เมืองในดิน "จินตนาการ สำคัญกว่าความรู้"

หมวดหมู่ กิจกรรมล่าสุด , โดย : , 11 กันยายน 58 / อ่าน : 3,017


...บนโลกมนุษย์เต็มไปด้วยความรู้สึกมากมายหลากหลายและซับซ้อน

...เมื่อความรู้สึกเหล่านั้นก่อตัวรวมกัน จึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายตามมา... 

     ทั้งเกษตรกรรม อุตสหกรรม การแย่งชิงพื้นที่อุดมสมบูรณ์ การขยายอำนาจ ความคิดสร้างสวรรค์ที่นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ การแผ่ขยายข้ามขอบเขตเดิมระหว่างทวีป ทั้งหมดนี้ได้ชี้นิ้วไปยังทิศทางเดียวกัน คือ อนาคต

       หากเกิดความเปลี่ยนแปลงหลากหลายบนโลก  ในอนาคตใครจะรู้ว่าวันนั้นหน้าตาของโลกเราจะเป็นอย่างไร?...

       ...บางคนจะสร้างอณาจักรใหม่ใต้น้ำ

       …บางคนจะหนีขึ้นไปบนเขา

       ...บางคนจะหนีไปอยู่ดาวอังคาร

       ...บางคนจะออกไปสำรวจดาวดวงใหม่ที่มีอากาศให้หายใจ

        ...แต่บางคนจะสร้าง “เมืองใต้ดิน”

หน้าตาเมืองใต้ดินของแต่ละคน บ้างก็เหมือนกัน คล้ายกัน หรือแตกต่าง

การออกแบบหน้าตาเมืองในดิน ไม่จำเป็นต้องใช้วิศวกร สถาปนิก นักการเมือง และอีกสารพัดเครื่องเขียน

            ซึ่งเมืองในกินก็เหมือนกับเมืองบนดินนั่นแหละ!! แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นจากจินตนาการที่เด็กๆ อยากให้เกิดขึ้นเป็นเมืองในดิน ที่เป็นเมืองที่น่าอยู่ของทุกคน....

 

กว่าจะมาเป็น “เมืองในดิน”

            บนพื้นดินกลางมหานครอันกว้างใหญ่ ตรงจุดศูนย์กลางของเมือง ปรากฎกลุ่มคนเล็กๆ ที่มารวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ ให้กับเด็กๆในชุมชน โดยใช้ศิลปะแขนงต่างๆ เป็นสื่อกลาง ในการกระตุ้นความคิดเชิงสร้างสรรค์ นั่นคือ “กลุ่มดินน้ำมัน”

          “กลุ่มดินน้ำมัน” เป็นกลุ่มคนที่ทำงานอิสระ ทำงานสร้างสรรค์กิจกรรมศิลปะหลากหลายรูปแบบกับเด็กและเยาวชนในชุมชน เสมือนเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งเรื่องศิลปะ จริยธรรม สังคมและวิชาการ ซึ่งเด็กสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้  อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับการเรียนและการเติบโต กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชน

            ภายใต้ความเชื่อที่ว่า  “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ และเยาวชนคือกำลังสำคัญของชาติ” จึงได้เกิดเป็นความร่วมมือกันทำงานกับชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนบ้านบาตร ชุมชนวัดสระเกศ-ตรอกเซี่ยงไฮ้ และชุมชนสิตาราม เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมเปิดพื้นที่ให้เด็กใช้จินตนาการขึ้นในโครงการสร้างหนังสือสื่อกลางเพื่อพัฒนาศักยภาพทางความคิดและความคิดริเริ่ม-เล่าเรื่องเมืองในดิน” ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมแห่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขึ้น

            “เล่าเรื่องเมืองในดิน” เป็นโครงการที่พัฒนามาจากการสอนศิลปะ เพื่อพัฒนาจินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีวัฒถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ และเยาวชน ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือถ่ายทอดจินตนาการไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง ภายใต้โจทย์ “หากมนุษย์ต้องอพยพลงไปอยู่ใต้ดิน จะเป็นอย่างไร”  ซึ่งผังเมืองใต้ดินที่แตกต่างกันนั้น ล้วนสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของเด็ก ที่มีต่อสังคมและแฝงไปด้วยอารมณ์ชวนขบขัน นอกจากจะมีผลงานของเยาวชนแล้ว ยังมีผลงานจากศิลปินชื่อดังที่มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวใต้ดินอย่างเฮฮา หนุกหนาน อาทิ โลเล ทวีศักดิ์ ศรีทองดี ยุทธภูมิ สุขประการ และ ปรีนิดา สุนทรรัตน์

