์กความรู้ เผยแพร่แนวคิด แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก เพราะชุมชนไม่ได้มีความตระหนักในเรื่องนี้มากนัก
จนกระทั่งโครงการปลุกใจเมือง หรือสปาร์คยู ได้แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้เข้าไปหนุนเสริมโดยใช้สื่อศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนคือ หนังบักตื้อ หรือ หนังประโมทัย และหมอลำ เพราะหมู่บ้านแถบนี้เป็นหมู่บ้านหมอลำ โดยใช้เนื้อหาปลุกใจ และกระตุ้นเตือนคนในชุมชนให้หันมาหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในบ้านตนเอง
โดยเล่าเรื่องผ่านหมอลำเรื่อง “ตำนานทุ่งกุลาร้องไห้” โดยสื่อสารผ่านเด็กนักเรียนตัวน้อย ๆ ของโรงเรียนบ้านสำราญหนองบาก ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็ก ๆ ที่แสดงเข้าถึงเนื้อหาและอยากจะอนุรักษ์หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติบ้านตัวเองแล้ว ยังสามารถกระตุ้นและปลุกคนในชุมชนให้หันมาสนใจป่าชุมชนของตนเองด้วย
นายปรีชา การุณ ศิลปินอิสระ ประยุกต์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเพื่อการพัฒนา เล่าถึงการนำเอาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน บอกมาเป็นเครื่องมือสื่อสารความเข้าใจในการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมปลูกฝังค่านิยมให้กับการรักถิ่นให้แก่เด็กและเยาวชน บอกว่า ป่าดอนหนองโจนมีพื้นที่กว่า 700 ไร่ เป็นป่าชุมชนมาได้ประมาณสิบกว่าปีแล้ว หลังจากป่านี้ถูกบุกรุกและธรรมชาติเริ่มถูกทำลายแต่ชาวบ้านได้ร่วมกันฟื้นฟูขึ้นมา ธรรมชาติเริ่มฟื้นตัว ความสมบูรณ์กำลังจะกลับมา แต่ยังมีคนเอาขยะมาทิ้งอยู่ ทำให้ภาพที่ใครมาเห็นก็ไม่สวยงาม และยังทำลายธรรมชาติด้วย
ทางโครงการสปาร์คยูหรือปลุกใจเมือง จึงได้คิดทำโครงการ ป่าแห่งการเรียนรู้ป่าดอนหนองโจน เพื่อปลุกพลังคนในชุมชนให้ลุกขึ้นมาหวงแหนและรักษาป่าของตนเองเอาไว้ เพราะป่าผืนนี้เป็นป่าผืนสุดท้ายของอำเภอปทุมรัตน์แล้ว โดยใช้ทั้งสื่อศิลปวัฒนธรรมอย่างหนังบักตื้อ หรือหนังประโมทัย โดยมีเด็กเยาวชนเป็นคนร้องหมอลำ เพื่อไปปลุกใจเยาวชนด้วย ปลุกใจคนในชุมชนด้วย
โดยมีพ่อครูแม่ครูมาสอนให้ลำ สอนให้เชิดหนัง และออกแสดงเพื่อสื่อสารกับคนในชุมชน เรื่องที่แสดงคือเรื่อง “ตำนานทุ่งกุลาร้องไห้” ที่เคยอุดมสมบูรณ์แต่ต้องมาแห้งแล้งเพราะคนทำลายธรรมชาติ รวมถึงมีการทำโครงการสายตรวจขยะ มีเด็ก ๆ สวมบทเป็นตำรวจ เป็นสห.ออกตรวจตราขยะหากพบขยะอยู่หน้าบ้านใคร หรือ อยู่ที่ไหน ก็จะเข้าไปคุยและขอปรับเป็นเงิน โดยหากพบขยะ 1 ชิ้นจะปรับ 1 บาท เพื่อเอาเงินเข้ามาเป็นกองทุนในการพัฒนาหนังประโมทัยของพวกเขาซึ่งก็คือคณะ เด็กสำราญศิลป์
รวมไปถึงล่าสุดมีคนเอาขยะเป็นเสื้อผ้าเก่ามาทิ้งที่ป่าดอนหนองโจน เด็ก ๆ ก็ตามไปสืบว่า เสื้อผ้านี้น่าจะเป็นของใคร ไปถามคนในชุมชนว่า เคยเห็นใครใส่ จนกระทั่งไปตามเจอเจ้าของบ้านที่เอาเสื้อผ้าเก่ามาทิ้ง เด็ก ๆ ก็ไปขอร้องให้มาเก็บกลับไป และขอปรับเป็นเงินด้วย
“การทำแบบนี้ทำให้ผู้ใหญ่ละอายใจ เพราะเด็กกัดไม่ปล่อย ตามไปถึงในบ้าน ไปขออนุญาตปรับเงินเพราะคุณทิ้งขยะ และทำให้ชุมชนไม่น่าอยู่ ซึ่งผู้ใหญ่ก็ยอมเพราะอายเด็ก ตอนนี้ในชุมชนไม่ค่อยมีใครกล้าทิ้งขยะ เพราะอายเด็ก”นายปรีชา กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก : http://www.nationtuathai.com/content/1601?sv=