รีวิวหนังสปอยล์ใคร? : โดยอาจประณต สิงห์ทองไชย ผลงานประเด็นรู้เท่าทันสื่อ

หมวดหมู่ สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม , โดย : admin , 4 กรกฎาคม 61 / อ่าน : 2,467


 

รีวิวหนังเหล่านั้น....คือการวิพากษ์วิจารณ์แบบตรงไปตรงมา

หรือการทำการตลาดกันแน่!

จากอาจประณต สิงห์ทองไชย เรื่อง รีวิวหนังสปอยล์ใคร? 






เมื่อก้าวเข้าสู่โลกแห่งโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง กลิ่นข้าวโพดคั่วหอม ๆ ฟุ้งกระจายไปทั่วห้องโถงซึ่งบรรจุด้วยเก้าอี้จำนวนมากที่เรียงรายอย่างเป็นระเบียบ ผมลดตัวนั่งลงบนเบาะนิ่ม ๆ เบื้องหน้าเป็นจอภาพยนตร์ขนาดใหญ่ยักษ์ที่พร้อมจะฉายภาพยนตร์เรื่องที่ผมซื้อบัตรเข้ามาชม

สำหรับวันนี้ภาพยนตร์ที่ผมเลือกดูคือเรื่องกัปตันอเมริกา 3: ศึกฮีโร่ ระห่ำโลก (Captain America : Civil War) เป็นภาพยนตร์ที่ผมเฝ้ารอมากว่า 2 ปี สำหรับมหรสพแนวมหากาพย์แอ็คชั่นที่มีตัวดำเนินเรื่องอย่าง สตีฟ โรเจอร์ พระเอกในตำนานสุดเท่แห่งผู้นำอเมริกา ทั้งนี้ ภายในโรงภาพยนตร์ ก็เหนียวแน่นและหนาแน่นไปด้วยสาวกของจักรวรรดิหนังมาเวลล์ (Marvel Universe) และเมื่อโฆษณาสิ้นสุดลง ภาพยนตร์ดังกล่าวก็ได้เริ่มขึ้น...

เมื่อโลกตกอยู่ใต้ภาวะการใช้ความรุนแรงถึงขีดสุด จึงทำให้หน่วยงานที่มีอิทธิพลบนโลกทำการลงนามสนธิสัญญาจากหลายประเทศทั่วโลก เกี่ยวกับข้อตกลงการจำกัดใช้ความรุนแรงจากการก่อการร้าย เพื่อลดความเสียหายและโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในภาคประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบกับเหล่าฮีโร่อเวนเจอร์ส (Adventures) เข้าอย่างจัง แต่ด้วยเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อดีตเพื่อนรักของกัปตันอเมริกาได้ก่อเหตุความไม่สงบขนาดใหญ่ขึ้นอีกครั้ง แต่ในฐานะเพื่อนรักของสตีฟ โรเจอร์ (Steve Rogers) เขาจำเป็นต้องปกป้องเพื่อนคนนี้ของเขาไว้ให้ปลอดภัยมากที่สุด

ตรงกันข้ามกับโทนี่ สตาร์ค (Tony Stark) หรือ ไอรอนแมน (Iron Man) ที่อยากให้โลกเกิดสันติและสงบสุข จึงไม่ยอมให้กัปตันอเมริกาปกป้องผู้ก่อการร้าย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขาทั้งคู่ต้องแบ่งพรรคพวกกัน และทำสงครามฮีโร่กันในที่สุด แต่สุดท้ายผู้ที่พ่ายแพ้กับสงครามก็คือไอรอนแมน เนื่องจากเขารู้ภายหลังว่า เพื่อนของกัปตันอเมริกาเป็นคนฆ่าพ่อของเขา และเขาก็เลือกที่จะใช้การแก้แค้นเป็นการทำสงครามซึ่งเป็นความคิดที่ผิดถนัด...

