แวดวงดนตรี "คอนดัคเตอร์ (Conductor)"
เวลาที่ดูคอนเสิร์ตวงออร์เครสตร้า ทุกคนเคยสงสัยกันไหม ว่าคอนดัคเตอร์ (Conductor) หรือวาทยากร ที่ยืนโบกไม้โบกมืออยู่หน้าวงดนตรี เขาทำไปทำไม และคอนดัคเตอร์มีหน้าที่ทำอะไรบ้างในวงดนตรี มีความสำคัญขนาดไหน ปันศิลป์ปันสุขจะพาไปหาคนตอบกันครับ
คอนดัคเตอร์ คือ ผู้คุมวงออร์เครสตร้า ทำหน้าที่เป็นคนส่งสาส์นต่อจากนักประพันธ์ไปสู่นักดนตรี ผ่านทางภาษาท่าทาง โดยคอนดัคเตอร์นั้น จะต้องมีสามารถในการตีความของบทเพลงโดยใช้องค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งในด้านทฤษฎีและประวัติศาสตร์ และใช้ไม้บาตอง (Baton) ในการกำหนดจังหวะรวมถึงสื่อสารอารมณ์และรายละเอียดต่าง ๆ ของบทเพลงได้ เพราะฉะนั้น การแกว่งมือของคอนดัคเตอร์ทุกครั้ง จะมีความหมายและมีผลต่อเสียงของวงดนตรีเสมอ ไม่ได้แกว่งมั่ว ๆ แน่นอน เพื่อให้ทุกคนทำความเข้าใจได้มากขึ้น ผมจะอธิบายเป็นข้อ ๆ ว่าคอนดัคเตอร์ต้องทำอะไรได้บ้างก่อนที่จะมาอำนวยเพลง
1.คอนดัคเตอร์ต้องเป็นผู้ชำนาญในเรื่องของทฤษฎีดนตรีและต้องมีความรู้ในประวัติศาสตร์ของบทเพลงที่กำลังจะให้วงบรรเลง เพื่อที่จะสามารถตีความบทเพลงและเข้าใจการเรียบเรียงเสียงประสานต่าง ๆ ในเพลงได้ รวมไปถึงการเลือกเพลงให้เหมาะสมกับวง เพราะแต่ละวงเครื่องดนตรีอาจจะไม่เหมือนกัน การเลือกเพลงจึงเป็นสิ่งสำคัญ
2. คอนดัคเตอร์ต้องทำหน้าที่ศึกษาบทเพลงที่จะให้วงดนตรีเล่นอย่างละเอียด แน่นอนว่าจำนวนผู้เล่นในวงออร์เครสตร้ามีจำนวนมากและมีเครื่องดนตรีหลายชิ้น คอนดัคเตอร์จะต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของเสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้นในวงว่าเป็นอย่างไร เช่น เครื่องสายอาจมีปัญหาในการสีเพี้ยนได้ง่าย ๆ หรือโน้ตสูง ๆ อาจเล่นยากไปสำหรับเครื่องเป่า การจะให้เครื่องเป่าเล่นเสียงสูง ๆ แล้วเป่าเบา ๆ ก็อาจทำให้เสียงไม่เป็นธรรมชาติ สามารถอ่านสกอร์เพลงของเครื่องดนตรีทุกชิ้นและต้องจำให้ได้ว่าเครื่องไหนจะเล่นเมื่อไหร่ รู้ว่าเมื่อไหร่เครื่องดนตรีไหนจะเด่นและเครื่องดนตรีไหนต้องเป็นตัวประกอบ เพื่อทำบาลานซ์เสียงของวงออกมาดีที่สุด
3.คอนดัคเตอร์จะต้องเป็นผู้นำของวงเพื่อทำการซ้อม เพราะนักดนตรีร้อยคนอาจจะตีความเพลงไม่เหมือนกัน คอนดักเตอร์มีหน้าที่ตีความเพลงให้ทุกคนไปในทิศทางเดียวกัน จะต้องมีจิตวิทยาพูดโน้มน้าวให้นักดนตรีคล้อยตามในสิ่งที่ตัวเองต้องการ พูดอย่างไรให้นักดนตรีสนุกกับเพลงหรือเศร้ากับเพลง และต้องมีความสามารถในการฟังว่าเครื่องดนตรีเครื่องไหนเล่นผิดโน้ตและผิดจังหวะด้วย เพื่อจะปรับให้เข้าที่ได้
4.คอนดัคเตอร์ต้องแม่นเรื่องจังหวะและสามารถสื่อสารให้นักดนตรีเข้าใจในสิ่งที่ซ้อมมาให้มากที่สุดได้ เรามักจะเห็นคอนดัคเตอร์แกว่งไม้ไปมา บางคนแกว่งธรรมดาไม่หวือหวา บางคนแกว่งจนโยกไปแทบทั้งตัวหรือเกือบกระโดดเลยก็มี การแกว่งไม้นั้นนอกจากจะเป็นการให้จังหวะกับนักดนตรีแล้ว ยังเป็นการส่งคิวให้เครื่องดนตรีที่กำลังจะเด่นเพื่อเพิ่มความดังหรือลดเสียงให้เบาลงอีกด้วย ท่าทางการแกว่งไม้ยังสามารถส่งอารมณ์ของบทเพลงได้ การอำนวยเพลงในวงออร์เครสตร้าของคอนดัคเตอร์จึงเหมือนการเล่นดนตรีเครื่องหนึ่ง แต่แค่มีคนร้อยคนบรรเลงให้แทนเท่านั้นเอง
สุดท้ายแล้วต่อให้การแกว่งไม้นั้นจะธรรมดาหรือหวือหวาแค่ไหน แต่ภาพรวมซาวด์ของวงดนตรีกับการสื่อความหมายของบทเพลง ต้องมีการตกลงกันแล้วในตอนซ้อม การแกว่งไม้ก็คือการให้คิวและย้ำเตือนความจำของสิ่งที่ทุกคนได้ซ้อมกันมา แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคอนดัคเตอร์คนไหนเก่งหรือไม่เก่ง มันก็อยู่ที่ความชอบของแต่ละคนมากกว่าว่าชอบสไตล์ไหน คอนดัคเตอร์ที่เก่งจะสามารถอำนวยเพลงให้คนฟังเข้าถึงบทเพลงนั้นได้อย่างสมบูรณ์และทำให้วงดนตรีวงหนึ่งบรรเลงเพลงออกมาได้อย่างมีคุณภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ติดตามคอนเทนต์เกี่ยวกับแวดวงดนตรีได้ที่
จีรศักดิ์ จำรัส ( Music Creator )
ติดตามข่าวสารและกิจกรรมปันศิลป์ ปันสุข เพิ่มเติมได้ที่