ศิลปะเบ่งบานที่ภูพานน้อย

หมวดหมู่ กิจกรรมล่าสุด , โดย : , 11 กันยายน 58 / อ่าน : 2,734



ศิลปะเบ่งบานที่ภูพานน้อย

 

อยากฝากความคิดถึงให้ถึงคนไกล อยากฝากความห่วงใยให้ไปถึงบ้าน

ลูกจากมาหนึ่งวันเหมือนนานแสนนาน นั่งมองดาวบนฟ้าแค่เพียงลำพัง 

บ่าสบายกระเป๋าใส่ความมุ่งมั่น หวังให้สิ่งที่ฝันพบเจอหนทาง 

รักจากพ่อแม่นั้นคือแรงพลัง ช่วยต่อเติมความหวังและกำลังใจ 

ขอฝากความคิดถึงไปกับสายลม ยามความเหงาพร่างพรมลงบนหัวใจ 

แม้เส้นทางก้าวเดินจะยากแค่ไหน จะก่อสร้างความภูมิใจให้คนที่บ้าน 

ดาวบนดินถิ่นนี้ หนองบัวลำภู สิ่งที่ได้เรียนรู้คือแสงสร้างสรรค์ 

เราต่างคนก็มีจุดหมายเดียวกัน อุปสรรคผลักดันให้ฝันเป็นจริง

 

เสียงเพลงหนักๆ ที่มีเพียงกีตาร์เป็นเครื่องกำกับและให้จังหวะ ดังกังวานไปทั้งลานหินในคืนเดือนมืด บางช่วงของบทเพลงกรีดหัวใจทั้งคนร้องและคนฟังให้เหงาลึก ทว่าบางตอนก็เปี่ยมด้วยพลัง พร้อมที่จะสู้และท้าฟันกับอุปสรรคนานัปการ

เพลงนี้มีชื่อว่า “สายลมแห่งความคิดถึง” เป็นบทเพลงที่เกิดจากการ “ต่อ แต่ง เติม” ของบรรดาเยาวชนที่มาเข้าค่ายศิลปะกันที่ภูพานน้อย จังหวัดหนองบัวลำภู ดินแดนแห่ง “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อุทยานแห่งชาติภูเก้าภูพานคำ แผ่นดินธรรมหลวงปู่ขาว เด่นสกาวถ้ำเอราวัณนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน”

เวลาสองคืน สามวัน บนลานกว้างของภูพานน้อยที่ใครหลายคนเคยมากางเต็นท์ นอนชมดาวที่วิบวาวอยู่ลิบๆ ได้กลายเป็นแหล่งรวมความฝันของพวกเขา เด็กๆ และเยาวชนกว่า 100 คน จากหลายโรงเรียนในจังหวัด บ้างแบกความมุ่งมั่นมาเต็มสองบ่า บ้างมาแบบกล้าๆ กลัวๆ กลัวที่จะไปให้ถึงฝัน กลัวที่จะล้มลงกลางครัน กลัวกระทั่งไม่มีใครให้อิงพักในยามที่เหนื่อยล้า ด้วยเส้นทางชีวิตอาจไม่เรียบง่ายเป็นเส้นตรง แต่มันคงลดเลี้ยว ทอดตัวเลื้อยไปแบบเดียวกับเส้นทางการขึ้นมาบนเทือกเขาแห่งนี้

“เวลาที่อยู่ในค่ายเพียงเท่านี้ สิ่งที่พวกเรา ศิลปินทำได้ดีที่สุด คือ การสร้างแรงบันดาลใจ” นิด ลายสือ นักเขียน นักแต่งเพลง และนักร้อง ซึ่งเป็นวิทยากรคนหนึ่งของค่ายบอกฉันเช่นนั้น แรงบันดาลใจสำคัญที่สุด เพราะนั่นคือบันไดก้าวแรกหรือหน้าต่างบานแรกที่เปิดออกสู่โลกกว้างอันทำให้เราได้ค้นพบ “ตัวตน” ที่แท้จริง