            นางสาวฆนรส เติมศักดิ์เจริญ (พี่หยิน) ตัวแทนจากกลุ่มดินน้ำมัน เล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยถามเด็กในชุมชนว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” คำตอบที่ได้คือ “อยากเป็นคนขับรถส่งอะไหล่” ซึ่งเหตุที่เด็กคิดแบบนี้เพราะยึดสิ่งแวดล้อมมาเป็นคำตอบ เราจึงเกิดความคิดที่ว่า ถ้าเด็กๆ ได้เปิดโลกทัศน์ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ มีเวทีหรือที่ให้เด็กได้แสดงผลงาน ก็จะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และนำไปสู่ความภาคภูมิใจในเรื่องต่างๆ ต่อไป ในโลกจินตนาการเด็กๆอยากเป็นอะไรก็ได้ จึงได้เกิดกิจกรรมนี้ขึ้น ผลตอบรับเกินความคาดหมายมาก เพราะนอกจากจะได้ใช้จินตนาการให้เกิดความภาคภูมิใจแล้ว เด็กยังได้รู้จักชุมชน รู้ว่าตัวเองขาดอะไร ต้องการอะไร ได้ปลูกฝังเรื่องจริยธรรมคุณธรรม และได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน ซึ่งก่อให้เกิดมิตรภาพ สัมพันธภาพที่ดีระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น

            ซึ่งน้องบิ้ว เด็กชายธเนศ ลิ้มธรรมนาท เยาวชนจากชุมชนบ้านบาตร บอกว่า เมืองในดินของบิ้วมีแต่คนดี ไม่มีภัย ไม่มีคนทะเลาะ รักสามัคคีกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเท่าเทียม มีโรงพยาบาล โรงเรียน โรงพักเอาไว้จับคนไม่ดี ไม่มีรถ ไม่มีห้าง ใช้ชีวิตเท่าที่เรามี บ้านของบิ้วทำจากดินร่วน ดินทราย และดินเหนียวที่มาก่อตัวกัน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ แต่ใช้ไม้ขีดจุดไฟเอา ชีวิตมีแต่ความสนุก มีกิจกรรมทำทุกวัน มีเพื่อนข้างบ้านเป็นหนอน ตะขาบ และ แมลงฯลฯ ...บิ้วจึงจินตนาการออกมาเป็นเมืองของ 2 พี่น้อง ชาย 1 คน หญิง 1 คน ที่มีพลังวิเศษ เด็กผู้ชายจะมีปีกบินไปไหนก็ได้ ส่วนเด็กผู้หญิงจะมี 3 ขา ที่สามารถขุดดินได้ลึกและเร็ว วันหนึ่งเด็กหญิงได้ขุดลงไปในดิน เจอวังใหญ่มีหนอนเป็นพระราชา มีมดเป็นทหารคอยตรวจตราคนเข้าออกวัง ในเมืองมีดักแด้กำลังกลายเป็นผีเสื้อ ส่วนปูนาและไส้เดือนกำลังขุดขึ้นไปบนดิน เธอได้นำเรื่องนี้ขึ้นไปเล่าให้พี่ชายบนดินฟัง จนทำให้พี่ชายก็อยากลงมาเที่ยวในเมืองในดินบ้าง เพราะรู้สึกว่ามันน่าอยู่และน่าสนุก

            “ซึ่งในการเข้าร่วมกิจกรรมแรกๆ ยังคิดไม่ออกว่าอยากเห็นอะไร แต่เมื่อลองคิดและจินตนาการไปว่าอยากเห็นอะไรเลยออกแบบและวาดเมืองในดินออกมาแบบนี้ พอทำไปก็สนุกดี ถ้าเมืองในดินเกิดขึ้นมาได้จริงคงจะดี ทุกคนจะได้มีแต่ความสุข สนุกสนาน และไม่วุ่นวานอย่างสังคมเราทุกวันนี้” บิ้วบอก

            ส่วนน้องก้อง เด็กชายชยธร ท้วมอรุณ  เยาวชนจากชุมชนบ้านบาตร ได้เล่าว่าทำไม “บนดินไม่น่าอยู่เท่าใต้ดิน” ผ่านภาพวาดเรื่อง"หนอนผู้ไม่ชอบเสียงทะเลาะ" ด้วยท้องถนนที่เต็มไปด้วยควันพิษ มีผู้คนทะเลาะเบาะแว้ง พ่วงด้วยมีโจรชุกชุม จึงทำให้คนลงไปอยู่ใต้ดิน นี่คือเสียงสะท้อนจากเด็กชายตัวน้อยๆ ที่ทำให้เราได้เห็นสภาพสังคมปัจจุบัน ที่เด็กๆ กำลังเผชิญ ภาพวาดเหล่านี้เป็นกระจกเงามองเห็นสิ่งแวดล้อมในชุมชนได้เป็นอย่างดี และยังแฝงเรื่องราวน่ารักๆ ซึ่งอธิบายในโลกใต้ดินอันน่าอยู่นั่นเอง   

