เรียนรู้ชุมชน สืบค้นฮูปแต้มมรดกภูมิปัญญาคนอีสาน

หมวดหมู่ อีสาน , โดย : Northeast60-0006 , 26 เมษายน 61 / อ่าน : 6,630


            


เรียนรู้ชุมชน สืบค้นฮูปแต้มมรดกภูมิปัญญาคนอีสาน 


พูดถึง “ฮูปแต้ม” ที่เป็นที่รู้จักกันในภาคอีสาน  หรือที่รู้จักกันกว้างขวางในชื่อ “จิตรกรรมฝาผนัง”ของภาคกลาง ณ เวลานี้คงพูดได้เต็มปากว่า คงมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก


ยิ่งเวลาผ่านไป คุณค่าของฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่บนผนังของสิม หรือ โบสถ์ ก็ยิ่งเพิ่มมูลค่าอย่างมากมายมหาศาล โดยเฉพาะในชุมชนที่มีการต่อยอดเอาฮูปแต้มที่มีอยู่ ไปเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำมาเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพื่อจำหน่าย บางที่นำไปเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาชุมชน รวมไปถึงการปลุกใจให้คนในท้องถิ่นหันมารักษ์บ้านเกิดของตนเอง


ในภาคอีสานมีสิมที่ปรากฎฮูปแต้มกระจายอยู่หลายจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานตอนกลาง ทั้งร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น นอกจากนั้นยังมีกระจายในพื้นที่อีสานเหนือและใต้หลายจังหวัด ทั้งเลย หนองคาย อุบลราชธานี นครราชสีมา ฯลฯ ซึ่งคำว่าฮูปแต้มนี้ไม่ได้นับรวมภาพวาดที่เพิ่งเกิดมาเมื่อไม่นานมานี้แต่นับรวมเฉพาะสิมหรือโบสถ์ที่มีฮูปแต้มอายุไม่ต่ำกว่า 150 ปีขึ้นไป


จากสิมหรือโบสถ์ที่มีฮูปแต้มอายุมากกว่า 150 ปีขึ้นไปนั้น มีการพูดถึงสิมอยู่ 5  แห่ง ที่ถูกยกให้เป็นสิมที่มีลวดลายการวาดที่งดงาม และเรื่องเล่าที่แฝงคติธรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนอีสานในนั้น ไม่ว่าจะเป็น สิมวัดโพธาราม และวัดป่าเรไรย์ ต.ดงบัง อ.นาดูน จ.มหาสารคาม สิมวัดบ้านยาง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม สิมวัดโพธาราม ต.นาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม สิมวัดสนวนวารี อ.บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น และ สิมวัดไชยศรี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยทุกสิมเคยถูกการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  ใช้ทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวชมสิมและฮูปแต้มอีสานมาก่อนหน้านี้ และยังกลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่นักศิลปะ วรรณกรรม ชื่นชอบมาเที่ยวชมอยู่อย่างสม่ำเสมอ


แต่หากจะมองฮูปแต้มให้เข้าใจ คงต้องเข้าใจตัวบท หรือ เรื่องราวของวรรณกรรมซึ่งเป็นที่มาของภาพที่ถูกนำเสนอก่อน ไม่เช่นนั้นแม้จะมองฮูปแต้มนานแค่ไหนก็ไม่อาจจะเข้าใจได้ว่า เขาวาดเรื่องอะไร

 

สำหรับเรื่องราววรรณกรรมที่ปรากฎบนผนังสิมนั้น ผศ.ชอบ ดีสวนโคก นักวิชาการด้านวัฒนธรรม อดีตผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกเล่าในขณะที่พานำชมสิมอีสานใน 3 จังหวัดของอีสานตอนกลาง ของโครงการฮูปแต้มเพื่อการพัฒนาชุมชน จัดทำโดย เครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน สนับสนุนโดย แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในโอกาสพาชาวชุมชนดงบังกว่า 40 ชีวิต ไปร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และศึกษาดูงาน การจัดการมรดกทางวัฒนธรรมอย่างฮูปแต้ม เพื่อนำมาต่อยอดในการพัฒนาชุมชนใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย วัดบ้านยาง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม วัดสนวนวารี อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น และวัดไชยศรี อ.เมือง จ.ขอนแก่นว่า สิมวัดบ้านยาง นั้นมีเรื่อง  พระเวสสันดรชาดก  พระมาลัย ท้าวปาจิตกับนางอรพิม พุทธประวัติ และแทรกนิทานพื้นบ้านเข้าไปด้วย  สิมวัดสนวนวารี ด้านนอกเป็นเรื่องสินไซ ด้านในเป็นเรื่อง  พระเวสสันดรชาดก  ส่วนสิมวัดไชยศรี อ.เมือง จ.ขอนแก่นด้านนอกเป็นเรื่องสินไซทั้งหมด 