เมื่อภาพยนตร์จบลงผมก็ถอนหายใจยาวที่สุดในชีวิต... เพราะอะไรหรือครับ? เพราะคาดหวังกับภาพยนตร์เรื่องนี้เอาไว้มาก ๆ แต่กลับผิดหวัง โดยก่อนหน้านี้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำให้ผมประทับใจมาถึง 2 ภาค แต่กลับกลายเป็นไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นถึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้แทบจะไม่เดินไปไหนเลย เหมือนว่าเป็นเพียง ภาพยนตร์ภาคคั่นเพื่อที่จะนำเสนอภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ที่จะเตรียมเข้าฉายอันดับถัดไปของค่ายหนังมาเวลล์ (Marvel studio) อย่างภาพยนตร์เรื่อง Guardians of the galaxy Vol. 2 หรือชื่อไทย รวมพันธุ์นักสู้พิทักษ์จักรวาล ภาค 2 เป็นต้น ซึ่งผมก็เฝ้ารอภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ด้วยเช่นเดียวกัน

มาเข้าสู่สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมเสียใจกันดีกว่าครับ T_T ...การที่ผมไม่ประทับใจภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีสาเหตุมากอยู่นะ

มาเริ่มกันที่ความสร้างสรรค์ในการเขียนบทของนักสร้างสรรค์ (Creative Director) ในภาพยนตร์เรื่องนี้ สำหรับหนังสตูดิโอมาเวลล์ (Marvel Studio) เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้เขียนบทจะมีการใส่ลูกเล่นหรือมุกต่าง ๆ ที่เกรียนและตลกออกมาอยู่สม่ำเสมอ แต่สำหรับผมมันน่าเบื่อมากครับ เพราะมันไม่ได้แตกต่างอะไรเลยครับ จากภาพยนตร์เรื่องก่อน ๆ ที่เคยออกฉายมาแล้วก่อนหน้านี้ บอกตามตรงนะครับแทบไม่ได้มีความสร้างสรรค์เพิ่มเติมอะไรไปจากเดิมเลย (ติ่งมาเวลล์อย่าว่ากันนะครับ^^)

อีกส่วนหนึ่งครับ... มีการใช้ตัวนักแสดงจำนวนมากที่สุดเรื่องหนึ่งของค่าย ไม่ได้มีความคุ้มค่าเลย โดยเฉพาะในฉากสงครามบริเวณสนามบิน บอกตรง ๆ นะครับ ฉากนี้ไม่ค่อยสมจริงเท่าไหร่ อีกทั้งยังขาดการให้ความสำคัญกับคุณสมบัติและความสามารถพิเศษของตัวละคร ที่แต่ละคนจะมีพลังวิเศษแตกต่างกันออกไป ซึ่งในตัวหนังไม่ได้ดึงความสามารถของตัวละครเหล่านี้ออกมาใช้อย่างคุ้มค่าเท่าไหร่เลย ขัดแย้งมาก ๆ ครับกับชื่อเรื่อง (Captain America : Civil War) ที่สื่อถึงสงครามและความสูญเสีย แต่ในภาพยนตร์กลับมีการสะท้อนและเผยแพร่การตีความที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ตัวภาพยนตร์ไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่าไหร่นัก

แล้วทำไมผมต้องคาดหวังกับภาพยนตร์เรื่องนี้มากขนาดนั้นล่ะครับ? ก่อนอื่นผมต้องอธิบายก่อนว่าก่อนที่ผมจะตัดสินใจเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมได้เข้าไปอ่านรีวิวภาพยนตร์ตามเพจ(Page) ต่าง ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ที่กำลังเป็น ที่นิยมของทุกคนก่อนเข้าชมภาพยนตร์ ซึ่งผมก็เชื่อว่าหลายคนก็เคยเข้าไปอ่านรีวิวภาพยนตร์ก่อนตัดสินใจดูภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งก่อนเช่นกัน...

“สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้นะครับทางเพจขอให้คะแนนไปเลย 10/10”ประโยคดังกล่าวเป็นการให้คะแนนแก่ภาพยนตร์ตามระดับที่เจ้าของเพจ (แอดมิน/Admin) รีวิวภาพยนตร์ต่าง ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ได้ตราค่าไว้ตามระดับความพึงพอใจของเขา สำหรับคนที่ชื่นชอบการชมภาพยนตร์เป็นอดิเรกมักจะคุ้นชินกันเป็นอย่างดี เนื่องจากบุคคลเหล่านี้โดยเฉพาะตัวผมเองจะนิยมเข้าไปอ่านรีวิวบนเพจเหล่านี้ เพื่อดูว่าผู้ดูแลเพจ มีความคิดเห็นอย่างไรกับภาพยนตร์ที่เราอยากจะเข้าไปชมในโรงภาพยนตร์ หรือเจ้าของเพจมีการให้ระดับความพึงพอใจอยู่ที่เท่าใด... หากมาก เช่น คะแนน 10/10 หรือ หากน้อย เช่น คะแนน 5.5/10 ตัวเลขเหล่านี้ก็จะเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจของผมก่อนที่จะไปชมภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ...หลาย ๆ คนก็เป็นเหมือน ผมเชื่ออย่างนั้นนะ(^^)

แต่สุดท้ายแล้ว... มีใครบ้างไหมครับที่รู้สึกว่าคะแนนหรือบทวิจารณ์ต่าง ๆ ที่เราได้เข้าไปอ่านกันบนสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ เมื่อเราได้ชมภาพยนตร์จริง ๆ กลับไม่ได้เป็นอย่างที่เพจเหล่านี้ได้กล่าวเอาไว้เลย... “ทุกคนเคยเป็นเหมือนกันใช่ไหมครับ (T_T)” ...ทำไมพอเราดูจบ สิ่งที่เราได้รับกลับมาแทบไม่เห็นเป็นเหมือนในสิ่งที่เพจเหล่านี้เขียนเอาไว้เลย สุดท้ายแล้วเราควรเชื่ออะไรหรือใครกันแน่...

ผมเป็นชอบอ่านสิ่งที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะการรีวิวหรือการวิจารณ์ภาพยนตร์ต่าง ๆ ที่กำลังฉายอยู่ในขณะนั้น... เพราะบางเพจจะมีลีลาการวิพากษ์วิจารณ์ และการใช้วาทศิลป์ที่แตกต่างกันออกไปอย่างสนุกสนาน เช่น การด่าทอภาพยนตร์ด้วยคำหยาบคาย หรือแม้แต่การสปอยล์ (การนำเนื้อเรื่องมาเล่า โดยไม่สนใจว่าจะมีใครได้ดูหรือยัง) อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน โดยที่การรีวิวเหล่านี้จะมีสิ่งสิ่งหนึ่งนั่นก็คือการให้คะแนนภาพยนตร์ เป็นการให้คุณค่าตามระดับความพึงพอใจของผู้ดูแลเพจเอง คะแนนและบทวิจารณ์เหล่านี้จะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้อ่านได้ และเรามักจะพบว่าการรีวิวที่มีความตื่นตาตื่นใจจะสามารถกระตุ้นเราให้เข้าไปซื้อบัตรชมภาพยนตร์ได้ในที่สุด

...เอ๊!!! นี่คือการวิพากษ์วิจารณ์หรือการทำการตลาดกันแน่ ? หรือว่าผมเป็นคนที่วิเคราะห์ข้อมูลไม่ค่อยเก่งครับ ?

เคยสงสัยกันไหมครับว่าเราจำเป็นต้องเชื่อการรีวิว หรือการวิพากษ์วิจารณ์ภาพยนตร์บนสื่อสังคมออนไลน์ด้วยหรือ? ...ก่อนอื่นผมจะเล่าก่อนว่าการรีวิวภาพยนตร์บนสื่อสังคมออนไลน์ คือ การเขียนบทความตีแผ่ประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ โดยที่เจ้าของเพจได้มีการเข้าไปรับชมมาก่อนหน้านี้ และได้เขียนตีแผ่สิ่งที่ตัวเองได้รับหลังชมมาไม่ว่าจะเป็นแง่บวกหรือแง่ลบ ผ่านการวิเคราะห์เป็นความเห็นส่วนตัวลงบนเพจของตัวเอง ซึ่งอาจจะมีทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ในส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ปรากฏในภาพยนตร์ด้วย เช่น บทภาพยนตร์ นักแสดง เพลงประกอบ ผู้กำกับ ผู้เขียนบท หรือแม้แต่งานส่วนโปรดักชั่น (Production) โดยการรีวิวทั้งหมดจะเป็นในรูปแบบของความคิดเห็น (Opinion) ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเป็นข้อเท็จจริง (Fact)มากนักดังนั้นการที่เราอ่านรีวิวภาพยนตร์บนสื่อสังคมออนไลน์จะเป็นการอ่านที่ได้สาระความคิดเห็นของผู้ดูแลเพจกว่าร้อยละ 50 นะครับ...