“ค่ายศิลปินสัญจร สอนศิลป์ถิ่นทุรกันดาร” นี้ จัดขึ้นโดย เครือข่ายศิลปินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีอ.สุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายศิลปินภาคอีสาน เป็นผู้ประสานงาน ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

“จุดมุ่งหมายหลัก คือ การส่งต่อศิลปวัฒนธรรมอีสานจากศิลปินไปยังชุมชนและคนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้เขาเกิดความตระหนักรู้ในคุณค่า ภูมิใจกับภูมิปัญญาอีสาน เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงศักยภาพที่อาจจะยังซ่อนตัวอยู่ และให้เขาได้ทดลองทำตามความคิด ความฝันของตนเอง” อ.หน่อย- สุมาลี ขยายความถึงวัตถุประสงค์ของการตระเวนจัดค่ายเยาวชนใน 3 จังหวัดของปีนี้ คือ บึงกาฬ หนองบัวลำภู และสกลนคร

ในค่ายศิลปินสัญจร มีอยู่ 4 ฐานการเรียนรู้ คือ วรรณกรรม, เพลง, จิตรกรรม และถ่ายภาพ เด็กๆ ได้มีโอกาสเลือกที่จะเข้าฐานใดก็ได้ตามความสนใจและความใฝ่ฝันของตนเอง แต่เขาจะต้องอยู่ในฐานนั้นตลอดสามวัน เพื่อพัฒนาและฝึกฝนทักษะกับวิทยากรที่มี Profile ยาวเหยียด เช่น วสุ ห้าวหาญ และ นิด ลายสือ กับฐานเพลง,อังคาร จันทาทิพย์ ฐานวรรณกรรม, เพลิง วัตสาร ฐานจิตรกรรมหรือภาพวาด และ รศ.สุวัฒน์ จิตต์ปราณีชัย กับฐานการถ่ายภาพ เป็นต้น

วิทยากรทั้งหมดล้วนเป็นผู้มีชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับในวงการศิลปะแต่ละแขนง หลายคนอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” แต่พวกเขาก็พร้อมใจกันสละเวลามาช่วย “ปั้นฝัน” ให้กับเด็ก ๆ และเยาวชนคนที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองใหญ่ที่แทบไม่มีกระทั่ง “ครูสอนศิลปะ” ในโรงเรียน มิพักต้องพูดถึงโรงเรียนเอกชนที่สอนเสริมทักษะการร้อง เล่น เต้น แสดง แบบแพงแสนแพง

 “ผมเองก็เติบโตมาจากค่ายวรรณกรรมในโรงเรียน คือเราชอบการขีดเขียนอยู่แล้ว ค่ายวรรณกรรมมันตอบโจทย์นะ มันเป็นเวทีที่เราได้พบนักเขียน ให้เขาได้มีโอกาสวิจารณ์งานเรา มันได้เรียนรู้ แต่เราต้องฝึกต่อนะ” อังคาร จันทาทิพย์ กวีซีไรต์ เจ้าของผลงาน “หัวใจห้องที่ห้า” ทบทวนถึงชีวิตในค่ายวรรณกรรมของตนเอง และด้วยเหตุนี้เอง หากไม่ติดภารกิจใดๆ เขาก็จะมาด้วยทุกครั้ง

“การได้เข้ามาเรียนรู้ศิลปะ อาจไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องก้าวเข้ามาสู่การเป็นศิลปินอาชีพ แต่อย่างน้อยที่สุด ศิลปะก็เป็นเครื่องมือของการขัดเกลาจิตใจ” นิด ลายสือ ช่วยต่อเติม ฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง ศิลปะคลายทุกข์ สร้างสุข และในอีกมุมหนึ่งของความงดงามของค่ายนี้ที่ฉันเห็นคือ นอกจากจะเป็นการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ถ่ายทอด ต่อยอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งแล้ว ยังเป็นการสร้าง “พื้นที่” ให้กับศิลปินในท้องถิ่นอีกด้วย