ส่วนสาเหตุที่ทำไมแต่ละสิม หรือ แต่ละวัด เลือกเรื่องราวที่เอามาวาดบนผนังสิมไม่เหมือนกันนั้น ผศ.ชอบ บอกว่า อาจจะเป็นรสนิยมของคนในท้องถิ่น และความประสงค์ของเจ้าอาวาส บวกกับความถนัดของช่างแต้มฮูป หรือคนวาดรูป การจะวาดเรื่องอะไร สอนคนในเรื่องอะไรบ้างคนตัดสินใจหลัก ๆ คือเจ้าอาวาสวัด แต่หากพื้นที่ไหนเป็นประชาธิปไตยหน่อยก็อาจจะมีการฟังเสียงของชาวบ้านด้วย แต่หลักใหญ่อยู่ที่เจ้าอาวาสเป็นหลัก เพราะเป็นคนที่กำหนดให้สร้างสิมหรือโบสถ์ รวมถึงเป็นคนกำหนดรูปแบบ อัตลักษณ์ และเรื่องราวทั้งหมดด้วย


ส่วนคนวาดและชาวบ้านที่จะร่วมแสดงความคิดเห็นนั้น แม้จะมีส่วนในการตัดสินใจแต่ก็น้อย เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่วุ่นวายกับการทำมาหากิน ไม่ได้สนใจเรื่องราวของสังคมมากนัก เว้นเสียแต่เจ้าอาวาสวัดนั้น ๆ ขอคำปรึกษา หรือ เรียกประชุมเพื่อหารือ ส่วนช่างวาดภาพก็จะมีส่วนในการกำหนดรูปแบบ เพราะเป็นความถนัดของช่างแต่ละคน


“เรื่องที่นำเสนอส่วนใหญ่เน้น ในกรอบความเชื่อของพระพุทธศาสนา ที่ต้องการสอนใจประชาชน โดยภาพที่วาดอยู่ฝาผนังสิมหรือโบสถ์ส่วนใหญ่วาดขึ้นเพื่อให้คนที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าไปในโบสถ์ได้อ่าน ได้ดู เพราะโบสถ์ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กมาก เอาไว้ใช้ประกอบพิธีกรรมทางสงฆ์ เอาไว้บวชพระ คนที่ขึ้นไปได้ไม่มาก และส่วนใหญ่ห้ามผู้หญิงขึ้น คนที่เหลือทั้งญาติโยม ญาติพี่น้องก็ต้องนั่งรอ เวลาที่นั่งรอนี่แหละหากมีภาพเขียนให้ได้ดู ให้ศึกษา หรือมีคนบอกเล่าเรื่องราวด้วย พวกคนที่รอจะได้ความรู้ เพลิดเพลิน ได้คติธรรมสอนใจ”ผศ.ชอบ กล่าว


ส่วนที่มีการวาดฮูปแต้มตามผนังสิมในอีสานหลายแห่ง และลักษณะรูปแบบคล้าย ๆ กัน สันนิษฐานว่า เกิดการลอกเลียนแบบ เพราะสมัยก่อนไม่มีเทคโนโลยีการสื่อสาร หากมีการไปเจอ ไปเห็นที่ไหน เห็นว่าสวยก็มีการบอกต่อ จ้างช่างต่อ ทั้งช่างทำสิม และช่างวาดภาพ อย่างวัดที่ ตำบลดงบัง ช่างคนเดียวกันวาดภาพทั้งวัดป่าเรไรย์และวัดโพธาราม แม้เรื่องราวจะแตกต่างกันบ้าง แต่ก็เป็นกลุ่มช่างเดียวกัน


ฮูปแต้มวัดไชยศรี อ.เมือง จ.ขอนแก่น สู่การแสดงหมอลำหุ่นเรื่อง สินไซ ของเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านสาวะถี  


รวมไปถึงความเข้มแข็งของ หมู่บ้านในอีสานตอนกลางที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก และเป็นหมู่บ้าน ชุมชนเก่าแก่มาก่อน ทำให้ปรากฎสิมและโบสถ์ลักษณะนี้ค่อนข้างมาก ในขณะที่ในพื้นที่อื่น ๆ  ไม่ค่อยเจอมากนัก และหากมองลึกไปถึงวิถีคนในชุมชน ชุมชนที่มีสิมโบราณและฮูปแต้มโบราณส่วนใหญ่เป็นชุมชนดั้งเดิม หมู่บ้านเก่าแก่ มีอายุไม่ต่ำกว่า 200 – 250 ปี ไม่มีต้นไม้ เพราะมีการหักร้างถางพงมาก่อนจะเป็นหมู่บ้าน 


เรื่องราวฮูปแต้มยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการดึงสื่อพื้นบ้านอย่างฮูปแต้มออกมาต่อยอด เพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชน รวมถึงใช้เป็นแผนในการดึงความร่วมมือของชุมชนออกมาอย่างไรนั้น ต้องติดตามตอนต่อไป.




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]