สังเกตว่าบางเพจจะมีลักษณะการแสดงออกในการเผยแพร่ข้อมูลที่ดึงดูดความสนใจที่แตกต่างกันออกไป เช่น มีการแจกบัตรชมภาพยนตร์รอบพิเศษต่าง ๆ โดยการให้ลูกเพจทุกคนที่สนใจเข้ามาร่วมเล่นเกมกับทางเพจ เพื่อลุ้นรับรางวัลดังกล่าว และเป้าหมายของแอดมินคือการสร้างปฏิสัมพันธ์ (Engagement) กับผู้อ่านให้มากที่สุด เพื่อเรียกยอดการแชร์ (Share) กดไลค์ (Like) หรือการแสดงความคิดเห็น (Comments) อันนำไปสู่จุดหมายสูงสุดของการเป็นเพจก็คือได้รับความนิยมและการเป็นกระแสให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้เพจที่จัดกิจกรรมหรือแคมเปญ (Campaign) เพื่อแจกของรางวัล จะได้รับค่าโฆษณาจากผู้ที่ให้ของรางวัลมาแจกกับลูกเพจนั้นเอง... “พูดง่าย ๆ ก็คือเจ้าของเพจที่ทำการรีวิวภาพยนตร์ จะได้ถึง 2 เด้ง คือได้ทั้งชื่อเสียงและค่าตอบแทน” (มีแต่ได้กับได้เห็น ๆ ...)

ผมเริ่มสงสัยแล้วนะครับว่าเรากำลังอ่านโฆษณาหรือว่าเรากำลังอ่านรีวิวภาพยนตร์ แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้นสรุปแล้ว “เรากำลังถูกหลอกใช้ผ่านการเล่นเกมแจกของรางวัลกันอยู่หรือเปล่าครับ?”

ในอีกแง่มุมหนึ่งหากสังเกตจะพบว่า บางเพจมักนิยมนำภาพยนตร์ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนั้น หรือมีประเด็นดราม่าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของตัวนักแสดงหรือแม้แต่ผู้กำกับที่กำลังมีชื่อเสียง แอดมินเพจรีวิวภาพยนตร์ก็มักจะนำมาเล่ารีวิวเพื่อให้เพจของตัวเองกลายเป็นกระแสตามไปด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งผลดีในด้านรายได้จากการโฆษณา ดังนั้นด้วยความไม่เป็นกลางจึงเกิดได้ทุกเมื่อ ซึ่งอาจส่งผลให้บางภาพยนตร์ที่มีคุณภาพสูงในแง่ของงานศิลปะ และมีชั้นเชิงของการผลิตที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นภาพยนตร์นอกกระแสอาจไม่ถูกพูดถึงได้ โดยจะมีผลกระทบโดยตรงกับผู้คนที่รักการชมภาพยนตร์ ด้วยความรู้ไม่เท่าทันเหนือการรีวิวเหล่านี้จึงทำให้พวกเขาพลาดที่จะได้รับชมมหรสพดี ๆ ที่มีอยู่มากมายเช่นกัน เนื่องจากพวกเขาได้หลงเชื่อและศรัทธาในเพจเหล่านี้ไปเรียบร้อยแล้ว

