นี่คือคำถามที่คนในชุมชนไทยเบิ้งโคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เคยถามกับตัวเอง และลุกขึ้นค้นหาคำตอบ จนพบว่าวัฒนธรรมไทยเบิ้งที่มีภาษาพูด การแต่งกาย และการมีนามสกุลเป็นของตัวเอง คือคุณค่าและศักดิ์ศรีที่ต้องรักษาให้คงอยู่ควบคู่กับโลกที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง ต้นแบบวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมตำบลโคกสลุง จังหวัดลพบุรี โดย สถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนา
ไทยเบิ้งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมของประเทศไทย ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น คือ สำเนียงการพูดและการลงท้ายบางประโยคว่าเบิ้ง หรือ เด้อ และใน จ.ลพบุรี มีกลุ่มไทยเบิ้ง กระจายอยู่ทั้งหมด 5 อำเภอ โดย ใน อ.พัฒนานิคม และอ.โคกสลุง อาศัยอยู่มากที่สุด และชุมชนวัฒนธรรมไทยเบิ้งโคกสลุง เป็นชุมชนเก่าแก่ มีวิถีชีวิตเรียบง่าย อยู่กันแบบพี่น้องช่วยเหลือกัน มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ทั้งสำเนียงการพูด การแต่งกายลวดลายผ้าขาวม้า และนามสกุลเฉพาะของชาวโคกสลุง ที่มีคำว่า “สลุง” ขึ้นต้นหรือลงท้าย ซึ่งถ้าได้ยินนามสกุลนี้ที่ไหน สันนิษฐานได้เลยว่าเป็นคนโคกสลุงอย่างแน่นอน
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ หากคนในชุมชนหลงลืมหรือไม่หันมามองวัฒนธรรมอันงดงาม ความเป็นไทยเบิ้งจะถูกกลืนหายไป สถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนาจึงเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการร่วมคิด ร่วมพัฒนา ร่วมรักษาความเป็นวัฒนธรรมไทยเบิ้งให้คงอยู่สู่ลูกหลาน
ต้นแบบวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมตำบลโคกสลุง จังหวัดลพบุรี คือโมเดลที่สถาบันสถาบันไทยเบิ้งโคกสลุง ออกแบบเพื่อนำมาพัฒนาชุมชน ร่วมกับเครือข่ายองค์กรต่างๆ มีเป้าหมาย สร้างโมเดลการพัฒนา มีหลักสูตรสร้างคน ค้นหาทีม สร้างแหล่งเรียนรู้ในชุมชน พัฒนาพื้นที่ไปสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน และพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นรวบรวมองค์ความรู้และเผยแพร่ในวงกว้าง โดยมองเป้าหมายหลักหากการพัฒนาจะก้าวเดินต่อไปได้ ต้องสามารถพึ่งพาตัวเองและยืนอยู่บนขาของตัวเองให้ได้อย่างมั่นคง
เมือง 3 D เครื่องมือในการพัฒนาวัฒนธรรมชุมชนไทยเบิ้งโคกสลุง สู่การจัดการที่ยั่งยืน
พื้นที่ดี การพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เปิดบ้านให้เป็นที่ศึกษาวิถีชีวิตชาวไทยเบิ้งด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนเฒ่าคนแก่
ภูมิดี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ จากทรัพยากรที่มีในชุมชน และพัฒนาคนด้วยการปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด
สื่อดี การทำการตลาดเพื่อขายสินค้า และการสื่อสารขององค์กรให้มีประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่การจัดการตนเองของชุมชนอย่างยั่งยืน