เพลิง วัตสาร เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เพลิง เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมอันทรงคุณค่าอีกคนหนึ่งของเมืองไทย เขาสร้าง “หอศิลป์” ขึ้นในบ้านของตนเองที่อยู่ลึกเข้าไปในหมู่บ้านเล็กๆ

กว่า 15 ปีแล้วที่เพลิงได้ต่อสู้และหยัดยืนทำงานศิลปะในฐานะที่เป็น “อาชีพ” เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ด้วยความรักและความมุ่งมั่นร่วมกับอุดมการณ์ “ลมๆ แล้งๆ” ที่คนรอบข้างไม่เข้าใจ แต่จนถึงวันนี้ เขาได้พิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวและชุมชนประจักษ์แล้วว่า การทำงานอย่างมุ่งมั่นและหมั่นฝึกฝนพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ สามารถทำให้เขามี “ที่ยืน”บนผืนผ้าใบ เป็นไอดอลให้กับรุ่นน้องๆ คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นอาจารย์และเป็นแบบอย่างให้กับใครๆ อีกหลายคน

นอกจากเพลิงแล้ว ฉันก็ได้มีโอกาสรู้จักกับ พ่อบงกช เมืองสนธิ์ เจ้าของนามปากกา “ฮอยล้อ” อดีตพ่อค้าขายผลไม้อยู่ข้างร้านสะดวกซื้อ ฮอยล้อ ไม่ใช่แค่ชายขายผลไม้ แต่เป็นปราชญ์พื้นบ้านด้านวรรณกรรม เป็นนักคิด นักอ่าน นักเขียนที่มีผลงานเรื่องสั้นและบทกวีตีพิมพ์นับร้อยชิ้นอยู่ในสวนอักษร และฉันก็ได้รู้จัก แม่กรมศิลป์ ดวงจันทร์หญิงสูงวัย ภูมิปัญญาแห่งหนองบัวลำภูที่มีรางวัลระดับชาติหลายรางวัลเป็นเครื่องรับประกันความรู้ ความสามารถ ในยามสอนเด็ก ดวงตาและรอยยิ้มของเธอเปี่ยมล้นด้วยความรักและความเมตตาต่อเด็กน้อย วาจาที่พรั่งพรูออกมา คือ ภาษากวีชัดๆ ยิ่งในยามที่เอื้อนเอ่ยเป็นท่วงทำนองสรภัญญะ ฉันก็ได้เห็นกระทั่งความสุขที่มันกระโดดออกมาจากดวงตา

นายแพทย์ศราวุธ สันตินันตรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู หนึ่งในภาคีเครือข่ายที่ร่วมสนับสนุนโครงการ กล่าวว่า

“ในฐานะที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่น เราได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า เราจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ผู้คนจะต้องมีวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดีแบบพอเพียง ซึ่งการจัดค่ายแบบนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของตนเอง และมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ ในปีหน้าเราได้วางแผนด้านงบประมาณแล้ว อาจจะจัดเป็นค่ายศิลปะรวมหลายๆ แขนงด้วยกันแบบนี้ หรืออาจจัดแยกเป็นค่ายเฉพาะก็ได้”

 ประกายไฟได้ถูกจุดขึ้นแล้ว ทั้งชุมขนและท้องถิ่นต่างก็เห็นความสำคัญ พร้อมร่วมมือร่วมใจกันเพื่ออนาคตของเด็กๆ ของพวกเขาที่จะเติบโตขึ้นอย่างปลอดภัยจากสื่อร้าย ภายใต้พื้นที่สร้างสรรค์

“... เราต่างคนก็มีจุดหมายเดียวกัน อุปสรรคผลักดันให้ฝันเป็นจริง”

เสียงเพลงลอยลมหายไปแล้ว แต่ฉันก็หวังว่า ความฝันและแรงบันดาลใจจะอยู่กับพวกเธอตลอดไป... นะเด็กน้อย

       

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]