การถูกครอบงำเป็นเรื่องที่น่ากลัวนะครับแต่ใช่ว่าทุกคนจะไม่สามารถรู้เท่าทันมันได้ อย่างไรก็ดีการอ่านรีวิวภาพยนตร์บนสื่อสังคมออนไลน์จะมีหลายประเด็นให้ขบคิด แต่หากลองกลับมาคิดคำนวณดูดี ๆ การที่จะได้เป็นเจ้าของเพจรีวิวภาพยนตร์บนสื่อสังคมออนไลน์ ใคร ๆ ก็สามารถเป็นกันได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์และการมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน รวมไปถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Branding) ที่สามารถเป็นที่จดจำของผู้คนได้ ดังนั้นเราจึงพบว่าเจ้าของเพจรีวิวภาพยนตร์จะเป็นใครก็ได้โดยในสังคมก็จะมีบุคคลหลายรูปแบบทั้งผู้รู้จริงและผู้แอบอ้าง แต่ด้วยช่องโหว่ของสื่อสังคมออนไลน์จึงทำให้เราไม่สามารถทราบได้ว่าแท้จริงแล้วแอดมินผู้ดูแลเพจต่าง ๆ เป็นใครกันแน่ เรามักจะได้เห็นตัวตนของเขาเพียงตัวอักษรและรูปภาพ แต่เราไม่สามารถทราบข้อมูลส่วนตัวของบุคคลเหล่านั้นได้เลยว่าเขามีอาชีพและเชี่ยวชาญเรื่องใด หรือแม้แต่ทราบว่าเขามีระดับการศึกษาแบบใด โดยที่เขาอาจจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น หมอ นักข่าว ทนายความ กรรมกร เกษตรกร ฯลฯ

ทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขาเลย แต่ทำไมเราถึงเชื่อเขาล่ะครับ? เป็นเพราะเราขาดความสามารถในการแยกแยะได้ไงครับว่าอะไรควรเชื่อ อะไรไม่ควรเชื่อ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เคยเป็นมาก่อน โดยเรามักแยกแยะไม่ได้ว่าสิ่งที่เราเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์เป็นมายาหรือข้อเท็จจริง และเรามักหลงเชื่อไปเพียงเพราะเห็นจำนวนยอดไลค์ จำนวนยอดแชร์ ที่คนส่วนมากเขาเชื่อ ๆ กันและเราก็เชื่อตาม ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี Spiral of Silence หรือ แปลเป็นไทยได้ว่า "วงเกลียวแห่งความเงียบ" เป็นทฤษฎีโดย อลิซาเบธ โนเอลนอยมานน์ ที่ได้อธิบายเอาไว้ว่า บุคคลมักจะกล้าแสดงความคิดเห็นของตนก็ต่อเมื่อความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องไปกับสาธารณมติหรือเสียงส่วนใหญ่ในสังคม ในทางตรงกันข้ามบุคคลที่มีแนวโน้มที่จะไม่แสดงความคิดเห็นของตนที่แตกต่างจากเสียงส่วนใหญ่ บุคคลนั้นจึงตกอยู่ในปรากฏการณ์วงเกลียวแห่งความเงียบ และไม่แสดงเสียงที่แท้จริงของตนเองออกมา และใช้วิธีกลบเกลื่อนเหมือนเป็นเสียงส่วนใหญ่จวบจนกระทั่งมีโอกาสที่ตนเองสามารถแสดงความคิดเห็นส่วนตัวได้อย่างปลอดภัย (KorrwuthMassComm : 19 ธันวาคม 2559 เข้าถึงได้จาก http://bit.ly/2oXCGWP) ซึ่งเป็นอย่างเดียวกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการมีปฏิสัมพันธ์ ระหว่างลูกเพจกับเจ้าของเพจที่รีวิวภาพยนตร์บนสื่อสังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทยปัจจุบัน

