พลังชาวเน็ตจะยิ่งใหญ่สักแค่ไหน? : โดยวริทธิ์ธร แทนด้วง ผลงานประเด็นรู้เท่าทันสื่อ

หมวดหมู่ สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม , โดย : admin , 4 กรกฎาคม 61 / อ่าน : 1,966


 

 

"พลังชาวเน็ตจะยิ่งใหญ่แค่ไหน? "

จากนายวริทธิ์ธร แทนด้วง เรื่อง พลังลบที่สุดในโลก




ทุกวันนี้ต้องยอมรับนะครับว่าเราเปลี่ยนจากยุคที่คนดูทีวีทั้งวัน มาเป็นยุคที่คนนั่งมองโทรศัพท์มือถือทั้งวันและผมก็เชื่อว่าคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธความจริงข้อนี้ ทุกวันนี้พวกเราเล่นเฟสบุ๊คดูยูทูปและหลงไปอยู่ในโลกของมันโลกอีกใบที่ชื่อว่า โซเชียลมีเดีย ไปนั่งอยู่ในโลกใบใหม่ที่ถูกสร้างทับโลกของเราจริงๆ พวกเราเข้าไปอยู่ในแง่มุมต่างๆในโลกใบนั้นที่ทำให้เราฉุกคิดกับสังคม และต้องยอมรับว่าในด้านหนึ่งโลกที่ได้ชื่อว่าโซเชียลมีเดียได้ช่วยสร้างเสริม และพัฒนาให้สังคมเราดีขึ้นทั้งการเข้าถึงข่าวสาร รับรู้ความเป็นไปของสังคม การติดต่อสื่อสารและกระจายข่าวสาร แต่อีกด้านหนึ่งมันได้ก่อให้เกิดปัญหาหลาย ๆอย่างที่พวกเรามองข้ามและสิ่งที่เรากำลังมองข้ามเหล่านั้นแหละที่กำลังทำให้สังคมแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดมิจฉาชีพออนไลน์ การสร้างข่าวลวง การแอบอ้าง การเชิดชูต้นแบบของสังคมหรือที่เราคุ้นชินอิกชื่อนึงคือเน็ตไอดอลที่ผิด ๆ และอีกประการหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมเราเลยก็คือ การแสดงความเห็นที่แตกต่าง จนส่งผลกระทบมากมายตามมาจนเกิดเป็นมวลมหาประชาชนบนโซเชียลหรือที่เรียกกันสั้นๆว่า พลังชาวเน็ต

พลังชาวเน็ต เป็นพลังทำลายล้างที่ยิ่งใหญ่ในศตวรรษนี้ ส่งผลกระทบต่อสังคมมากมาย แต่ประเด็นที่ผมจะยกมาในวาระนี้คงหนีไม่พ้นปัญหา การแสดงความคิดเห็น(แง่ลบ)ที่แตกต่าง ซึ่งอ้างจากข้อมูลในหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ที่บอกว่า วัยรุ่นไทยคว้าอันดับ 1 เรื่องคอมเมนต์แง่ลบในโซเชียลมากที่สุดในโลก จากผลสำรวจวัยรุ่นทั้งหมด 18 ประเทศ วัยรุ่นไทยมีความเห็นแง่ลบมากถึง 67% ของวัยรุ่นทั้งหมดที่ได้สำรวจ คำถามต่อมาที่ผมเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยควรที่จะหันกลับมาสนใจ และให้ความสำคัญนั้นคือความเห็นแง่ลบเหล่านี้เกิดขึ้นจากเหตุผลอะไร อย่างที่พวกเรารู้กันครับการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่หากมันมีคำว่าแง่ลบมาต่อท้ายแล้วพ่วงด้วยอารมณ์ในขณะเราแสดงความคิดเห็น มันก็จะออกมาในรูปแบบที่ไม่หน้าพิสมัยเท่าไหร่นัก ยิ่งผสมด้วย คำหยาบ คำด่า คำดูถูก หรือคำพูดทิ่มแทงใจ แล้วยิ่งทำให้การแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นกลับกลายเป็นสีดำ โดยขณะแสดงความคิดเห็นที่คิดว่าถูก ผู้แสดงกลับลืมคิดไปว่าการตอบโต้ด้วยคำที่ไม่สุภาพเหล่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของใครได้เลยแต่กลับเป็นการไปกระตุ้นการอยากเอาชนะ ความเกลียดชัง และอารมณ์โมโหของอีกฝ่ายหนึ่งให้ทวีคูณเพิ่มขึ้นไปอีก

