จะมีสักกี่ชุมชนที่สามารถรักษาคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมให้ยังคงสง่างามท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม และยังสามารถนำทุนทางวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง หนึ่งในนั้นคือ วิสาหกิจชุมชน ล้านนาสร้างสรรค์ กับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ในโครงการ “สืบฮีต โตยฮอย เรียนรู้ สร้างสรรค์ สืบสานภูมิปัญญา” จ.เชียงใหม่
ล้านนาเป็นพื้นที่ มีความหลากหลายด้านศิลปวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ต้นทุนสำคัญ คือ มีพ่อครูแม่ครูด้านภูมิปัญญาในแขนงต่าง ๆ และมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนรุ่นหลัง เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านั้นหายไป
จะทำอย่างไรให้ต้นทุนทางภูมิปัญญาทรงคุณค่า ไม่ใช่เรื่องของงานอนุรักษ์หรือการสงวนรักษาให้คงอยู่เท่านั้น แต่ยังสามารถขยับฐานะเข้าไปมีบทบาทกับชุมชนในแง่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อสร้างความยั่งยืน และเป็นเศรษฐกิจที่ยืนด้วยขาของตัวเองให้มากที่สุด
วิสาหกิจชุมชน ล้านนาสร้างสรรค์ เป็นหนึ่งในเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมที่ทำงานหนุนเสริมให้กับศิลปิน เด็กเยาวชน ผู้นำชุมชน และภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งเข้าไปมีบทบาทในประเด็นสาธารณะต่างๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขในวงกว้าง
ปัจจุบัน จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ “สืบฮีต โตยฮอย เรียนรู้ สร้างสรรค์ สืบสานภูมิปัญญา” เพื่อเป็นพื้นที่ในการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ครอบคลุมพัฒนาสินค้าชุมชน สร้างอาชีพ เรียนรู้อาหารท้องถิ่น การแสดงพื้นบ้าน บริการด้านแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และสร้างแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในชุมชน
เมือง 3 ดี ฮอม ฮ่าย ฮ้อย เครื่องมือพัฒนาคนไปสู่การสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
“ฮอม” เป็นการปฏิบัติที่อยู่ในวิถีล้านนามาอย่างยาวนานแสดงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกันและกัน การฮอมนั้นมีทั้งการไปโดยการใช้แรงงาน การเอาสิ่งของไปฮอม เอาการแสดงไปฮอม หรือการเอาเงินไปฮอม หากผู้ไปฮอมมีการงานใดผู้ที่เคยรับการฮอมก็จะมา “เอามื้อ” คือการตอบแทนมีทั้งการให้และการรับสลับกันไปมาไม่ขาดสายสัมพันธ์ ยิ่งทำให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในเครือข่าย
“ฮ่าย” การถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญญาที่มีอยู่ให้กับเด็ก เยาวชน คนที่สนใจ ถือเป็นข้อตกลงทางใจของเครือข่ายสืบสานล้านนาให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต รวมทั้งการเปิดใจที่จะเรียนรู้จากภายในเครือข่ายและนอกเครือข่ายสืบสานล้านนาอีกด้วย
“ฮ้อย” การเชื่อมร้อยการทำงานร่วมกันของเครือข่ายสืบสานล้านนา เพื่อเชื่อมร้อยพลังในการทำงานสืบสานล้านนาให้เหนียวแน่นเป็นปึกแผ่น
ทุกการพัฒนาควรเริ่มจากการกลับไปค้นหาต้นทุนที่เรามี แล้วนำมาเป็นฐานในการออกแบบการชุมชน นอกจากได้รักษาคุณค่าเก่า ยังนำเราไปสู่การสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ติดตามข่าวสารและกิจกรรมปันศิลป์ ปันสุข เพิ่มเติมได้ที่