             ด้านทิ้ว นางสาวฤดีมาต มลิวัลย์ อาสาสมัครกลุ่มดินน้ำมัน บอกว่า ตนทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงดูแลเด็กในกลุ่ม เด็กที่ดูแลจะมีอายุระว่าง 7-14 ปี โครงการเล่าเรื่องเมืองในดิน เป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีสมาธิ และความอดทน ที่สำคัญเด็กๆ และเยาวชนในโครงการ ได้มีพื้นที่แสดงความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่ ทุกคนเล่าเรื่องจากจินตการได้เป็นอย่างดี บางภาพสื่อให้เห็นชุมชนเมืองที่ไม่น่าอยู่ ผู้คนคลาคล่ำไปด้วยโจรและผู้ร้าย จนคนบนดินต้องย้ายไปอยู่เมืองใหม่ในดิน ที่เต็มไปด้วยสิ่งสวยงาม ซึ่งสิ่งหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงภายในตัวน้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมที่เห็นได้ชัดเจน คือ เด็กมีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ จนสามารถดึงศักยภาพในตัวเองมาใช้ได้อย่างเหมาะสม

          “เมืองในดิน” ของเด็กๆ ที่เกิดขึ้นเต็มไปด้วยจินตนาการ แต่แฝงไปด้วยแง่คิดหลากหลายมุมมองทางสังคม ที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ อาจคาดไม่ถึง ผลงานที่เกิดขึ้น ล้วนสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของเด็กที่มีต่อสังคมปัจจุบัน ทั้งจริงจังและแฝงไปด้วยอารมณ์อมยิ้ม เมืองในดินจึงเป็นเมืองในฝันของเด็กๆ เพราะสามารถออกแบบอาณาจักรของตนเองได้ตามต้องการ อีกทั้งยังถ่ายทอดจินตนาการได้อย่างสร้างสรรค์และยังเป็นสารสำคัญไปถึงผู้ใหญ่ ภาพจินตนาการเหล่านี้ล้วนเป็นกระบอกเสียงได้เป็นอย่างดีถึงสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

          ถ้าวันนึงเหตุการณ์ในจินตนาการของเด็กๆ เกิดขึ้นจริงทุกคนละลงไปอยู่เมืองในดินหรือเปล่านะ..?

          “ถ้าต้องย้ายไปเมืองในดิน คิดว่าชีวิตก็คงเป็นเหมือนเดิมนะ เพราะอย่างไรตัวเราก็ยังคงเป็นตัวเราที่จะต้องปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะออกแบบถ้ามี “เมืองในดิน” คือเรื่องของชนชั้นวรรณะ ที่อยากให้ทุกคนในสังคมอยู่อย่างเท่าเทียมกันไม่มีรายได้ ไม่มีจน ทุกคนเริ่มใหม่หมด ทุกคนมีที่ยืนเป็นของตัวเอง เพราะถ้าทุกคนเท่าเทียมกันหมด จะไม่มีการชิงดีชิงเด่น หรือก้าวล้ำเส้นพื้นที่ของใคร เพราะในดินระดับพื้นที่ที่เหยียบนั้นมันเท่ากัน”  เมืองในดินของ กู๊ด นางสาวณิชชา เอมะศิริ

          “การจะสร้างเมืองใหม่หรือสังคมใหม่นั้น จะต้องมีความสามัคคีของคนหมู่มากเกิดขึ้น จึงจะสร้างเมืองใหม่ได้สำเร็จ “เมืองในดิน” จึงจะเป็นเมืองที่มีความสุขเกิดขึ้นมากมาย เพราะความสุขจพนำมาซึ่งความสุขใจ ความสามัคคี สร้างความสุขได้ แล้วสิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะออกแบบให้เมืองในดินแตกต่างจากบนดินก็คือ  อยากเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดที่ผิดๆ ของคนสมัยนี้ที่ว่า คนจะมีความสุข คือคนที่ต้องรวย ต้องทำงานเยอะๆ หรือ คนที่จะสวยต้องผอม ต้องขาว ...อยากให้ทุกคนมองสิ่งรอบตัวมากขึ้น ใส่ใจคนรอบข้างมากขึ้น และถ้าเราคิดจะรักใครสักคนต้องไม่หวังผลตอบแทนใดๆ กลับมา เมืองในดินถึงจะมีความสุขที่สมบูรณ์ แท้จริง” เมืองในดินของ จูล นางสาวณิชชา เอมะศิริ

 

......  พวกเขาคิดแบบนี้ แล้วคุณละคิดอย่างไร?? 

จะลงไปอยู่ใต้ดินกันไหม๊?

แล้วเมืองในดินของคุณเป็นอย่างไร?

คล้ายหรือเหมือนกันกับน้องๆ กลุ่มนี้ไหม๊?

คุณเท่านั้นที่จะตอบได้? … “เมืองในดิน”

         

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]