ปัญหาคือการมองความจริงจากมุมที่ต่างกันของแต่ละคนก่อให้เกิดข้อโต้แย้งในเรื่องต่างๆที่ผ่านมามากมายไม่ว่าจะเป็น “ต่ำตมไม่หยุดเสียงสูงป้าซุ่มทุ่มไม่อั้น” “เสือดำต้องไม่ตายฟรี”หรือล่าสุด “ป้าทุบรถ”ประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นชุดข้อมูลที่พวกเราได้รับ และเลือกที่จะตีความในแบบที่เราคิดว่านั้นคือสิ่งที่ถูก โดยเราจะตัดสินข้อมูลเหล่านั้นจากความรู้ความคิดและสิ่งที่เราเคยพบเจอ และคนอื่นๆเขาก็จะตัดสินข้อมูลเหล่านั้นจากความรู้ความคิดและสิ่งที่เขาเคยพบเจอเช่นเดียวกัน แต่เพราะเราทุกคนบนโลกเบี้ยว ๆใบนี้ ล้วนเติบโตมาแตกต่างกันทำให้มีมุมมองความคิดที่ไม่เหมือนกัน และความต่างของชีวิตเหล่านี้ส่งผลให้เรายืนในมุมที่มองเรื่องเดียวกันไปคนละแบบคนละทาง และมักเชื่อว่าแบบที่เราเห็นมุมที่เราอยู่คือความจริงและถูกต้องกว่าคนอื่น โดยไม่คำนึงและไม่เลือกที่จะเปิดใจมองในมุมของคนอื่นหรือความคิดเห็นที่ต่างออกไปจากความเชื่อความเข้าใจของตัวเราเองเลย

อาจารย์เจริญเนตร แสงดวงแข อาจารย์ผู้สอนรายวิชา การวิเคราะห์และการวิจารณ์สื่อ ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ไว้ว่า…การแตกต่างทางความคิดไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเราอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะสังคมไทยที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม การมีวิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรม หรื่ออื่นๆ ที่แตกต่างกันจึงเป็นเรื่องธรรมดา ความคิดเห็นที่แตกต่างจึงเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน แต่ทั้งนี้ หากความแตกต่างทางความคิดก่อให้เกิดความแตกแยกบนโลกเสมือนจริง ที่ข้อความถูกส่งผ่านได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว Click จนก่อให้เกิด Hate Speech นั้นก็คงไม่ดีนัก เพราะเท่ากับว่าเรายังขาดการยอมรับความแตกต่างที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เมื่อสังคมเปลี่ยนไปและเราอยู่ในโลกของสื่อมากขึ้น การรู้เท่าทันสื่อจึงสำคัญ ควรคิดก่อนพิมพ์ให้พอๆ กับคิดก่อนพูด เพื่อให้การสื่อสารทุกครั้งเป็นไปในเชิงบวก เพราะเราทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างได้ โดยไม่แตกแยก…

สุดท้ายนะครับ ข้อเขียนนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้ทุกคนปฏิเสธการโต้แย้งในสังคม แต่เราทุกคนควรโต้แย้งกันบทพื้นฐานแห่งความแตกต่างโดยปราศจากความแตกแยก เพราะเพียงแค่เราเลือกเปิดใจที่จะยอมรับและยืนในที่ของคนที่มองมุมต่าง เราอาจได้พบว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาคนฝั่งตรงข้ามนั้นไม่ได้เลวร้าย หรือมีเจตนาไม่ดี เขาเพียงแค่มองเห็นสิ่งที่เขาเชื่อ แบบที่เรามองเห็นสิ่งที่เราเชื่อ ถ้าจะบอกให้ทุกคน ยอมรับความคิดของคนที่แตกต่าง คงเป็นไปได้ยาก แค่ขอให้ยอมรับฟังเสียงของความคิดคนอื่นบ้าง รับฟังเหตุผลของเขาที่มีความคิดแตกต่างบ้าง ถึงแม้เราไม่เข้าใจทั้งหมด อย่างน้อยๆ การรับฟัง ก็เป็นจุดเริ่มที่ดีของการยอมรับความแตกต่าง พยายามแสดงความคิดเห็น ด้วยความเคารพหรือเหตุผล อย่าให้อารมณ์นำพาเราหลงประเด็น เปลี่ยนเป็นการโต้เถียงด้วยถ้อยคำ หรือการใช้ความรุนแรงต่างๆจากสภาวะในปัจจุบันที่สังคมได้เปลี่ยนไปมาก ซึ่งบางครั้งหน้าที่การงาน หรือการดำเนินชีวิตในแต่วันต้องเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ดังนั้น พวกเราต่างต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่ละคนต่างมีความคิดที่แตกต่างกันบ้างในมุมมองของแต่ละคน แต่ความแตกต่างในความคิดนั้นก็มีเหตุผลที่ต่างกันไปด้วย หากเปรียบความคิดที่แตกต่าง แต่ไม่แตกแยกนั้น ก็เหมือนกับ“ สิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ ที่กำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้ก่อให้เกิดความหลากหลายแต่อยู่รวมกันได้ ” เหมือนกับปัจจุบัน ที่ในสังคมมีความคิดหลากหลาย ความเชื่อที่ต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ ในแต่ละเรื่องแต่ละประเด็นความจริงไม่ได้มีแค่ด้านเดียวเสมอไป

 

 

#feedDD #MASS

 

ติดตามเรื่องราวดีๆ อัพเดท สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ที่แฟนเพจ สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ที่นี่




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]