ไม่เพียงแต่เราจะเงียบและคล้อยตามคนอื่นอย่างนั้นเท่านั้น แต่ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้พวกเราเชื่อและใช้วิจารณญาณตามไปในที่สุด คือการที่เหล่าแอดมินมีภาวะผู้นำสูง(Leadership) เป็นภาวะผู้นำในเชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของสมาชิกในกลุ่ม โดยผู้นำจะเป็นตัวแทนในการเปลี่ยนแปลง เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอื่น ๆในกลุ่ม ภาวะผู้นำจึงเกี่ยวข้องกับการใช้อิทธิพลและปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อมุ่งบรรลเป้าหมายของกลุ่ม (ศิริโสภาคย์ บูรพาเดชะ, 2535 อ้างถึงใน มัลลิกา ต้นสอน, 2544: 47), (KorrwuthMassComm : 17 ตุลาคม 2559เข้าถึงได้จาก: http://bit.ly/2DeZTIw) ซึ่งเหมือนกับภาวะผู้นำที่เกิดขึ้นกับผู้ดูแลเพจรีวิวภาพยนตร์ของเรานั่นเองครับ

ทั้งสองทฤษฎีที่กล่าวมาได้บ่งบอกว่าพวกเรายังมีความรู้ที่ไม่เท่าทันสื่อเหล่านี้ อีกทั้งเรายังตกอยู่ใต้อำนาจของผู้ที่มีความเป็นผู้นำสูงในด้านของความคิดเห็น ซึ่งเราก็หลงเชื่อและคล้อยตามสิ่งที่อ่านอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ผ่านการไตร่ตรอง เพราะเราได้เห็นเพียงว่า ยังมีอีกหลายคนที่เชื่อเขา โดยที่เราไม่กล้าที่จะแสดงออกด้วยการปฏิเสธ เนื่องจากเรากลัวจะแปลกแยกจากคนอื่น เราจึงหลงเชื่อไปตามเขาไป

อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ปรากฏบนบทความรีวิวภาพยนตร์ของสื่อสังคมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นคะแนนที่ให้ตามระดับความพึงพอใจ หรือบทความวิเคราะห์ส่วนต่าง ๆ ของภาพยนตร์ ด้วยอรรถรสที่น่าตื่นตาตื่นใจและคารมคมคายที่เฉียบแหลมอย่างมีศิลปะของแอดมิน ได้ทำให้หลายคนรวมถึงตัวผมที่รักการชมภาพยนตร์เป็นชีวิตจิตใจคล้อยตามอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ถึงกระนั้นสิ่งที่จะทำให้เราสามารถแยกแยะและรู้เท่าทันสื่อเหล่านี้คือการวิเคราะห์ไตร่ตรอง ชั่งน้ำหนักดูว่าเราควรเชื่อถือสิ่งที่ปรากฏขึ้นบนรีวิวภาพยนตร์มากน้อยเพียงใด... สุดท้ายการรีวิวหนังสปอยล์ใครกันแน่ครับ?

ถึงที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่ที่ประสบการณ์ที่เคยผ่านมาของแต่ละคนว่าได้เห็นได้พบ ได้อ่าน ได้ฟัง มามากน้อยเพียงใดจึงจะสามารถวิเคราะห์จำแนกและไม่หลงเชื่อหรือคล้อยตามและตัดสินงานมหรสพที่มีคุณค่าอย่างภาพยนตร์ไปเพียงเพราะได้อ่านรีวิวบนสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ไม่เป็นการลุ่มหลงเข้าไปอยู่ในภาวะความเสี่ยงทางด้านความรู้สึก ดังนั้นหากคิดจะชมภาพยนตร์เรื่องใดแล้วละก็ เราก็สามารถที่จะอ่านรีวิวได้ก่อนตัดสินใจชมภาพยนตร์ แต่อย่าหลงเชื่อทั้งหมดเด็ดขาดนะครับ

เพราะหนทางที่ดีที่สุดอยู่ที่ตัวเรา ดังนั้น เราต้องออกไปหาประสบการณ์การชมภาพยนตร์ด้วยตัวของเราเอง และเราต้องมีความสุขกับทุกอย่างที่เราทำครับ^^ ...

 

 



#feedDD #MASS

 

ติดตามเรื่องราวดีๆ อัพเดท สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ที่แฟนเพจ สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ที่นี่




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]